ThaiPublica > คนในข่าว > “กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า” จับมือประเทศเพื่อนบ้าน ปิดล้อมเส้นทางอาชญากรรมลักลอบค้าตัวลิ่นข้ามชาติ

“กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่า” จับมือประเทศเพื่อนบ้าน ปิดล้อมเส้นทางอาชญากรรมลักลอบค้าตัวลิ่นข้ามชาติ

10 กันยายน 2019


ตัวลิ่น หรือตัวนิ่ม เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการลักลอบค้ามากที่สุดในโลก โดยคาดว่ามีตัวนิ่มมากกว่าล้านตัวถูกฆ่าเพื่อตอบสนองตลาดจีนและเวียดนามที่ต้องการบริโภคเนื้อและเกล็ด เพราะเชื่อว่ามีคุณค่าทางยาก ส่งผลให้ตัวนิ่มอยู่ในสถานภาพที่กำลังจะสูญพันธุ์ทั้งในเอเชียและแอฟริกา

ในเดือนตุลาคม 2019 ที่ประชุม CITES CoP 17 หรือภาคีสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ได้มีมติเห็นชอบขยับตัวนิ่มจากบัญชี 2 มาไว้ในบัญชี 1 ซึ่งมีผลห้ามการค้าตัวนิ่มทุกสายพันธุ์อย่างเด็ดขาด และห้ามไม่ให้มีการซื้อขายตัวนิ่มหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากตัวนิ่ม

ครบรอบ 3 ปีของการเพิ่มความคุ้มครองตัวลิ่น หรือตัวนิ่ม ตามอนุสัญญาไซเตส สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สัมภาษณ์ นายสมเกียรติ สุนทรพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพืชป่า ถึงการดำเนินการปราบปรามการลักลอบค้าตัวนิ่มในประเทศไทย

ไทยพับลิก้า:การปราบปรามการลักลอบค้าตัวลิ่นในประเทศไทยประสบความสำเร็จมากแค่ไหน

นายสมเกียรติ: ไทยได้ให้ความคุ้มครองตัวลิ่นมานานแล้ว โดยกำหนดให้ตัวลิ่นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายของไทย โดยไทยมีตัวลิ่น 2 สายพันธุ์ จากทั่วโลกที่มีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ และได้มีการดำเนินการปราบปรามจับกุมการลักลอบค้าตัวนิ่มมากกว่า 20 ปีแล้ว เช่นเดียวกับการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครองอื่น แต่ในระยะหลังการลักลอบค้าตัวนิ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เป็นข่าวมากขึ้น เพราะมีการลักลอบมากขึ้น ไซเตสจึงนำตัวลิ่นเข้าไว้ในรายชื่อสัตว์ป่าที่ต้องมีมาตรการคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่นดียวกับ เสือ งาช้าง นอแรด ลิง

ลิ่นพันธุ์จีน (Manis pentadactyla) ลิ่นพันธุ์มลายู (Manis javanica) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกาเล่ม 111 ตอนที่ 51 ก ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537

การปราบปรามลักลอบค้าตัวนิ่มถือว่าได้ผล เพราะการลักลอบค้าตัวนิ่มในไทยลดลง ทำให้ปริมาณการจับกุมลดลง เดิมการลักลอบโดยชาวบ้านไม่ได้เป็นการค้า ดักจับในช่วงกลางคืน เพราะตัวลิ่นเป็นสัตว์หากินกลางคืน จำนวนที่ชาวบ้านจับไม่มาก ต่อมาความต้องการมากขึ้นโดยมาจากจีน ที่เชื่อว่าเกล็ดลิ่นทำยาได้ ลิ่นที่มีชีวิตก็เอาเนื้อไปกิน เชื่อว่าเป็นยา ความต้องการที่มากขึ้นทำให้มีการลักลอบมากขึ้น จริงๆ แล้วบ้านเราลิ่นธรรมชาติถูกจับไปน้อยเพราะไม่ค่อยมีให้จับ ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป้องกันสัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ ไม่มีใครสามารถเข้าพื้นที่ได้ ไทยมีการลักลอบน้อย

