ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > เยาวชนทั่วโลกพร้อมใจร่วม Climate Strike รณรงค์แก้ปัญหาภูมิอากาศเร่งด่วน เพราะไม่มี”โลกใบที่สอง”

เยาวชนทั่วโลกพร้อมใจร่วม Climate Strike รณรงค์แก้ปัญหาภูมิอากาศเร่งด่วน เพราะไม่มี”โลกใบที่สอง”

22 กันยายน 2019


ที่มาภาพ: https://www.vox.com/identities/2019/9/20/20875682/youth-climate-strike-september-20-nyc-united-states

Climate strike การเดินขบวนรณรงค์โดยเยาวชนจากทั่วโลกเพื่อปลุกจิตสำนึกและกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จุดประกายโดยเกรตา ธันเบิร์ก เยาวชนสวีเดน วัย 16 ปีที่เคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

การเดินขบวนรณรงค์จะมีไปจนถึงวันที่ 27 กันยายนนี้ ซึ่งประเทศไทยจะจัดกิจกรรมขึ้นที่เชียงใหม่

เกรตา และกลุ่มนักเคลื่อนไหวทั่วโลกได้ร่วมเขียน คำเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ว่า “วันนี้เราออกมาบนถนนอีกครั้ง ด้วยจำนวนคนที่มากกว่าเดิม ใน 150 ประเทศ ที่เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 4,000 กิจกรรม เรียกร้องให้รัฐบาลหาแนวทางที่จะให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เราเตรียมการมาหลายสัปดาห์และนานนับเดือนเพื่อวันนี้ เราใช้เวลาหลายชั่วโมงในการจัดการและระดมสรรพกำลังและทุกอย่างเท่าที่มีเพื่อร่วมกับเพื่อนๆทุกคน”

“เรา ซึ่งเป็นเด็ก และนักเรียน เห็นว่าเราไม่มีทางเลือก หลายปีที่ผ่านมามีแต่การหารือ การเจรจานับครั้งไม่ถ้วน ไม่มีข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัทน้ำมันได้รับสิทธิขุดเจาะในผืนดินของเราและเผาอนาคตของเราเพื่อกำไรของบริษัท นักการเมืองรับรู้เรื่อง climate change มาหลายทศวรรษ และส่งมอบความรับผิดชอบต่ออนาคตของเราไปยังผู้ได้รับประโยชน์ที่ทำกำไรรวดเร็วแต่มีผลต่อการคงอยู่ของเรา

“เรารู้สึกว่าผู้ใหญ่จำนวนมากไม่ค่อยเข้าใจว่า เราซึ่งเป็นเยาวชนไม่ได้ผลักวิกฤติสภาพภูมิอากาศออกไปด้วยตัวเราเอง และขอโทษหากเป็นการรบกวน แต่นี่ไม่ใช่ภาระกิจของคนรุ่นใดรุ่นหนึ่ง แต่เป็นภาระกิจของมนุษยชาติทุกคน”

เกรตาได้เริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลและนักการเมืองดำเนินการเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลกในปีที่แล้ว ด้วยการออกมานั่งประท้วงหน้าสภาสวีเดนเพียงลำพัง แต่ก็ส่งผลให้มีการขับเคลื่อนต่อภายใต้ชื่อ Friday for Future

https://twitter.com/GretaThunberg

เด็กนักเรียนและนักเคลื่อนไหวจำนวนหลายล้านคน ได้ผละออกจากโรงเรียนและห้องทำงานในวันศุกร์ที่ 20 กันยายน เพื่อร่วมรณรงค์ให้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขและปกป้องสภาพภูมิอากาศก่อนที่การประชุม United Nations Climate Action Summit 2019 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2562 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ในนิวยอร์กสำนักงานการศึกษาของเมือง อนุญาตให้เด็กนักเรียนจำนวน 1.1 ล้านคนไม่ต้องเข้าห้องเรียนและเข้าร่วมกิจกรรมโดยที่ผู้ปกครองต้องอนุญาต

การร่วมกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้มีขึ้นตั้งแต่ นิวยอร์ก ไปจนถึงกัวเตมาลา จากซิดนีย์ ไปจนถึงกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน จากเคปทาวน์ไปถึงลอนดอน จากหลายร้อยเมืองทั่วโลก เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม

