ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 4 ปี คดีอุทยานราชภักดิ์ ศาลปกครอง “ยกฟ้อง” กรณีไม่เปิดข้อมูลราคากลาง

4 ปี คดีอุทยานราชภักดิ์ ศาลปกครอง “ยกฟ้อง” กรณีไม่เปิดข้อมูลราคากลาง

26 สิงหาคม 2019


ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง คดีกองทัพบกไม่เปิดเผยราคากลางการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ ที่ไทยพับลิก้าใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ยื่นขอข้อมูลมาเกือบ 4 ปี

หลังจากผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ยื่นขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2558 ถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับเอกสารที่ต้องการครบถ้วน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา “ยกฟ้อง” คดีดังกล่าว โดยเฉพาะกรณีขอให้กองทัพบกเปิดเผยเอกสาร “ราคากลาง” การก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์ ในอุทยานราชภักดิ์

  • “ไทยพับลิก้า”ยื่นศาลปกครอง คัดค้านคำให้การกองทัพบก เปิดราคากลาง หล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ อุทยานราชภักดิ์
  • ศาลปกครองรับคดี “อุทยานราชภักดิ์” พิจารณาเปิดราคากลางสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
  • เปิดคำให้การ ทบ.กรณีสื่อขอศาลปกครองสั่งเปิด “ราคากลาง” อุทยานราชภักดิ์ – 20 เดือนที่ยังคงไร้คำตอบ
  • กวฉ. สั่งเปิดผลสอบ “อุทยานราชภักดิ์” หลังยื่นขอกลาโหมมา 3 ปี ระบุประชาชนมีสิทธิจะได้รู้
  • อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าไปใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ระหว่างที่อุทยานนี้กำลังถูกตรวจสอบและกลายเป็นข่าวว่าอาจมีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะประเด็นการเรียกรับ “หัวคิว” ของเซียนพระรายหนึ่ง จากโรงหล่อที่เข้าร่วมก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ซึ่งขณะนั้นมีข่าวว่า เงินหัวคิวทั้งหมดรวมกันกว่า 20 ล้านบาท

    เอกสารที่ขอไปมี 2 รายการ

    1) ผลการจัดซื้อจัดจ้างตลอดทั้งปีงบประมาณนั้นของกองทัพบก

    2) ราคากลางการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์

    ทางกองทัพบกได้ทยอยจัดส่งเอกสารในรายการที่ 1) มาจนครบถ้วน ส่วนเอกสารรายการที่ 2) กองทัพบกได้ปฏิเสธการจัดส่งโดยส่งหนังสือตอบกลับมา 2 ครั้ง ครั้งแรกอ้างว่า เนื่องจากโครงการยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และครั้งที่สองอ้างว่า เนื่องจากโครงการยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

    ผู้ขอจึงไปยื่นอุทธรณ์คำปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย มีคำสั่งที่ สค.216/2559 ให้กองทัพบกต้องเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แต่ทางกองทัพบกก็อ้างว่าเปิดเผยไม่ได้ เนื่องจากไม่มีการจัดทำราคากลาง ผู้ขอจึงไปยื่นตรวจสอบการมีอยู่จริงของเอกสารดังกล่าวกับคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางในที่สุด

    คดีนี้ ศาลปกครองกลางรับเป็นคดีหมายเลขดำที่ 139/2560 และใช้เวลาพิจารณาอยู่ 2 ปี ก่อนจะมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1054/2562 “ยกฟ้อง” โดยให้เหตุผลว่า เชื่อว่ากองทัพบกไม่ได้จัดทำเอกสารราคากลางการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์อดีตพระมหากษัตริย์ไทย 7 พระองค์จริง การที่ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อผู้ขอจึงไม่เป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ

    อย่างไรก็ตาม แม้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจะแพ้คดีนี้ ทว่าระหว่างกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงก็ทำให้ได้รับทราบ “ข้อมูลใหม่” เกี่ยวกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ หลังจากศาลปกครองกลางสั่งให้กองทัพบกชี้แจงเรื่องรายละเอียดการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ หลายครั้ง หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ เดิมผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น (พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร) จะขอให้บริษัทรายใหญ่รับเป็นเจ้าภาพในการออกเงินก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เป็นรายพระองค์ ซึ่งมีราคาเฉลี่ยพระองค์ละ 43-45.5 ล้านบาท แต่ได้รับการปฏิเสธ

    ต่อมา การจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด (รวมถึงการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ด้วย) จะใช้เงินส่วนใหญ่ที่มาจากการบริจาค และบางส่วนจากงบกลาง

    สำหรับงบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เคยมีการเปิดเผยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2558 ว่า ใช้งบประมาณรวมกันอย่างน้อย 816 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินบริจาค 752 ล้านบาท และงบกลาง 64 ล้านบาท โดยเวลานั้นยังเหลือเงินบริจาคอยู่ราวๆ 50 ล้านบาท

    ส่วนผลการตรวจสอบว่าจะมีการทุจริตหรือไม่ ได้รับการยืนยันทั้งจากกองทัพบก กระทรวงกลาโหม สตง. และ ป.ป.ช. ว่าไม่มีประเด็นเรื่องการทุจริต

    ทั้งนี้ ตามข้อกฎหมาย คู่กรณียังสามารถอุทธรณ์คำพิพากษานี้ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน