ThaiPublica > เกาะกระแส > “ชาญชัย” กางคำพิพากษาศาลแจงกระบวนการเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ยันสัมปทาน “ดิวตี้ฟรี – พื้นที่เชิงพาณิชย์” มูลค่าเกิน 5,700 ล้าน

“ชาญชัย” กางคำพิพากษาศาลแจงกระบวนการเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ยันสัมปทาน “ดิวตี้ฟรี – พื้นที่เชิงพาณิชย์” มูลค่าเกิน 5,700 ล้าน

18 เมษายน 2019


นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์
อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

หลังจากที่นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. จังหวัดนครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 กรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ออกประกาศคัดเลือกผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี และบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยไม่รอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติ (กฎหมายลูก) ตามมาตรา 7 วรรคสุดท้าย แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ)

ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ นายชาญชัย ได้แถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กอีก 2 ครั้ง ก่อนเข้าสู่ประเด็นที่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย นายชาญชัย อธิบายถึงเจตนารมณ์ของการยกร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 ซึ่งมีหลักการและเหตุผลที่สำคัญ คือ กฎหมายฉบับนี้ไม่ต้องการให้บุคคลใด บุคคลหนึ่ง หรือ หน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง มีอำนาจอนุมัติโครงการร่วมลงทุน หรือ ยกกรรมสิทธิ์ในสัมปทานให้แก่บุคคล หรือ นิติบุคคล เข้ามาลงทุนในทรัพย์สินของรัฐที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ดังนั้น พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 มาตรา 13 แห่ง จึงแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม 7 หน่วยงาน ร่วมกันพิจารณา ตั้งแต่การยกร่างประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าประมูล , TOR ,พิจารณาคัดเลือก และเสนอครม.เห็นชอบ

  • “ชาญชัย” ถาม “สมคิด” ทำไมต้องเร่งประมูลดิวตี้ฟรี ก่อน ครม.เห็นชอบ กม.ลูก – วินิจฉัยเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่?
  • ต่อมาในปี 2556 ได้มีการยกร่างพ.ร.บ.ร่วมทุนฯฉบับใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์เดิม กล่าวคือ หากเป็นโครงการร่วมลงทุนที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ในมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 กำหนดให้คณะกรรมการร่วม 8 หน่วยงาน ร่วมพิจารณาตัดสินใจเช่นเดียวกับพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2535 แต่มีการกระจายอำนาจในการพิจารณาอนุมัติไปให้รัฐมนตรี

    จนกระทั่งมาถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของกฎหมายร่วมทุนใหม่ จากเดิมใช้วงเงิน 1,000 ล้านบาท เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา เปลี่ยนมาใช้รูปแบบของกิจการร่วมลงทุน โดยการยกร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562 ในมาตรา 7 กำหนดโครงการร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะมีทั้งหมด 12 ประเภท ซึ่งในจำนวนมีกิจการท่าอากาศยาน และการขนส่งทางอากาศรวมอยู่ด้วย หากมีวงเงินลงทุนเกิน 5,000 ล้านบาท อาจเข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯฉบับนี้ นอกจากนี้ในวรรคสุดท้ายของมาตรา 7 ระบุว่า “กิจการตามวรรค 1 ให้รวมถึงกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการของกิจการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม.”

    กรณีที่ ทอท. นำทรัพย์สินไปให้เอกชนเช่า หรือ เรียกเก็บผลประโยชน์จากการขายสินค้าร่วมกัน จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การดำเนินงานดังกล่าวนี้ ถือเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็นต่อกิจการท่าอากาศยานหรือไม่ โดยคณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นผู้พิจารณา และนำเสนอ ครม.เห็นชอบ ถึงจะดำเนินการต่อไปได้

    การพิจารณาว่าโครงการร่วมลงทุนประเภทใด ถือเป็น “กิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น” หรือไม่นั้น นายชาญชัย แนะนำให้ไปดูกฎหมายจัดตั้งทอท. คือ พ.ร.บ.การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ได้ให้นิยาม “กิจการท่าอากาศยาน” หมายถึง “กิจการที่ขึ้นลงของสนามบิน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการบิน รวมตลอดถึงการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก อันเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว” ดังนั้นสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งหมายรวมถึงร้านค้าต่าง ๆ ในสนามบิน หากมีความจำเป็นต่อผู้มาใช้บริการสนามบิน ก็ควรจะถือว่าเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องที่จะทำให้สนามบินนั้นเป็นสนามบินที่สมบูรณ์

