ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมอุทยานฯเตรียมจัดระบบค้าตุ๊กแกหลังมีชื่อในบัญชีไซเตส-แก้กฎหมายคุมค้าสัตว์คุ้มครองออนไลน์

กรมอุทยานฯเตรียมจัดระบบค้าตุ๊กแกหลังมีชื่อในบัญชีไซเตส-แก้กฎหมายคุมค้าสัตว์คุ้มครองออนไลน์

28 กันยายน 2019


การประชุม CITES CoP 18 หรือภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora:CITES)ในช่วงวันที่ 17-28 สิงหาคมที่ผ่านมาได้เสนอให้เพิ่มสัตว์ป่าและพืชป่าหลายสายพันธ์ทั้ง ฉลาม กิ้งก่า ตุ๊กแก เต่า และพืชอีกหลายสายพันธุ์ เข้าไว้ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาทั้งบัญชีแนบท้าย 1 บัญชีแนบท้าย 2 และบัญชีแนบท้าย 3

นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพืชป่า เปิดเผยว่า ข้อเสนอให้มีการนำตุ๊กแกบ้านเข้าในบัญชีแนบท้าย 2 เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง เพราะหมายความว่าการค้าตุ๊กแกต่อไปนี้ ต้องมีการควบคุม จากเดิมที่ไทยให้ขายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งขายจีน

“ต่อไปนี้ตอนนี้เราต้องทำให้เป็นระบบมากขึ้น ต้องทำการศึกษา ว่าส่งไปเท่าไรถึงจะไม่มีผลกระทบต่อจำนวนประชากร และไม่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธ์ เป็นภาระกับเรา ต้องมีการกำหนดจำนวนการค้า แต่ต้องศึกษาก่อนว่าต้องส่งออกจำนวนเท่าไรต่อปี แล้วออกใบอนุญาตตามนั้น”นายสมเกียรติกล่าว

ประเทศไทยมีการคุ้มครองตุ๊กแกมานานแล้ว โดย มีการประกาศใน ราชกิจจาวันที่ 13 กันยายน 2528 เพิ่มตุ๊กแก 8 สายพันธ์ให้เข้าอยู่ในบัญชีหมายเลขที่ 1 สัตว์ป่าประเภทที่ 1 ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 ปี 2525 ที่ออกตามพ.ร.บ. สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503

ขณะเดียวกันการค้าตุ๊กแก การส่งออกตุ๊กแกแห้งของไทยก็เกิดขึ้นมานานแล้วเช่นกัน ราวปี 2513 ช่วงแรกมีการส่งออกไปหลายตลาด แต่ช่วงหลังเหลือเพียงตลาดฮ่องกงและตลาดจีน

อย่างไรก็ตามการส่งออกตุ๊กแกบ้านแห่งของไทยไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรและการกระจายพันธ์ในระดับที่เป็นความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ ตุ๊กแกจึงไม่มีการบันทึกไว้ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวน ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และไม่ได้เป็นสัตว์ป่าในบัญชีแนบท้ายของอนุสัญญาไซเตส ประเทศไทยจึงไม่ได้ห้ามการค้า การส่งออกและนำเข้าตุ๊กแก

แต่กรมอุทยานฯได้กำหนดให้ตุ๊กแกบ้านเป็นสัตว์ป่าในบัญชีสัตว์ป่าแนบท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในกลุ่มสัตว์ที่ไม่ใช่สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อป้องกันการนำตุ๊กแกชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มคองตามพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 หรือสัตว์ป่าในบัญชีแนบท้ายของอนุสัญญาไซเตส มาปนกับการส่งออกนำเข้าตุ๊กแกบ้าน และแม้ว่าตุ๊กแกไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้ายของอนุสัญญาไซเตส การนำเข้าการส่งออกตุ๊กแกจึงไม่มีการห้าม แต่กรมอุทยานฯจึงกำหนดให้ผู้นำเข้าหรือส่งออกตุ๊กแกบ้านต้องขออนุญาตกรมอุทยานฯทุกครั้ง เพื่อควบคุมปริมาณการส่งออก

นายสมเกียรติกล่าวว่า ไทยมีการควบคุมการค้าตุ๊กแกมานานและเข้มงวดขึ้นต่อเนื่อง การค้าตุ๊กแกจึงไม่ได้เสรี ที่ผ่านมามีการที่ผ่านมาได้มีการออกใบอนุญาตค้าตุ๊กแก การออกใบรับรอง

