ThaiPublica > คนในข่าว > “นิตินัย” โต้ สตง. ทุกประเด็น ยัน ทอท. ไม่เสียหายกรณี “คิงเพาเวอร์” ระบุตรวจสอบ – ถามทุกปี แต่เอาผิดใครไม่ได้ ไม่เบื่อบ้างหรือ!

“นิตินัย” โต้ สตง. ทุกประเด็น ยัน ทอท. ไม่เสียหายกรณี “คิงเพาเวอร์” ระบุตรวจสอบ – ถามทุกปี แต่เอาผิดใครไม่ได้ ไม่เบื่อบ้างหรือ!

19 เมษายน 2016


ตามที่ได้นำเสนอข่าวรายงานผลการตรวจสอบที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจกิจการร้านค้าปลอดอากรของกลุ่มบริษัท คิง เพา เวอร์ จำกัด ในท่าอากาศยานนานาชาติ พบประเด็นความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียเปรียบหรือเกิดความเสียหายหลายประเด็น อาทิ ความล่าช้าในการติดตั้งระบบรับรู้รายได้ (Point Of Sale: POS) 9 ปีที่ผ่านมา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยังไม่สามารถติดตั้งระบบดังกล่าวเพื่อใช้ตรวจสอบยอดขายสินค้าปลอดอากรของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ แบบ Real-Time ได้

ในรายงานของ สตง. ฉบับนี้ระบุว่า มีโอกาสที่ ทอท. จะเสียผลประโยชน์ตอบแทนที่เก็บจากยอดขายสินค้า (เก็บในอัตรา 15% ของยอดขาย หรือตามจำนวนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ) ทั้งนี้ จากการนำข้อมูลยอดขายรายเดือนของ ทอท. มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลของกรมศุลกากร พบยอดขายในรายงานของ ทอท. ต่ำกว่ากรมศุลกากรรวมทั้งสิ้น 161.83 ล้านบาท หากคำนวณเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ ทอท. ควรได้รับในอัตรา 15% ของยอดขาย อาจทำให้ ทอท. สูญเสียรายได้ 24.27 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในรายงานของ สตง. ยังตรวจพบว่ามีการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อจำหน่ายสินค้าปลอดอากรในบริเวณท่าอากาศยานเกินกว่าที่กำหนดในสัญญาประมาณ 2.8 ตารางเมตร

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทำหนังสือ แจ้งผลการตรวจสอบของ สตง. พร้อมข้อเสนอแนะ ถึงนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เพื่อให้ ทอท. ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง

ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ ทอท. ”
ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

ต่อประเด็นดังกล่าว นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ตอบคำถามกรณี สตง. ตั้งข้อสังเกตว่า ทอท. ติดตั้งระบบ POS แบบ Real-Time กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ล่าช้า ใช้เวลากว่า 9 ปี ยังติดตั้งไม่สำเร็จ อาจทำให้ ทอท. เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนไม่ครบถ้วน

ดร.นิตินัยกล่าวว่า “ผมขอทบทวนคำถามอีกครั้ง คือ 9 ปีที่ผ่านมา ทอท. ไม่ยอมติดตั้งระบบ POS แบบ Real-Time แล้วทำให้ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของ ทอท. คลาดเคลื่อนใช่หรือไม่ ถ้าถามลักษณะนี้ต้องตอบคำถามผมให้ได้ก่อนว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานใดเข้ามาพิสูจน์หรือยืนยันว่าระบบที่ ทอท. ใช้ตรวจวัดยอดขายสินค้าปลอดอากรในปัจจุบันเป็นระบบที่ไม่ดี มีจุดรั่วไหล ถ้าตอบผมไม่ได้หรือไม่รู้ สตง. จะไปสรุปได้อย่างไรว่าการไม่เชื่อมโยงระบบ POS แบบ Real-Time เป็นระบบที่ไม่ดี มีจุดอ่อนให้เกิดรูรั่วไหล แต่อย่างไรก็ตาม การส่งข้อมูลแบบ Real-Time ย่อมต้องดีกว่าไม่ Real-Time แน่นอน”

