ThaiPublica > คอลัมน์ > มองผลงาน 5 เดือนแรกของการเป็นประธานอาเซียน ปี 2562 ของไทย

มองผลงาน 5 เดือนแรกของการเป็นประธานอาเซียน ปี 2562 ของไทย

24 มิถุนายน 2019


กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นมา เป็นระยะเวลากว่า 5 เดือนแล้วที่ไทยได้ทำหน้าที่ประธานอาเซียน ปี 2562 อย่างเป็นทางการ ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” หรือ “Advancing Partnership for Sustainability” โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนในทุกมิติ ในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้จัดการประชุมในกรอบอาเซียนและทำหน้าที่ประธานการประชุมในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐมนตรี ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับคณะทำงานทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการไม่น้อยกว่า 100 ครั้ง ซึ่งภารกิจเหล่านี้ถือเป็นโอกาสให้ไทยแสดงบทบาทในการกำหนดทิศทางและผลการประชุมนั้นๆ ให้ตรงกับเป้าประสงค์ที่ไทยเล็งเห็นความสำคัญในแต่ละเสาของสามเสาหลักของอาเซียน

เริ่มจากเสาความมั่นคง ไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ โดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat) เมื่อเดือนมกราคม 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เห็นชอบให้เสริมสร้างบทบาทของอาเซียน ซึ่งส่งผลให้มีการส่งทีมของอาเซียนลงพื้นที่รัฐยะไข่เมื่อเดือนมีนาคมเพื่อนำข้อมูลที่ได้รับจากการลงพื้นที่มาพิจารณาหาแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนกระบวนการส่งกลับผู้พลัดถิ่นต่อไป นับเป็นครั้งแรกและเป็นจุดเริ่มต้นของบทบาทอาเซียนในเรื่องนี้

นอกจากนี้ ไทยยังได้เสนอแนวคิด “ความมั่นคงที่ยั่งยืน” ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกลาโหมอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพของความร่วมมือด้านความมั่นคงต่างๆ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การวางแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนอาเซียนให้มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงของอาเซียนที่ปลอดภัยและมั่นคง ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถและเสริมสร้างความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในการป้องกันการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าผิดกฎหมาย ซึ่งไทยได้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ เรื่อง การป้องกันการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมายเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement) ที่จะนำมาใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนฉบับปัจจุบัน (ASEAN Framework Agreement on Services) ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2538 อันจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนโดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร รวมถึงการลงนามพิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขปรับปรุงความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียนซึ่งนอกจากจะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้นแล้ว นักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนก็จะได้รับประโยชน์ด้วย

การเสริมสร้างความเชื่อมโยงและความยั่งยืนทางการเงินเป็นอีกหนึ่งมิติภายใต้เสาเศรษฐกิจที่มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยอาเซียนได้เห็นชอบให้ผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ ASEAN Single Window ได้ครบทั้ง 10 ประเทศภายในปีนี้ การใช้เงินสกุลท้องถิ่นและการเชื่อมโยงธุรกรรมการชำระเงินในอาเซียน รวมทั้งการรับรองแนวทางการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืน (Roadmap for ASEAN Sustainable Capital Markets) ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนให้สามารถค้าขาย ลงทุน ระดมทุน และทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนประหยัดทั้งต้นทุนและเวลา

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนของประชาคมอาเซียน หลายประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานให้บรรลุผล การสร้าง Digital ASEAN ที่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและรับมือกับความท้าทายที่มากับยุคดิจิทัลได้จึงเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญ ล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัลอย่างไม่เป็นทางการที่จังหวัดภูเก็ตได้ร่วมกันจัดทำ ASEAN Digital Masterplan 2025 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับอาเซียนในการพัฒนา ปรับตัว และรับมือกับความท้าทายในยุคดิจิทัล เช่น การปฏิวัติอุสาหกรรมครั้งที่ 4 ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับปรุงกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

อีกปัจจัยสำคัญของการสร้าง Digital ASEAN ให้สำเร็จคือ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้แก่ประชาชน โดยไทยได้จัดการประชุมนานาชาติ หัวข้อ “Cyber Security: Implications on Peace and Security in the ASEAN Region” เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ และผลกระทบของภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค ตลอดจนชีวิตประจำวัน

ในส่วนของเสาสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นเสาความร่วมมือที่เชื่อมปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชนนั้น ล่าสุด ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 21 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้หารือและเห็นชอบแผนงานหลักของประชาคม รวมทั้งเอกสารผลลัพธ์ที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในปี 2562 รับรองจำนวน 14 ฉบับ ครอบคลุมทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม แรงงาน สิทธิสตรีและเด็ก สวัสดิการสังคมและการพัฒนา ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งของการขับเคลื่อนประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญภายใต้เสาสังคมและวัฒนธรรมคือ การที่อาเซียนได้รับรองข้อเสนอของไทยในการกำหนดให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Year) โดยนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในกิจกรรม “การประกาศปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Year)” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ภายใต้แนวคิด “หลากหลาย สร้างสรรค์ยั่งยืน” (“Diversity, Creativity, Sustainability”) เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมอาเซียนในระดับระหว่างประเทศในฐานะเครื่องมือขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะมีกิจกรรมด้านวัฒนธรรมอันหลากหลายตลอดทั้งปี เช่น เทศกาลภาพยนตร์อาเซียน กิจกรรมวัฒนธรรมสัญจรอาเซียนสู่โลก และนิทรรศการปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน เป็นต้น

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งประเด็นภายใต้เสาสังคมและวัฒนธรรมที่ไทยให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการและแก้ไขปัญหาขยะทะเล และโดยที่ไทยและอีก 4 ประเทศในอาเซียนติดอันดับ 10 ประเทศแรกที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคอาเซียนที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ล่าสุดไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษเรื่องขยะทะเลเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีประเทศนอกภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย โดยที่ประชุมได้เห็นชอบเอกสารผลลัพธ์ 2 ฉบับซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันและการวางแนวปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล และจะนำเสนอเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าวให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนรับรองด้วย

ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลการดำเนินงานในช่วง 5 เดือนแรกของการเป็นประธานอาเซียนปี 2562