เกรตาทวีตข้อความว่า “จำนวนผู้คนที่เข้าร่วมเบื้องต้นน่าจะถึง 3 ล้านคน แต่ยังไม่รวมผู้เข้าร่วมจากอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้”

กิจกรรมรณรงค์เริ่มขึ้นในหมู่เกาะแปซิฟิก ก่อนที่จะข้ามมายังออสเตรเลีย เอเชีย ยุโรป อัฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือและ อเมริกาใต้

ไม่มีโลกใบที่สอง

เริ่มจากหมู่เกาะแปซิฟิก เด็กนักเรียนในประเทศคิริบาส ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่เกิดจากการทับถมของหมู่ปะการังกลางมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งอยู่ระหว่างออสเตรเลียและฮาวายถือป้ายประท้วงพากันส่งเสียงว่า “เราไม่ยอมจม(ทะเล) เราจะสู้”

ส่วนเด็กนักเรียนในหมู่เกาะโซโลมอนไม่ได้เดินขบวนบนถนนแต่พากันเดินขบวนบริเวณชายฝั่งและลงไปในทะเลเพื่อแสดงออกถึงสัญลักษณ์ พร้อมใส่กระโปรงชาวเกาะที่ทำจากหญ้าและถือโล่ห์ที่ทำจากไม้

ในชั่วโมงต่อมาเยาวชนไทยจำนวนมากกว่า 200 คนได้ร่วมกิจกรรมหน้ากระทรวงสิ่งแวดล้อมและแกล้งทำเป็นล้มตาย โดยนันทิชา โอเจริญชัย ผู้นำการจัดกิจกรรมให้ความเห็นว่า “นี่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากไม่เริ่มจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศเสียตั้งแต่ตอนนี้”

ขณะที่ในออสเตรเลียซึ่งเป็นผู้ส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ของโลก กิจกรรมรณรงค์ได้เริ่มขึ้นที่ซิดนีย์ โดยมีการร่วมกิจกรรมใน 110 เขตและเมืองทั่วประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอกไซด์เป็นศูนย์ภายในปี 2030

ผู้จัดกิจกรรมคาดว่ามีคนเข้าร่วมกิจกรรม Climate Strike จำนวน 300,000 คน

ที่กรุงแคนเบอร์ร่า เมืองหลวงของออสเตรเลีย นักเรียนชั้นประถมวัย 12 ปีบอกเล่ากับผู้คนจำนวนราว 10,000 คนว่า เธอและเพื่อนร่วมชั้นเห็นว่า การอนุรักษโลกใบนี้มีความสำคัญกว่าการเข้าห้องเรียน

อลิสันกล่าวว่า “นักการเมืองวิตกกับการที่เราไม่ไปโรงเรียน แต่เรากำลังเรียนรู้โลก และภาวะอันตรายที่เรากำลังเจอ และเราสามารถที่จะทำอะไรได้บ้าง เรารู้ว่าการไปโรงเรียนมีความสำคัญและตั้งใจเรียน แต่เรารู้ว่าเรียนรู้ที่จะอนุรักษ์โลกเพื่อคนรุ่นต่อไปมีความสำคัญกว่า”

ขณะที่ เอลิซาเบท วิทเบรด วัย 16 ปีที่เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ที่แคนเบอร์ร่าพร้อมกับแบนเนอร์ที่มีข้อความว่า” ต้องการตายแบบเย็น ฉันมาที่นี่เพราะฉันต้องการที่จะมีชีวิตอยู่” ได้กล่าวว่า เรามีสิทธิในชีวิตที่เราออกแบบเอง ฉันไม่อยากที่จะตายในวัยเยาว์

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ยังได้เน้นที่ไป ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ หนึ่งต้องไม่มีโครงการถ่านหิน น้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติใหม่เกิดขึ้น สอง ต้องใช้พลังงานหมุนเวียนเต็ม 100% ภายในปี 2030 และสามสนับสนุนทางการเงินในช่วงเปลี่ยนผ่านและการสร้างงานให้กับพนักงานและชุมในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล

