ASEAN Roundup ประจำวันที่ 6-12 ตุลาคม 2562
- สิงคโปร์ประเทศแรกของโลกห้ามโฆษณาเครื่องดื่มมีน้ำตาล
- เมียนมาบีโอไอออกคู่มือสำหรับนายจ้างต่างชาติ
- อินโดนีเซียเพิ่มสิทธิภาษีสำหรับการลงทุนในขตเศรษฐกิจพิเศษ
สิงคโปร์ประเทศแรกของโลกห้ามโฆษณาเครื่องดื่มมีน้ำตาล
สิงคโปร์จะเป็นประเทศแรกที่ของโลกห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ซึ่งเป็นการทำสงครามกับโรคเบาหวาน โดยที่คำสั่งห้ามจะมีผลกับเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพน้อยที่สุด หรือ เครื่องดื่มรสหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ในสื่อทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อกระจายเสียงสื่อออนไลน์
นายเอ็ดวิน ทง รัฐมนตรีอาวุโสแห่งกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว การสั่งห้ามครั้งนี้เป็นผลจากการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งจะส่งผลให้เครื่องดื่มซอฟต์ดริ้งค์ น้ำผลไม้ โยเกิร์ตแบบดื่ม และกาแฟสำเร็จรูป ได้รับผลจากหลักเกณฑ์ใหม่นี้ โดยจากการสำรวจความเห็นประชาชน 70% สนับสนุนการห้ามโฆษณา
กระทรวงสาธารณสุขจะรวบรวมข้อมูลความเห็นจากผู้บริโภคและภาคธุรกิจในอีก 2-3 เดือน ก่อนที่จะประกาศรายละเอียดการบังคับ
ใช้ปีหน้า
นอกเหนือจากการสั่งห้ามแล้ว กระทรวงสาธารณสุขยังได้ประกาศว่า เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจะต้องเปิดเผยรายละเอียดด้านการผสมสีไว้ด้านหน้าของผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมจากรายละเอียดข้อมูลการบริโภคไว้ด้วย รวมทั้งขอให้ผู้ผลิตปรับสูตรสินค้า
นายทงกล่าวว่า การสั่งห้ามโฆษณานี้เป็นขั้นแรกของการรณรงค์การป้องกันโรคเบาหวาน รวมทั้งต้องการที่จะนำภาษีสรรพสามิตมาใช้กับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ตลอดจนการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มที่่มีน้ำตาลสูง แต่ก็ยังอยู่ในการพิจารณา โดยจะมีการศึกษาอย่างละเอียดต่อไป
องค์การอนามัยโลกระบุว่า การบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมีผลต่อการเป็นโรคเบาหวานและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โดยคนที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลวันละ 1-2 กระป๋อง มีโอกาส 26% ที่จะเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 มากกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม และคาดว่าทั่วโลกการเป็นโรคเบาวหานเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากปี 1975
ในสิงคโปร์ประชากรเป็นโรคเบาหวานมากขึ้นจากปี 1990 โดยสัดส่วน ประชากรผู้ใหญ่ 1 ใน 7 เป็นโรคเบาหวาน
เมียนมาบีโอไอออกคู่มือสำหรับนายจ้างต่างชาติ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการจัดการบริษัท (Directorate of Investment and Company Administration -DICA) ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมการทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (Myanmar Center for Responsible Business -MCRB) จัดทำคู่มือ Respecting Myanmar Culture in the Workplaceสำหรับนายจ้างต่างชาติเพื่อให้เข้าใจและเคารพวัฒนธรรมเมียนมามากขึ้น
คู่มือฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติปรับตัวเข้ากับสถานที่ทำงานในบรรยากาศอาเซียนมากขึ้น การเข้าใจวัฒนธรรมเมียนมาจะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติเลี่ยงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานที่ทำงานในแต่ละพื้นที่ได้
อู ตอง ทุน รัฐมนตรีว่าการการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศกล่าวว่า การลงทุนที่มีความรับผิดชอบคือการลงทุนที่ต้องให้ความเคารพ สถานที่ทำงานที่ให้ความเคารพและการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงจะทำให้งานมีประสิทธิผลมากขึ้น และลดการลาออกของพนักงาน
คู่มือฉบับนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนต่างชาติ เพราะช่วยให้คุ้นเคยกับกฎหมายเมียนมาเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน แรงงาน สุขอนามัยและความปลอดภัย รวมทั้งการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตลอดจนยังเน้นย้ำความสำคัญของการฟังและการเรียนรู้จากคนในนท้องถิ่นเพื่อช่วยป้องกันความขัดแย้งและมีผลต่อความสำเร็จทางธุรกิจ
อู ตอง ทุน กล่าวว่า แม้คู่มือฉบับนี้มีเป้าหมายหลักที่ผู้บริหารต่างชาติ เพื่อช่วยให้มีความเคารพและปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับขนบ ธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์ในสหภาพเมียนมา แต่ข้อมูลในคู่มือมีความสำคัญสำหรับทุกคน
คู่มือฉบับนี้ได้รับความร่วมมือในการจัดทำจาก MCR และกระทรวงอื่นๆ
คู่มือ Respecting Myanmar Culture in the Workplace จัดทำเป็น 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ เมียนมา และจีน ส่วนฉบับภาษาไทย ญี่ปุ่นและเกาหลีจะจัดทำภายในปีนี้ โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ DICA
อินโดนีเซียเพิ่มสิทธิภาษีสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
อินโดนีเซียจะขยายและปรับปรุงสิทธิประโยชน์ภาษีสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งจะพัฒนาเขตเศราฐกิจพิเศามากขึ้น เพื่อดึงดูดการลงทุนมูลค่า 50 พันล้านดอลลาร์ ในอีก 10 ปีข้างหน้า
นายดาร์มิน นาซูเตียน รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวว่า รัฐบาลจะปรับปรุงหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ภาษีให้กับนักลงทุน ที่ต้องการจะพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีความพร้อมที่ดีสุดรองรับการลงทุน
ตัวอย่างเช่น การลงทุนที่มีมูลค่าเดิน 20 ล้านล้านรูเปียะห์หรือราว 1.41 พันล้านดอลลาร์จะมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีนิติบุคคล 20 ปี เทียบกับการลงทุนนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่นๆ
รัฐบาลจะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพิ่มอีก 7 แห่งทั่วประเทศไปจนถึงปี 2020 รวมทั้งดิจิทัลปาร์ค ในเกาะบาตัมและเขตเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกสินค้าอิเล้กทรอนิคส์ รถยนต์ และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เบื้องต้น ในชวากลาง
รัฐบาลคาดว่าจะดึงเงินลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ราว 726 ล้านล้านรูเปียะห์ หรือ 51.31 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 หลังการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เสร็จสมบูรณ์