ตามที่นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าทีบริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี และอดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้แถลงข่าวในนามส่วนตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 เกี่ยวกับเรื่องผลการสอบสวนและข้อกล่าวหาว่าบกพร่องและทุจริต เกี่ยวกับการให้สินเชื่อบริษัทเอเนอร์ยี่ เอิร์ธ (เอิร์ธ) โดยระบุว่าได้มีหนังสือกล่าวโทษจากธนาคารกรุงไทยแจ้งมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 นายกิตติพันธ์ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก ตอนที่14 ดังนี้ (*การสะกดเป็นไปตามต้นทาง)
หลังจากที่ผมได้ลงแชร์เรื่องประเด็นข้อกล่าวหา และข้อชี้แจงใน Facebook ตอนที่ 12.1 ถึง 12.10 และตอนที่ 13 ไป หลายท่านที่ได้อ่านก็เกิดความสงสัยและถามผมว่าธนาคารกรุงไทยและ/หรือธนาคารแห่งประเทศไทยทำแบบนั้นได้หรือไม่ อย่างไร แล้วผิดกฎหมายหรือเปล่า การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีอาญาของผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้หรือไม่ ผมบอกว่าผมตอบไม่ได้ แต่ผมคิดว่าประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทย และคณะกรรมการอิสระทุกท่าน รวมถึงคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะตอบได้ครับ
จนถึงวันนี้ ผมเขียนคำถามและข้อชี้แจงมาค่อนข้างเยอะ วันนี้จึงขอสรุปคำถามสำคัญๆอีกครั้งว่าผมและสังคมยังคอยคำตอบของคำถามเหล่านี้ครับ
1. ผมจำได้ว่าท่านประธานคณะกรรมการธนาคารกรุงไทยเคยให้สัมภาษณ์เรื่องระเบียบของธนาคารกรุงไทยว่าธนาคารกรุงไทยไม่มีสิทธิ์ดำเนินการทางวินัยกับผม แต่ปรากฏว่าธนาคารกรุงไทยก็ยังดำเนินการทางวินัยกับผม การกระทำดังกล่าวจะถือเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ครับ
2. ผมเห็นว่าผู้บริหารบางท่านซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจำหน่ายหุ้นกู้ รวมถึงการตัดสินใจเรียกวงเงินคืน ได้เป็นคณะกรรมการวินัยที่ตัดสินโทษผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จะถือว่าเป็นการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีส่วนได้เสียในเรื่องนั้นๆตามคำนิยามของกฎหมายหรือไม่ครับ ถือว่าทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไรครับ
3. ผมสงสัยครับว่า มีการแก้ระเบียบตามหลังในเรื่องการตั้งคณะกรรมการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบธนาคารจริงหรือไม่ เพียงใดครับ ผู้บริหารท่านใดเป็นคนสั่งการให้แก้ระเบียบตามหลัง แล้วธนาคารกรุงไทยเคยตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่ ถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายไหมครับ
4. ผมเห็นว่า การกล่าวหาผมทุกเรื่องไม่ได้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำความผิดเลย ว่าผมทำผิดเรื่องอะไร อย่างไร เมื่อใด และทำให้ธนาคารเสียหายอย่างไร การกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของธนาคาร และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใดครับ
5. ผมอยากทราบว่า การที่ธนาคารกรุงไทยไม่ให้เอกสารที่ใช้อ้างอิงว่าเป็นหลักฐานในการกล่าวหาแก่ผมเพื่อผมจะใช้เป็นประโยชน์ในการชี้แจงนั้น ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ รวมทั้งเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใดครับ
6. ผมสงสัยว่า การที่ธนาคารดำเนินการจัดจำหน่ายหุ้นกู้สองชุดจำนวนรวม 5,500 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ทั้งสองชุดนั้น เกิดขึ้นหลังจากการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารกรุงไทย หากเปรียบเทียบผลประกอบการตอนทำสินเชื่อกับหุ้นกู้ ท่านคิดว่าช่วงเวลาใดที่ผลประกอบการดีหรือแย่กว่ากัน ครับ
7. ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมมาตรฐานในการตัดสินการกระทำของคนที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อกับคนขายหุ้นกู้ถึงได้แตกต่างกันเหมือนฟ้ากับเหวครับ และใครเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้งสองชุดครับ มีการสอบสวนคนขายหุ้นกู้ไหมครับ และข้อกล่าวหาที่ตัดสินผมนั้นสอดคล้องกับการกระทำของธนาคารเองหรือไม่ อย่างไร
8. ช่วยตอบผมทีครับว่า การกล่าวหาทุกข้อ ใช้คำว่า “จงใจ” และ “เจตนา” ทั้งสิ้น แต่เมื่อผมถามกลับว่ามีพยานหลักฐานอะไรบ้าง บอกผมเถอะ ผมจะได้ชี้แจงได้ถูกต้อง กลับบอกผมว่าให้รายละเอียดไม่ได้ แบบนี้ถือว่าชอบด้วยกฎหมายไหมครับ
9. ผมอยากรู้ครับว่า ทำไมการกล่าวหามาสิ้นสุดที่ระดับของผมซึ่งไม่มีอำนาจในการตัดสินใจอนุมัติ ทั้งนี้ การตัดสินใจอนุมัติเป็นของคณะกรรมการบริหาร และ/หรือ คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเอกสารการนำเสนอสินเชื่อได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองตามระเบียบปฏิบัติงานของธนาคารทุกประการ และได้ผ่านทีมงานกลั่นกรองสินเชื่อก่อนถึงคณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ ผมจึงสงสัยว่าธนาคารกรุงไทยได้ทำการตรวจสอบคณะกรรมการบริหารไหมครับ ถ้ามีการตรวจสอบ มีการตัดสินเหมือนทำกับผมไหมครับว่าจงใจเจตนาทำให้ธนาคารเสียหาย
10. ผมสงสัยครับว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้ธนาคารกรุงไทยให้รายละเอียดของข้อกล่าวหาอย่างเพียงพอ รวมถึงการเข้าถึงเอกสารที่เป็นอ้างว่าเป็นหลักฐานต่างๆกับผมและผู้ถูกกล่าวหา แต่จนถึงปัจจุบันธนาคารกรุงไทยก็ยังปฏิเสธที่จะดำเนินการดังกล่าว ช่วยตอบผมหน่อยครับว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไรเมื่อธนาคารกรุงไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย
ผมไม่แน่ใจว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงอะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่ผมร้องเรียนหรือไม่ ผมคิดว่าโดยปรกติแล้วธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารกรุงไทย ถ้าเห็นว่าอะไรไม่ถูกต้องตามกฏหมาย หรือมีอะไรไม่เป็นไปตามระเบียบของธนาคาร คงต้องดำเนินการมีคำสั่งอย่างชัดเจน ถูกต้อง เที่ยงธรรมกับทุกฝ่าย และคงต้องมีการบันทึกมติการประชุมอย่างชัดเจนไว้ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ผมคิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะมีโอกาสได้เห็นสำนวนการสอบสวนของผมและพยานหลักฐานแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยยืนยันกับผมหน่อยเถอะครับว่า ธนาคารกรุงไทยทำถูกต้องตามกฏหมายแล้วทุกเรื่อง ผมจะได้ดำเนินการตามสิทธิของผมต่อไป แต่ถ้าเห็นว่ามีอะไรที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือกฏระเบียบ ก็ยังไม่สายที่จะทำเสียให้ถูกต้องนะครับ อย่าลืมนะครับ ยืนอยู่ข้างกฎหมายและความถูกต้องย่อมปลอดภัยกว่าครับ!!!
นอกจากนี้ ผมขอเรียนถามผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยว่า ในฐานะผู้กำกับดูแลธนาคารกรุงไทยและธนาคารทั่วประเทศ ถ้าท่านพบการกระทำความผิดของธนาคารภายใต้การกำกับดูแลแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องทำอะไรหรือไม่ครับ และถ้าไม่ทำผลจะเป็นอย่างไรครับ?
#บทพิสูจน์ผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน
#จริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดี ทำจริงหรือเพียงพูดให้ดูดี