ThaiPublica > เกาะกระแส > “กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 15) : นี่คือประสิทธิภาพในการทำงานของผู้กำกับดูแล…หรือไม่?

“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” แจงข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธ (ตอนที่ 15) : นี่คือประสิทธิภาพในการทำงานของผู้กำกับดูแล…หรือไม่?

5 มิถุนายน 2019


ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุว่าได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ

  • ต่อจากตอนที่14
  • เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก ตอนที่ 15 ดังนี้ (*การสะกดเป็นไปตามต้นทาง)

    ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการธนาคารซีไอเอ็มบีไทยได้อนุมัติให้ผมลาพักงานต่อไป ซึ่งเหตุผลหลักๆ คือธนาคารแห่งประเทศไทยเองยังไม่ตัดสินเรื่องคุณสมบัติผม โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งให้ผมทราบ และผมเข้าใจว่าได้แจ้งให้ทางกรรมการธนาคารซีไอเอ็มบีไทยได้ทราบเช่นกันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องข้อร้องเรียนของผมเกี่ยวกับกระบวนการที่ธนาคารกรุงไทย และผมเข้าใจว่าการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทยอาจรวมถึงการพิจารณาเนื้อหาและรายละเอียดข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานต่างๆที่ธนาคารกรุงไทยมีการอ้างถึงด้วย

    ผมเห็นว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งผมว่ายังไม่ตัดสินคุณสมบัติผมนั้น สามารถแปลได้ว่าผมยังมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารซีไอเอ็มบีไทยต่อไปได้ อย่างไรก็ดีเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการลาพักงานตั้งแต่ต้น เพราะไม่อยากให้เรื่องดังกล่าวกระทบกับธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ผมและคณะกรรมการธนาคารซีไอเอ็มบีไทยจึงตัดสินใจว่าการลาพักต่อ น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้

    ผมก็อยากที่จะบอกว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เวลานานมากในการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติผมนั้น ได้ส่งผลกระทบกับตัวผมเองและธนาคารซีไอเอ็มบีไทยอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะดำเนินการตัดสินคุณสมบัติผมได้เมื่อไหร่ ในฐานะผู้เสียหาย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจึงได้ขอความเป็นธรรมไปยังคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยสองวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ครับ

    1) ขอความเป็นธรรมเนื่องจากการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย

    2) รายงานการดำเนินการที่ล่าช้าของผู้บริหารและของธนาคารแห่งประเทศไทย จนเป็นเหตุทำให้ผมได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

    สิ่งที่ผมสงสัยมานาน และเคยเขียนถึงมาแล้วคือ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยถึงใช้เวลานานขนาดนี้ในการพิจารณาข้อร้องขอความเป็นธรรมและข้อร้องเรียนของผม ทั้งที่ผมได้ส่งข้อมูลรวมถึงเอกสารต่างๆให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งในขณะนั้นผมเห็นถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายในกระบวนการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยที่ไม่ได้ทำการแจ้งรายละเอียดของข้อกล่าวหาให้ผมทราบเพื่อให้ผมได้มีโอกาสชี้แจงอย่างชัดเจน ซึ่งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 16 เดือนแล้ว และหากนับตั้งแต่ผมได้ส่งหนังสือให้ธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งล่าสุดในเดือนมกราคม 2562 นั้นก็เป็นเวลาเกือบ 5 เดือนแล้ว แต่ทุกอย่างก็ยังเงียบ

    นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ได้ยอมรับแล้ว จากจดหมายที่ส่งมาให้ผมเดือนเมษายนที่ผ่านมา ว่าในกระบวนการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยนั้น ผมไม่ได้รับข้อกล่าวหาอย่างชัดเจน และไม่เคยได้รับการเข้าถึงเอกสารหลักฐานต่างๆเพื่อมีโอกาสชี้แจงอย่างชัดเจน และได้สั่งให้ทางธนาคารกรุงไทยได้ให้รายละเอียดข้อกล่าวหารวมถึงการเข้าถึงเอกสารพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งธนาคารกรุงไทยเองก็ยังไม่ได้ปฏิบัติตามจนถึงวันนี้ หากเป็นอย่างนี้แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังใช้ผลจากการตรวจสอบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตัดสินผมอีกหรือ การปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยถูกต้องตามหลักกฎหมายไหมครับ?

