ThaiPublica > เกาะกระแส > มติกนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ยไว้ 1.5% พร้อมหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% ชี้ปีหน้ายังแผ่วลามการบริโภคเอกชน

มติกนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ยไว้ 1.5% พร้อมหั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.8% ชี้ปีหน้ายังแผ่วลามการบริโภคเอกชน

25 กันยายน 2019


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2562 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมครั้งที่ 6 ของปี 2562 ระบุว่าคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี โดยในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกที่ลดลงซึ่งส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมายจึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมและต่ำกว่าระดับศักยภาพโดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ตามเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออกแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติ แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามความเสี่ยงด้านต่างประเทศจากสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลมาสู่อุปสงค์ในประเทศ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งจะติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาลและการใช้จ่ายของภาครัฐ ตลอดจนความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2562 มีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มชะลอลงตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ ผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจ e-commerce การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2563 ตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ภาวะการเงินที่ผ่านมาอยู่ในระดับผ่อนคลาย สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลง ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง แต่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่ออุปโภคบริโภค ด้านอัตราแลกเปลี่ยน คณะกรรมการฯ ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้นในภาวะที่ความเสี่ยงด้านต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติมตามความจำเป็น

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินได้ในอนาคต คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ได้ดำเนินการไปช่วยดูแลการสะสมความเปราะบางในระบบการเงินได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร พฤติกรรมการก่อหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs การขยายสินทรัพย์และความเชื่อมโยงภายในของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะผลกระทบของสภาวะการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้ปรับตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจในปีนี้ลงจากเดิมคาดว่าจะเติบโตได้ 3.3% เหลือเพียง 2.8% โดยการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากว่าที่เคยประเมินและถูกปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจาก 0% เป็นติดลบ -1% และจาก 3.8% เหลือเพียง 3% ตามลำดับ นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวถูกปรับลดลงจาก 39.9 ล้านคนเป็น 39.7 ล้านคน ขณะที่การลงทุนภาครัฐปรับลดลงจาก 3.8% เหลือ 2.5% ส่วนหนึ่งจากการเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตในระดับที่ประเมินไว้เดิมที่ 3.8% แต่มีแนวโน้มชะลอลงจากจากรายได้ และการจ้างงานที่ปรับลดลงโดยเฉพาะในภาคการผลิต เพื่อส่งออก หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงภัย ธรรมชาติ แม้ว่าจะได้แรงสนับสนุนของมาตรการภาครัฐ โดยเริ่มชะลอตัวลงในปีหน้าจากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโต 3.4% เหลือเพียง 3.1%

กนง. คงดอกเบี้ยตามคาด แต่มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งปีนี้

อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์หลังกนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวสูงขึ้นในปีหน้า

อีไอซีคาด กนง. อาจลดดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลง เงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และมาตรการ macroprudential ที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินไปได้บ้าง

อีไอซีมองว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสริมให้เงินบาทแข็งค่าต่อไป

จากที่กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% จากแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัว “ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม” และอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 25 กันยายน 2019 คณะกรรมการฯ มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อปี โดย กนง. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ดังนี้

  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว “ต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม” และ “ต่ำกว่าระดับศักยภาพ” โดย กนง. ปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2019 มาอยู่ที่ 2.8% (จากเดิม 3.3%) มีปัจจัยสำคัญจากการส่งออกที่หดตัวที่ -1.0% (จาก 0.0%) ซึ่งได้รับผลกระทบจากปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรง ทำให้ส่งผลยังอุปสงค์ในประเทศทั้งในรูปรายได้และการจ้างงานที่ปรับลดลง ด้านภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเช่นกัน นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน ธปท. ก็ปรับลดประมาณการมาอยู่ที่ 2.5% และ 3.0% ตามลำดับ (จากเดิมที่ประเมินว่าทั้งสองปัจจัยจะขยายตัวที่ 3.8% ในปีนี้) สำหรับด้านอัตราเงินเฟ้อ กนง. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2019 อยู่ที่ 0.8% ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 1% จากราคาพลังงานที่ต่ำกว่าคาดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว พร้อมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.6% (จากเดิม 0.7%) ตามแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่ปรับลดลง
  • กนง. ยังแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก และยังให้ติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ประเมินว่า ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย แต่แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจในสภาวะที่การกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น รวมไปถึงยังกล่าวว่า “อาจดำเนินมาตราการที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น” ส่วนในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ยังคงติดตามพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ การก่อหนี้ของภาคครัวเรือน การขยายสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่
รูปที่ 1

