ThaiPublica > เกาะกระแส > ไทยปราบเข้มค้าสัตว์ป่าสงวนตามไซเตส หยุดยั้งกระบวนการลักลอบ ดันพ้นบัญชีประเทศเฝ้าระวังงาช้างใน 4 ปี

ไทยปราบเข้มค้าสัตว์ป่าสงวนตามไซเตส หยุดยั้งกระบวนการลักลอบ ดันพ้นบัญชีประเทศเฝ้าระวังงาช้างใน 4 ปี

26 กันยายน 2019


การพิจารณาในวาระการรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการค้าช้าง (ETIS Report) ระหว่างการประชุม CITES CoP 18 หรือภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora – CITES) ในช่วงวันที่ 17-28 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้ยกประเทศไทยออกจากกลุ่มประเทศที่ต้องพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ

ความสำเร็จของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมาย ซึ่งทำให้ไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายในรายงานการวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบสารสนเทศการค้าช้าง เป็นผลจากการขยายผลถึงตัวการจนไม่มีคดีงาช้างลอตใหญ่ รวมถึงมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีตลาดงาช้างภายในประเทศ แต่ก็มีกฎหมายภายในประเทศและมาตรการควบคุมดูแลอย่างรัดกุม

นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าสงวนประเภทอื่นภายใต้อนุสัญญาไซเตสด้วย

จับกุมขยายผลถึงตัวการใหญ่

นายชัยยุทธ คำคูณ ที่ปรึกษาด้านศุลกากร กรมศุลกากร เปิดเผยว่า สถานการณ์โดยทั่วไปของการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าตามอนุสัญญาไซเตสในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ดูแลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาไซเตสมาตั้งแต่ปี 2526 ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จนมาปี 2535 ได้ออก พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายนี้ที่สำคัญหน่วยงานหนึ่งเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมอุทยาน

นายชัยยุทธเล่าว่า การดำเนินการตามอนุสัญญาไซเตสทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลเหตุมาจากงาช้าง เนื่องจากไทยเป็นทั้งประเทศปลายทาง และเป็นประเทศส่งผ่านงาช้างไปยังประเทศปลายทางจากประเทศต้นทาง

“สาเหตุที่ไทยมีความสำคัญในฐานะที่เป็นประเทศส่งผ่านและประเทศปลายทางเพราะภูมิประเทศมีที่ตั้งตรงกลางของเอเชียตะวันอกเฉียงใต้ อีกอย่างไทยเองอยู่ใกล้กับประเทศปลายทาง ไทยเราอยู่ระหว่างประเทศต้นทางกับปลายทาง” นายชัยยุทธกล่าว

สำหรับประเทศปลายทางของการส่งผ่านงาช้าง ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และจีน ขณะเดียวกันไทยมีช่างฝีมือแกะสลักจำนวนค่อนข้างมาก สามารถทำการการค้าขายงาช้างได้ ขายพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ ได้

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ไทยถูกใช้เป็นประเทศลำเลียงค่อนข้างมาก คณะกรรมการบริหารไซเตสซึ่งจะดูในเรื่องการค้าพืชและสัตว์หายากจึงได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเฝ้าระวังในปี 2557 และกำหนดให้ไทยต้องจัดทำแผนปฎิบัติการงาช้างแห่งชาติ (National Ivory Action Plan)

เมื่อไทยถูกจัดเข้าเป็นไปอยู่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้างแล้ว กรมศุลกากรก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการนี้

