ThaiPublica > เกาะกระแส > ยื่นร้องเรียน ทบ. เปิดเผยข้อมูล “อุทยานราชภักดิ์” ล่าช้า หลังใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

ยื่นร้องเรียน ทบ. เปิดเผยข้อมูล “อุทยานราชภักดิ์” ล่าช้า หลังใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ

21 มกราคม 2016


581119ราชภักดิ์-620x467

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เดินทางไปที่ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของกองทัพบก (ทบ.) ที่มี พ.อ.หญิง รพีพัทธ์ ตรีจิตรฐิติกุล เป็นผู้อำนวยการ เพื่อใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 11 ยื่นคำร้องขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ในพื้นที่โรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย

  1. เอกสารสรุปผลการจัดซื้อจัดจ้าง ในปีงบประมาณ 2558 ของกรมกิจการพลเรือนทหารบก (กร.ทบ.) และกรมยุทธโยธาทหารบก (ยย.ทบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของ ทบ. ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยอดรวมค่าใช้จ่ายจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
  1. เอกสารวิธีคำนวณราคากลางโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบการคำนวณราคากลางสิ่งก่อสร้างสำคัญๆ ในอุทยานราชภักดิ์ โดยเฉพาะการหล่อพระบรมรูปบูรพกษัตริย์แห่งสยาม ทั้ง 7 พระองค์ ที่จัดซื้อจัดจ้างผ่าน กร.ทบ. และมีกระแสข่าวว่ามีการเรียกรับหัวคิวจากโรงหล่อ

อย่างไรก็ตาม จากการติดต่อสอบถามความคืบหน้าตลอดระยะเวลาเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งทางโทรศัพท์และผ่านการเดินทางไปพบโดยตรง รวมจำนวน 4 ครั้ง ปรากฏว่า ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) ว่าหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ ทบ. กระทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ กรณีที่ดำเนินการจัดหาข้อมูลที่ผู้ร้องเรียนยื่นคำร้องขอล่าช้า ทั้งที่เวลาผ่านมาเกือบ 2 เดือนแล้ว

Print
ขั้นตอนการใช้สิทธิขอข้อมูลข่าวสารของราชการ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาตรา 13 และมาตรา 33 หลังจากมีการยื่นคำร้องเรียนต่อประธาน กขร. จะมีการเข้าไปตรวจสอบยังหน่วยงานของรัฐที่ถูกร้องเรียน (ซึ่งในกรณีนี้คือ ทบ.) ว่ามีข้อมูลตามที่ผู้ร้องเรียนร้องขอหรือไม่ จากนั้นจะให้เป็นดุลยพินิจของหน่วยงานของรัฐว่าจะเปิดเผยหรือไม่ โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 30-60 วัน

ทั้งนี้ ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่เปิดเผยโดยอ้างว่าเป็น “ข้อมูลปกปิด” ผู้ร้องเรียนก็ยังสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) ให้พิจารณาว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลปกปิดจริงหรือไม่ ซึ่งหากเห็นว่าไม่ใช่ข้อมูลปกปิด กวฉ. สามารถสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ร้องเรียนได้ ซึ่งท้ายที่สุด หาก กวฉ. วินิจฉัยเป็นข้อมูลปกปิดอีก ผู้ร้องเรียนก็ยังสามารถยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้อีก

นอกจากการยื่นคำขอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์จาก ทบ. แล้ว ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้ายังได้ยื่นคำขอจากกระทรวงกลาโหม (กห.) อีกทางหนึ่ง โดยยื่นคำขอผ่านศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารของ กห. ที่มี พ.ท. ชาตบุตร ศรธรรม เป็นผู้อำนวยการ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ซึ่งข้อมูลที่ยื่นขอจาก กห. คือรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัด กห. เป็นประธาน

ที่ผ่านมา บุคคลสำคัญในรัฐบาลและ กห. ไม่ว่าจะเป็น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และ พล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ต่างระบุตรงกันว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้