ThaiPublica > เกาะกระแส > คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 5): นโยบายยึดรายได้เป็นสำคัญ แต่ TOR กลับหัวกลับหาง คะแนนเทคนิค 80-รายได้ 20

คำถามที่นายกรัฐมนตรี – ทอท.ไม่ตอบ (ตอน 5): นโยบายยึดรายได้เป็นสำคัญ แต่ TOR กลับหัวกลับหาง คะแนนเทคนิค 80-รายได้ 20

13 มิถุนายน 2019


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ประกาศผลประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ซึ่งผู้ชนะคือ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในพื้นที่สนามบินสุวรรณ ระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน โดย ทอท.ระบุว่าผู้ชนะเสนอผลตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิม และสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมาย

และวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ทอท.ประกาศผลคะแนนรวมสูงสุดของผู้ยื่นข้อเสนองานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต, เชียงใหม่ และหาดใหญ่ คือบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

เป็นที่ทราบว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ใช้พื้นที่ของ ทอท.ในการทำธุรกิจดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิมาตั้งแต่ปี 2548 โดยที่ ทอท.ขณะนั้นไม่ได้เปิดประมูลใหม่ แต่เป็นการขอต่อสัญญาต่อเนื่อง จากการย้ายสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินสุวรรณภูมิ พร้อมคำอ้างว่าเวลาเหลือ 1 ปี 9 เดือนอาจจะไม่ทันการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเดือนกันยายน 2548 จึงทำสัญญา 10 ปีจนถึงปี 2558 จากนั้นได้รับการต่อสัญญาอีก 2 ครั้ง โดยอ้างว่าความไม่สงบทางการเมืองทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ได้รับการขยายสัญญาจนสิ้นสุดปี 2563 รวมเวลา 14 ปี

  • ข้อเท็จจริง “คิงเพาเวอร์-ทอท.” ขอต่อสัญญาปี 2547 ทำดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ เพียงรายเดียว
  • ที่มาภาพ : รายงาน “การศึกษาธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย” สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

    ในที่สุดการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินนานาชาติ ทั้งสุวรรณภูมิ หาดใหญ่ ภูเก็ต เชียงใหม่ กลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ไปทั้งหมด

    หากรวมสัมปทานเดิมที่กลุ่มคิงเพาเวอร์ได้ไปด้วยการต่อสัญญาในสมัยปี 2547 อายุสัมปทาน 10 ปี และร้องขอว่าได้รับความเสียหายจากการปิดสนามบินอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมได้สัมปทานดิวตี้ฟรี 14 ปี และครั้งนี้อีก 10 ปี 6 เดือน นั่นหมายความว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์ได้รับสัมปทานธุรกิจดิวตี้ฟรียาวนานถึง 24 ปี 6 เดือน เพียงรายเดียว ทั้ง 4 สนามบินหลักๆ ของประเทศ

    การได้รับคัดเลือกในครั้งนี้กลุ่มคิงเพาเวอร์ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แต่ทำไมการให้ผลตอบแทนแก่รัฐไม่ได้สูงสุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ทั้งที่คู่แข่งถ้าหากได้รับการคัดเลือกคู่แข่งจะต้องลงทุนอีกจำนวนมากพอสมควร เป็นเหตุให้ ทอท.ต้องเจรจาเพื่อให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ขยับ “ราคา” ผลตอบแทนรายได้ให้รัฐเพิ่มขึ้น แม้จะปรับขึ้นแต่ก็ยังไม่เท่ากับคู่แข่งขันที่ให้สูงสุด

    ต่อประเด็นนี้ ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้ตั้งคำถามต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 11 มิถุนายน 2562 เพื่อถามย้ำในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวว่าการประมูลให้สัมปทานดิวตี้ฟรี “คำนึงรายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ และไม่เอื้อประโยชน์ใคร” (ข่าวนสพ.กรุงเทพธุรกิจ)

    นายกรัฐมนตรีตอบคำถามหลังประชุม ครม.ว่า “เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของบริษัท ท่าอากาศยานไทย ดำเนินการ ได้ให้นโยบายไปว่าต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก ดังนั้นต้องติดตาม เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว อะไรที่จบไปแล้วต้องดูให้ดีว่าเขาใช้เหตุผลอะไร บางทีพูดกันไม่ตรง ดังนั้นต้องไปดูที่เขาชี้แจง โดยยืนยันว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎกติกาทั้งหมด”