นายชัยยุทธ คำคูณ ที่ปรึกษาด้านศุลกากร กรมศุลกากร

นายชัยยุทธกล่าวว่า กรมศุลกากรได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการลักลอบนำเข้างาช้าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประเทศไทยเป็นประเทศที่จะลำเลียงเข้ามาและส่งต่อ หรือจะเข้ามาเป็นประเทศปลายทางก็ตาม มาตรการที่ใช้ในการสกัดกั้นตรงนี้มีหลายมาตรการ ประกอบด้วย หนึ่ง การแสวงหาข่าว สอง การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยเพื่อช่วยตรวจค้น ตรวจวิเคราะห์ ว่าสินค้ามีความผิดปกติหรือไม่ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การใช้เครื่องเอ็กซเรย์เพื่อตรวจสอบวัสดุต่างๆ ที่ส่งเข้า ไม่ว่าจะเข้ามาใน cargo หรือเข้ามากับผู้โดยสารก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีระบบที่เรียกว่า ระบบแจ้งข้อมูลผู้โดยสารล่วงหน้า (Advanced passenger Information – API) ระบบนี้จะติดตามข้อมูลผู้โดยสารรายที่วิเคราะห์แล้วว่ามีความเสี่ยง สามารถติดตามข้อมูลการเดินทางที่ผ่านมา เช่น เข้ามาไทย ไปที่ไหนบ้าง แล้วจะเข้ามาในประเทศไทยอีกเมื่อไร โดยสายการบินอะไร

API เป็นความร่วมมือระหว่างสายการบินต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างท่าอากาศยานของประเทศไทยกับกรมศุลการกร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสายการบิน สายการบินจะส่งข้อมูลมาให้กับท่าอากาศยาน ซึ่งจะกระจายข้อมูลให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

“ข้อมูลเหล่านี้เราเอามาใช้ในการวิเคราะห์ เอามาใช้ในการดำเนินการตรวจว่าเขาได้มีการทำผิดหรือไม่” นายชัยยุทธกล่าว

สาม นอกเหนือจากแสวงหาข่าวและการใช้เครื่องมือแล้ว ยังมีการวิเคราะห์เส้นทางโดยนำข้อมูลที่ได้รับจากในอดีต ซึ่งรวมถึงข้อมูลการตรวจค้นจับกุม มาวิเคราะห์ เพื่อดูเส้นทางที่กลุ่มลักลอบนำสินค้าต่างๆ เหล่านี้เข้ามา ว่ามีการดำเนินการอย่างไร

นายชัยยุทธกล่าวว่า กรมศุลกากรยังมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมอุทยานแห่งชาติ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมทั้งการออกปฏิบัติงานร่วมกัน การขยายผลไปยังนายทุนหรือผู้ร่วมขบวนการ โดยได้ทำในลักษณะนี้มาตลอด

นายชัยยุทธกล่าวว่า ในอดีตมีการจับกุมการลักลอบค้างาช้างจำนวนมาก แต่ปัจจุบันลดลงน้อยลงแล้ว จะเห็นได้จากสถิติการจับกุม อันเนื่องจากการทำแผนปฏิบัติการตามไซเตส

นายชัยยุทธยังได้กล่าวด้วยว่า การจับกุมการลักลอบค้างาช้าง เดิมปี 2557 จับได้ทั้งหมด 11 คดี ปี 2558 จับได้ 13 คดี ปี 2559 ได้ 9 คดี ปี 2560 เริ่มน้อยลงแล้วจับได้ 6 คดี ปี 2561 จับได้ 2 คดี ปี 2562 จับได้ 1 คดี

“การที่จับได้น้อยลงไม่ใช่ว่าประสิทธิภาพในการจับกุมน้อยลง แต่เป็นเพราะการที่เมื่อเราจับกุมแล้วขยายผลการจับกุม เพื่อไปยังแหล่งคนจ้างวานหรือนายทุนด้วย ยกตัวอย่าง คดีงาช้าง เมื่อจับกุมผู้โดยสารได้ที่สนามบินสุรรณภูมิ กรมศุลการได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมอุทยานฯ ดำเนินการจับกุมนายทุนซึ่งเป็นสองพี่น้อง นายทุนใหญ่ ที่ต่างประเทศเองก็ตองการตัว” นายชัยยุทธกล่าว

เมื่อนายทุนถูกจับ ก็ไม่มีผู้ให้เงินที่จะดำเนินการในการใช้ประเทศเป็นประเทศปลายทาง หรือเป็นประเทศทางผ่าน การจับกุมจึงลดลงน้อยลง

