ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. คงดอกเบี้ย 0.50% ศก.หดตัวน้อยกว่าที่คาด มาตรการรัฐต้อง “ตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น”

กนง. คงดอกเบี้ย 0.50% ศก.หดตัวน้อยกว่าที่คาด มาตรการรัฐต้อง “ตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น”

23 กันยายน 2020


กนง. คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ชี้เศรษฐกิจหดตัวน้อยกว่าคาด ปรับ GDP ดีขึ้น ปีนี้ -7.8% ส่วนปีหน้าเศรษฐกิจโต 3.6% ชี้กว่าเศรษฐกิจฟื้นกลับมาเท่าก่อนโควิดในช่วงไตรมาส 3 ปี ’65 ห่วงตลาดแรงงานอ่อนแอ การจ้างงานและรายได้เปราะบาง กดดันหนี้ครัวเรือน เหตุแต่ละภาคธุรกิจ-ผู้ประกอบการ-ตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่ ฟื้นตัวไม่เท่ากัน ย้ำต้องใช้ 3 นโยบาย “การคลัง-การเงิน-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ”

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ครั้งที่ 6/2563 ว่า กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี เป็นการคงดอกเบี้ยต่อเนื่องครั้งที่ 3 หลังจากปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563

การคงนโยบายดอกเบี้ยในครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว “น้อยลง” จากประมาณการเดิมเล็กน้อย แต่ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัว “ชะลอลง” กว่าประมาณการเดิมตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นสำคัญ โดยยังต้องระวังความเสี่ยงใหญ่จากโอกาสเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการล็อคดาวน์ ส่งผลกระทบหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อีก

เศรษฐกิจหดตัวน้อยลง ปรับ GDP ขึ้น ท่องเที่ยวต่างชาติกดดันฟื้นตัวช้าถึงกลางปี’65

โดย กนง. ได้ปรับประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2563 ดีขึ้นจากประมาณการเดิมเล็กน้อย อยู่ที่ -7.8% จากคาดการณ์เดิม -8.1% ภายใต้สมมติฐานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 6.7 ล้านคน จากคาดเดิม 8 ล้านคน แต่ในปี 2564 แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัว “ชะลอลง” กว่าประมาณการเดิม โดย GDP ขยายตัว 3.6% จากประมาณการเดิมที่ 5% ภายใต้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 9 ล้านคน จากคาดเดิม 16.2 ล้านคน

“การปรับประมาณการปีนี้หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม ส่วนหนึ่งมาจาก GDP ไตรมาส 2 ไม่ได้หดตัวมากอย่างที่คิด ความลึกของไตรมาส 2 ที่น้อยลง ทำให้ปีนี้ทั้งปีไม่ลงลึก แต่ว่าการฟื้นตัวจะช้าลง ไม่ต่ำกว่า 2 ปีนับจากวันนี้ หรือราวช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ที่จะกลับมาเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด ซึ่งการประชุม กนง. ครั้งที่แล้ว (5 สิงหาคม) ก็พูดไว้ไม่ต่ำกว่า 2 ปี ส่วนเหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดเดิม และส่งผลให้ปีนี้เกินการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาอยู่ที่ 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และปีหน้า 14.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ” นายทิตนันท์กล่าว

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบ “น้อยกว่า” ที่ประเมินไว้ และมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564 เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลมากขึ้น

ห่วงตลาดแรงงานอ่อนแอ การจ้างงาน รายได้เปราะบาง

นายทิตนันทิ์กล่าวถึงด้านอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ว่า มีแนวโน้มปรับ “ดีขึ้นบ้าง” ขณะที่ตลาดแรงงานยังคง “อ่อนแอ” การจ้างงานและรายได้ยังคงเปราะบางและจะใช้เวลาฟื้นตัวนาน กระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน ซึ่งจะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

คณะกรรมการฯ คาดว่าจะใช้เวลา “ไม่ต่ำกว่าสองปี” ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะ “แตกต่างกันมาก” ระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม โดยยกตัวอย่างเช่น ภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่งผลกระทบต่อแต่ละผู้ประกอบการ แต่ละธุรกิจ แต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค แต่ละกลุ่มแรงงานไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นโอกาสการฟื้นตัวก็ไม่เท่ากัน