พร้อมกล่าวต่อว่าก่อนหน้านี้ตนเคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบยอดขายสินค้าปลอดอากรไปแล้ว ถึงแม้ ทอท. ไม่สามารถเชื่อมโยงระบบกับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ได้ แต่ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ทอท. ก็มีวิธีการตรวจสอบยอดขายของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี โดยใช้กล้องวงจรปิดไปติดตั้งบริเวณโต๊ะของพนักงานเก็บเงิน หรือ “แคชเชียร์” และที่ลิ้นชักเครื่องเก็บเงินก็ติดตั้งเครื่องตรวจจับเวลา กรณีแคชเชียร์เปิดลิ้นชักเครื่องเก็บเงินเกินเวลาที่ ทอท. กำหนด ปรากฏว่าไม่มีเงินเข้า-ออกหรือแจ้งยอดขายคลาดเคลื่อน เจ้าหน้าที่ ทอท. จะนำภาพจากกล้องวงจรปิดมาตรวจสอบ

นอกจากนี้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ต้องส่งหลักฐานรายการสั่งซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์มาให้ ทอท. ตรวจสอบด้วย เช่น บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี มีแบลลีย์ (BALLY) หรือ เฟอร์รากาโม (Salvatore Ferragamo) เป็นลูกข่าย ส่วนร้านแหนมเนืองถือเป็นลูกข่ายของ ทอท. โดยตรง

ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ ทอท. สงสัยว่ามีการแจ้งยอดขายไม่ถูกต้อง นอกจากตรวจดูภาพที่กล้องวงจรปิดแล้ว ยังตรวจสอบรายการสั่งซื้อสินค้าจากลูกข่ายด้วย ข้อมูลทุกอย่างถูกบันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เพียงแต่ ทอท. ยังไม่ได้เชื่อมต่อระบบซอฟต์แวร์กับบริษัท คิง เพาเวอร์ เท่านั้น

นายนิตินัยกล่าวต่อว่า “ในระหว่างส่งข้อมูลยอดขายให้กับ ทอท. ก็มีเจ้าหน้าที่ ทอท. เคยตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการแก้ไขข้อมูล (edit) ก่อนส่งข้อมูลได้หรือไม่ ตรงนี้ก็มีความเป็นไปได้ หากมีการข้อมูลแบบ Real-Time โอกาสในการแก้ไขไฟล์ข้อมูล ก็ทำได้ยากขึ้น ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าทำแบบนี้ได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่นักคอมพิวเตอร์ หาก สตง. ตั้งข้อสังเกตมาในลักษณะนี้ ก็เป็นประเด็น ซึ่งผมอยากฟังคอมเมนต์ที่สร้างสรรค์ลักษณะนี้มากกว่า ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าติดตั้ง POS ล่าช้าแล้วทำให้เกิดรูรั่วอย่างไร เพราะเจ้าหน้าที่ ทอท. ยืนยันกับผมว่าไม่มีรั่วไหล”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทำไม ทอท. ใช้เวลาติดตั้ง POS นานถึง 9 ปี แต่ไม่สำเร็จ นายนิตินัยกล่าวว่า “ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ สตง. เข้ามาตรวจสอบ ทอท. 9 ปีที่ผ่านมา สตง. ก็เข้ามาตรวจสอบ ทอท. ทุกปี และก็ตรวจพบว่า ทอท. ติดตั้ง POS ไม่สำเร็จ แต่ สตง. ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าระบบที่ใช้ในปัจจุบันไม่ดีหรือมีจุดรั่วไหลตรงไหน ผมไม่ได้ท้าทาย สตง. นะ แต่อยากให้ สตง. ตรวจเจอสักทีจะได้รู้ว่ามีจุดบกพร่องตรงไหน ผมจะนำมาแก้ไข”

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ทอท. จะเชื่อมต่อระบบ POS กับคิง เพาเวอร์ ได้เมื่อไหร่ นายนิตินัยกล่าวว่า ทอท. ได้ดำเนินการติดตั้งระบบ POS แบบ Real-Time ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ส่วนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกำลังเร่งดำเนินการ คาดว่าจะติดตั้งเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2559