ไทยพับลิก้า: ประเทศไทยมีตัวลิ่นน้อยแล้วตัวลิ่นที่มีการลักลอบค้ามาจากไหน

นายสมเกียรติ: ปัญหาหลักคือ ลิ่นมาจากต่างประเทศผ่านประเทศไทย ลิ่นมีชีวิตส่วนใหญ่มาจากประเทศอินโดนีเซีย ถูกลักลอบจับ รวบรวม และลักลอบผ่านชายแดนใต้ไปออกที่ภาคอีสาน เพื่อต่อไปลาว เวียดนาม และจีน ซึ่งลิ่นมีชีวิตที่นิยมมากคือ ลิ่นชวา กับลิ่นจีน ลิ่นจีนมีอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ ส่วนลิ่นชวาอยู่ทางใต้ รวมทั้งอินโดนีเซีย ส่วนอีก 6 สายพันธุ์อยู่ที่แอฟริกา

เมื่อความต้องการลิ่นมากขึ้น แอฟริกาก็เริ่มล่า แต่ล่าในรูปเกล็ดลิ่น เพราะส่งเป็นตัวลิ่นเป็นๆ ไม่ได้ แต่ส่งออกเป็นเกล็ดลิ่น ผ่านทางเครื่องบินบ้าง หรือเส้นทางอื่นบ้าง ซึ่งประเทศไทยก็เคยจับได้เมื่อหลายปีก่อนในปริมาณถึง 1 ตัน

ลิ่นที่จับได้มีขนาดใหญ่ แต่ลิ่นไทยตัวไม่ใหญ่ ลิ่นแอฟริกามีขนาดใหญ่กว่ามาก แต่แอฟริกาไม่มีการลักลอบขนเป็นตัวเป็นๆ มีชีวิต ส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย ลิ่นไทยมีน้อย เพราะอินโดนีเซียยังเป็นพื้นที่สวนปาล์มมาก คนอินโดนีเซียไม่ได้บริโภคตัวลิ่น แต่จับมาขาย เมื่อถึงฤดูที่ต้องถางหญ้าเตรียมพื้นที่ก็มีการจับตัวลิ่น เกาะสุมาตรามีพื้นที่ใหญ่

ราคาตัวลิ่นมีชีวิตในช่วง 2-3 ปีก่อน การลักลอบเข้ามาที่กรุงเทพฯ ราคากิโลกรัมละ 5,000 บาทซึ่งเป็นราคาที่เคยล่อซื้อในภัตตาคารจีน แต่ตอนนี้ปิดไปแล้ว ส่วนราคาหากผ่านไปลาวได้จะเพิ่มขึ้น แต่ไม่รู้ว่ากี่เท่า สูงแน่ ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่เสี่ยงกัน รถปิกอัพหนึ่งคันบรรทุกได้ 100 กว่าตัว ต้องเอาให้คุ้มค่า เพราะวิ่งจากสะเดามายังหนองคาย ระยะทางไม่ใกล้

ปัจจุบันการลักลอบขนเป็นกองทัพมด จากเมื่อก่อนใช้รถใหญ่บรรทุกเลย แต่ช่วงหลังเมื่อมีการจับกุมมากขึ้น ก็มีการดัดแปลง เช่น เอามาใส่ในรถเก๋งครั้งละ 10-20 ตัว เหมือนกับการขนของผิดกฎหมายประเภทอื่น คือมีการขนใส่รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้ตรวจ มีการเอารถเก๋งมาดัดแปลง

ในช่วงหลังเมื่อเราเข้มแข็งมากขึ้น ปกป้องได้ดี การลักลอบขนก็เปลี่ยนเส้นทางขน ไม่ใช่ประเทศไทย คนที่ลักลอบก็หลีกเลี่ยง ช่องไหนอ่อนก็ไปทางนั้น หันเหไปประเทศอื่นส่วนใหญ่ เพราะการขนผ่านไทยก็จะถูกจับตลอด