    เมื่อผู้สื่อข่าวจะถามต่อ นายกรัฐมนตรีก็ปิดการให้สัมภาษณ์ เดินกลับเข้าทำเนียบรัฐบาลทันที

    นี่คือคำถามที่นายกรัฐมนตรีไม่ตอบ ว่าทำไมการประมูลครั้งนี้ผู้ที่เสนอรายได้ให้รัฐสูงสุดกลับไม่ใช่ผู้ชนะ ถ้าหากนโยบายของรัฐคำนึงถึงรายได้เข้าประเทศเป็นสำคัญ!!! และทำไมการกำหนด TOR การประมูลจึงกลับหัวกลับหาง ให้น้ำหนักทางด้านราคาแค่ 20 % ส่วนน้ำหนักทางเทคนิคกลับให้สูงถึง 80%

    อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปสัญญาณที่ ทอท.ประกาศครั้งแรก ชัดเจนว่าต้องการรวบทั้ง 4 สนามบินให้ “รายเดียว”

    โดยเมื่อ 11 มีนาคม 2562 บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” ออกประกาศ 2 ฉบับผ่านเว็บไซด์ของ ทอท. ฉบับแรก ประกาศเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวม 4 แห่ง และฉบับที่ 2 ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมประมูลสิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

    การประมูลสิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานนานาชาติทั้ง 4 แห่งตามที่กล่าวข้างต้นนั้น ทาง ทอท.มีความประสงค์ที่จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดีเพียงรายเดียว ให้เข้ามารับสัมปทานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2563 ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574 รวมเป็นระยะเวลา 10 ปี 6 เดือน

    จึงเป็นที่มาของการพาดหัวข่าว “ทอท.เปิดคัดเลือกเอกชนรายเดียว ผูกขาดสัมปทานดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ 10 ปี เปิดขายซอง 19 มี.ค.นี้”

    หลังจากนั้น 3 วัน “นายกฯ สั่ง “บอร์ด ทอท.” ทบทวนประมูลดิวตี้ฟรี-รายเดียว ผูกขาด 4 สนามบิน”

    จากนั้น ทอท.จึงออกมาแถลงข่าวทบทวน โดยแยกการประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีสนามบินนานาชาติในภูมิภาค (ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่)

    ในตอนนั้นนายกรัฐมนตรีสั่งย้ำว่า รัฐบาลจะหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์สูงสุด โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปติดตามกำกับดูแลและร่วมหาแนวทางที่ดีที่สุดกับ ทอท.โดยเร่งด่วน ซึ่งในวันเดียวกันกระทรวงคมนาคมออกมาแถลงข่าวให้ ทอท.ทบทวนตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ

    แต่ในที่สุด “ทอท.เดินหน้าประมูลดิวตี้ฟรี-พื้นที่เชิงพาณิชย์ สนามบินสุวรรณภูมิ เลือกรายเดียว เปิดขายซอง 1-18 เม.ย.นี้”

    ผู้สื่อข่าวได้สอบถามเรื่องนี้จากกระทรวงคมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแลกลับได้รับคำตอบว่า “คมนาคมในฐานะผู้กำกับดูแลไม่สามารถสั่งการใดๆ ได้ เพราะมีผู้สั่งการที่มีอำนาจมากกว่า” พร้อมกับย้ำว่า “คุณก็รู้ว่าใคร”

    โดยวันที่ 28 มีนาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 5/2562 หรือ “บอร์ด ทอท.” ได้มีมติเห็นชอบให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งให้แนวทางในการคัดเลือก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐและผู้ถือหุ้น ดังนี้

      1. โครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร แยกเป็น 2 สัญญา คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 สัญญา และท่าอากาศยานภูมิภาค ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ 1 สัญญา โดยให้กำหนดกรอบแนวทางในการคัดเลือกให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ (brand name) สามารถแข่งขันกับธุรกิจเดียวกันในตลาดโลกได้ และผลประโยชน์ตอบแทนรวมของทั้งสองสัญญาจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท.ได้รับอยู่ในปัจจุบัน