    และหากมองลึกๆลงไป ผมขอตั้งข้อสังเกต 3 ข้อหลักๆนะครับ

    1) กระบวนการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยนั้นใช้เวลารวมเกือบ 18 เดือน เจออะไรบ้างครับ ตามที่ผมเคยนำเสนอไปในตอนที่ 12.1-12.10 นั้น จะเห็นได้ว่า ทุกข้อสามารถพิสูจน์จากเอกสารได้ แต่ธนาคารกรุงไทยกลับไม่ให้เอกสารดังกล่าวกับผม และหลายๆเรื่องนั้น หากดูข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏในสื่อสาธารณะนั้น จะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาขัดกับข้อเท็จจริง และที่สำคัญขัดกับพฤติกรรมของธนาคารกรุงไทยเองในการขายหุ้นกู้ ซึ่งทั้งสองชุดเกิดขึ้นหลังจากสินเชื่อทั้งหมดที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องที่ธนาคารกรุงไทย และข้อมูลที่ใช้หลักๆ ก็เป็นข้อมูลชุดเดียวกัน แม้แต่ทีมผู้ตรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยเองได้เคยทำการตรวจธุรกรรมกับลูกหนี้รายนี้มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็ไม่เคยเจอธุรกรรมใดๆหรือการอนุมัติใดๆที่ผิดปรกติในการตรวจสอบประจำปี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานทั้งสิ้น ไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ แต่ก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจครับ ที่หลังจากลูกหนี้รายนี้ผิดนัดชำระหนี้ กลับมีการตรวจสอบพบธุรกรรมและเงื่อนไขสินเชื่อผิดปรกติโดยการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดสุดพิเศษของธนาคารกรุงไทยเอง ทั้งๆที่ทีมผู้ตรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยให้ความเห็นหรือแม้แต่ตั้งข้อสังเกตว่าธุรกรรมหรือเงื่อนไขดังกล่าวผิดปรกติแต่อย่างใดก่อนหน้านั้น

    หากมีเวลาได้พิจารณาข้อกล่าวหาและหลักฐานจากการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยที่ใช้เวลานานมาก และไม่เปิดโอกาสให้ผมรับรู้ข้อกล่าวหาหรือเข้าถึงหลักฐานเพื่อชี้แจงแบบนี้ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าหลักฐานที่ธนาคารกรุงไทยกล่าวอ้างนั้นอาจมีพิรุธ หรือไม่ อย่างไร ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ผมว่าถ้าทีมผู้ตรวจธนาคารแห่งประเทศไทยลงรายละเอียดสักนิดก็จะพบความจริงได้โดยง่าย เรื่องดังกล่าวไม่น่าต้องใช้เวลานานขนาดนี้นะครับ

    2) กระบวนการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทยนั้น มีหลายเรื่องที่ผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง และได้ตั้งคำถามไว้ ว่าเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ เป็นไปตามหลักยุติธรรมสากลหรือไม่ และที่สำคัญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เช่นการตั้งคณะกรรมการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ การแก้ระเบียบตามหลัง และผมเห็นว่าอาจมีการแต่งตั้งผู้มีส่วนได้เสียในคณะกรรมการวินัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการปฏิบัติตามระเบียบ ผมไม่เข้าใจว่าตอบยากยังไง หากระเบียบเขียนว่า 1 แต่ทำ 2 ก็แปลว่าทำไม่ตรงระเบียบใช่ไหมครับ และหากคำถามต่างๆเหล่านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ทางกรุงไทยชี้แจง และธนาคารกรุงไทยต้องใช้เวลาในการตอบ และตอบมาแบบ Yes but หรือ No but คงบ่งบอกได้ชัดเจนว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ จริงหรือไม่ครับ…ผมคิดว่าเป็นวิธีคิดทั่วๆไปที่ใครๆก็คิดได้นะครับ

    3) ผมเห็นว่าการตัดสินว่าใครทำอะไรผิดนั้นจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน หากเป็นเพียงการกล่าวหาโดยอ้างถึงเพียงดุลพินิจของบุคคลบางคน ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และมีผลประโยชน์ขัดแย้งกับเรื่องที่เกิดขึ้น และอาจไม่มีประสบการณ์ในการทำงานสินเชื่ออีกต่างหากนั้น ผมเห็นว่าเป็นการกล่าวหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายครับ

    ผมฝากความหวังไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะพิจารณาเรื่องขอความเป็นธรรมของผมอย่างจริงจัง ไม่ตัดสินเรื่องของผมโดยใช้ความรู้สึกหรือความเห็นที่ปราศจากหลักฐานและข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่ฟังความข้างเดียวจากธนาคารกรุงไทย หรือจากบุคคลที่อาจมีส่วนได้เสียหรือที่อาจจะมีความขัดแย้งทางผลโยชน์ตามคำนิยามทางกฎหมาย โดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เป็นธรรมตามกฎหมาย เพราะการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวผิดกฎหมายครับ

    ผมในฐานะที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาโดยธนาคารกรุงไทย ถูกตัดสินว่าผิดคุณสมบัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยทางวาจา ทั้งที่ผมได้แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลาเกือบ 1 ปีก่อนหน้าว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการตรวจสอบ ว่ามีกระบวนการตรวจสอบที่อาจมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะยังไม่มีแม้แต่ข้อกล่าวหาที่ชัดเจนและโอกาสให้ผมชี้แจง แต่ผมกลับกลายเป็นคนที่ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์โดยยังไม่รู้เลยว่าข้อกล่าวหาหรือความผิดชัดๆที่ว่าคืออะไร ผมไม่อยากคิดว่าทั้งหมดเป็นเพียงเพราะธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาข้อสรุปจากธนาคารกรุงไทยเพียงด้านเดียว โดยไม่ได้พิจารณาข้อร้องเรียนขอความเป็นธรรมของผม โดยอาจมองว่าธนาคารกรุงไทยเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ น่าจะเชื่อถือกระบวนการตรวจสอบได้ แต่ผมคิดว่าความเชื่ออย่างนี้ไม่ได้เป็นกระบวนการตรวจสอบที่ถูกต้อง เป็นกลาง และเป็นธรรมกับผมหรือท่านอื่นๆ ที่เป็นผู้ถูกกล่าวหานะครับ

    ผมเห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศ การที่ผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยมาบอกว่าให้ลาออกด้วยวาจาไปก่อนนั้น ผู้บริหารท่านนั้นก็ยังได้บอกผมว่าให้พิสูจน์ตัวเองว่าไม่ผิด แล้วกลับมาทำงานต่อได้ นี่หรือคือหลักความเป็นธรรม มันเป็นไปตามหลักกฎหมายไทยหรือครับว่า ทุกคน presumed innocent until proven guilty หรือทุกคนบริสุทธิ์จนกระทั่งได้รับการพิสูจน์ว่าผิดจริง แต่ผมกลับถูกตัดสินประหารชีวิตทางวิชาชีพ โดยที่ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสที่จะรับทราบอย่างชัดเจนด้วยซ้ำว่าถูกกล่าวหาว่าทำอะไรผิด อย่างนี้หรือคือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย จริยธรรม และธรรมาภิบาลที่ดี

    ผมเชื่อเหลือเกินว่าเรื่องนี้หากถ้าเริ่มต้นด้วยเจตนาเพื่อตรวจสอบหาสิ่งที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไม่มีอคติและเป็นกลาง ด้วยหลักฐาน ข้อมูล และหากพิจารณาข้อร้องเรียนผมเรื่องที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการตรวจสอบของธนาคารกรุงไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเห็นได้ไม่ยากว่าอะไรเป็นอะไร อย่างที่หลายๆท่านในแวดวงการการเงินและธุรกิจที่ส่วนใหญ่มองเรื่องนี้ออกตั้งแต่ต้นครับ (ผมก็อยากรบกวนเรียนทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้ลองสำรวจดูได้ครับ ว่าคนในแวดวงการธนาคารที่ได้รับรู้เรื่องนี้ ว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าอะไร)

    ผมคิดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ยืนข้างฝ่ายที่ชอบด้วยกฎหมายเถอะครับ จะได้ไม่ถูกคนกล่าวหาว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือของใคร หรือถูกคนกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือเพื่อกลบเกลื่อนความผิดของใคร ผมคิดว่าน่าจะสง่างามกว่านะครับ เรื่องนี้แท้จริงแล้วอ่านไม่ยากนะครับ ไม่ช้าก็เร็วความจริงจะปรากฏและทุกคนจะเข้าใจ ผมคิดว่าการทำงานแบบไม่เป็นกลางและไม่พิจารณาจากข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายและหลักฐานต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางกฎหมาย ไม่น่าเป็นประโยชน์กับใครนะครับ!!!

    #บทพิสูจน์ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน
    #จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี ทำจริงหรือแค่พูดให้ดูดี