“เราก็ไม่อาจจะพูดได้ว่าการลักลอบผ่านประเทศไม่มีเลย แต่เบาบางลงมาก และการลักลอบขนส่งอาจจะเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน จับแต่ละครั้งได้ประมาณ 300-400 ตัว เปลี่ยนไปรูปกองทัพมดมาครั้งละ 4-5 ตัว ข้ามชายแดนมาแล้วรวบรวมแถวอีสานเพื่อส่งต่างประเทศ”

เส้นทางการลักลอบขนก็มาจากอินโดนีเซียเข้ามาเลเซีย และผ่านชายแดนไทยทั้งหมด โดยเป็นลักลอบปะปนกับสินค้าอื่น แต่ตัวลิ่นลักลอบยาก เพราะตรวจจับได้ง่าย เนื่องจากตัวลิ่นกลิ่นแรง ใส่รถมาขับผ่านก็รู้ว่ามีลิ่นอยู่ในรถ

เมื่อก่อนย้อนหลัง 3-4 ปีมีการจับกุมตัวลิ่นได้ที่จ.สุราษฏร์ธานี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากแม้ผ่านชายแดนใต้มาได้ แต่ก็ไม่สามารถผ่านด่านตรวจที่กองไซเตสที่ตั้งเป็นระยะๆ ได้ บางครั้งก็ดักจับปลายทางแถวอีสานเพื่อไปลาว ติดแม่น้ำโขง ลักลอบออกไปได้หมด ทั้งหนองคาย นครพนม แต่ระยะหลังเมื่อมีการกวดขันมากขึ้นก็สามารถจับได้ที่เชียงแสน เชียงของ เป็นช่องทางใหม่ที่ไม่เคยจับได้มาก่อน ซึ่งการจับกุมได้ลิ่นตัวเป็นๆ ยังมีชีวิตอยู่ แต่มีจำนวนน้อย

คนที่ลักลอบก็ต้องหาทางหลีกเลี่ยง แต่ไม่มาก เพราะข้อมูลการจับกุมลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกล็ดลิ่น ไม่กล้าลักลอบเข้ามา เนื่องจากผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ผ่านท่าเรือได้ยาก การลักลอบเกล็ดลิ่นที่เคยลักลอบมักจะสำแดงว่าเป็นสินค้าอื่น

ไทยพับลิก้า:การจับกุมและการดำเนินคดีในช่วงที่ผ่านมา

นายสมเกียรติ: ภาพรวมการจับกุมการลักลอบลดลงต่อเนื่อง ไม่เฉพาะตัวลิ่น แต่รวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่นด้วย เพราะการปกป้องและปราบปรามเข้มแข็งขึ้น แต่การจับกุมตัวลิ่นจะมากขึ้นที่เวียดนาม ลาว ฮ่องกงแทน เนื่องจากเข้าไทยไม่ได้ก็มีการหลบเลี่ยงไปที่อื่น

ปี 2560 จับกุมได้ 6 คดี มีจำนวนตัวลิ่น 184 ตัว ได้เกล็ดลิ่น 1 ตัน จับกุมได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ปี 2561 จับกุมได้ 4 คดี จ.หนองคาย จ.กาญจนบุรี เชียงของ(จ.เชียงราย) จ.สงขลา รวมแล้ว 156 ตัว ปี 2562 จับได้ที่ด่านสะเดาจำนวน 47 ตัว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากมาเลเซียเป็นผู้ลักลอบขนเข้ามา ที่ผ่านมาจับได้นับพันตัว แต่ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตหมด รอดชีวิตไม่ถึง 1% แม้มีการส่งศูนย์อนุรักษ์ เนื่องจากการดูแลเลี้ยงดูยังขาดความเข้าใจชีววิทยาของตัวลิ่น ประกอบกับคนที่ลักลอบได้ฉีดแป้งเข้าไปในตัวลิ่นเพื่อเพิ่มน้ำหนัก และตัวลิ่นบอบช้ำจากการขนส่ง

