ThaiPublica > เกาะกระแส > ปมขัดแย้งดิวตี้ฟรี “จุดส่งมอบสินค้า” 3 สนามบิน 3 รูปแบบ – เมื่อสมาคมร้านปลอดอากรรุกขอเปิดเสรีทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

ปมขัดแย้งดิวตี้ฟรี “จุดส่งมอบสินค้า” 3 สนามบิน 3 รูปแบบ – เมื่อสมาคมร้านปลอดอากรรุกขอเปิดเสรีทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ

15 กุมภาพันธ์ 2016


กรณีร้านค้าปลอดอากรหรือร้านค้าปลอดภาษีในเมือง เป็นปมร้อนระหว่างบริษัทคิงเพาเวอร์กับห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทยและผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีต่างชาติ ที่ต้องการจะเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมือง โดยเฉพาะร้านค้าปลอดอากรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ติดเงื่อนไขว่าไม่สามารถหาจุดส่งมอบสินค้า(Pick-up Counter)ในท่าอากาศยาน โดยเฉพาะที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิได้

สำหรับร้านค้าปลอดอากรที่อยู่ในสนามบินนานาชาติ จะให้ใครเป็นคนทำ อยู่ที่นโยบายของประเทศนั้นๆ อาจจะเป็นรัฐบาลหรือเอกชน ถ้าเป็นเอกชนเงื่อนไขต่างๆจะเป็นอย่างไรก็แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย ร้านค้าปลอดอากรแต่ละสนามบินมีความแตกต่างกันไปโดยให้เอกชนเข้ามาบริหาร จะด้วยการต่อสัญญาในกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขณะที่สนามบินดอนเมืองเป็นการเปิดประมูล เป็นต้น

ส่วนร้านค้าปลอดอากรที่อยู่ในเมือง เงื่อนไขการขอเปิดจะต้องขออนุญาตจากกรมศุลกากร โดยต้องมีคุณสมบัติ 7 ข้อ (ดูรายละเอียดคุณสมบัติในการขอจัดตั้งร้านค้าปลอดอากร) ซึ่งคุณสมบัติ 7 ข้อนี้ ไม่มีข้อใดๆ ที่ระบุว่าจะต้องมี “จุดส่งมอบสินค้า”

เงื่อนไขตั้งร้านค้าปลอดอากร

แต่ขั้นตอนในการยื่นขออนุญาตการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ได้แนะนำว่าต้องมี”จุดส่งมอบสินค้า” โดยระบุว่าจะต้องมีเอกสารมาแสดงว่ามีจุดส่งมอบสินค้าในการขออนุมัติ ส่วนจะเป็นจุดส่งมอบสินค้าที่ไหนไม่ได้ระบุ ขอให้เป็นสนามบินนานาชาติ และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่แนะนำให้ไปขอที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าเกณฑ์การขออนุญาตเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมือง

ส่วน “กระบวนการส่งมอบสินค้า” จริงๆ ที่เป็นปมร้อนว่าเมื่อนักท่องเที่ยวซื้อของจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองแล้วจะทำอย่างไร จะไปรับสินค้าที่ไหน ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร สำหรับร้านค้าปลอดอากรในเมือง การส่งมอบสินค้า 1. กรณีส่งมอบของ ให้ผู้ซื้อนำติดตัวไปพร้อมกับตน แต่กรณีนี้ยังไม่มีปฏิบัติในประเทศไทย 2. กรณีส่งมอบของ ณ จุดส่งมอบที่กำหนดซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรมศุลกากร

นั่นหมายถึงว่า อยู่ในดุลยพินิจของอธิบดีกรมศุลกากรว่าจะกำหนดจุดส่งมอบสินค้าที่ไหนที่เห็นว่าเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประเทศ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศจากการขายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยว

เนื่องจากกรุงเทพคือทำเลทองของการช้อปปิ้ง ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ รวมทั้งธุรกิจดิวตี้ฟรีต่างชาติบางแห่งก็ต้องการจะเปิดในกรุงเทพ แต่ปัจจุบันจุดส่งมอบสินค้าทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมืองมีเจ้าของครอบครองอยู่ โดยบริษัทคิงเพาเวอร์ครอบครองอยู่ ดังนั้นใครที่จะเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมือง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีพื้นที่ที่เป็นจุดส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อที่ส่วนใหญ่ใช้ 2 สนามบินนี้ (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

