ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. เสียงแตก คงดอกเบี้ย 3% เก็บกระสุนไว้ใช้เมื่อสถานการณ์เลวลงกว่าที่คาด

กนง. เสียงแตก คงดอกเบี้ย 3% เก็บกระสุนไว้ใช้เมื่อสถานการณ์เลวลงกว่าที่คาด

25 กรกฎาคม 2012


นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 มติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม 3% ต่อปี เป็นตามที่ตลาดคาดการณ์ และเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องมา 5 ครั้งแล้ว ตั้งแต่การประชุมครั้งแรกของปีนี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 เพื่อเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็น

ทุกครั้งที่ผ่านมา กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย แต่ครั้งนี้มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ โดยกรรมการฯ 5 ต่อ 2 มีมติให้คงดอกเบี้ย และอีก 2 เสียงให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. กล่าวว่า กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่จะยืดเยื้อยาวนาน ความเสี่ยงข้างหน้ามีอีกเยอะ เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นต้องเก็บกระสุนใช้เมื่อเวลาที่เหมาะสม เมื่อมีความจำเป็นที่เห็นชัดเจน

“ขณะนี้ กนง. ทั้งหมดตระหนักถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยก็มีเพิ่มขึ้น แต่ก็แตกต่างกันในรายะเอียดและน้ำหนักว่าในการดำเนินนโยบายควรจะผ่อนคลายในวันนี้ หรือติดตามอย่างใกล้ชิด ถ้าเกิดอะไรก็สามารถดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมได้อยู่แล้ว” เลขานุการ กนง. กล่าว

สำหรับความคิดเห็นของ กนง. ที่ตรงกันและเห็นต่างกันนั้น นายไพบูลย์ระบุว่า ความเห็นที่ตรงกันคือ

1. คิดว่ามาถึงจุดนี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้น่าพอใจ และการขยายตัวอยู่ระดับใช้ได้

2. ถ้ามองไปข้างหน้า ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจโลกมีปัญหาโครงสร้าง ปัญหาอาจทอดยาว และมีความอ่อนแอที่ยืดเยื้อ ถือเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

3. เงินเฟ้อเห็นตรงกันว่าระยะข้างหน้าไม่เป็นปัจจัยที่น่าเป็นห่วง ขณะนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับกลางตามเป้าหมายที่ กนง. กำหนด

4. หากมีความจำเป็น กนง. เห็นพ้องกันว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยมีพื้นที่พอที่จะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่จะกระตุ้นหรือประคับประคองเศรษฐกิจไทยได้ในเวลาที่เหมาะสม

ส่วนความเห็นต่างที่กรรมการ 2 ท่านเห็นว่า เป็นเหตุผลควรจะปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ลงในครั้งนี้คือ

1. คิดว่าเศรษฐกิจมีความความอ่อนแอลง เนื่องจาก ในการประชุมครั้งนี้ กนง.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้และปีหน้าลง

2. คิดว่าความเสี่ยงที่ ธปท. ประเมินไว้อาจน้อยเกินไป โดยกรรมการบางท่านเห็นว่า เมื่อมองไปข้างหน้ามีความเสี่ยงมากกว่าที่ ธปท. ประเมิน

3. แรงกระตุ้นด้านการคลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไป อาจมีความล่าช้าหรือส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่เต็มที่ในระยะต่อไป

“นั่นคือความเห็นของกรรมการ 2 ท่านที่เห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะลดดอกเบี้ย เพราะยากจะส่งสัญญาณให้เอกชนตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ด้วยการลดอกเบี้ยลงระดับหนึ่ง ทั้งนี้ตั้งใจจะประคับประคองการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวต่อเนื่อง และเสริมสร้างความเชื่อมั่นของเอกชน” นายไพบูลย์กล่าว

