ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “‘พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์’ รัฐบุรุษถึงอสัญกรรม และ “เมียนมาออกหมายจับ ‘พระวีรธุ’ ฐานปลุกระดมและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “‘พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์’ รัฐบุรุษถึงอสัญกรรม และ “เมียนมาออกหมายจับ ‘พระวีรธุ’ ฐานปลุกระดมและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง”

1 มิถุนายน 2019


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 25-31 พ.ค. 2562

  • “พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์” รัฐบุรุษถึงอสัญกรรม – ผลงานจากวิกฤติ ศก. สู่ยุค “โชติช่วง ชัชวาล”
  • ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว พ.ร.บ.ไซเบอร์
  • AOT ประกาศผล “คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี” ชนะ ประมูลร้านค้าปลอดอากร
  • อย.เตือน ไม่มีนโยบายทำหนังสือครบรอบ 45 ปี อย่าเชื่อคนขอบริจาคเงิน
  • เมียนมาออกหมายจับ “พระวีรธุ” ฐานปลุกระดมและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง
  • “พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์” รัฐบุรุษถึงอสัญกรรม – ผลงานจากวิกฤติ ศก. สู่ยุค “โชติช่วง ชัชวาล”

    เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 เวลา 9.00 น. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยสาเหตุหัวใจล้มเหลวที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีประกาศให้สถานที่ราชการ หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษาทุกแห่ง ลดธงเครึ่งเสาตั้งแต่ 27 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2562 เป็นเวลา 7 วัน และให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ทุกข์ตั้งแต่ 27 พฤษภาคม – 17 มิถุนายน 2562 (ยกเว้นวันที่ 3 มิถุนายน 2562) รวม 21 วัน

    พล.อ. เปรม เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา อายุ 99 ปี ได้รับพระราชทานนามสกุล “ติณสูลานนท์” จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) และนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)

    พล.อ. เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

    หลังสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2484 พล.อ. เปรม ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา และเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2485-2488 ที่เชียงตุง หลังสงคราม พล.อ. เปรม ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ฟอร์ตน็อกซ์ รัฐเคนทักกี แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า พล.อ. เปรม ได้รับพระบรมราชโองการเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี

    ปี 2516 ย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ปี 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ปี 2520 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกในปี 2521

    จากนั้น พล.อ. เปรม เข้าร่วมรัฐประหาร 2 ครั้ง ครั้งแรก นำโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และ ครั้งที่ 2 ยึดอำนาจจากรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520

    พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

    พล.อ. เปรม ได้ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรกในสมัยรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ โดยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ช่วงปลายสมัยของรัฐบาล พล.อ. เกรียงศักดิ์ พล.อ. เปรม ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เป็นตำแหน่งสุดท้าย ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัยในช่วงปี 2523-2531

    ผลงานด้านการเมือง ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ. เปรม มีผลงานทางด้านการเมืองที่สำคัญๆ เช่น การผลักดันนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” เพื่อยุติการทำสงครามสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกับฝ่ายรัฐบาล โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยหลบหนีเข้าป่าได้กลับมาพัฒนาประเทศร่วมกับรัฐบาล

    ผลงานทางด้านเศรษฐกิจ ช่วงปี 2524 เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาหลายด้าน เช่น ปัญหาการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทของไทยผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งตัวขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยเฉพาะพืชผลเกษตรประสบปัญหา

    รัฐบาล พล.อ. เปรม ได้ตัดสินลดค่าเงินบาทถึง 3 ครั้ง และได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายบริหารอัตราแลกเปลี่ยนจาก “ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่” ระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็น “ระบบตะกร้าเงิน” ทำให้การบริหารค่าเงินบาทมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการส่งออกพลิกฟื้นอย่างรวดเร็ว

    นอกจากนี้ รัฐบาล พล.อ. เปรม ยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง เป็นช่วงจังหวะเวลาที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทยกันเป็นจำนวนมาก จนทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ “ยุคโชติช่วงชัชวาล”

    หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ เปรม เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531, ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 และมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2541

    ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่อง พล.อ. เปรม ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ จากนั้นได้รับโปรดเกล้าฯ จากในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ช่วงวันที่ 13 ตุลาคม – 1 ธันวาคม 2559 ก่อนดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมา

    ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว พ.ร.บ.ไซเบอร์

    วันที่ 27 พ.ค. 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 จำนวน 83 มาตรา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากปัจจุบันการให้บริการ หรือการประยุกต์ใช้ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

    ดังนั้นเพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที สมควรกำหนดลักษณะของภารกิจ หรือบริการที่มีความสำคัญเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน ที่จะต้องมีการป้องกัน รับมือ

    และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่างๆ รวมทั้งให้มีหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบในการดำเนินการประสานการปฏิบัติงาน ร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง

    ตลอดจนกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการและมาตรการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างมีเอกภาพ และต่อเนื่อง อันจะทำให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

    พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 และมาตรา 37 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผล และความจำเป็นในการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้

    อนึ่ง ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และวิตกกังวลกันมากว่าจะคุกคามสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชน ไม่ว่าจะในเรื่องการนิยามความหมายของคำว่าภัยคุกคามไซเบอร์ไว้กว้างมาก, การให้เจ้าหน้าที่รัฐขอข้อมูลจากใครก็ได้เพื่อประโยชน์ในการทำงาน, การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ยึด-ค้น-เจาะ-ทำสำเนาคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์, ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสอดส่องข้อมูลแบบเรียลไทม์เมื่อมีภัยคุกตามไซเบอร์ระดับร้ายแรง, ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยไม่ต้องมีหมายศาลได้หากมีความจำเป็นเร่งด่วน, ไม่สามารถอุทธรณ์ยับยั้งการใช้อำนาจ ยึด-ค้น-เจาะ-ขอ ข้อมูลต่างๆ, การให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อมีภัยไซเบอร์ระดับวิกฤติ และการกำหนดว่าหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) (http://bit.ly/2EFS3vv)

    **อ่านเนื้อหาโดยละเอียดได้ที่เว็บไซต์โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)**

    เว็บไซต์ WORKPOINTS NEWS รายงานว่า นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะช่วยสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการรับมือความเสี่ยงและภัยคุกคามทางไซเบอร์ยุคใหม่เช่น ไวรัส มัลแวร์ การโจมตีระบบจากอาชญากรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนหรือความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

    และยืนยันว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมิได้ส่งผลกระทบและมิได้ไปคุกคามสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด เพราะเน้นป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อระบบคอมพิวเตอร์โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ซึ่งจะช่วยคุ้มครองข้อมูลของประชาชนเป็นสำคัญ และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนเป็นการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที

    AOT ประกาศผล “คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี” ชนะ ประมูลร้านค้าปลอดอากร

    นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

    เว็บไซต์ไทยพับลิก้ารายงานว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ “ทอท.” ประกาศผลคะแนนสูงสุด ผู้ยื่นข้อเสนองานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) คือ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด

    นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. (สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด) กล่าวว่า ตามที่ ทอท.ได้จำหน่ายเอกสารการยื่นข้อเสนอการดำเนินงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ทสภ. ระหว่างวันที่ 1 – 18 เมษายน 2562 โดยมีผู้สนใจซื้อเอกสาร รวมทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่
    1. บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
    2. บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด
    3. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)
    4. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
    5. บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

    ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ทอท.กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน โดยมีผู้มายื่นข้อเสนอ 3 ราย ได้แก่

    1. บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด
    2. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนาม “กิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี” (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท โฮเต็ล ล็อตเต้ จำกัด และบริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด
    3. บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการดำเนินงานในนามกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย บริษัทโรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด และ WDFG UK LIMITED

    และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 ทอท.ได้กำหนดให้มีการนำเสนอผลงาน (Presentation) ข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ยื่นข้อเสนอการดำเนินงาน โดยผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย ได้นำเสนอผลงานเป็นที่เรียบร้อย