วิเคราะห์ข้อมูลแบ่งปันนานาชาติ

นายชัยยุทธกล่าวว่า ความสำเร็จของปราบปรามจนการจับกุมลดลงนี้ เห็นได้ชัดจากรางวัลที่กรมศุลกากรได้รับจากเวทีนานาชาติ 2 รางวัล โดยรางวัลแรกที่กรมศุลการได้รับเป็นรางวัลจากองค์การสหประชาชาติ ด้านผลกระทบทางสังคม เนื่องจากได้ดำเนินการจนกระทั่งนำไปสู่การจับกุมตัวการใหญ่ เป็นพี่น้องสองคน ส่วนรางวัลที่สองเป็นรางวัลนวัตกรรมจากการที่เราได้ดำเนินการวิเคราะห์เส้นทาง รูปแบบพฤติกรรมของผู้ลักลอบ ด้วยการนำข้อมูลรูปแบบการลักลอบของผู้ลักลอบในอดีตมาวิเคราะห์คาดการณ์รูปแบบที่เขาจะทำต่อไป ซึ่งผลจากการวิเคราะห์เส้นทาง พฤติกรรม รูปแบบที่เขาจะทำต่อไป ทำให้กรมศุลการมีการจับกุมต่อเนื่องมาโดยตลอด

“ผลการดำเนินการตรงนี้นอกจากได้ผลดีกับประเทศไทยแล้ว นอกจากทำให้มีการจับกุม กระบวนการลักลอบถูกโค่น เรายังได้นำข้อมูลส่วนตรงนี้ที่มีการวิเคราะห์โยงไปถึงประเทศต่างๆ แจ้งไปให้กับต่างประเทศด้วย เป็นผลให้หลายประเทศประสบความสำเร็จในการจับกุม ยกตัวอย่าง คือ สิงคโปร์ จากข้อมูลที่เราให้ สามารถจับกุมงาช้าง ได้ 3.7 ตัน เป็นการจับกุมที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศสิงคโปร์ เรายังส่งข้อมูลนี้ให้ประเทศลาว ประเทศเคนยาด้วย เป็นผลให้ทั้งสองประเทศจับกุมงาช้างได้ตามข้อมูลที่เราให้ไป จากส่วนความสำเร็จตรงนี้ทำให้ได้รับรางวัลนวัตกรรม” นายชัยยุทธกล่าว

การจับกุมการลักลอบนำเข้างาช้างในประเทศไทยในช่วง 5 ปี ทั้งหมดมีจำนวน 46 คดี เป็นของกลางงาช้างทั้งกว่า 4.5 ตัน นับว่าเป็นความสำเร็จ

“การจับกุมอย่างเดียวไม่ได้บอกถึงความสำเร็จ เพราะจับกุมมากอาจจะแสดงถึงปริมาณการลักลอบที่มากด้วย แต่การที่เราจับกุมแล้วนำไปสู่การที่เราสามารถจับกุมผู้ก่อการหรือนายทุน เป็นผลสำเร็จมากกว่า เพราะทำให้เกิดการหยุดยั้งกระบวนการ ด้วยความสำเร็จของกรมศุลกากรที่ดำเนินการ ทำให้ปัจจุบันในปี 2562 ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่เฝ้าระวังอีกแล้ว ขณะเดียวกัน ประเทศไทยไม่จำเป็นที่จะต้องทำแผนปฏิบัติการงาช้างแล้ว” นายชัยยุทธกล่าว

ไทยไม่ใช่ปลายทางลักลอบ


นายชัยยุทธกล่าวว่า เดิมส่วนใหญ่การลักลอบนำเข้างาช้างจะเข้าช่องทางสนามบินเป็นลอตใหญ่ ส่งตรงมาไทยก่อนจะส่งออก เพราะหากส่งตรงไปประเทศปลายทางก็จะรู้ตัวผู้รับได้ทันที และเป็นสิ่งของอะไร ทำให้หน่วยงานปราบปรามสามารถที่จะรู้ว่าได้ว่าเที่ยวบินไหนเป็นเป้าหมายที่น่าสงสัยและต้องตรวจ ดังนั้นจึงใช้วิธีการส่งมาที่ไทย แล้วจะไม่ส่งต่อทางอากาศอีก แต่อาจจะขนออกด้วยรถไปกัมพูชา ลาว หรือเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงจากการต้องสงสัย