“คดีส่วนใหญ่จับกุมได้ก็ดำเนินคดีไป ศาลก็มีคำสั่งลงโทษไป บางคดีมีการรอลงอาญาไป โทษของการลักลอบนำเข้าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กฎหมายใหม่จะมีผลในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเพิ่มโทษปรับเป็น 1 ล้านบาทและโทษจำคุกเป็น 10 ปี”

  • พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นฉบับแก้ไข ได้ลงราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562
  • การกำหนดโทษก็ได้คำนึงผลกระทบรอบด้าน เพราะการกำหนดโทษมากเกินไปก็ไม่ดี การลักลอบค้าถือเป็นอาชญากรรมข้ามประเทศ ชาวบ้านไม่มีใครสามารถส่งของขายจีนได้หรอก มีแต่นายทุนที่จะทำได้ จึงกำหนดโทษไว้เยอะ ที่ผ่านมาโทษน้อยเมื่อมีการรับสารภาพ มีการลดโทษกึ่งหนึ่งผู้ที่ลักลอบก็พ้นโทษไป บางคดีก็มีการลงโทษติดคุก แต่ไม่นาน

    “โทษตามกฎหมายใหม่ถือว่าโทษสูงมาก อาจจะมีผลให้หาทางลักลอบในเส้นทางอื่น ไม่มาให้เราจับ หรืออาจจะเปลี่ยนวิธีการไป เช่น ขนเป็นกองทัพมด แต่ไม่ว่าจะเป็นกองทัพมดหรือขนทีละมากๆ โทษก็เท่ากันหมด”

    เส้นทางลำเลียงในประเทศยังไม่เปลี่ยน มุ่งไปอีสาน และออกไปยังลาว ทางจ.นครพนม จ.มุกดาหาร รวมทั้ง ช่องจอม ที่จ.สุรินทร์ บางครั้งอาจจะใส่รถไปพักไว้ที่ขอนแก่น ก่อนที่จะวิ่งไปที่ริมโขงใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีก็ขนไปแล้ว เพราะมีคนมาเตรียมรอไว้อยู่แล้ว อีกอย่างริมโขงเป็นพื้นที่โล่ง หากเจ้าหน้าที่เอารถออกไปตรวจจับ คนที่ลักลอบขนก็จะเห็นได้ง่าย

    ไทยพับลิก้า: แล้วจะมีวิธีการป้องกันและปราบปรามการลักลอบในเส้นทางอื่นอย่างไร

    นายสมเกียรติ: การทำงานของเรา ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น หลักๆ มีกรมอุทยานฯ กรมศุลกากร ที่อยู่หน้างาน นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การจับกุมตามชายแดนมีกรมอุทยานฯ กับกรมศุลกากรร่วมกัน ส่วนตามแนวชายแดนแม่น้ำโขงมีหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง (นรข.) ให้ความช่วยเหลือ ช่วยตรวจ เพราะการลักลอบข้ามลำน้ำแม่น้ำโขงเร็วมาก จับไม่ค่อยได้ เนื่องจากเส้นแบ่งเขตไม่ได้อยู่ตรงกลางน้ำ แต่อยู่ชิดฝั่งไทย พอขนใส่เรือ วิ่งออกนอกเส้นเขตแดนก็ออกนอกเขตแดน จับไม่ได้ เข้าลาวไป

    ในแม่น้ำโขงมีสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ครอบคลุมอยู่ ทำให้การแบ่งแขตแดนไม่ได้แบ่งตามร่องน้ำ แต่เป็นการแบ่งตามเกาะแก่ง ใช้เกาะเป็นหลัก เกาะแก่งในแม่น้ำโขงเป็นของลาวทั้งสิ้น พอเรือออกนอกชายฝั่งไปที่เกาะหรือสันดอนใกล้ที่สุดก็ถือว่าเป็นเขตลาวแล้ว

