ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ไทยพับลิก้า”ยื่นศาลปกครอง คัดค้านคำให้การกองทัพบก เปิดราคากลาง หล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ อุทยานราชภักดิ์

“ไทยพับลิก้า”ยื่นศาลปกครอง คัดค้านคำให้การกองทัพบก เปิดราคากลาง หล่อพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ อุทยานราชภักดิ์

6 สิงหาคม 2017


จากกรณีที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ในคดีหมายเลขดำที่ 139/2560 โดยขอให้ศาลพิจารณา สั่งให้กองทัพบก(ทบ.) เปิดเผยข้อมูลราคากลางในการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยาม 7 พระองค์นั้น

ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ศาลปกครองได้จัดส่งคำให้การของกองทัพบก จำนวน 3 รายการ รวม 10 หน้ากระดาษ A4 พร้อมกับแจ้งผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าให้ไปยื่นคำคัดค้านคำให้การของกองทัพบกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสาร(ไม่เกินวันที่ 9 สิงหาคม 2560) หากไม่ประสงค์จะยื่นคำคัดค้านคำให้การของกองทัพบก แต่ประสงค์จะให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป ให้ทำหนังสือแจ้งให้ศาลทราบ มิฉะนั้นศาลอาจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ทำคำร้องคัดค้านคำให้การของกองทัพบก ต่อศาลปกครองกลาง ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 มีสาระดังนี้

ตลอดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ยื่นขอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ก็เนื่องมาจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมีบุคคลจากกองทัพบกก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญ ระบุว่า โครงการนี้มีความโปร่งใส ยินดีให้สาธารณชนเข้ามาตรวจสอบ

แต่ผลปรากฏว่า แม้เวลาจะผ่านมากว่า 20 เดือนแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ยื่นขอไปอย่างครบถ้วน โดยยังขาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แห่งสยาม จำนวน 7 พระองค์ เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้กองทัพบกเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ตามคำฟ้องเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560 โดยศาลได้กรุณารับคำฟ้องไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขดำที่ 139/2560 แล้วนั้น

ถึงแม้กองทัพบกได้จัดส่งเอกสารคำให้การ ลงวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560 (แต่ใบปะหน้าจากศาลระบุวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 และข้าพเจ้าได้รับจากไปรษณีย์ ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560) มาให้กับข้าพเจ้า และอธิบายรายละเอียดของโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ จำนวน 10 หน้ากระดาษ A4 โดยไล่เรียงตั้งแต่ความเป็นมา งบประมาณ และการดำเนินการต่างๆ ของโครงการดังกล่าวนี้ รวมทั้งจัดส่งเอกสารผลการตรวจสอบความโปร่งใสของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

แต่ในส่วนซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญซึ่งข้าพเจ้าร้องขอมาตั้งแต่ต้น และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำมาสู่การฟ้องคดีนี้ นั่นคือ ราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ จำนวน 7 พระองค์ กลับไม่อยู่ในคำให้การของกองทัพบกแต่อย่างใด มีเพียงการอธิบายอย่างคร่าวๆ ว่า “เมื่อได้เชิญบริษัทหรือโรงหล่อเข้าร่วมประชุมหารือโดยกองทัพได้แจ้งให้ผู้แทนของบริษัทหรือโรงหล่อรับทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดทำโครงการ …บริษัทหรือโรงหล่อแต่ละแห่ง…ก็ได้เสนอความต้องการตามความสมัครใจพร้อมกับการเสนอราคาค่าจ้างหล่อแต่ละพระองค์…ต่อมาได้มีการปรับลดขนาดความสูงลง…จึงได้เชิญบริษัทหรือโรงหล่อมาหารืออีกครั้ง และได้ปรับลดราคาการจ้างหล่อลง โดยอยู่ในวงเงินค่าจ้างหล่อต่อพระองค์”

จากคำให้การดังกล่าว ทำให้เชื่อว่ากองทัพบกมีข้อมูลการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์แต่ละพระองค์มีค่าใช้จ่ายเท่าใด มิเช่นนั้นคงจะไม่สามารถจัดทำวงเงินค่าจ้างได้ โดยสาเหตุที่รู้ก็เป็นไปได้ว่ามีการจัดทำราคากลาง หรือประเมินราคาที่น่าจะเป็นไว้แต่ต้น

เมื่อประกอบกับที่มีแหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์กับสื่อออนไลน์แห่งหนึ่ง (ข้าพเจ้าได้ยื่นสำเนาคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานแนบท้ายคำฟ้องแล้ว) ระบุว่า กองทัพบกได้จัดส่งเอกสารราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ จำนวน 7 พระองค์ มาใช้เพื่อประกอบการพิจารณา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ไม่รับไว้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง

โดยแหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์ว่า “กรณีที่กองทัพบกและกระทรวงกลาโหมไม่เปิดเผย (ราคากลาง) อาจเกรงว่าทำให้ประชาชนเกิดความสับสน เพราะราคากลางในการว่าจ้างโรงหล่อพระมาดำเนินการปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 7 พระองค์ มีราคาไม่เท่ากัน ราคาถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับอิริยาบถท่าประทับยืนของพระบรมราชานุสาวรีย์ ซึ่งการออกแบบปั้นรูปเหมือนจำลอง ทำแม่พิมพ์ มีความยากง่ายแตกต่างกัน ทำให้การกำหนดราคากลางในการว่าจ้างโรงหล่อพระไม่เท่ากัน”ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อได้ว่ากองทัพบกได้จัดทำราคากลางการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ จำนวน 7 พระองค์อยู่จริง แต่กลับไม่เปิดเผยต่อข้าพเจ้า ซึ่งใช้สิทธิยื่นขอตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอความกรุณาจากศาล ขอให้มีคำพิพากษาสั่งให้กองทัพบกเปิดเผยข้อมูลราคากลางดังกล่าว ซึ่งหากกองทัพบกจะอ้างว่าไม่มี ก็ขอให้ศาลสั่งให้อย่างน้อยเปิดเผยใบเสนอราคา (ซึ่งระบุรายละเอียดการคำนวณค่าใช้จ่ายในรายการต่างๆ) จากบริษัทหรือโรงหล่อดังที่ปรากฏในคำให้การของกองทัพบกเอง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่กองทัพบกจะดำเนินการก่อสร้างโครงการที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท โดยใช้เพียงการตกลงปากเปล่าหรือใช้เพียงเอกสารที่มีการระบุราคาเพียงยอดรวมค่าใช้จ่ายเท่านั้น