“ที่เราควบคุมการค้าเพราะต้องการรู้ว่าส่งออกไปเท่าไร มิฉะนั้นเราจะไม่รู้ เพราะมีการส่งออกไปจำนวนมาก แต่ตุ๊กแกไม่เคยประกาศเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเลย เป็นสัตว์ที่อยู่ตามบ้านและไม่เคยลดจำนวนลง ชาวบ้านจับเป็นฤดูกาลไม่ได้จับทั้งปี พอไม่ได้ทำนาก็มาจับตุ๊กแก ได้เงินไม่มากนัก เป็นรายได้เล็กน้อยๆ”นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวว่า อินโดนีเซียมีการส่งออกตุ๊กแกมากกว่าไทยอีก อินโดนีเซียส่งออกตุ๊กแกมากเป็นอันดับหนึ่งไทยส่งออกเป็นอันดับสอง ไซเตสเลยมองว่าจะต้องมีการเข้าไปจัดการเพราะหากปล่อยไว้จะสูญพันธ์ ส่วนตลาดบริโภคตุ๊กแกแห้งคือจีน

สำหรับประเทศไทยตุ๊กแกไม่มีฐานะทางกฎหมาย ไม่ถูกคุ้มครองเพราะมีจำนวนมาก การค้าระหว่างประเทศมีความสะดวก แต่การส่งออกต้องมีวิธีการขั้นตอนที่กำหนด

“หากเราประกาศว่าตุ๊กแกบ้านเป็นสัตว์คุ้มครอง ก็จะมีผลกระทบต่อคน เนื่องจากตุ๊กแกอาศัยอยู่ตามบ้านเรือนของคนด้วย ตุ๊กแกที่เราคุ้มครองเป็น ตุ๊กแกป่า ตุ๊กแกบ้านไม่ได้คุ้มครอง เพราะมีจำนวนมาก หากประกาศว่าเป็นสัตว์คุ้มครองขึ้น แล้วเกิดคนตีตุ๊กแกตายจะติดคุก กฎหมายใหม่เพิ่มบทลงโทษหนักขึ้น จะเดือดร้อนกันไปหมด”นายสมเกียรติกล่าวและว่า กรมอุทยานฯควบคุมการนำเข้าส่งออกตุ๊กแกเท่านั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับตุ๊กแกตามบ้านคน

ที่มาภาพ: https://www.traffic.org/news/tokay-gecko-trade-boom-in-south-east-asia/

ส่งเสริมให้ทำถูกต้องตามไซเตส

ส่วนสัตว์ป่าชนิดอื่นเช่น ตะพาบ นายสมเกียรติกล่าวว่า ตะพาบไทยส่งออกไม่ได้ เพราะตะพาบไทยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตะพาบที่ส่งออกได้เป็นตะพาบไต้หวัน

ทางด้านเต่าทะเลทราย ไม่ได้ห้ามเลี้ยง แต่บางชนิดต้องให้มาจดทะเบียนการเลี้ยงเพื่อควบคุม การส่งออก สัตว์เหล่านี้เลี้ยงได้ส่งออกไม่ได้ การส่งออกต้องมีวิธีการกระบวนการ ซึ่งกรมอุทยานฯจะพยายามจัดการให้เหมาะสม ส่วนไหนที่เพาะเลี้ยงได้ ถูกกฎหมายก็ส่งเสริมให้ส่งออก เพราะราคาสูง เช่น เต่าราคาเป็นแสน นกแก้วมาร์คอร์บางชนิดมีราคาสูงถึงล้านบาท ต้องหาแนวทางส่งเสริมและทำให้ถูกต้องตามอนุสัญญาไวเตส เพราะอนุสัญญาไซเตสว่าด้วยเรื่องการค้า ไม่ได้ห้ามการค้าเพียงแต่ควบคุม เพื่อไม่ให้สูญพันธ์

ทางด้านจระเข้ ที่ทำการค้าได้นั้นเป็นจระเข้ฟาร์ม ที่จดทะเบียนส่งออกไปขาย มีการขึ้นทะเบียนกับไซเตส ทั้งนี้จระเข้อยู่ในบัญชีแนบท้าย 1 ของไซเตส ในไทยจระเข้ธรรมชาติไม่มี มีแต่เพาะเลี้ยงทั้งหมด ดังนั้นเมื่อจดทะเบียนฟาร์มก็สามารถส่งออกได้ ส่งหนังไปขายได้แต่ต้องจดทะเบียนก่อนตามวิธีการที่ไซเตสกำหนดเท่านั้น