นอกจากนี้ยังใช้วิธีการส่งด้วยเครื่องบินแต่เปลี่ยนเส้นทางไปพักที่อื่นแล้วค่อยเข้ามาไทย เช่น พักที่ดูไบ ไนจีเรีย หรือจากที่เคยลงสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ไปลงสนามบินตามพรมแดน เพราะผู้ลักลอบรู้ว่าที่สนามบินสุวรรรณภูมิมีการตรวจตราเข้มงวด แต่จากการติดตามข้อมูลการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ลักลอบค้า เส้นทางก็ยังอยู่ในประเทศเหล่านี้

ในช่วงหลังการส่งตรงมาไทยเริ่มน้อยลง ปี 2562 ไม่ได้ลักลอบนำเข้าในลักษณะงาใหญ่แล้ว แต่ตัดงามาบางส่วนในลักษณะเครื่องประดับ ซุกซ่อนเข้ามา ในกล่องพัสดุมีสินค้าอื่นปกคลุมไว้

“ปัจจุบันไทยอาจจะไม่ใช่ประเทศปลายทางของงาช้างแล้ว เป็นเพียงประเทศส่งผ่าน งาช้างต้นทางอยู่ที่แอฟริกา แล้วเขาก็ใช้ประเทศในแอฟริกาจะใช้ผ่านไป ดูไบ ไนจีเรีย ไปจีน ลาว กัมพูชา เวียดนาม” นายชัยยุทธกล่าว

กรมศุลกากรได้มีการประสานงานกับประเทศต้นทาง เช่น เคนยา แคเมอรูน ปัจจุบันกระบวนการลักลอบยากขึ้น เพราะประเทศต้นทางให้ความสำคัญมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูลข่าวสาร เส้นทางลำเลียง

ขณะเดียวกัน ในระดับเจ้าหน้าที่ก็มีความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วย ทำให้มีการแจ้งข้อมูลระหว่างกันได้ง่าย โดยเฉพาะการแจ้งในลักษณะการให้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมายมากนัก เป็นความร่วมมืออย่างไม่ทางการ ในเรื่องเร่งด่วน สามารถดำเนินการได้ทันการณ์ ไม่ต้องเสียเวลารอการลงนามประสานความร่วมมืออย่างเป็นทางการ

ประเทศต้นทางเองให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น จากเดิมที่อาจจะยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญ เมื่อคณะกรรมการบริหารไซเตสให้ความสนใจและให้ความสำคัญต่อการค้างาช้าง ประเทศที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นภาคีในอนุสัญญาให้ความร่วมมือที่จะสกัดกั้น

สำหรับเส้นทางการลักลอบขนในปัจจุบัน กรมศุลกากรอยู่ระหว่างการประสานงานกับประเทศอื่น เพราะศุลกากรประเทศต่างๆ มีข้อมูลอยู่แล้วเกี่ยวกับต้นทาง ก็จะนำข้อมูลในอดีตทั้งจากการเก็บรวบรวมของกรมศุลกากรเอง หรือจากหน่วยงานภายในประเทศ เช่น ตำรวจ กรมอุทยาน และจากการประสานงานกับต่างประเทศ มาวิเคราะห์การดำเนินการของผู้ลักลอบ

เฝ้าระวังเข้มงวดต่อเนื่อง

นายชัยยุทธกล่าวว่า กรมศุลกากรยังเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดกั้น เพื่อป้องกันไม่ให้การลักลอบในลักษณะนี้กิดขึ้น ทั้งยังดูแลอย่างเข้มงวด แม้ได้ไทยพ้นจากการเป็นประเทศเฝ้าระวัง และไม่ต้องทำแผนปฏิบัติการงาช้างแล้ว