นายไมเคิล แม็คคอร์แมค รักษาการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นักเรียนควรที่จะไปโรงเรียน และกิจกรรมแบบนี้ควรจะจัดในวันสุดสัปดาห์ เพื่อที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และไม่กระทบกับการเรียนการสอน ทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

ในจาการ์ต้า เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เหล่านักเรียนได้ออกมาเรียกร้องให้มีการดำเนินการคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่าในเกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพของประชาชนทั่วภูมิภาค

สำนักข่าวอัลจาซีรา โดยราฮีละ โมฮัมหมัด รายงานจากจุดที่มีการรวมตัวของเยาวชนว่า เยาวชนในจาการ์ต้าต้องการให้รัฐบาลจัดการกับปัญหานี้อย่างเร่งด่วนและเร่งรัดการดำเนินการ

ส่วนในกรุงนิวเดลี อินเดีย เมืองหลวงที่มีมลภาวะมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นักเรียนหลายคนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมพากันรวมกันหน้ากระทรวงกิจการเมืองและการเคหะและส่งเสียงว่า “เราต้องการให้จัดการกับสภาพภูมิอากาศ และ เราต้องการอากาศสะอาด และยังชูป้ายที่เขียนว่า “ไม่มีโลกใบที่สอง”

อัสเชียร์ กันธารี นักเรียนคนหนึ่งกล่าวว่า “มาร่วมกิจกรรมรณรงค์วันนี้เพราะอาศัยอยู่ในเมืองที่มีมลภาวะรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และรัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลยที่จะทำให้ดีขึ้น” ไม่มีการดำเนินการ รัฐบาลไม่ได้ตระหนักเลยว่าเขากำลังทำลายอนาคตของเรา อนาคตของฉันกำลังได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลไม่มีนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลย”

อามาน ชาร์มา วัย 16 ปีกล่าวว่า เราต้องเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ต้องมีอากาศและน้ำสะอาด

ในจีนซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ไม่อนุญาตให้มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ แต่เจิ้ง เสี่ยวเหวิน จาก China Youth Climate Action Network กล่าวว่า เยาวชนจีนจะหาทางดำเนินการบางอย่าง เยาวจีนมีแนวทางของตัวเอง “เราให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเรากำลังคิดหาแนวทาง การสร้างปฏิสัมพันธ์ การลงมือทำ และหลายคนก็ตระหนักถึงประเด็นนี้”

ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2019/09/planet-thousands-join-global-climate-strike-asia-190920040636503.html

บ้านกำลังลุกไหม้

กิจกรรมรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมีขึ้นที่กรุงโยฮันเนสเบิร์ก กรุงไนโรบี เมืองหลวง ของเคนย่า และพริทอเรีย เมืองหลวงอัฟริกาใต้ ก็มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ Climate Strike เช่นเดียวกัน ป้ายที่กลุ่มเยาวชนนำมาถือในการเข้ารวมกิจกรรมมีหลากหลายบางป้ายแสดงถึงความโกรธเคือง บางป้ายก็ออกแนวหยอกล้อ เช่น “โลกนี้ร้อนยิ่งกว่าแฟนฉันเสียอีก”

นอกจากนี้เยาวชนบางรายสวมหมวกและเสื้อผ้าที่ทำจากขวดพลาสติกเพื่อตอกย้ำให้เห็นถึงภัยจากขยะพลาสติกที่สร้างปัญหาให้กับเมืองและมหาสมุทร

นิโคลาส เฮก ผู้สื่อข่าวอัลจาซีรา รายงานจากกรุงไนโรบีว่า ในบรรดา 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดนั้น อยู่ในทวีปอัฟริกาถึง 7 ประเทศ ดังจะเห็นจากพายุเฮอริเคนที่กวาดล้างทุกอย่างตั้งแต่โมซัมบิก น้ำท่วมในอัฟริกาใต้ กับเซียร์ร่าลิโอน และภาวะภัยแล้งใน ซาเฮล เขตรอยต่อ บริเวณกึ่งทะเลทราย บริเวณทะเลทรายซาฮาร่า