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมยอดขายสินค้าปลอดอากรของ ทอท. ต่ำกว่ากรมศุลฯ นายนิตินัยตอบว่า เรื่องตัวเลขไม่ตรงกัน ประเด็นนี้อธิบายได้ง่ายมาก กล่าวคือ ช่วงที่ สตง. เข้ามาตรวจสอบ ทอท. สตง. ทำหนังสือมาขอข้อมูลการจัดเก็บรายได้จากผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะสัญญาหลัก ไม่ได้ขอข้อมูลการจัดเก็บรายได้ทั้งหมด ทอท. จัดส่งข้อมูลอื่นให้ก็ไม่ได้ เพราะในหนังสือของ สตง. ระบุชัดเจน จึงส่งข้อมูลเฉพาะรายได้ตามสัญญาหลักให้ สตง. ตามที่ร้องขอ

ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ สตง. อาจไม่เข้าใจการทำธุรกิจของ ทอท. ในระหว่างปีจะมีหน่วยงานอื่นทำเรื่องมาขอจัดงานขายสินค้า หรือจัดงาน “อีเวนต์” ชั่วคราว ครั้งละ 3-5 วัน ทอท. ก็เก็บเงินค่าเช่าพื้นที่ตามอัตราปกติ เรียกว่า “สัญญาเสริม” แต่ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่ได้ส่งให้ สตง. เพราะ สตง. ขอข้อมูลรายได้เฉพาะสัญญาหลัก หากนำข้อมูลรายได้จากสัญญาเสริมไปรวมกับข้อมูลรายได้ตามสัญญาหลักแล้ว ตัวเลขจะเท่ากับข้อมูลของกรมศุลกากรพอดี ซึ่งข้อมูลรายได้ชุดนี้ก็เป็นข้อมูลชุดเดียวกันกับที่บริษัท คิง เพาเวอร์ ใช้ในการเสียภาษีเงินได้กับกรมสรรพากร

“สรุปประเด็นตัวเลขยอดขายของ ทอท. ไม่ตรงกับกรมศุลกากร เกิดจากผู้ตรวจสอบไม่เข้าใจการทำธุรกิจของ ทอท. และไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้รับจาก ทอท. แตกต่างจากข้อมูลกรมศุลกากรอย่างไร จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน”

คิงเพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ที่มาภาพ : www.kingpower.com
คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ
ที่มาภาพ: www.kingpower.com

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า สตง. ตรวจพบคิง เพาเวอร์ ใช้พื้นที่เกิน 2.8 ตารางเมตร จะชี้แจงอย่างไร นายนิตินัยกล่าวว่า “ข้อสังเกตของ สตง. เรื่องการใช้ประโยชน์พื้นที่เกินกว่าที่กำหนดในสัญญา เป็นประเด็นที่สอบถามกันมาทุกปี หลังจาก สตง. ตรวจพบว่ามีการใช้พื้นที่เกิน ทอท. ก็ทำหนังสือไปชี้แจง สตง. แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป ไม่สามารถเอาผิดใครได้ ไม่เบื่อหรือ เป็นประเด็นถามกันทุกปี ถ้าผิดจริงทำไมไม่ส่งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิงเพาเวอร์ใช้พื้นที่เกิน ทำให้ ทอท. เสียประโยชน์หรือไม่ นายนิตินัยกล่าวว่า การจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญามี 2 วิธี คือ จัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนในอัตรา 15% ของยอดขาย หรือ เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) หากบริษัท คิง เพาเวอร์ ขายไม่ดี ทอท. ใช้วิธีจัดเก็บในอัตรา 15% แล้วได้เงินน้อยกว่า ก็เปลี่ยนไปใช้วิธีจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ

ยกตัวอย่าง ในสัญญากำหนดให้ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อตารางเมตร ถ้ายอดขาย 100,000 บาท บริษัท คิง เพาเวอร์ ก็ต้องจ่าย 15,000 บาทต่อตารางเมตร (15% ของยอดขาย) สมมติพื้นที่ทั้งหมด 20,000 ตารางเมตร ตามสัญญากำหนดให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ 23,000 ล้านบาท ปรากฏว่าปัจจุบันบริษัท คิง เพาเวอร์ จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท. ถึง 35,000 ล้านบาท เงินส่วนที่จ่ายเกิน (ผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ) คิดเป็นจำนวนพื้นที่ 30-40% ของพื้นที่ทั้งหมด กรณีบริษัท คิง เพาเวอร์ ใช้พื้นที่เกินมา 1-2 ตารางเมตร จะทำให้ ทอท. เสียหายอย่างไร