      2. โครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สัมปทานแบบรายเดียว (master concession)

    พร้อมคำพูดสวยๆ จากคณะกรรมการ ทอท.ที่ว่า “การกำหนดแนวทางในการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานของ ทอท. ที่จะต้องคำนึงถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

    ด้วยเกณฑ์การให้คะแนนที่ ทอท.กำหนดขึ้น

    1. คะแนนทางเทคนิค 80 คะแนน โดยแบ่งเป็น

    • ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจของผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน 15 คะแนน
    • แผนการดำเนินงาน 40 คะแนน
    • แผนธุรกิจ 25 คะแนน

    2. คะแนนราคาหรือผลตอบแทน/รายได้เข้ารัฐ 20 คะแนน

    จากการประกาศผลคะแนนกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุดคือกลุ่มคิงเพาเวอร์ จึงมีประเด็นถามหาความโปร่งใสจากผู้ร่วมประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรี ถามหาความโปร่งใส ทอท.ไม่ประกาศ “ราคาผลตอบแทนให้รัฐ – คะแนนเทคนิค” ของผู้ยื่นซองทุกราย

    คำถามก็คือ เมื่อธุรกิจดิวตี้ฟรีอันดับ 1 อันดับ2 ของโลก ที่เข้าร่วมประมูล แพ้ดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ของเมืองไทยที่ครอบครองสัมปทานดิวตี้มาอย่างยาวนาน และครั้งหนึ่งดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ของไทยเคยขอให้ “ดูฟรี” ดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ของโลกเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ เพราะดูฟรีมีผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมที่เป็นพันธมิตรมากมาย สามารถที่จะสั่งผลิตสินค้าพิเศษขายเฉพาะสนามบินใดก็ได้ ไม่นับรวมแพลตฟอร์ม เทคโนโลยี และโนฮาวที่ปรับได้กับแต่ละสนามบิน ที่สำคัญสามารถตรวจสอบยอดขายได้เรียลไทม์ ว่ารายได้ที่จะเข้ารัฐเป็นเท่าไหร่

    ดังนั้น การประมูลครั้งนี้นักลงทุนไทยจึงได้ชักชวนนักลงทุนต่างชาติที่ทำธุรกิจดิวตี้ฟรีอันดับ 1 และ 2 มาร่วมทีม โดยหวังว่าจะเข้ามายกระดับและสร้างรายได้จากนักเดินทางกว่า 100 ล้านคนต่อปี โดยเสนอรายได้เข้ารัฐสูงสุดที่สุด และเพื่อให้ตรงกับเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้ประมูลและสอดรับกับเจตนารมณ์ของ ทอท.ที่ว่า …การกำหนดกรอบแนวทางในการคัดเลือกให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับธุรกิจเดียวกันในตลาดโลกได้

    ประเด็นนี้ ทอท.ต้องตอบคำถามและกางข้อเท็จจริงในการให้คะแนนว่า ทำไมผู้เข้าแข่งขันที่มีพันธมิตรผู้ผลิตสินค้าแบรนด์เนมมากที่สุดและเป็นอันดับ 1และ 2 ของโลกกลับสอบตก

    รวมทั้งเรื่องที่ว่า…ผลประโยชน์ตอบแทนรวมของทั้งสองสัญญาจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท.ได้รับอยู่ในปัจจุบัน (ดูรายละเอียดสัญญา)

    หากดูจากตารางด้านล่างนี้คือผลตอบแทนที่ ทอท.ได้รับขั้นต่ำตลอดการต่อสัมปทานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

    ดังนั้น ในประเด็นนี้ที่ว่าผลประโยชน์ตอบแทนรวมของทั้งสองสัญญาจะต้องไม่ต่ำกว่าที่ ทอท.ได้รับอยู่ในปัจจุบัน จากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าสำรวจผลประกอบการทั้งด้านการบริการและด้านการเงินของ ทอท.ย้อนหลัง 14 ปีตั้งแต่ 2548-2561 ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาส่วนใหญ่สัมปทานเดิมว่า จากผลของสัญญาดังกล่าว ส่งผลให้ ทอท.และประเทศไทยได้หรือเสียอะไรไปบ้าง

