ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดคำให้การ ทบ.กรณีสื่อขอศาลปกครองสั่งเปิด “ราคากลาง” อุทยานราชภักดิ์ – 20 เดือนที่ยังคงไร้คำตอบ

เปิดคำให้การ ทบ.กรณีสื่อขอศาลปกครองสั่งเปิด “ราคากลาง” อุทยานราชภักดิ์ – 20 เดือนที่ยังคงไร้คำตอบ

19 กรกฎาคม 2017


อุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/index.php/th/media-centre/190815-j1.html

หลังจากศาลปกครองมีคำสั่งรับคำฟ้องของผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 139/2560 กรณีที่ยื่นฟ้องกองทัพบก (ทบ.) ขอให้ศาลสั่งให้ ทบ. เปิดเผยข้อมูลราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน 7 พระองค์ ในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ล่าสุด ในวันที่ 11 ก.ค.2560 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้รับเอกสารคำให้การของ ทบ. จำนวน 3 รายการ รวม 10 หน้ากระดาษเอสี่ ประกอบด้วย

  • คำให้การของ ทบ. ซึ่งจัดทำโดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะผู้รับมอบอำนาจแทน ที่ชี้แจงถึงประเด็นต่างๆ ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ รวมถึงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
  • สำเนารายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ไล่เรียงถึงเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ พร้อมยืนยันในช่วงท้ายของเอกสารว่า ไม่มี “ประเด็นการทุจริต”
  • สำเนาหนังสือแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีเพียงหน้าเดียว ที่ระบุว่าไม่พบ “พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด”

จากรายละเอียดเอกสารดังกล่าว พบว่ามีประเด็นที่เป็น “ข้อมูลใหม่” ไม่เคยปรากฎในสื่อมวลชนมาก่อน 4 ประเด็น ดังนี้

1. ขั้นตอนการเลือกโรงหล่อมาจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ

ปมโรงหล่อเป็นประเด็นข้อครหาที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เนื่องจากปรากฎตามหน้าสื่อมวลชนช่วงปลายปี 2558 ว่ามีเซียนพระชื่อดังรายหนึ่งเรียกรับสินบนจากโรงหล่อต่างๆ รวมเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาท แลกกับการให้ได้รับงานในโครงการนี้ แต่เมื่อเป็นข่าว ต่อมา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผบ.ทบ. ในฐานะประธาน ให้เซียนพระคนดังกล่าวนำเงินมาบริจาคให้กับมูลนิธิฯ

ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. เคยออกมาชี้แจงว่า เงินดังกล่าวไม่ใช่ “เงินสินบน” แต่เป็น “ค่าที่ปรึกษา”

ทั้งนี้ ในเอกสารคำให้การของ ทบ. ระบุว่า การคัดเลือกโรงหล่อมาจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ได้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 โดย ทบ.ได้ประสานและหารือร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรในการออกแบบและปั้นพระรูปต้นแบบ พร้อมพิจารณาหาโรงหล่อที่มีศักยภาพในการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ขนาดใหญ่ โดยมีการเรียกโรงหล่อเข้าประชุมหารือเพื่อรับทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดทำโครงการ

ประเด็นที่ต้องการก็คือ การหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ ในขนาดความสูง 15.895 เมตร และกำหนดกรอบระยะเวลาจัดสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2558

โดยในการกำหนดว่าโรงหล่อใดจะหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์พระองค์ใดนั้น “ให้แต่ละแห่งเสนอความต้องการตามความสมัครใจ…พร้อมกับการเสนอราคาค่าจ้างหล่อแต่ละพระองค์”

แม้ต่อมาได้มีการลดขนาดความสุงลงเหลือ 13.9 เมตร จึงได้เชิญโรงหล่อมาขอปรับลดราคาการจ้างลง พร้อมกับเชิญประชุมร่วมกันกรมศิลปากรและ ทบ. เพื่อชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงาน และข้อตกลงในสัญญาจ้าง

ขั้นตอนการขอเรี่ยไร (รับบริจาค) ของหน่วยงานของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ในโครงการที่มีวงเงินเกิน 500,000 บาท หากไม่เข้าข่ายข้อยกเว้น จะต้องยื่นขออนุมัติจาก กคร. ก่อน

2. เหตุใด ทบ. จึงรับเงินบริจาคได้ทั้งที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯ

อีกหนึ่งข้อสงสัยว่า เหตุใด ทบ. จึงสามารถเปิดรับเงินบริจาคทั้งผ่านธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง และร้านสะดวกซื้อชื่อดังเข้ากองทุนสวัสดิการ ทบ. ก่อนจะโอนเข้า “กองทุนสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์” อีกที เพื่อนำเงินดังกล่าวมาใช้ในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ได้ ทั้งที่ไม่ได้มีการขออนุมัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2544 แต่อย่างใด ซึ่งโทษของการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯดังกล่าว คือเงินที่ได้มาทั้งหมดจะต้องถูก “แช่แข็ง” ไว้ ไม่ให้สามารถนำไปใช้จ่ายใดๆ ได้ และผู้เกี่ยวข้องยังอาจมีความผิดทางวินัยรวมถึงทางอาญาด้วย

ในสำเนารายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สตง. ได้ระบุคำชี้แจงของ ทบ. ไว้ว่า เนื่องจาก “กองทุนสวัสดิการอุทยานราชภักดิ์” เป็นกิจการการจัดสวัสดิการภายใน ทบ. ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในกองทัพบก พ.ศ.2554 และระเบียบคณะกรรมการสวัสดิการกองทัพบกว่าด้วยอุทยานราชภักดิ์ พ.ศ.2559 ที่ดำเนินกิจการตามที่ระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ.2547 ที่เปิดโอกาสให้ “ขอรับบริจาคจากภาครัฐและเอกชนได้”

“การขอรับบริจาคของกองทุนสวัสดิการราชภักดิ์ ยังมิใช่เป็นการเรี่ยไรในนามของส่วนราชการ ทบ. จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2554 แต่อย่างใด” เอกสารของ สตง. ระบุคำชี้แจงของ ทบ.

3.จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ทั้งหมด

ในสำนวนรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ สตง. ซึ่งสรุปข้อมูลทั้งหมดไว้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ระบุว่า โครงการนี้มีการรับเงินทั้งหมด 796.82 ล้านบาท ประกอบด้วยแหล่งที่มา 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ 1.งบกลาง 63.57 ล้านบาท และ 2.เงินบริจาค 733.25 ล้านบาท

ส่วนการจ่ายเงินในโครงการทั้งหมด แยกตามแหล่งเงิน งบกลางทั้ง 63.57 ล้านบาท จะใช้ในการก่อสร้างลานหิน ทำป้าย ป้อมยาม ฯลฯ ส่วนเงินบริจาคมีการเบิกจ่ายไปทั้งสิ้น 458.19 ล้านบาท ทั้งใช้ในการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน 7 พระองค์ รวมเป็นเงิน 318.80 ล้านบาทหรือ เฉลี่ยองค์ละ 45.54 ล้านบาท สร้างอาคารพระบรมราชานุสาวรีย์ 143.53 ล้านบาท สร้างถนนคอนกรีตเอนกประสงค์ 45.14 ล้านบาท และระบบไฟฟ้าส่องสว่าง 59.55 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีการยืมไปใช้ในการจัดทำเหรียญที่ระลึก 71.54 ล้านบาท แต่ได้นำกลับมาใช้คืนจนหมดแล้ว

4.ราคากลางการหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์อยู่ที่ใด

ทั้งนี้ในคำฟ้องของผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ขอให้ศาลปกครองสั่งให้ ทบ.เปิดเผย “ราคากลาง” การจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยามจำนวน 7 พระองค์ อย่างไรก็ตาม ในเอกสารคำให้การของ ทบ. ทั้ง 10 หน้ากระดาษเอสี่ ไม่ได้พูดถึงข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด

มีเพียงการอธิบายขั้นตอนการคัดเลือกโรงหล่อมาจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ดังที่กล่าวข้างต้น และชี้แจงถึงขั้นตอนการตรวจคุณสมบัติและคุณภาพโลหะสำริดที่ใช้ในการหล่อ ว่ามีคุณสมบัติของทองแดง 95% ทั้งจากเอกสารใบขนสินค้าของกรมศุลกากร และจากการเจาะชิ้นส่วนตัวอย่างนำไปตรวจสอบในแล็บโดยกรมยุทธโยธาทหารบก

ส่วนหน่วยงานสำคัญอย่าง ป.ป.ช. ที่ก่อนหน้านี้ เคยมีแหล่งข่าวป.ป.ช.ออกมายอมรับกับสื่อมวลชนบางแห่งว่าเหตุที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 9:0 ยกคำร้องไม่ไต่สวนโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เนื่องจากทาง ทบ. ได้ส่งราคากลางให้ตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่มีความผิดปกติใดๆ “แต่เหตุที่ไม่เปิดเผยราคากลางเนื่องจากกลัวสาธารณชนจะสับสน เพราะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ แต่ละพระองค์ มีราคาไม่เท่ากัน ตามอิริยาบถที่แตกต่างกัน”

อย่างไรก็ตาม ในคำให้การของ ทบ. ทาง ป.ป.ช. กลับส่งสำเนาแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นกระดาษเอสี่เพียง 1 แผ่น และไม่ให้รายละเอียดใดๆ ต่างกับของ สตง. โดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ สำนักงานศาลปกครองได้แจ้งผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ให้ทำคำคัดค้านคำให้การของ ทบ. มาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสาร (คือไม่เกินวันที่ 9 ส.ค.2560) ซึ่งกรณีที่ไม่ประสงค์จะทำคำคัดค้าน แต่ประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ให้แจ้งเป็นหนังสือให้ศาลทราบ มิฉะนั้น ศาลอาจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

สำหรับกรณีโครงการอุทยานราชภักดิ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ยื่นขอข้อมูลจาก ทบ. ไปตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย.2558 แต่ถึงปัจจุบัน ผ่านมากว่า 20 เดือน ก็ยังได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนโดยเฉพาะเรื่องราคากลาง นำไปสู่การใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในท้ายที่สุด