นายชัยยุทธกล่าวว่า แนวทางการเฝ้าระวังของกรมศุลกากร คือ 1) บูรณาการข่าวสารข้อมูล มีความเชื่อมโยงกันในการพูดคุยกับประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง กรมศุลกากรเองก็จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการเรื่องนี้ 2) การวิเคราะห์การเฝ้าระวัง การตรวจสอบเส้นทาง แม้ต้นทางอาจจะมาแอฟริกาใต้ และผ่านเส้นทางเดิมที่เคยเข้ามา แต่เมื่อมีการสกัดกั้นจับกุม โอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีเส้นทางใหม่ก็มากขึ้น 3) ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบ ซึ่งได้ใช้มาตลอดอยู่แล้ว ไม่ว่าการใช้เครื่องเอ็กซเรย์ การใช้ระบบ API ที่ไม่ได้ใช้เฉพาะรายการที่อยู่ภายใต้อนุสัญญาไซเตส แต่ใช้กับข้อมูลผู้โดยสารทุกคนตลอดเวลา

“งาช้างเมื่อหลุดจากบัญชีเฝ้าระวัง หนึ่ง คือ ต้องรักษาสถานะ สอง คือ จะต้องปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริหารไซเตส เพราะคณะกรรมการบริหารไซเตสยังทำหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแล ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการย้าย การนำเข้า ส่งออกพืช สัตว์ หรือซากสัตว์ ซากพืชที่หายาก” นายชัยยุทธกล่าว

แต่ละปีจะมีการประชุมประเทศสมาชิกที่อยู่ในอนุสัญญาไซเตส ประเทศไทยมีกรมอุทยานฯ เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม และมีการประชุมคณะกรรมการบริหารไซเตสที่จะกำหนดนโยบายเพื่อให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตาม

“เรายังดูแลปฏิบัติตามระเบียบหรือนโยบายต่างๆ ที่คณะกรรมการบริหารไซเตสมีมติออกมา” นายชัยยุทธกล่าว

นายชัยยุทธกล่าวว่า การรักษาสถานะ ไซเตสพิจารณาการให้ความสำคัญกับการตระหนักเรื่องการเฝ้าระวัง การสกัดกั้น การลักลอบนำเข้า หรือการนำผ่านเข้ามา แม้จะมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการจับกุมการลักลอบในภายหลังการหลุดพ้นออกจากประเทศเฝ้าระวัง

“ประเด็นสำคัญ คือ แม้ไม่มีแผนปฏิบัติการ แต่เรายังได้มีการดำเนินการ มีมาตรการต่างๆ ในการเฝ้าระวัง ในการสกัดกั้น ในการที่จะปราบปราม ในการที่จะดำเนินการดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากกว่า”นายชัยยุทธกล่าว

นอกจากนี้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่จับได้มากหรือน้อย เพราะตั้งแต่ปี 2560 ไทยจับกุมได้น้อยลง และถูกถอดออกจากการเฝ้าระวัง ขณะที่อีกหลายประเทศจับกุมได้มาก แต่ยังไม่หลุดจากการเฝ้าระวังและมีสถานเป็นประเทศที่เฝ้าระวัง เนื่องจากคณะกรรมการเห็นว่า การที่จับกุมได้จำนวนมาก แสดงว่ามีการลักลอบจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทยนอกจากจับกุมได้น้อยลงแล้ว การจับกุมนั้นทำให้มีการขยายผลไปจับกุมรายใหญ่ นายทุน ผู้ที่จ้างวาน ไปที่ต้นตอ ซึ่งคือต้นเหตุ ตัวการ เพราะผู้ลักลอบส่วนใหญ่เป็นผู้รับจ้างขน หากจับแค่คนขนแล้วไม่ขยายผล ก็มีการหามือขนคนใหม่มาและหาได้ง่าย ไม่ได้เป็นการตัดกระบวนการ นายทุนยังมีเงินก็จ้างคนขนใหม่

“การจับกุมคน จนจับนายทุน จับผู้จ้างวาง จับทั้งกระบวนการถึงจะหยุดในหลักการ เป็นนโยบายขององค์กรทั่วโลกว่าจะไม่จับแค่คนขน แล้วเลิก ต้องจับนายทุนให้ได้ จับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงจะหยุดทั้งกระบวนการ คือเป้าหมายที่เราต้องการ ส่วนใหญ่นายทุนไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย หากจับนายทุนได้ แล้วส่งข้อมูลไปต่างประเทศได้ ก็จะหยุดกระบวนการได้ ประเทศอื่นดำเนินการ เราเป็นผู้รับก็ขยายผลในประเทศเราว่าใครเป็นผู้รับ” นายชัยยุทธกล่าวและว่า นายทุนมีทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ก็จะพยายามจับทุกคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการ

การจับกุมการลักลอบนำเข้างาช้างของไทยตั้งแต่เริ่มต้นจับกุมมีปริมาณรวม 13 ตัน แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายนับตั้งเริ่มทำแผนปฏิบัติการจับได้ 46 คดีรวมปริมาณ 4.5 ตัน

สำหรับของกลางปริมาณ 4.5 ตัน ต้องนำไปตรวจพิสูจน์ โดยหลักการแล้วบางประเทศขนไปทำลาย แต่ประเทศไทยขณะนี้อยู่ในการดูแลของกรมอุทยานฯ และมีหลายแนวคิดที่จะดำเนินการกับงาช้างของกลางนี้ บางแนวคิดก็นำไปจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ยังไม่ได้สรุป ยังเก็บรักษาไว้

“ของกลางที่เราจับกุมได้จะส่งไปให้กรมอุทยานฯ เก็บรักษา ซึ่งเราจะทำบัญชีไว้ มีรูปถ่ายประกอบ แจ้งให้กรมอุทยานฯ เพื่อที่จะรายงานให้กับคณะกรรการบริหารไซเตส ตรงนี้จะมีการควบคุมเพื่อให้ ของต่างๆ ที่ดำเนินการจับกุมจะต้องไม่ไปเวียนขาย มีการบันทึกข้อมูลชัดเจนว่าเรามีของกลางในครอบครองมากน้อยแค่ไหน” นายชัยยุทธกล่าว

มูลค่างาช้างกิ่งละ 3 แสนบาทโดยเฉลี่ยเป็นราคาส่ง และเมื่อหาได้ยากขึ้นตลาดต้องการมาก ราคาก็จะยิ่งสูงขึ้น

ปราบปรามครอบคลุมสัตว์คุ้มครองในไซเตส


นายชัยยุทธกล่าวว่า การทำแผนปฏิบัติการตามไซเตสไม่ได้ส่งผลดีต่อการปราบปรามการลักลอบงาช้างอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปถึงการนำเข้าของอื่นๆ ภายใต้อนุสัญญาด้วย ทั้งงาช้าง นอแรด ตัวลิ่น เกล็ดลิ่น ซากสัตว์ ซากพืช และสัตว์หรือพืช

ในประเทศไทยการลักลอบนำเข้าสัตว์ป่าคุ้มครองตามอนุสัญญาไซเตสแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน บางปีมีการลักลอบนำเข้าและค้างาช้างมากเป็นอันดับหนึ่ง และเส้นทางของสินค้าแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยตัวลิ่นขนมาทางบก เข้าไทยทางตอนใต้จากอินโดนีเซีย ส่วนงาช้างมาทางเครื่องบินเพราะมาไกล

“การลักลอบมีทั้งนอแรด เกล็ดลิ่น สลับกันไป แต่โดยหลักแล้วงาช้างจะมากที่สุด รองลงไปคือนอแรดและเกล็ดลิ่น เมื่อมีการปราบปรามเข้ม แนวโน้มการดำเนินการลักลอบจึงน้อยลง อีกทั้งเราดำเนินการกับผู้นำเข้า กับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และดำเนินการจับกุมลงไปตัวการ เมื่อสามส่วนนี้หายไป กระบวนการที่อาจจะยังเหลืออยู่ก็เปลี่ยนเป้าหมาย อาจจะไปประเทศที่อาจจะสามารถเข้าได้ง่ายกว่า ให้ความสำคัญน้อยกว่า

ในปี 2561 การจับกุมนอแรดลดลงเหลือ 26 ชิ้นจากปี 2560 ที่มีจำนวนเกือบ 50 ชิ้น แต่ปี 2562 ไม่มีการจับกุมเลย การปราบปรามเข้มแข็งขึ้น เนื่องจากรู้เส้นทางการลักลอบจากการวิเคราะห์เส้นทาง

นายชัยยุทธกล่าวว่า เมื่อผู้ลักลอบรู้ว่าเจ้าหน้าที่มีข้อมูลเส้นทางขน ก็ได้เปลี่ยนเส้นทางไปประเทศอื่นหรือเปลี่ยนเป็นวิธีการอื่นต่อไป โดยเส้นทางอาจจะไปออกที่อื่น เพราะประเทศปลายทาง โดยเฉพาะนอแรด ไม่ใช่ประเทศไทย แต่เป็นประเทศจีน รวมทั้งไปประเทศอื่นที่ให้ความสำคัญและระมัดระวังในเรื่องนี้น้อยกว่า นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าเหล่านี้ไม่มีในประเทศไทย แต่ไทยเป็นประเทศทางผ่าน

นายชัยยุทธกล่าว การจับกุมคดีภายใต้อนุสัญญาไซเตส ไม่มีการยอมความในชั้นศุลกากร โดยกรมศุลกากรได้ส่งฟ้องหมด ส่วนการลงโทษเป็นดุลพินิจของศาล แต่ส่วนใหญ่คดีลักลอบมีบทระวางโทษอยู่แล้ว โทษเป็นไปตามกฎหมายกรมศุลกากร ซึ่งมีบทลงโทษที่สูงกว่า พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า คือ ปรับ 4 เท่าของมูลค่าของอากร และจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ

“ที่สำคัญที่สุด คือ กรณีที่เราตรวจการกระทำความผิดในส่วนอนุสัญญาไซเตส ได้ดำเนินการส่งฟ้องศาล ทุกกรณีไม่มีการดำเนินการระงับคดีในชั้นศุลกากร เพื่อให้บุคคลเหล่านี้เข็ดหลาบ เพราะการไม่ส่งฟ้องศาลและระงับคดี ผู้ที่ดำเนินการหรือผู้ลักลอบไม่รู้สึกเข็ดหลาบ แม้ว่าโดนค่าปรับหรือโดนยึด ฉะนั้นจึงส่งฟ้องศาลทุกกรณีทุกราย” นายชัยยุทธกล่าว

นายชัยยุทธกล่าวว่า การลักลอบค้าภายใต้อนุสัญญาไซเตสทุกประเภทลดลงไปมากจากการปราบปรามที่เข้มแข็ง

นิตยสารอีโคโนมิสต์เคยตีพิมพ์ผลสำรวจประเทศที่ให้ความสำคัญกับการปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายว่า ในกลุ่มอาเซียน ไทยถือว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ไทยดำเนินการแล้วมีผลสะท้อนต่อการจัดสถานะของประเทศอย่างจริงจัง สร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การที่ไซเตสถอดไทยออกจากประเทศเฝ้าระวังไม่ต้องทำแผนปฏิบัติการงาช้างอีก เพราะจับกุมงาช้างได้เป็นปริมาณมากแล้วมีการขยายผลไปยังตัวการ หลังจากนั้นมีการส่งข้อมูลไปยังประเทศต่างๆ ทำให้มีผลงานในการจับกุมเป็นประวัติการณ์

ตัวอย่างที่สองที่เห็นได้ชัดคือ การปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Right – IPR) ที่เดิมไทยถูกจัดเป็น Priority Watch List แต่ผลการจากดำเนินการอย่างจริงจังจากทุกฝ่าย ก็ถูกถอดจาก Priority Watch List มาเป็น Watch List เป็นความสำเร็จของการทำงานบูรณาการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่จากกรมศุลกากรหน่วยงานเดียว

กรมศุลกากรมีการจับกุมปริมาณของกลาง IPR จำนวนมาก โดยของกลางที่จับได้เฉพาะที่ต้องทำลาย 11 ล้านชิ้นนั้นมีจำนวนประมาณกว่า 10 ล้านชิ้นหรือ 90% มาจากการจับกุมของกรมศุลกากร เนื่องจากกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานตรงพรมแดนที่ดูแลการนำเข้าส่งออก

ไทยใช้เวลา 4 ปีหลุดบัญชีเฝ้าระวัง

นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล

นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ในการประชุม CoP 18 ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติอีกต่อไป