ที่เคนย่าสิ่งมีชีวิต 200 สายพันธ์มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธ์ได้ทุกวัน จากสภาวะแห้งแล้ง เยาวชนจำนวนมากที่นี้กำลังหมดความอดทนกับผู้นำที่ไม่ได้ดำเนินการมากพอ

ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล นำไปสู่ภาวะภัยแล้งและคลื่นความร้อน น้ำแข็งละลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและน้ำท่วม

ส่วนที่กรุงลอนดอน Student Climate Network คาดว่ามีผู้ออกร่วมกิจกรรมราว 100,000 คน และรวมตัวในกว่า 200 จุดทั่วอังกฤษ เพราะมีคนที่ทำงานได้ออกมาร่วมกับเยาวชนนักเคลื่อนไหวด้วย

โลล่า ฟาโยกุน เยาวชนวัย 18 ปีกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ แต่ยังไม่เห็นว่ามีการดำเนินการที่สะท้อนถึงปัญหา ทั้งๆที่มีคนเสียชีวิตและสร้างผลกระทบที่น่ากลัว โดยเฉพาะในขั้วโลกใต้ แต่ก็ยังไม่มีการพูดถึง เงียบกันไปหมด”

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีก่อนสูงขึ้นทำสถิติใหม่แม้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) ได้ออกมาเตือนในเดือนตุลาคมปีก่อนว่า การปล่อยก๊าซรือนกระจกจะต้องลดลงใน 12 ปีข้างหน้าเพื่อรักษาสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวในปี 2017 ว่า สหรัฐฯจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส กิจกรรมรณรงค์ Climate strike ในสหรัฐฯมีเยาวชนออกมาร่วมจำนวนมาก เช่น แคโรลีน ฟรีดแมน เยาวชนวัย 20 ปีจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ให้เหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมว่า” โลกคือบ้านของเราและบ้านกำลังถูกไฟไหม้”

แคโรลีนบอกว่า มีเด็กหลายคนออกมาร่วมกิจกรรมทั้งจากโรงเรียนประถมและมัธยม พากันจับมือเดินไปด้วยกัน

เช่นเดียวกับที่กรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ ผู้ชายคนหนึ่งแต่งตัวเป็นซานตาคลอสยืนหน้ารัฐสภาพร้อมชูป้ายที่มีข้อความว่า “บ้านกำลังถูกไฟไหม้ กวางเรนเดียร์ของฉันว่ายน้ำไม่เป็น”

ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2019/09/planet-thousands-join-global-climate-strike-asia-190920040636503.html

ความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศ

กิจกรรมรณรงค์หลายร้อยแห่งมีขึ้นไปทั่วยุโรปทั้งสาธารณรัฐเช็ก เยอรมนี อังกฤษ โปแลนด์ที่ยังพึ่งพาถ่านหินเป็นหลัก โดยโรงเรียนได้สั่งหยุดเรียนหนึ่งวันเพื่อให้เด็กนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในกรุงวอร์ซอว์และเมืองอื่นๆ

ที่เบอร์ลินผู้จัดกิจกรรมคาดว่ามีคนเข้าร่วม 80,000 คนที่บรานเดนเบิร์กเกต ไม่ไกลจากที่ทำการนายกรัฐมนตรีแองเจลา แมร์เคิลมากนัก

ในเอเชีย การรณรงค์เป็นกิจกรรมย่อยๆ ทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกงและอินเดีย โดยในกรุงโตเกียว นักเรียนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันเดินขบวนเข้าสู่ชิบูยะ ย่านธุรกิจ พร้อมส่งเสียงว่า ความเป็นธรรมด้านภูมิอากาศ หรือ Climate justice ขณะที่ในมือได้ถือป้ายมีข้อความว่า “รักษ์โลก” “โลกกำลังลุกไหม้” นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมย่อยในเมืองอื่น เช่น เกียวโต

ส่วนที่เกาหลีใต้การรณรงค์ค่อนข้างเงียบเหงา มีนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมส่งรหัสมอสร้องขอให้ปกป้องโลก

ที่กรุงคาบูล อัฟกานิสถาน มีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาดูแลผู้ร่วมกิจกรรมซึ่งเป็นเยาวชนราว 100 คน นำโดยกลุ่มเยาวชนหญิงที่ถือป้าย FridayforFuture