    ล่าสุดวันนี้ (31 พฤษภาคม 2562) ทอท.ได้มีการเปิดซองเสนอค่าตอบแทนและประกาศผลคะแนนสูงสุด ซึ่งผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด คือ บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด โดยผู้ชนะได้เสนอค่าตอบแทนสูงกว่าที่ ทอท.เคยได้รับอยู่เดิมและสูงกว่าที่ ทอท.คาดหมาย

    ทั้งนี้ การดำเนินการขั้นตอนต่อไป คือ ทอท.จะนำผลการคัดเลือกเสนอให้คณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. อนุมัติในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 และเสนอคณะกรรมการ ทอท. ลงมติเห็นชอบในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

    อ่านซีรีย์ เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย เพิ่มเติมที่นี่

    อย.เตือน ไม่มีนโยบายทำหนังสือครบรอบ 45 ปี อย่าเชื่อคนขอบริจาคเงิน

    เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กรณีพบมีการขอรับเงินสนับสนุนการจัดทำ รายงานฉบับพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี ของ อย. โดยมีการจัดส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อขอให้ซื้อหน้าโฆษณาในรายงานฉบับพิเศษดังกล่าว ซึ่งในหนังสือได้ระบุจำนวนเงินอัตราค่าโฆษณาไว้อย่างชัดเจน อย.ขอยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจาก อย.ไม่มีการมอบให้หน่วยงานใดจัดทำหนังสือครบรอบ 45 ปี

    ทั้งนี้ จะพบว่าการขอความอนุเคราะห์สนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นในหนังสือพิมพ์ประเภทธุรกิจที่อ้างว่าจัดทำเฉพาะกิจในวาระพิเศษของหน่วยงานต่าง ๆ ในกรณีดังกล่าวนี้ อย.ขอย้ำ! และแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่า อย.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้น และที่ผ่านมาไม่เคยมีการอนุญาตให้หน่วยงานใดจัดทำหนังสือครบรอบปี หากผู้ประกอบการได้รับการติดต่อขอรับการสนับสนุนใดๆ ในทำนองดังกล่าว ขอให้ติดต่อสอบถามเข้ามายัง อย.ก่อน ทางสายด่วน อย. 1556 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกหลอกสูญเงินโดยเปล่าประโยชน์

    เมียนมาออกหมายจับ ‘พระวีรธุ’ ฐานปลุกระดมและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง

    เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่าhttp://bit.ly/2Ibsfrv ศาลแขวงตะวันตกในเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ได้ออกหมายจับ “พระวีรธุ” พระสงฆ์และผู้นำทางจิตวิญญาณของขบวนการต่อต้านมุสลิมในเมียนมา และได้อนุมัติคำร้องภายใต้มาตรา 124(A) เกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำรุนแรงโจมตีกลุ่มบุคคลหนึ่งอย่างจำเพาะเจาะจง เพื่อปลุกระดมและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุก 3 ปี แต่ไม่มีการเปิดเผยเหตุผลของการออกหมายจับนี้ ขณะที่พระวีระธุถูกระบุว่า จำวัดอยู่ที่วัดในเมืองมัณฑะเลย์ แต่ไม่มีใครรู้ว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหน

    พระวีระธุเคยขึ้นปกนิตยสารไทม์ เมื่อปี 2556 ในฐานะ “โฉมหน้าชาวพุทธผู้สร้างความหวาดกลัว” โดยเรียกร้องให้บอยคอตธุรกิจชาวมุสลิมและจำกัดการแต่งงานระหว่างชาวพุทธกับมุสลิม จนนำไปสู่การวิวาทและเข่นฆ่ากัน มหาเถรสมาคมมียนมาร์เคยห้ามพระวีระธุออกเทศนา แต่เมื่อคำสั่งห้ามสิ้นสุดเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว พระวีระธุก็เดินหน้าเทศนาตามงานชุมนุมต่างๆ ให้สนับสนุนกองทัพต่อ ส่วนเฟซบุ๊กได้แบนพระวีระธุเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว หลังโพสต์ข้อความโจมตีชาวโรฮิงญา