กนง. มองเศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวสูงขึ้นในปีหน้า สะท้อนจากตัวเลขประมาณการปี 2020 ถึงแม้ กนง. จะปรับลดตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวที่ 3.3% (จากเดิม 3.7%) แต่ยังสะท้อนได้ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวสูงกว่าในปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก ภาคการส่งออกที่จะสามารถขยายตัวได้ที่ 1.7% การลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้ที่ 6.3% และ 4.8% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ กนง. ยังประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมาอยู่ที่กรอบล่างของเป้าหมายที่ 1% ได้ในปี 2020 ตามแนวโน้มการกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจ

อีไอซีคาด กนง. อาจลดดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้ง (0.25%) ในปีนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากกว่าคาด เงินเฟ้อที่ต่ำกว่าเป้าหมาย และมาตรการ macroprudential ที่ช่วยลดความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงิน แม้ กนง. จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และยังไม่ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งต่อไป แต่ อีไอซี มองว่า กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจาก

1.แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลง และความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่สูง ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังไม่มีท่าทีคลี่คลายในระยะเวลาอันใกล้ส่งผลต่อภาคส่งออกไทยที่มีแนวโน้มหดตัวลงมากกว่าคาดในปีนี้ และปัญหภัยธรรมชาติภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร นอกจากนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาไตรมาสล่าสุดก็บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในปีนี้ โดยตัวเลขส่งออกที่ไม่รวมอาวุธและทองคำที่หดตัวลง 9.8% และ MPI ที่หดตัวลง 4.4% ในเดือนสิงหาคม ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนเดือนกรกฎาคมหดตัว 0.1% ด้วยเหตุนี้ อีไอซีจึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยทั้งในปี 2019 และ 2020 ยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มากและมีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3% (รูปที่ 1 และ 2) นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายของ กนง. ที่ 1% ทั้งในปีนี้และปีหน้าก็เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการลดดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก

รูปที่ 2

2.มาตรการ macroprudential ช่วยลดความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินไปบ้างแล้ว สำหรับความกังวลด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ทำให้มีการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร และนำไปสู่พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั้น อีไอซี มองว่ามาตรการ macropudential ที่ได้ดำเนินการไปผ่านการควบคุมดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย สามารถช่วยดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ใช้มาตรการ microprudential ในการดูแลภาวะหนี้ครัวเรือน โดยขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสมและคำนึงถึงภาระหนี้ทั้งหมดของผู้กู้เทียบกับรายได้ที่สม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากการก่อหนี้เกินตัวในระยะต่อไปได้

3.ภาวะการเงินไทยอาจยังไม่ผ่อนคลายเพียงพอ อีไอซีมองว่า แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำที่ 1.50% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะปรับลดลงค่อนข้างมาก แต่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ที่ปรับแข็งค่าขึ้นมาถึง 6.8% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของผู้ส่งออกไทย อีกทั้ง อัตราการขยายตัวของสินเชื่อชะลอลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในปี 2018 สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ (ไม่รวม interbank) ขยายตัวที่ 6% ขณะที่สินเชื่อรวมในปีนี้ขยายตัวเพียง 0.9% (นับจากสิ้นปี 2019 ถึงกรกฎาคม 2019) ด้วยเหตุนี้ การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจึงอาจมีความจำเป็นเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ภาวะการเงินไทยจะตึงตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีต้นตอจากความเสี่ยงในต่างประเทศ

อีไอซีมองว่า กลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าอยู่ในระดับปัจจุบันต่อไป โดยในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักต่างผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Fed ที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ช่วง 1.75-2.00% ECB ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Deposit Facility Rate จาก -0.4% เป็น -0.5% และประกาศทำโครงการ QE ระลอกใหม่ ซึ่ง อีไอซี มองว่า นโยบายการเงินของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มผ่อนคลายลงต่อเนื่อง โดย Fed มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้ง (0.25%) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2019 ปี เพื่อลดความเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจจากสงครามการค้าที่ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ

รูปที่3

นอกจากนี้ อีไอซี มองว่า ECB ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมผ่านการลด Deposit Facility Rate ให้ต่ำลงกว่าเดิมอีก 0.10-0.20% และเพิ่มวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) รายเดือน ขณะที่ BOJ ก็ส่งสัญญาว่าจะมีการทบทวนการดำเนินนโยบายการเงินในการประชุมครั้งต่อไป (รูปที่ 3) ซึ่งปัจจัยนี้จะยังคงกดดันให้เงินบาทอยู่ในระดับที่แข็งค่าในปีนี้ โดยปัจจุบัน ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 125.18 และ 30.54 แข็งค่าเมื่อเทียบกับต้นปี 6.84% และ 5.83% ตามลำดับ