“กนง. มีการหารือเรื่องนี้กันมาก เพราะมีทั้งคนตกงานจริงๆ คนที่เสมือนคนตกงาน กลุ่มคนที่มีงานทำ แต่รายได้ลดลง ทั้งจากลดเงินเดือน ลดชั่วโมงจ้างงาน ซึ่งแต่ละกลุ่มแรงงานมีการฟื้นตัวไม่เท่ากันด้วย เพราะฉะนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่ยังมีหนี้ค่อนข้างมาก และต้องใช้เวลาในการปรับตัว ทำให้กระทบต่อการฟื้นตัวในระยะต่อไป จึงทำให้ กนง. มีความกังวลค่อนข้างมาก” นายทิตนันท์กล่าว

มาตรการรัฐต้อง “ตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น”

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าในระยะข้างหน้า มาตรการภาครัฐจำเป็นต้อง “ตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น” โดยจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริม สภาพคล่อง และจะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

“นโยบายการเงินต่อไปข้างหน้า คงไม่ใช่พระเอก ต่อไปนโยบายการคลังจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน รวมถึงนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจด้วย เพราะฉะนั้น การใช้นโยบายการเงิน นโยบายการคลังและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จะต้องไปด้วยกันจึงจะมีประสิทธิภาพ เวลานี้เศรษฐกิจไทย ยังต้องให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างหนี้ การพัฒนาทักษะแรงงานเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นด้านอุปทาน ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นตัวที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า”นายทิตนันทิ์กล่าว

คำถามที่ว่าการดำเนินนโยบายการคลังช่วงที่ผ่านมา มีการแจกเงินเป็นการกระตุ้นการบริโภคที่ตรงจุดหรือไม่ และมีประสิทธิภาพอย่างไร นายทิตนันทิ์กล่าวว่า เครื่องมือทางการคลังถือเป็นปัจจัยสำคัญ แต่การใช้เครื่องมือการคลังให้มีประสิทธิภาพนั้น ขณะนี้ภาครัฐทุกภาคส่วนกำลังทำงานกันอยู่และทำแข่งกันเวลา แต่ประเด็นสำคัญคือ ภาครัฐต้องทำออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ และต้องใช้เวลานานกว่าแต่ละมาตรการจะส่งผลและมีประสิทธิภาพที่ไม่เท่ากันนโยบายต่างๆ เหล่านี้จะต้องทำไปด้วยกัน จึงจะมีประสิทธิภาพ

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2563 มีแนวโน้มติดลบน้อยกว่าประมาณการเดิม โดยอยู่ที่ -0.9% จากคาดการณ์เดิม -1.7% เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ขยายตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2564 ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2%

ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะเดียวกันส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลเริ่มปรับลดลงบ้างในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวน้อยลง โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากมาตรการสินเชื่อของภาครัฐและการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่า สภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

นายทิตนันทิ์กล่าวถึงด้านอัตราแลกเปลี่ยนว่า แม้เงินบาทอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมิน ความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

ทางด้านระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้จะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ ตรงจุดและทันการณ์ สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ

ชี้ต่างประเทศเสี่ยงสูง “โควิดระบาดรอบ2”

นายทิตนันทิ์กล่าวว่า มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติม หากจำเป็น

“ความเสี่ยงหลักๆ ยังเป็นต่างประเทศ เพราะการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 2 ในต่างประเทศ มีความเสี่ยงมากขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกก็มีการฟื้นตัวในทิศทางทางดีขึ้น เพราะฉะนั้น เรามองความเสี่ยงสำคัญมาจากด้านต่างประเทศ เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพิงต่างประเทศเยอะทั้งภาคส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

โดย กนง. ได้ปรับประมาณการ มูลค่าส่งออกในปี 2563 นี้ดีขึ้นมาอยู่ที่ -8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากคาดเดิม -10.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ -13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากคาดเดิม -16.2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2564 ปรับคาดการณ์เพิ่มขึ้นป็น 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากคาดเดิมอยู่ที่ 4.1 พันล้านดอลลาร์

อนึ่งผลประชุม กนง. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีมติเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามที่ประเมินไว้

พร้อมกันนี้มองไปในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น