ฟาร์ดีน บาราคซาย หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมและหัวหน้ากลุ่มคลื่อนไหวด้านภูมิอากาศในประเทศภายใต้ชื่อออกซิเยนกล่าวว่า “เราต้องการทำในส่วนของเรา เราในฐานะเยาวชนของประเทศตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรารู้ว่าสงครามสามารถทำลายล้างชีวิตคน ปัญหาของอัฟานิสถานคือ ผู้นำต่อสู้เพื่ออำนาจและอำนาจที่แท้จริงคือ ธรรมชาติ”

ที่มาภาพ:
https://www.aljazeera.com/news/2019/09/planet-thousands-join-global-climate-strike-asia-190920040636503.html

ตื่นได้แล้ว

ในกัวเตมาลา นักเรียนหลายร้อยคนและนักเคลื่อนไหวได้พากันเดินรณรงค์ภายในเมืองหลวง กัวเตมาลาซิตี้ ทั้งนี้กัวเตมาลาเป็นประเทศหนึ่งมีขึ้นชื่อว่ามีความเปราะบางต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่นักเรียนได้พากันเดินขบวนรณรงค์นั้น รัฐบาลกัวเตมาลาได้ประกาศห้ามและออกหลักเกณฑ์การใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว ทั้งหลอดดูดและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์โฟม เพื่อควบคุมการปนเปื้อนพลาสติกในสิ่งแวดล้อม แต่การปกป้องสิ่งแวดล้อมในกัวเตมาลายังไม่เกิดผล

มาริโอ โลเปซ วัย 29 ปีซึ่งอาศัยในกัวเตมาลาซิตี้กล่าว่า การที่ออกมาร่วมกิจกรรมวันนี้เพื่อทำให้ทุกคนรู้ว่า มีการฆาตกรรมนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่คัดค้านการทำเหมืองและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการฆาตกรรมหลายกรณีไม่มีการสอบสวน

กรณีล่าสุด วันที่ 16 กันยายน คือ การฆาตกรรม ไดอานา อิสซาเบล เฮอร์นันเดซ นักเคลื่อนไหวรายหนึ่ง ในบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้

นอกจากนี้ที่บราซิล นักเรียนได้ออกมาร่วมกิจกรรมตามเมืองใหญ่ หลายคนเรียกร้องให้มีการดำเนินการมากขึ้นในการปกป้องผืนป่าแอมะซอน ที่ถูกไฟไหม้และผืนป่าเสียหายในปีนี้

“รัฐบาลบราซิลต้องการที่จะทำให้ผืนป่าแอมะซอนเป็นพื้นที่ที่หาประโยชน์ได้ ด้วยการให้ทำการปศุสัตว์และปลูกถั่วเหลืองในผืนป่า”ฟาเบียน่า อโมริม วัย 21 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกล่าว

“การดำเนินการที่จะปกป้องสภาพภูมิอากาศในบราซิลอย่างแรกต้องจัดการกับผลประโยชน์ด้านเกษตร เศรษฐกิจบราซิลพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์ และมองว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง”

รีเบกก้า แกสเปอร์ นักเรียนรายหนึ่งวิตกกับอนาคตของคนในรุ่นเธอ โดยกล่าวว่า “ฉันอายุ 18 ปีแล้ว ก็ตระหนักถึงสภาพภูมิอากาศและคิดถึงอนาคตของคนรุ่นเรา เพราะเราซึ่งเป็นเยาวชนได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาพภูมิอากาศ และหวังว่ากิจกรรมครั้งนี้จะสร้างผลกระทบต่อนโยบายของทั่วโลกด้านสิ่งแวดล้อมและรัฐบาลรับฟังสียงของนักเรียน”

ทางด้านผู้เข้าร่วมกิจกรรมในกรุงโบโกต้า เมืองหลวงของโคลอมเบีย ให้ความสนใจกับผืนป่าแอมะซอนและการทำลายป่า โดยอันโตนิโอ เอห์รลิช วัย 18 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยลอส แอนเดส กล่าวว่า “เยาวชนคนรุ่นใหม่สามารถสร้างการตระหนักรู้และส่งสารไปยังนักการเมืองและสถานที่สำคัญๆได้ พวกเขารู้ว่าเราอยู่ที่นี่และรู้สึกผิดเองว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรเลย”