    “เราจึงมีจุดอ่อนว่า ไปลาวได้ เราจึงใช้วิธีการร่วมมือ มีการประชุมไทยลาวบ่อยมาก เดือนที่แล้วก็มีการประชุมกัน สร้างความร่วมมือในการป้องกันและปราบปราม ซึ่งดีขึ้น ลาวให้ความร่วมมือมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าลาวเข้มแข็งการลักลอบเข้าไปไม่ได้ เพราะอย่างไรก็ต้องผ่านลาวขึ้นไปที่เวียดนามและจีน ถ้าลาวไม่ยอมให้ผ่านก็ไปไม่ได้ ที่ผ่านมาเขาอาจจะบังคับใช้กฎหมายน้อยไป”

    อย่างไรก็ตามโทษที่สูงขึ้นทำให้เราต้องเตรียมการมากขึ้น เพราะคนที่ลักลอบอาจจะต่อสู้ เจ้าหน้าที่เราก็ยังไม่ปลอดภัยเหมือนเดิม แต่คงไม่ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ เพราะการจับกุมการลักลอบขนต้องใช้การข่าวมาก ใช้วิธีการสืบข่าว หาข้อมูล วิเคราะห์แนวโน้มว่าจะไปทางไหน ช่วงฤดูกาลไหนมีความเคลื่อนไหวอย่างไร หากจะใช้การตั้งด่านตรวจบางครั้งก็ไม่มีการขนผ่านด่าน จึงไม่สามารถใช้กำลังคนได้ ต้องมีการข่าวเพื่อให้จัดการได้ อีกทั้งตามชายแดนหากตรวจเต็มที่ 100% การขนสินค้าปกติก็จะไม่เดิน ผู้ที่ทำการค้าโดยสุจริตจะเดือดร้อน ต้องหาวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องใช้การข่าว ความร่วมมือระหว่างประเทศ

    สำหรับมาเลเซียซึ่งเป็นจุดผ่านการขนส่ง ทางการก็มีความร่วมมือกัน แม้มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแต่ในทางปฏิบัติทางมาเลเซียก็มีการแจ้งให้เรารู้ เพราะเขาเองก็จับตาดูอยู่ด้วย ไทย-มาเลเซีย มีการประชุมหลายระดับ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ส่วนใหญ่แล้วมีความคุ้นเคยกัน เขาก็บอกมา ทุกองค์กรก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ทั้งเขาและเรา พื้นที่ชายแดนของทั้งสองฝ่ายบางส่วนก็มีสีเทาอยู่ ไม่อย่างนั้นการลักลอบขนตัวลิ่นที่ประจวบคีรีขันธ์จะผ่านด่านจากชายแดนที่มีกว่า 10 ด่านมาได้อย่างไร

    ไทยพับลิก้า: แสดงว่าการป้องกันและปราบปรามการลักลอบค้าตัวนิ่มต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ

    นายสมเกียรติ: ต้องทำงานร่วมกัน เพราะงานการป้องกันการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศไม่สามารถทำได้โดยหน่วยใดหน่วยหนึ่งและโดยประเทศใดประเทศหนึ่ง

    “หากเราแข็งแรงปกป้องได้ดี แต่ประเทศเพื่อนบ้านยังแย่อยู่ ปัญหาก็ยังมีอยู่ ต้องช่วยให้หมดไปทั้งภูมิภาค ทุกวันแนวทาง คือ ความร่วมมือ บางเรื่องต้องไปคุยไปเจรจา ให้ความช่วยเหลือในด้านที่เขาขาดแคลน มีการนำเจ้าหน้าที่เข้ามาอบรมเสริมความรู้ เสริมความเข้าใจ ถ้าไปด้วยกันปัญหาจะจบ ถ้าต้นทางอินโดนีเซียเข้มแข็งก็จะไม่มีการขนมา แต่ในขณะที่คนของเขายังยากจนอยู่ เขาก็มีความพยายาม แต่ก็มีการหลุดรอดมาบ้าง”