ทั้งนี้ การประชุม กนง. รอบนี้มีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลงเหลือ 5.8% จาก 6% ที่ประมาณการไว้ครั้งก่อน และจีดีพีปี 2556 ปรับประมาณการลงอยู่ที่ 5% จากเดิม 5.5% ขณะที่ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปลงอยู่ที่ 2.9% จากประมาณการเดิม 3.3% ส่วนอัตราเงินเฟื้อพื้นที่คงไว้ที่เดิม 2.2%

นายไพบูลย์กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้ กนง. ปรับประมาณการจีดีพีลดลงมาจากปัจจัยต่างประเทศที่ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อน และจะกระทบต่อภาคส่งออกมากกว่าที่คาดการณ์ ทำให้ กนง. ปรับประมาณการส่งออกปีนี้ลดลงเหลือ 7% จากเดิมประมาณการไว้ที่ 8.3%

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือนมิถุนายน 2555 ตัวเลขส่งออกเดือนมิถุนายน 2555 ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และครึ่งปีแรกลดลง 2% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน

สำหรับปัจจัยในประเทศนั้น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปรับลดประมาณการจีดีพี เนื่องจากอุปสงค์ที่อั้นไว้ในช่วงน้ำท่วม และการลงทุนซ่อมแซมเครื่องจักร และการบริโภคช่วงนี้สูงกว่าปกติ แต่มองไปข้างหน้าแล้วเป็นเรื่องธรรมชาติเมื่อเร่งซื้อเร่งลงทุน ในระยะข้างหน้าก็จะอ่อนตัวตามธรรมชาติ

“ทั้งสองปัจจัยเป็นสาเหตุที่ปรับลดจีดีพี แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปัจจัยต่างประเทศมากกว่า” เลขานุการ กนง. กล่าว

นายไพบูลย์ย้ำว่า แต่ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เพราะยังมองว่า การผสมผสานนโยบายการเงินการคลังขณะนี้มีความเหมาะสม เศรษฐกิจก็ขยายตัวในระดับใกล้ศักยภาพ อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ที่กึ่งกลางเป้าหมาย อุปสงค์ทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดี ภาวะการเงินก็ถือว่าอยู่ระดับผ่อนปรนและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะถ้าเราดูอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงอยู่ประมาณ 0% หรือใกล้ 0% เมื่อเทียบกับประเทศประเทศอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยจะต่ำที่สุด

ทั้งนี้ ในขณะที่ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ในเอเชียเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ กนง. ยังคงดอกเบี้ยต่อเนื่องมา 5 ครั้ง สะท้อนว่านโยบายการเงินของ ธปท. เข้มงวดกว่าประเทศอื่นหรือไม่นั้น

นายไพบูลย์อธิบายว่า ความจริงเราดำเนินนโยบายการเงินไปล่วงหน้าแล้ว คือได้ผ่อนปรนนโยบายการเงินไปล่วงหน้าก่อนประเทศเพื่อนบ้าน อย่างที่บอกไปคือดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของเราต่ำสุดในภูมิภาค และจุดยืนของการดำเนินนโยบายการเงินของไทยเป็นประเทศที่ผ่อนปรนมากที่สุดอยู่แล้ว

นอกจากนี้ เราได้เห็นความจำเป็นของการดำเนินนโยบายการเงินที่ค่อนข้างผ่อนปรนมาระยะหนึ่งแล้ว มองไปข้างหน้าความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น แต่เราก็คาดไว้แล้ว ในบางตัวอาจจะเลวร้ายกว่าที่เราคิดยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกลับทำให้นโยบายการเงินถูกกระทบมากนัก เสียงส่วนใหญ่จึงคิดว่าการคงอัตราดอกเบี้ยขณะนี้เหมาะสม

“แต่เราก็ไม่ได้ปิดโอกาส หากสถานการณ์เลวร้ายลงกว่าที่เราคาด เราก็ต้องดำเนินนโยบายการเงินมากกว่าที่เราคาดเช่นเดียวกัน” นายไพบูลย์กล่าว