ThaiPublica > สู่อาเซียน > “กรมศุลกากร”เปิดสถิติลักลอบค้าตัวนิ่มลดลง เส้นทางขนส่งเบี่ยงออกจากไทยหลังตรวจจับเข้ม

“กรมศุลกากร”เปิดสถิติลักลอบค้าตัวนิ่มลดลง เส้นทางขนส่งเบี่ยงออกจากไทยหลังตรวจจับเข้ม

18 กันยายน 2019


นายชัยยุทธ คำคูณ ที่ปรึกษาด้านศุลกากร กรมศุลกากร

ตัวลิ่นเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการลักลอบค้ามากที่สุดในโลก แม้ถูกจัดเป็นสัตว์คุ้มครองที่อยู่ในบัญชี 1(Appendix I)ห้ามค้าภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) หรือไซเตส

การลักลอบค้าตัวลิ่นมีเครือข่ายโยงใยข้ามชาติ ตั้งแต่การดักจับตัวลิ่นในอัฟริกา ส่งเกล็ดลิ่นมายังตลาดเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดบริโภคหลัก รวมไปถึงการดักจับตัวลิ่นในอินโดนีเซีย ใส่ถุงตาข่ายส่งลงเรือมายังมาเลเซีย เพื่อขนส่งทางรถเข้าไทย ก่อนที่ข้ามแม่น้ำโขงออกไป กัมพูชา เวียดนาม กับจีน จึงถือเป็นอีกหนึ่งอาชญากรรมข้ามชาติที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปราม

ในประเทศไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าตัวลิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเข้าเป็นภาคีไซเตสในปี 2526 ต่อมามีการออกหรือพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 การป้องกันและปราบปราม ก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งเดิมเป็นประเทศเส้นทางหลักของการขนตัวลิ่นไปตลาดบริโภค ได้กลายเป็นประเทศที่มีการป้องกันปราบปรามอย่างเข้มแข็ง ทำให้การจับกุมผู้กระทำผิดลดลงต่อเนื่อง

โดยนายชัยยุทธ คำคูณ ที่ปรึกษาด้านศุลกากร กรมศุลกากร เปิดเผยว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศทางผ่านการลักลอบค้าตัวลิ่นและเกล็ดลิ่นแล้ว หลังจากที่กรมศุลกากรซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ต้องบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

นอกจากนี้ กรมศุลกากร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังได้ร่วมมือกันดำเนินการตามอนุสัญญา ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก

แหล่งบริโภคหลักอยู่ที่เวียดนามและจีน ประเทศไทยไม่ใช่แหล่งบริโภคตัวลิ่น เป็นแค่ทางผ่าน เนื่องจากมีภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ตรงกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ใกล้กับประเทศปลายทาง ลาว เวียดนาม และจีน อยู่ระหว่างประเทศต้นทางกับประเทศปลายทาง แต่เมื่อมีการถูกปราบปรามทำให้การดำเนินการลักลอบน้อยลง

  • เส้นทางลักลอบค้าตัวนิ่มทั่วโลก ส่งตลาดบริโภคหลัก เวียดนาม จีน ฮ่องกง
  • “กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า” จับมือประเทศเพื่อนบ้าน ปิดล้อมเส้นทางอาชญากรรมลักลอบค้าตัวลิ่นข้ามชาติ
  • ความคืบหน้าข้อตกลง “ไซเตส” – พร้อมกระบวนการลักลอบขนตัวนิ่มเส้นทางมาเลเซีย-ไทยส่งขายจีน คนมีสีมีเอี่ยว
  • “เราดำเนินการกับผู้นำเข้า กับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเราจะดำเนินการจับกุมลงไปถึงตัวการ เมื่อ 3 ส่วนนี้หายไป กระบวนการที่อาจจะยังเหลืออยู่ก็เปลี่ยนป้าหมาย อาจจะไปประเทศที่สามารถเข้าได้ง่ายกว่า ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามน้อยกว่า” นายชัยยุทธกล่าว

    ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 จนถึง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 กรมศุลกากรจับตัวลิ่นได้ทั้งหมด 861 ตัว และเมื่อรวมกับการจับกุมเกล็ดลิ่นแล้ว น้ำหนักของการจับกุมทั้งหมดทั้งตัวลิ่นเป็นๆ และเกล็ดลิ่นแห้งรวม 8,690 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 107.35 ล้านบาท

    จากสถิติการจับกุมพบว่าแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2557 จับกุมการลักลอบนำเข้าตัวลิ่นได้ 2 คดี ตัวลิ่นรวม 136 ตัว มูลค่า 0.46 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 จับกุมได้ 5 คดี ตัวลิ่นรวม 256 ตัวมูลค่า 2.85 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2559 จับกุมได้ 1 คดี เป็นเกล็ดลิ่นรวม 587 กิโลกรัมมูลค่า 1.76 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 จับกุมได้ 6 คดี ตัวลิ่นรวม 136 ตัวมูลค่า 85.69 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2561 จับกุมได้ 3 คดี ตัวลิ่นรวม 246 ตัวมูลค่า 16.45 ล้านบาท และรอบ 10 เดือนปีงบประมาณ 2562 จับกุมได้ 1 คดี ตัวลิ่นรวม 47 ตัวมูลค่า 0.12 ล้านบาท