โดยประเทศไทยใช้เวลา 4 ในการดำเนินการปราบปรามการลักลอบค้างาช้าง และประสบความสำเร็จ จนถูกถอดออกจากบัญชีประเทศเฝ้าระวัง รวมทั้งไม่ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการงาช้างอีกต่อไป

“เราใช้เวลา 4 ปี ตั้งแต่การประชุม CoP ครั้งที่แล้ว เมื่อเราถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Primary Concern ที่ต้องทำแผนปฏิบัติ เราก็ได้ออกกฎหมาย ออก พ.ร.บ.งาช้าง ปี 2558 ประกาศให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แล้วเริ่มดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้าง มีการจดทะเบียนงาช้าง พร้อมดำเนินปราบปรามมากขึ้น จนสำเร็จและมีการประกาศอย่างเป็นทางการจากไซเตสให้หลุดจากบัญชีเฝ้าระวัง” นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวว่า ไทยยังต้องดำเนินการปราบปรามและควบคุมการลักลอบต่อเนื่อง เพราะไซเตสมีการติดตามและเก็บข้อมูลต่อเนื่อง หากไทยไม่รักษาสถานะไว้ ก็อาจจะถูกจัดเป็นประเทศเฝ้าระวังอีกก็ได้

นายสมเกียรติกล่าวว่า การประชุม CoP 18 นี้ไซเตสได้แบ่งกลุ่มประเทศที่มีความน่ากังวลเกี่ยวกับการค้างาช้างออกเป็น 3 กลุ่มเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนชื่อกลุ่มเสียใหม่ จากกลุ่ม Primary Concern เป็นกลุ่ม A กลุ่ม Secondary Concern เป็นกลุ่ม B และ กลุ่ม Importance to Watch เป็น กลุ่ม C

“ไซเตสแบ่งกลุ่มใหม่เป็น category ก็กลายมาเป็นกลุ่ม A, B, C แต่ไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มไหนเลย หลุดออกมาหมด ขณะที่ประเทศใกล้เคียงถูกจัดกลุ่ม A คือ มาเลเซีย เวียดนาม ในอาเซียน ซึ่งต้องทำแผนปฏิบัติการงาช้างต่อ” นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวว่า ประเทศในกลุ่ม A ต้องทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไข หากแก้ไขไม่ได้จะต้องถูกแบน ถูกมาตรการคว่ำบาตร ส่วนกลุ่ม B อาจจะไม่ต้องทำแผน แต่หากปราบปรามไม่ได้ก็ต้องเตรียมตัวเข้ากลุ่มแรก ส่วนที่ลาวอยู่ในกลุ่ม C เพราะมีการจับกุมรายใหญ่

“เมื่อเราหลุดจาก 3 กลุ่มนี้เราก็ต้องระวังทำงาน ปิดกั้นให้ได้ และไม่ให้เข้าไปอยู่ใน 3 กลุ่มนี้อีก หากมีการลักลอบในไทย ก็จะต้องกลับไปทำแผนปฏิบัติการอีก ถ้าไม่ทำแผนก็จะถูกแซงก์ชัน ถูกกีดกันทางการค้า” นายสมเกียรติกล่าว

กลุ่มประเทศที่มีความน่ากังวลเกี่ยวกับการค้างาช้างตาม CITES

กลุ่ม A (เดิมคือ Primary Concern) เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายมากที่สุด (most affected) ประกอบไปด้วย มาเลเซีย โมซัมบิก ไนจีเรีย และเวียดนาม

กลุ่ม B (เดิมคือ Secondary Concern) เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมายอย่างชัดเจน (markedly affected) ประกอบไปด้วย เคนยา สาธารณรัฐแทนซาเนีย ยูกันดา จีน และเขตเศรษฐกิจฮ่องกง

กลุ่ม C (เดิมคือ Importance to watch) เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการค้างาช้างผิดกฎหมาย (affected) ประกอบไปด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC Congo) สาธารณรัฐคองโก (Congo) แอฟริกาใต้ แคเมอรูน กาบอง ซิมบับเว แองโกลา สหรัฐอาหรับเอมิเรต เอธิโอเปีย เขมร สิงคโปร์ ลาว ตุรกี และบุรุนดี