“พื้นที่ส่วนที่เกินถูกวัด แต่ส่วนที่หดไม่ได้วัด จริงๆ ต้องนำมาหักลบกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ ทอท. ก็ยืนยันกับผมว่าบริษัท คิง เพาวเวอร์ ไม่ได้ใช้พื้นที่เกิน สมมติว่ามีการใช้พื้นที่เกินจริง บริษัท คิง เพาเวอร์ จ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าขั้นต่ำ คิดเป็นเงินจำนวนมาก” นายนิตินัยกล่าว

อีกเรื่องที่ตนอยากชี้แจงต่อสาธารณชน เป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับ สตง. คือ ข้อกล่าวหาที่ว่า ทอท. ปล่อยให้ร้านค้าในท่าอากาศยานขายสินค้าแพงกว่าท้องตลาด

“สำหรับร้านค้าที่ทำสัญญาขายสินค้าในท่าอากาศยานในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (สัญญาใหม่) ในสัญญาระบุไว้ชัดเจน ห้ามตั้งราคาขายเกิน 20% ของราคาตามท้องตลาด ส่วนสัญญาเก่าที่ทำกันไว้ในอดีตไม่ได้กำหนดห้ามขายเกินราคาตลาด แต่ ทอท. ใช้วิธีขอความร่วมมือ ถามว่าที่สยามพารากอนหรือเซ็นทรัลกำหนดกติกาห้ามร้านค้าตั้งราคาขายเกิน 20% ของราคาตามท้องตลาดแบบนี้หรือไม่ คำตอบคือไม่มี แต่ที่ท่าอากาศยานทุกแห่งมีการกำหนดราคาขาย”

และก่อนที่ ทอท. จะอนุมัติให้ร้านค้าเปิดกิจการ ทุกร้านค้าต้องส่งรายการสินค้าและราคาให้ ทอท. ตรวจสอบ เมื่อเปิดกิจการแล้วจะขายสินค้านอกเหนือจากรายการไม่ได้ เช่น ร้านสะดวกซื้อ แจ้ง ทอท. ว่าจะขายวาเป็กซ์ จะไปขายเซียงเพียวอิ๊วไม่ได้ ขายวาเป็กซ์ก็ต้องอ้างอิงกับราคาตลาดไม่เกิน 20%

หากผู้โดยสารคิดว่าร้านอาหารในท่าอากาศยานส่วนใหญ่ราคาแพงกว่าท้องตลาด 20% รับไม่ได้ ทอท. ก็จัดเตรียมร้านอาหารราคาถูกไว้บริการ สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็มีMagic Food Point ส่วนที่ท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ด้านนอกบริเวณอาคารที่จอดรถ และภายในท่าอากาศยานก็มีตู้กดน้ำดื่มฟรีไว้บริการหลายจุด บางคนเป็นรองอธิบดีดื่มน้ำกรองไม่ได้ก็ต้องจ่ายเงิน ปัจจุบัน ทอท. ทำทางเลือกให้กับผู้บริโภคไว้มากพอสมควร หากจะมาบังคับให้ ทอท. ควบคุมร้านค้าไม่ให้ขายเกินราคาท้องตลาดทั่วไป ก็ต้องบังคับให้สยามพารากอนหรือเซ็นทรัลควบคุมร้านค้าไม่ให้ขายเกินราคาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีมีกระแสข่าวว่า หลังเมษายนนายนิตินัยอาจถูกปลดเพราะไม่ผ่านประเมิน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นายนิตินัยตอบว่า “ข่าวลือ ถึงอย่างไรก็เป็นข่าวลือ ผมเองไม่รู้ว่าบอร์ดจะให้ผมผ่านประเมินหรือไม่ผ่าน ถ้าเขาไม่อยากให้ทำ ผมก็ไม่ทำ ก็เท่านี้”