ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. คงดอกเบี้ยที่ 1.5 % ต่อเนื่องครั้งที่ 14 เศรษฐกิจไทยฟื้น แต่สถานการณ์โลกไม่แน่นอน

กนง. คงดอกเบี้ยที่ 1.5 % ต่อเนื่องครั้งที่ 14 เศรษฐกิจไทยฟื้น แต่สถานการณ์โลกไม่แน่นอน

9 กุมภาพันธ์ 2017


นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่า กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% เป็นครั้งที่ 14 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น และภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด การใช้จ่ายของภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ส่วนการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจชะลอลงบ้างในช่วงไตรมาสที่ 4/2559

อีกด้านหนึ่ง กนง. เห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนโดยเฉพาะจากด้านต่างประเทศ ทั้งผลของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ปัญหาเสถียรภาพการเงินจีน และพัฒนาการทางการเมืองและปัญหาภาคการเงินในยุโรป ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลในเรื่องของเงินทุนเกิดความผันผวน โดยเฉพาะทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านของอัตราเงินเฟ้อนั้นมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้เข้าสู่กรอบเป้าหมายในเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เส้นอัตรารับผลตอบแทน (Yield Curve) ปรับตัวสูงขึ้นในระยะยาว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย

“เงินเฟ้อที่เป็นลบในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากราคาน้ำมัน ราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ว่าถ้าไปดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จริง ๆ แล้วที่ผ่านมาค่อนข้างจะทรงตัวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่สนับสนุนเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลัง คือเรื่องของพลังงานและอาหาร” นายจาตุรงค์กล่าว

ส่วนภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับสูงขึ้นบ้างจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ สำหรับด้านอัตราแลกเปลี่ยนในบางช่วงเวลาที่ผ่านมาความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ในต่างประเทศ ส่งผลให้เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเท่าที่ควร

“ในช่วงที่ผ่านมาเงินทุนนี่มีความผันผวนมาก จริง ๆ แล้วเป็นปัจจัยเรื่องของภาวะการเงินต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะทิศทางของดอลลาร์สหรัฐว่าในช่วงปลายปีที่แล้ว ดอลลาร์แข็งขึ้น พอมกราคมก็มีการปรับตัวกลับมา บาทก็มีแนวโน้มแข็งขึ้น เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้ว เรื่องความผันผวนของค่าเงินบาทเป็นเรื่องปัจจัยจากต่างประเทศ อย่างที่เรียนเมื่อสักครู่ว่ายังมีความผันผวนพอสมควร” นายจาตุรงค์ กล่าว

นอกจากนี้ นโยบายของสหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงทั้งด้านบวกและลบ ทาง กนง. จึงได้ขอให้ทาง ธปท. ทำเป็น Scenario Analysis ขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไรในแต่ละกรณี โดยผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะสะท้อนอยู่ในตัวเลขประมาณการณ์เศรษฐกิจของปี 2560 และ 2561 ที่จะประกาศในการประชุมครั้งถัดไปด้วย

ทั้งนี้ กนง. เห็นว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพสามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศได้ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุด เช่น พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำมาเป็นเวลานาน อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร (Underpricing of risks)กนง. ยังเห็นว่า ถึงแม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางและความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายอุตสาหกรรมหลัก ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ต่ำ จึงเห็นว่านโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวการณ์เงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