    นอกจากนี้เราจะพยายามเน้นเรื่องตัวการ หรือ kingpin จะพยายามจับตัวใหญ่ให้ได้ รายเล็กรายน้อยจะไม่โฟกัส แต่จะพยายามเจาะรายใหญ่ให้ได้ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการแกะเครือข่าย ในเอเชียมีหลายคน แต่ไม่ใช่คนไทย ในโลกนี้มีหลายคน เป็น กระบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ เราแกะรอยร่วมมือกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สืบสวนสอบสวน กฎหมายไทยใช้ไม่ได้ก็ไปใช้กฎหมายอเมริกาแทน บางครั้งมีการปฏิบัติการร่วมกัน เพราะการสั่งการอยู่ประเทศหนึ่ง โอนเงินไปอีกประเทศหนึ่ง ส่งของไปอีกประเทศหนึ่ง ซับซ้อนมาก ประเทศใดประเทศหนึ่งทำไม่ได้ ต้องร่วมมือกันหมด

    ไทยกับอาเซียนได้นำประเด็นอาชญากรรมด้านสัตว์ป่ากับการค้าพืชป่ามากำหนดเป็นอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว เทียบเท่ากับการค้าอาวุธสงคราม ทำให้มีความร่วมมือเกิดขึ้นมาก

    ไทยพับลิก้า: มีแผนงานในการรักษาความเข้มแข็งของการป้องกันและปราบปรามในระยะต่อไปอย่างไร

    นายสมเกียรติ: กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญามีกำลังคน 400 คน มีด่าน 53 ด้านรอบประเทศ ท่าอากาศยาน กับท่าเรือ มีหมดทุกที่ แหลมฉบัง คลองเตย ชายแดนไทย-ลาว ก็มีทุกที่ และมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำ และด่านด้วย ปัจจุบันระบบการตรวจจับการลักลอบของไทยเรียกว่า CIQ ซึ่ง C คือ Customs ศุลกากร I คือ Immigration ตรวจคนเข้าเมือง Q คือ Quarantine กักกัน ซึ่งกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา อยู่ในส่วนนี้ รับผิดชอบครอบคลุมทั้งสัตว์ป่า สัตว์ทั่วไป มีพืช มีอาหารและยา ทำงานร่วมกันเป็นทีม ส่วนหนึ่งเป็นนโยบายของรัฐด้วย ทำงานบูรณาการ แต่การทำงานนอกด่าน กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ได้ทำงานร่วมกับ นรข. และหน่วยงานอื่น เพราะแม่น้ำโขงมีความยาวหลายร้อยกิโลเมตร ต้องใช้วิธีการประสานงาน

    ในปีที่แล้วกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา ได้รับเงินจากรัฐบาลจำนวน 16 ล้านบาท มาสร้างอาสาสมัคร ประจำหมู่บ้านชายแดน โดยนำเงินที่ได้จากรัฐบาลมามอบให้กับชาวบ้านหมู่บ้านละ 50,000 บาท ตั้งชุดป้องกันหมู่บ้าน ชุดเดียวทำงานทุกอย่างทั้ง ยาเสพติด ซึ่งแนวทางนี้ส่งผลให้สามารถจับกุมการค้างูรายใหญ่ที่มุกดาหารได้จำนวนกว่าพันตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นผลงานของอาสาสมัคร และแนวทางนี้ยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจกับชาวบ้านโดยตรง ทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว ซึ่งที่ผ่านมามีชาวลาวนำเข้าสัตว์ป่าเช่น กระรอก กระแต อีเห็น มาขายในตลาดตามจุดผ่อนปรน แต่อาสาสมัครประจำหมู่บ้านชายแดนได้ทำความเข้าใจชี้แจง เนื่องจากโทษตามกฎหมายใหม่หนักกว่าเดิม ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตชาวบ้านที่ต้องทำมาหากินด้วย จึงได้ใช้วิธีการเตือนทำให้ไม่มีการนำสัตว์ป่ามาจำหน่ายอีก