โมเดลสัญญาของ_ทอท1

จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องต่อ “รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เพื่อเปิดให้มีจุดส่งมอบสินค้ากลาง และทำให้มีร้านค้าปลอดอากรในเมืองมากขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยให้อธิบดีกรมศุลกากรซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ในการชี้ขาด ตามข้อ 2 ที่ระบุว่า “กรณีส่งมอบของ ณ จุดส่งมอบที่กำหนดซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกรมศุลกากร” เป็นผู้กำหนดพื้นที่ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ใดๆในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง อาทิ ในส่วนงานของกรมศุลกากรเองในสนามบินทั้งสองแห่ง ก็สามารถเป็นจุดส่งมอบสินค้าได้ เพียงแค่แจ้งผู้ประกอบการ โดยไม่ต้องออกประกาศหรือแก้กฏหมายใดๆ

ปัจจุบัน พื้นที่ “จุดส่งมอบสินค้า” ในแต่ละสนามบินนานาชาติของไทยจะมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน กล่าวคือ

1. พื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้ต่อสัญญาพื้นที่ขายสินค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรีให้กับบริษัทคิงเพาเวอร์ตามคำร้องขอของคิงเพาเวอร์ในปี 2547 (ดูรายละเอียด) ขณะที่พื้นที่เชิงพาณิชย์ได้เปิดประมูลและบริษัทคิงเพาเวอร์ก็ประมูลได้ โดยในสัญญาการประมูลไม่ได้ระบุว่ารวมพื้นที่จุดส่งมอบสินค้า แต่มีการตีความว่า “จุดส่งมอบสินค้า” ถือเป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ดังนั้นจึงอยู่ในพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งอยู่ในการครอบครองของบริษัทคิงเพาเวอร์

2. พื้นที่ในสนามบินดอนเมือง ได้กำหนดในพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร หรือดิวตี้ฟรี ซึ่งการท่าอากาศยานเขียนไว้ในเงื่อนไขการประมูลตั้งแต่แรก และพื้นที่ดังกล่าวบริษัทคิงเพาเวอร์ประมูลได้ ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินดอนเมือง ทางกลุ่มเดอะมอลล์เป็นผู้ประมูลได้

3. พื้นที่ในสนามบินนานาชาติภูเก็ต พื้นที่ดิวตี้ฟรีทางบริษัทคิงเพาเวอร์ได้โดยการต่อสัญญา ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้มีการประมูลไปแล้วแต่ยังไม่ประกาศ ส่วนพื้นที่จุดส่งมอบสินค้าทางบริษัทคิงเพาเวอร์ชนะการประมูล แต่มีเงื่อนไขว่าต้องให้บริการกับร้านค้าปลอดอากรในเมืองทุกแห่งในภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง

จุดส่งมอบสินค้า

จุดส่งมอบสินค้า3

จุดส่งมอบสินค้า4

จุดส่งมอบสินค้า5

โดยรูปแบบของจุดส่งมอบสินค้าควรจะเป็นรูปแบบเหมือนสนามบินนานาชาติทั่วไป(รูปที่ 1)ในต่างประเทศที่เปิดให้ทุกร้านค้าปลอดอากรในเมืองสามารถมาใช้ได้ทุกราย หรือจะเป็นรูปแบบที่ปรับใหม่ล่าสุด กรณีสนามบินนานาชาติภูเก็ต ที่เปิดให้มีร้านค้าปลอดอากรอื่น รวมทั้งในจังหวัดใกล้เคียง เช่น กระบี่ สามารถใช้ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางกลุ่มสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ได้เสนอแนวทางในการเปิดจุดส่งมอบสินค้าของร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมทั้งผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. กรมศุลกากร มีอำนาจให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้า ไม่ว่าจะอยู่ในสนามบินนานาชาติหรือที่ใดๆ ก็ได้ในทันที ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ทวิ (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกรมศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543 ประกอบด้วยข้อ 6.3.3 (1) และ (2) ของ ประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549เรื่องระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากร ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2549