ที่มาเลเซียมีจระเข้ป่าจำนวนมามากแถวซาราวัค จับไปขายได้เพราะโควตาตามไซเตส แต่ไทยซึ่งไม่มีจระเข้ป่าไซเตสต้องการให้ไทยทำแผนฟื้นฟูนำจระเข้กลับสู่ธรรมชาติ ที่ผ่านมาไทยทำได้บ้าง มีการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติไปบ้างแล้ว และจะทยอยดำเนินการต่อไป

แก้กฎหมายคุมลักลอบค้าสัตว์คุ้มครองออนไลน์

นายสมเกียรติกล่าวถึงแนวทางการควบคุมการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองบนออนไลน์ว่า ในกรณีที่เป็นสัตว์สงวนสัตว์คุ้มครอง ได้มีการปราบปราม มีการล่อซื้อบ้างไปจับบ้าง แต่หากเป็นสัตว์ที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีไซเตส ผู้ค้าสามารถขายได้

“ไทยมีการควบคุมบางชนิด บางชนิดที่สำคัญหายาก หรือชนิดที่ไซเตสจับตามองเราก็ควบคุม การเพาะเลี้ยง การค้า การครอบครอง เมื่อเราประกาศออกไป ผู้ค้าผู้เพาะเลี้ยงที่ต้องการขึ้นทะเบียนกับเรา เช่น ปลาก็ต้องมาจดทะเบียนพ่อพันธ์แม่พันธ์แล้วผลิตลูกมาขายได้ถูกต้อง ซึ่งทำให้การขายมีแหล่งที่มาถูกต้อง ที่มาของพ่อพันธ์แม่พันธ์ระบุได้ ซึ่งหากมีที่มาชัดเจนไซเตสไม่ได้ห้าม”นายสมเกียรติกล่าว

การค้าสัตว์ป่าออนไลน์ กรมอุทยานฯให้ความสำคัญ ที่ผ่านมามีการปราบปราม มีการติดตามจับกุม แต่ส่วนใหญ่ที่โพสต์ขายบนอินเตอร์เน็ต มักเป็นการหลอกลวงไม่มีสินค้าจริง

“แต่กฎหมายใหม่การประกาศขายก็มีความผิดแล้ว กฎหมายจะมีผลเดือนพฤศจิกายน กฎหมายเดิมต้องขายสำเร็จก่อนถึงจะมีความผิด แต่ของใหม่เขียนคำนิยามของคำว่า ค้า คือ ประกาศขายว่าจะค้า ก็จะมีความผิดแล้ว พอเราเห็นการประกาศขายก็ออกหมายจับได้เลย จากเดิมที่ต้องล่อซื้อ ต้องซื้อให้สำเร็จก่อน กฎหมายใหม่จะทำให้จับกุมง่ายขึ้นเพราะแค่ประกาศและรู้ตัวคนประกาศ เช่น นาย ก ประกาศขายเสือโคร่งก็มีความผิดแล้ว”นายสมเกียรติกล่าว

บัญชีสัตว์และพืชป่าไซเตส
สัตว์ป่าและพืชป่าคุ้มครองตามอนุสัญญาไซเตส แยกออกเป็น 3 บัญชี ได้แก่

บัญชีแนบท้าย 1 เป็นบัญชีสัตว์ป่าหรือพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์และอาจสูญพันธุ์ได้ ห้ามทำการค้าอย่างเข้มงวด
แต่จะอนุญาตให้เฉพาะกรณีเท่านั้น ส่วนใหญ่เพื่อการศึกษาและวิจัย

บัญชีแนบท้าย 2 เป็นบัญชีสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่สูญพันธ์ แต่การค้าต้องมีการควบคุมเพื่อไม่ให้มีผลกระทบหรือมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธ์ได้

บัญชีแนบท้าย 3 เป็นบัญชีสัตว์ป่าและพืชป่าที่อย่างน้อยประเทศใดประเทศหนึ่งมีการสงวนและคุ้มครอง เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นต้องคุ้มครองและได้ขอความร่วมมือให้ประเทศอื่นช่วยควบคุมการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าในสายพันธ์นั้นด้วย