    เริ่มต้นสำหรับผลดำเนินการด้านการให้บริการ ทอท.ดำเนินกิจการท่าอากาศยานในประเทศไทยทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานเชียงราย โดยในช่วงที่ผ่านมาจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 47,338,682 คนในปี 2548 เป็น 139,518,488 คนในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 9% มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นจาก 330,346 เที่ยวในปี 2548 เป็น 874,999 เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2.5 เท่า คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.8%

  • 14 ปีผลงาน ทอท.กับบริการผู้โดยสารจาก 47 ล้านคนเป็น 139 ล้านคน – “สัมปทานดิวตี้ฟรี” …ประเทศไทยได้อะไร?
  • คงต้องถามย้ำแล้วย้ำอีกว่าแล้วรายได้ที่รัฐควรจะได้เป็นเท่าไหร่ หากมีนักเดินทางและมีเที่ยวบินแต่ละปีเยอะเช่นนี้ และทำไมรายได้ที่ผ่านมาจึงมีรายได้เข้ารัฐดังตารางข้างบน

    รวมทั้งคำประกาศที่ว่า… “ทาง ทอท.มีความประสงค์ที่จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดีเพียงรายเดียว ให้เข้ามารับสัมปทานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร”

    ดังนั้น การประมูลสัมปทานครั้งนี้ แม้ ทอท.จะไม่เรียกว่า “ผูกขาด” แต่การที่มีผู้ได้รับสัมปทานต่อเนื่องเพียงรายเดียวทั้ง 4 สนามบินนานาชาติ ยาวนานถึง 24 ปี 6 เดือน ก็เป็นคำถามต่อ ทอท.ว่า ระยะเวลานานขนาดนี้สามารถเรียกว่าเป็นสัมปทานประเภทไหน อย่างไร

    และ ทอท.ได้มีการเปรียบเทียบธุรกิจดิวตี้ฟรีทั่วโลกหรือไม่ว่า มาตรฐานของไทยอยู่ในระดับไหนของโลก หากทอท.มีโอกาสที่จะใช้ศักยภาพที่มีอยู่ตามนิยามของความยั่งยืนที่แท้จริง จะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้นได้อีกแค่ไหน อย่างไร

    เพราะถ้าถามนักวิเคราะห์ก็จะได้คำตอบว่า ทำไมสนามบินสุวรรณภูมิของไทยจึงคะแนนต่ำกว่าสนามบินชั้นนำในภูมิภาคนี้ทุกเกณฑ์

  • กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนที่ 2): ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิคะแนนต่ำกว่าสนามบินชั้นนำในภูมิภาคเกือบทุกเกณฑ์
  • กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนจบ): เปรียบเทียบ “โครงสร้าง-ผลตอบแทน” สัมปทานดิวตี้ฟรีโลกกับของไทย
  • ดังนั้น ปมคำถามที่กล่าวมาข้างต้น ฤาจะตอกย้ำว่านี่คือคำพูดสวยๆ จากคณะกรรมการ ทอท.ที่ว่า “การกำหนดแนวทางในการดำเนินงานดังกล่าว เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ในการดำเนินงานของ ทอท. ที่จะต้องคำนึงถึงการดำเนินงานอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารองค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

    เพราะถ้าการดำเนินงานของ ทอท.อย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติแล้ว รายได้ขั้นต่ำที่ได้รับจากการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี กับอัตราการเพิ่มของนักเดินทางและเที่ยวบินดังข้อมูลข้างบน คงไม่กลับหัวกลับหางเช่นนี้

    จึงต้องถามว่าใครกันที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง!!!

    ข้อเท็จจริงธุรกิจดิวตี้ฟรีโลก-ไทยควรมีรายได้ 5 แสนล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน 10 ปี

    ก่อนหน้านี้สมาคมค้าปลีกได้เปรียบเทียบการบริหารจัดการสนามบินนานาชาติใหญ่ๆ ของโลกว่าดำเนินการในรูปแบบไหนกันบ้าง เพื่อให้รายได้เข้ารัฐสูงที่สุดและการบริการนักเดินทางที่ดีที่สุด