    “ในอาเซียนก็มีกลไกอยู่แล้ว แต่เป็นกรอบในระดับนโยบาย เราจึงได้สร้างกลไกระดับท้องถิ่น ผมถึงได้มีการเจรจากับลาว มีการประชุมระหว่างแขวงกับจังหวัด เจ้าแขวงของลาว กับผู้ว่าราชการของไทย มุกดาหารกับสะหวันนะเขต นครพนมกับคำม่วน ก็ได้มาหารือกัน ระดับอำเภอก็เข้ามาเจรจา และกำลังจะจัดในระดับหมู่บ้านกับหมู่บ้าน เรามีการจับคู่หมู่บ้านของประเทศที่อยู่ตรงข้ามกันแล้ว สร้างกลไกในการดูแล เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาชายแดน ไม่ต้องกระทบกระทั่งกันมากนัก รวมทั้งมีการชี้แจงกฎหมายของเรา บางครั้งใช้วิธีการเตือนมากกว่าจ้องจับ คาดว่าน่าจะดีขึ้น และความสัมพันธ์ก็ดีขึ้น”

    สำหรับไทย-มาเลเซียต้องหาวิธีอื่น เพราะวัฒนธรรมต่างกันในการเจรจา ส่วนเมียนมาก็มีอีกวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาชายแดน แม้การลักลอบมีบ้างแต่ไม่มาก เพราะชายแดนไทย-เมียนมาเป็นป่าเขา มีกองกำลังอยู่เยอะ การลักลอบจะไม่ค่อยมี ชาวบ้านมีบ้าง แต่การค้าเป็นขบวนการไม่มี ไทย-เมียนมาขนส่งไปจีนไม่ได้ ประกอบกับตัวลิ่นมีราคาแพงเกินกว่าที่ชาวบ้านทั่วไปจะซื้อมาบริโภคได้

    แต่ละจุดมีแนวทางการหารือต่างกัน อย่างเมียนมาบริเวณชายแดนรัฐบาลกลางอาจจะไม่มีอำนาจมากนัก เพราะมีกองกำลังอยู่มาก ดังนั้นโดยรวมนอกจากมาตรการปราบปราม ต้องใช้การเจรจาด้วย เพราะปัญหาของไทยคือปัญหาของลาว ปัญหาของลาวคือปัญหาของไทย ไทยแก้ปัญหาได้หมด แต่ลาวยังมีปัญหา ไทยก็ต้องมีปัญหาตลอดไป ต้องมองในภาพรวม

    “ในอาเซียนเราค่อนข้างจะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ เราพยายามใช้อาเซียนเป็นเวทีการแก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งในปีนี้เดือนมีนาคมเรามีการจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่เชียงใหม่ ซึ่งได้แถลงการณ์เชียงใหม่ ทำให้มีการจัดทำกิจกรรม program of work เราใช้เวทีอาเซียนเป็นกรอบให้ทำตาม เช่น ใครไม่มีความรู้ เราก็จัดหาคนไปเสริมความรู้ให้ ให้แยกแยะสัตว์ป่าได้ แลกเปลี่ยนความรู้ในการตรวจจับ ส่วนเรื่องการตรวจ DNA ในกรณีที่จับกุมได้เนื้อสัตว์ เราก็รับปากลาวว่าจะช่วยเหลือรับตรวจให้ที่แล็บของเรา จนกว่าลาวจะมีห้องแล็บเป็นของตัวเอง เพราะปัจจุบันลาวไม่มีห้องแล็บ ส่งมาเราก็ตรวจให้ สามารถนำผลไปใช้ในการดำเนินคดีได้ แทนที่จะต้องส่งไปตรวจที่สหรัฐฯ”