    ยกตัวอย่าง ผู้โดยสารอยู่ในสนามบินนานถึง 3 – 4 ชั่วโมง จำเป็นต้องรับประทานอาหาร มีที่นั่งพักผ่อน หรือ มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรือไม่ ถ้าจำเป็น ก็ต้องถือเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น นอกจากนี้ใน พระราชกฤษฎีกา กำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2545 ยังระบุว่า “กิจการของท่าอากาศยาน เป็นการให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับท่าอากาศยาน และรวมทั้งผู้โดยสาร ลูกจ้างผู้ประกอบธุรกิจในท่าอากาศยาน ตลอดจนธุรกิจ หรือ สิ่งอำนวยความสะดวกอันที่เกี่ยวกับ หรือ ต่อเนื่องกับกิจการดังกล่าว” ดังนั้น ไม่ว่าท่าอากาศยานจะทำอะไร เรื่องเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับสนามบินทั้งหมด

    “ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา กรณีพิพาทระหว่างทอท.กับผู้เช่าพื้นที่ทำลานจอดรถที่สนามบินเชียงใหม่ ศาลฯได้วินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญานี้ว่า คดีนี้มีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนที่มาใช้บริการท่าอากาศยาน คำวินิจฉัยของศาลฯ ชี้ให้เห็นว่า การเช่าอาคารเพื่อทำลานจอดรถ หรือ อะไรก็ตาม ถือเป็นการให้บริการประชาชนทั้งสิ้น” นายชาญชัยกล่าว

    นายชาญชัย ตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมต้องเร่งแก้กฎหมาย หรือ มีเจตนาจะหลบเลี่ยงอะไรบ้างอย่างใช่หรือไม่

    นายชาญชัย กล่าวถึงกรณีที่ตนถูกกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 728 ล้านบาท กรณีให้สัมภาษณ์สื่อว่า “การได้มาของสัญญาสัมปทานของกลุ่มคิง เพาเวอร์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่เริ่มแรก เพราะมีการหลีกเลี่ยงพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ประเมินมูลค่าโครงการร่วมลงทุนให้ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อทำให้การดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้การอนุมัติของทอท.”

    ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 ศาลแพ่ง มีคำพิพากษา “ยกฟ้องคดี” รวมทั้งวินิจฉัยโครงการดังกล่าวนี้มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ทอท.

    “สิ่งที่ผมให้สัมภาษณ์สื่อไปนั้นเป็นข้อมูลที่ได้มาจากหน่วยงานของรัฐ อาทิ ทอท. , ผู้ตรวจการแผ่นดิน , ป.ป.ช. และข้อมูลจากศาลแพ่งกรณีกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ทอท.ชดใช้ค่าเสียหายในกรณีที่บอร์ด ทอท. (สมัยพล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นประธานฯ) มีมติยกเลิกสัญญาสัมปทาน สรุปว่าศาลแพ่ง จึงวินิจฉัยว่า ผมไม่ได้ละเมิด หรือ ทำให้โจทก์เสียหายแต่อย่างใด สิ่งที่ผมพูดเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ข้อความที่ผมนำมาแถลงข่าวถูกต้องตรงตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาขับเคลื่อนปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ได้มอบหมายให้ผมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559” นายชาญชัย กล่าว

    นายชาญชัย กล่าวต่อว่า นอกจากคดีที่ศาลแพ่งแล้ว กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ยังไปฟ้องผมที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ในคดีหมิ่นประมาทอีกหลายประเด็น ในจำนวนนี้มีประเด็นที่ผมเคยให้สัมภาษณ์เรื่องการได้มาของสัญญาสัมปทาน ไม่ชอบด้วยกฎหมายรวมอยู่ด้วย ซึ่งคดีนี้ผมได้นำพยานหลักฐานชี้แจงต่อศาลจนเป็นที่ยอมรับว่ามีการหลบเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 โดยใช้มูลค่าสต็อกสินค้าคงคลังเพียง 1 เดือน มาคำนวณ ทำให้โครงการนี้มีมูลค่าเงินลงทุนไม่ถึง 1,000 ล้านบาท

  • ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษา ยกฟ้องคดี “คิง เพาเวอร์” กล่าวหา “ชาญชัย” หมิ่นประมาท
  • คดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำพิพากษา ยกฟ้องคดีเช่นกัน โดยศาลฯได้วินิจฉัยว่าสิ่งที่ผมให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องจริง และเนื่องจากทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจมีกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 70 ถือว่าเป็นทรัพย์สินของประเทศ คำสัมภาษณ์ของผมอยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษา วิเคราะห์ และตรวจสอบจากหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายที่ได้รับการแต่งตั้ง ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน เป็นสิ่งที่ประชาชนโดยทั่วไป รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพึงจะกระทำได้ เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นการสะท้อนความเป็นไปของสังคม และช่วยเป็นหูเป็นตาแทนประชาชนในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้องอันเป็นหลัก ถืออันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเตือนผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายชาญชัยแต่งเติม เรื่องราวขึ้นมาใส่ร้ายโจทก์ทั้ง 3

    สำหรับเรื่องการประเมินมูลค่าโครงการร่วมลงทุนในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้อง ล่าสุด ทอท. ออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยอ้างถึงผลการศึกษาของ บริษัท ไพร์มสตรีท ประเทศไทย จำกัด (บริษัทที่ปรึกษาของทอท.) ประเมินมูลค่าโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,600 ล้านบาทนั้น นายชาญชัย กล่าวว่า จากการที่ผมได้เคยศึกษา และตรวจสอบการทำงานของทอท. ในประเด็นหลีกเลี่ยงการใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้น พบว่าทั้ง 2 โครงการมีมูลค่ารวมกันกว่า 5,700 ล้านบาท ขอย้ำว่าเป็นตัวเลขเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งหลักฐานการประเมินมูลค่าโครงการดังกล่าวนี้ ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลแพ่งและศาลอาญากรุงเทพใต้

    ผมยืนยันว่าทั้ง 2 โครงการ มีมูลค่าในการลงทุนร่วมกันมากกว่า 5,700 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ ปี 2562 โดยเริ่มตั้งแต่การออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าประมูลงาน การจัดทำ TOR ยกร่างสัญญา และการคัดเลือกบริษัทเอกชนเข้าร่วมลงทุน เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่วม 7 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทนสำนักงานงบประมาณแผ่นดิน , สภาพัฒน์ฯ , อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ร่วมกันพิจารณาดำเนินการ ไม่ใช่ให้หน่วยงานเดียวเป็นผู้จัดทำ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญของกฎหมายฉบับนี้” นายชาญชัย กล่าวยืนยัน

    นายชาญชัย กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ทอท. เคยเปิดประมูลโครงการดังกล่าว และใน TOR ก็ยังระบุว่า “ภารกิจหลักของท่าอากาศยาน คือ การพัฒนากิจการเชิงพาณิชย์ภายในพื้นที่ท่าอากาศยาน ซึ่งนับเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการดำเนินกิจการท่าอากาศยานเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการแล้ว กิจการเชิงพาณิชย์ และร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของธุรกิจท่าอากาศยานนานาชาติในสมัยใหม่ด้วย” สรุปว่าปัจจุบันทั้ง 2 โครงการน่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนเกิน 5,000 ล้านบาท และยังเป็นกิจการเกี่ยวเนื่องที่จำเป็น เพื่อทำให้กิจการสนามบินไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ และเป็นการบริการประชาชน ตามที่กล่าวข้างต้น

  • ศาลคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง “บอร์ดทอท.- คิง เพาเวอร์” ระบุ “ชาญชัย” ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เตรียมยื่นอุทธรณ์ – ป.ป.ช.สานต่อคดี
  • “ชาญชัย” เตรียมจี้ “บิ๊กตู่ – คลัง – คมนาคม” ทวง 14,290 ล้านจากคิงเพาเวอร์ คืนแผ่นดินใน 60 วัน หลังศาลคดีทุจริตฯยกฟ้อง
  • “ผลจากการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำให้ทอท.ขาดรายได้ไปประมาณ 14,200 ล้านบาท ซึ่งผมได้นำเรื่องนี้ไปร้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว รวมทั้งได้นำข้อเท็จจริงทั้งหมดส่งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการติดตามทวงเงินทั้งหมดนำส่งกระทรวงการคลัง ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ได้ทำหนังสือตอบกลับมาว่าได้รับเอกสารที่ผมจัดส่งไปให้แล้ว หากรัฐบาลยังปล่อยให้เกิดการกระทำอย่างนี้ต่อไป ถือว่ารัฐบาล หรือ รัฐมนตรีคนใด คนหนึ่ง อาจมีส่วนร่วมรู้เห็นต่อการกระทำดังกล่าวด้วยหรือไม่ ซึ่งผมยืนยันว่าจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป” นายชาญชัย กล่าว