อันโตนิโอกล่าวว่า “โคลอมเบียควรเป็นผู้นำในกิจกรรมรณรงค์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเราเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากสุดเป็นอันดับสองของโลก”

นักเรียนจำนวนมากได้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ โซเฟีย กูเตียร์เรซ วีย 17 ปีกล่าวว่า พวกเขาไม่ใส่ใจต่อประเด็น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่คิดว่าเป็นปัญหาอย่างแท้จริง

ส่วนในอาร์เจนตินามีกิจกรรมเล็กๆทั่วประเทศ แต่กำหนดที่จะมีขบวนใหญ่ในวันศุกร์หน้า(27 กันยายน) ที่กรุงบัวโนสไอเรส โดยมีคนราว 20 กว่าคนรวมตัวที่พลาซ่า เดอ เมโย ด้านหน้าทำเนียบประธานาธิบดีในช่วงบ่ายวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ต่างพากันจับมือล้อมเป็นวงพร้อมป้ายข้อความกระตุ้นผู้คน”ตื่นได้แล้ว”

คนบางส่วนมองว่าความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นจุดบอดของประเทศที่ยังตกอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง แต่ก็สัญญาว่าจะรวมตัวกันต่อไปเพื่อทำให้คนหันมาสนใจเรื่องนี้

วาเลนติน่า ปาซิโนวัย 21 ปีกล่าวว่า คนทั่วไปมักจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า ทำไมจะต้องใส่ใจ ฉันแก่แล้ว และคงไม่ชีวิตอยู่ถึงวันพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ รุ่นปู่รุ่นย่ามักจะพูดกัน และพวกเขาไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน และไม่ได้ให้ความสำคัญ

“ดังนั้นฉันคิดว่าความรับผิดชอบเริ่มแรกต้องมาจากสื่อ สื่อต้องนำเสนอให้คนทั่วไปได้เห็น” วาเลนติน่ากล่าว

อารานต์ซา อวิล่า วัย 20 ปีซึ่งร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการมากกว่าเดิม โดยกล่าวว่า” รัฐบาลต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะฉันได้ทำในส่วนของฉันแล้ว แม้เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ก็ช่วยได้บางส่วน แต่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆจะเกิดขึ้นได้หากรัฐบาลเริ่มลงมือทำ”

Friday For Future

FridaysForFuture เริ่มขึ้นเดือนสิงหาคม 2561 โดยเกรตา ขณะนั้นอยู่ในวัย 15 ปีได้ออกมานั่งหน้ารัฐสภาสวีเดนทุกวันติดต่อกัน 3 สัปดาห์ เพื่อประท้วงรัฐบาลที่ไม่ได้ดำเนินการใดเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งได้โพสต์รูปแสดงให้เห็นในสิ่งที่เธอได้ทำบนอินสตาแกรม ทวิตเตอร์จนกลายเป็นแรงกระเพื่อม

ต่อมาวันที่ 8 กันยายน เกรตาได้ตัดสินใจที่จะประท้วงทุกวันศุกร์จนกระทั่งฝ่ายการเมืองของสวีเดนได้กำหนดแนวทางที่จะคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส

แฮชแท็กคำว่า FridaysForFuture และ Climatestrike ได้รับการกระจายในวงกว้าง เด็กนักเรียนจำนวนมากและผู้ใหญ่เริ่มที่จะประท้วงหน้ารัฐสภาของประเทศตัวเอง รวมทั้งหน้าที่ว่าการรัฐหรือเมืองทั่วโลก และกลายเป็นต้นแบบให้เด็กนักเรียนในเบลเยี่ยมเริ่มประท้วงในวันพฤหัสบดี(Thursday school strikes) และวันนี้นักเรียนและเยาวชนจากทั่วโลกได้ร่วมกันรณรงค์
กิจกรรมรณรงค์ที่เริ่มขึ้นในวันที่ 20 กันยายนนี้จึงเป็นกิจกรรมของทุกคน