แต่ในปัจจุบัน กรมศุลกากรได้เห็นชอบให้มีจุดส่งมอบสินค้าเฉพาะในพื้นที่เชิงพาณิชย์และในพื้นที่ของร้านค้าปลอดอากรในสนามบินนานาชาติบางแห่งเท่านั้น โดยไม่เปิดโอกาสให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองรายอื่นๆ สามารถเข้าไปใช้จุดส่งมอบสินค้าที่กรมศุลกากรเห็นชอบไปแล้วได้เลย ทั้งที่พื้นที่ในสนามบินนานาชาติและ/หรือพื้นที่ในที่ทำการกรมศุลกากรในสนามบินนานาชาตินั้นๆ ยังสามารถเปิดเป็นจุดส่งมอบได้อีก เพียงแต่กรมศุลกากรต้องมีความชัดเจนในการกำกับดูแลสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อไปจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้ถูกต้องตามกฎหมาย

2. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ต้องเอื้ออำนวยพื้นที่เพื่อให้เกิดทางปฏิบัติตามข้อ 1. อีกทั้ง ทอท. ถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่จะทำการใดต้องคำนึงถึงกฎหมายข้างเคียงที่เกี่ยวข้อง นโยบายของรัฐและผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองผู้ใช้บริการส่งสินค้าผ่านจุดส่งมอบสินค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สนามบินนานาชาติของ ทอท. ทุกแห่ง ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับ ทอท. ในกรณีดังกล่าว อันจะเป็นผลทำให้ ทอท. มีรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยใช้พื้นที่อย่างน้อย 300 ตารางเมตร และ/หรือขึ้นอยู่กับขนาดของท่าอากาศยานนานาชาตินั้นๆ ซึ่ง ทอท. ต้องคำนึงถึงความโปร่งใสและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยในเวลาเดียวกัน

ทอท. สามารถเจรจาขอคืนพื้นที่จากผู้รับอนุญาตบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามสัญญาโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2548 ตามข้อ 25 ข้อสงวนสิทธิในท้ายสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยระบุว่า “ในการดำเนินการภายใต้เงื่อนไขสัญญานี้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติหรือการตีความเงื่อนไขสัญญา ให้ ทอท. และผู้รับอนุญาตร่วมหารือกันเพื่อหาข้อยุติ ทั้งนี้ ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน ให้ความเห็นหรือทางเลือกของ ทอท. ถือเป็นที่สุด”

นโยบายดิวตี้ฟรี

นอกจากนี้ยังได้ระบุผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากกรณีกรมศุลกากรกำหนดจุดส่งมอบเพิ่มขึ้น เพื่อให้ร้านค้าปลอดอากรในเมืองสามารถปฏิบัติได้จริง

1. เป็นการสร้างอุตสาหกรรมค้าปลีกประเภทร้านค้าปลอดอากรในเมืองหรือในท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำธุรกิจค้าปลีก อันจะทำให้ประเทศสามารถขยายการเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ได้อีกมากมาย ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

2. ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการและเพิ่มความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่นักลงทุนมากขึ้น รวมทั้งลดความได้เปรียบในด้านราคาสินค้าของผู้ประกอบการในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์และฮ่องกง และปัจจุบันสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กำลังจะเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองขนาด 37,000 ตารางเมตร โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางการค้าใหญ่ที่สุดในอาเซียน อีกทั้งการท่องเที่ยวของประเทศจีนประกาศภารกิจหลักของปี 2559 คือการเพิ่มจำนวนของร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้มากขึ้น

3. ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศให้มีความชัดเจนในด้านการแข่งขันเสรีทางการค้าในธุรกิจร้านค้าปลอดอากร

4. ประเทศไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ โรงแรม ที่พัก สปา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของที่ระลึก การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ เป็นต้น

5. เปิดทางเลือกและกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น

6. เปิดประตูการขายให้กับผู้ประกอบการรายย่อย (SME) มีโอกาสในการขายสินค้าท้องถิ่นและสินค้าแบรนด์ไทยให้แก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น

7. เกิดการกระจายรายได้ โดยการจ้างแรงงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้น

8. สร้างรายได้ในเชิงภาษีอากรให้แก่ประเทศไทย (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/ภาษีเงินได้นิติบุคคล)