    นายชัยยุทธกล่าวว่า ในอดีตมีการจับกุมมาก แต่ปัจจุบันลดลงน้อยลงแล้วจะเห็นๆได้จากสถิติ เนื่องจากว่าเมื่อมีการจัดทำแผนปฏิบัติตามอนุสัญญาไซเตส ผลที่ได้รับไม่เฉพาะเรื่องการปราบปรามลักลอบค้างาช้างอย่างเดียว แต่ลักษณะตรงนี้ไปคลุมถึงการนำเข้าของอื่นๆ ภายใต้อนุสัญญาด้วย ไม่ว่าจะเป็น งาช้าง นอแรด ตัวลิ่นเกล็ดลิ่น สัตว์หรือพืชภายใต้อนุสัญญาไซเตสอื่นด้วย

    ความต้องการตัวลิ่นและเกล็ดลิ่นมาจากประเทศปลายทาง กัมพูชา จีน เพราะมีความเชื่อว่าเอาไปทำยาบำรุงร่างกายได้ เช่น เอาเกล็ดลิ่นไปตุ๋น ไปทำอย่างอื่น ประกอบกับราคาเกล็ดลิ่นค่อนข้างสูง ราคาตกกิโลกรัมละประมาณ 10,000-30,000 บาท เพราะตัวลิ่น 2-3 ตัวได้เกล็ด 1 กิโลกรัม

    เกล็ดลิ่นต้นทางอยู่ที่อินโดนีเซีย และจากแอฟริกา เวลาขนส่งก็ต้องขนส่งผ่านไทย การขนส่งมี 2 แบบ การขนส่งตัวลิ่นเป็นๆ มีชีวิตเข้ามาทางใต้ใส่ถุงใหญ่มัดรวมเข้าใส่รถปิกอัพเข้ามา ส่วนการขนส่งเกล็ดลิ่นจะมาทางสายการบิน เพราะทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากเป็นเกล็ดลิ่นแห้ง

    การลักลอบขนตัวลิ่นมีชีวิตมักมาทางบก เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมน้อยกว่าทางอากาศ การขนส่งทางอากาศจะต้องผ่านเครื่อง x-ray และมีสถานที่จำกัด เพราะทางอากาศเมื่อลงจากเครื่องจะต้องเดินมาตามเส้นทางที่กำหนดเพื่อผ่านศุลกากรเท่านั้น

    “ทางบกสามารถขนส่งผ่านเส้นทางธรรมชาติก็มี หรือการผ่านด่านก็มีโอกาสรอดสูงกว่า เนื่องจากเวลาเปิดด่านแล้วจำนวนผู้คนสัญจรผ่านด่านมีจำนวนมาก จะเห็นว่าเวลาด่านเปิด คนก็จะพรูกันผ่านด่าน การขนตามด่านชายแดน เปอร์เซ็นต์รอดมีสูงแม้มีการตรวจเข้ม เพราะฉะนั้นเวลามาทางตอนใต้ หรือเข้ามาพักที่ใดที่หนึ่งในไทย ก่อนที่จะออกไปตามชายแดน โอกาสความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่มีโอกาสน้อยกว่าทางอากาศ” นายชัยยุทธกล่าว

    ตัวลิ่นมีชีวิตที่ถูกลักลอบขนเข้ามาน่าสงสาร บางตัวบอบช้ำอยู่ในสภาพที่จะตายอยู่แล้ว บางตัวก็เกิดลูกอ่อนอยู่ในถุง มีลูกลิ่นอยู่ในนั้น ส่วนใหญ่จับได้ กรมศุลกากรจะส่งต่อไปที่กรมอุทยานฯ ให้ดูแล ตัวลิ่นไม่ใช่สัตว์ที่มีถิ่นฐานในประเทศไทย

    การจับกุมการลักลอบทุกคดีในส่วนอนุสัญญาไซเตสที่ผ่านมาได้มีการส่งฟ้องทุกกรณีไม่มีการดำเนินการระงับคดีในชั้นศุลกากร เพื่อให้บุคคลที่ลักลอบค้าเหล่านี้เข็ดหลาบ เพราะหากเกิดไม่ส่งฟ้องศาลและระงับคดี ผู้ที่ดำเนิกนารหรือผู้ลักลอบไม่รู้สึกเข็ดหลาบ แม้ว่าโดนค่าปรับหรือโดนยึด เพราฉะนั้นจึงส่งฟ้องศาลทุกกรณีทุกราย

    สำหรับโทษของการลักลอบขนตัวลิ่นมีโทษเท่ากับการลักลอบตัวสัตว์หรือพันธุ์พืชประเภทอื่นตามกฎหมายศุลกากรกำหนด คือ ปรับ 4 เท่าของมูลค่าของอากร และจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งปัจจุบันบทลงโทษมีอัตราสูงกว่าโทษที่บัญญัติในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่มีฐานความผิดต่ำกว่า