ThaiPublica > คอลัมน์ > ย้อนมองส่องดูสถานการณ์คอร์รัปชันในภูมิภาคอาเซียนปี 2015

ย้อนมองส่องดูสถานการณ์คอร์รัปชันในภูมิภาคอาเซียนปี 2015

15 กุมภาพันธ์ 2016


Hesse004

เมื่อปลายเดือนมกราคม 2559 องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) หรือ TI ได้เผยแพร่ Corruption Perception Index (CPI) ประจำปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นดัชนีที่นิยมใช้วัดสถานการณ์ความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งสะท้อนปัญหาการคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ

ผลการจัดอันดับไม่มีอะไรแตกต่างจากปีที่ผ่านมาเท่าใดนัก โดยปีนี้มีประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความโปร่งใส จำนวน 168 ประเทศ น้อยกว่าปี 2014 ที่มี 175 ประเทศ

กลุ่มประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในโลกยังคงอยู่แถบสแกนดิเนเวียเช่นเดิม เดนมาร์กยังเดินหน้าครองแชมป์ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 4 โดยได้ 91 คะแนนจาก 100 (น้อยกว่าปีก่อน 1 คะแนน) รองลงมาเป็นฟินแลนด์ ได้ 90 อันดับ 3 ตกเป็นของสวีเดน 89 คะแนน อันดับ 4 เป็นนิวซีแลนด์ 88 คะแนน และอันดับ 5 เป็นของเนเธอร์แลนด์ ที่ปีนี้คะแนน CPI ดัตช์ดีขึ้นมาทันตาเห็น จากเดิมเมื่อปีกลายได้ 83 แต่ปีกระโดดขึ้นมาเป็น 87 คะแนน

หันกลับไปดูกลุ่มท้ายตาราง พบว่า ค่าความโปร่งใสไม่ได้แตกต่างจากปีก่อนนัก เกาหลีเหนือและโซมาเลีย ยังครอง “บ๊วย” ได้เพียงแค่ 8 คะแนน ขณะที่ อัฟกานิสถาน ซูดาน และเซาท์ซูดาน ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่เผชิญปัญหาคอร์รัปชันในระดับที่น่าเป็นห่วง

ปี ค.ศ. 2015 นับเป็นปีที่มีข่าว “อื้อฉาว” เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันหลายเรื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนของเรา ดัชนี CPI ปีนี้ไม่มีอะไร “หวือหวา” แตกต่างไปจากเดิม แม้เราจะดีใจที่อันดับเรากระเตื้องขึ้น แต่อย่าลืมว่าคะแนน CPI ประเทศไทยยังคงเท่าเดิม คือ 38 คะแนน ขณะที่ประเทศที่ถูกจัดอันดับน้อยลงกว่าเดิม (ดูตาราง)

CPI 2015 in ASEAN (1)

ในอาเซียน ประเทศที่ครองแชมป์ความโปร่งใสตลอดกาลยังคงเป็น “สิงคโปร์” ที่ได้คะแนนความโปร่งใส 85 อยู่อันดับที่ 8 น้อยกว่าปี 2014 1 คะแนน

เหตุผลที่สิงคโปร์ยังรักษาแชมป์ในภูมิภาคนี้ได้ เนื่องจากไม่มีประเทศใดที่วางรากฐานการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันและบังคับใช้กฎหมายได้เข้มแข็งจริงจังเท่ากับสิงคโปร์อีกแล้ว

จุดที่น่าสนในของปีนี้คือ การพัฒนาความโปร่งใสของอินโดนีเซียซึ่งมีคะแนนดีขึ้นมาตามลำดับ เนื่องจากในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ค่า CPI ของอินโดนีเซียกระเตื้องขึ้นจาก 32 (ปี 2012 และ 2013) มาเป็น 34 (ปี 2014) และ 36 คะแนนในปีล่าสุด คะแนนที่ดีขึ้นแสดงให้เห็นความสำเร็จของอินโดนีเซียในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีทิศทาง และแก้แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะต้องยกเครดิตให้กับ Corruption Eradication Commission (KPK) หรือ ป.ป.ช. อินโดนีเซีย ที่เอาจริงเอาจังในการปราบทุจริตคอร์รัปชันและเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นหน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันที่ทำหน้าที่ดีที่สุดของภูมิภาคเอเชีย

อย่างไรก็ดี ในรอบปีที่ผ่านมา ประเทศที่น่าผิดหวังกับการจัดการปัญหาคอร์รัปชันกลับเป็น “มาเลเซีย” แม้ว่า ความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก (Najib Razak) แห่งพรรค UMNO จะได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 54 (ได้ 50 คะแนน) เป็นอันดับสองของอาเซียน แต่ด้วยเรื่องอื้อฉาวจากกรณีที่นายราซักเข้าไปพัวพันกับการโอนเงิน 700 ล้านดอลลาร์ จากกองทุนเพื่อการลงทุน 1 MDB (1 Malaysia Development Bhd) เข้าไปบัญชีส่วนตัวของเขาเอง ทำให้คะแนน CPI ของมาเลเซียปีนี้หล่นลงมา 2 คะแนน

นอกจากคะแนน CPI มาเลเซียจะลดลงแล้ว ฟิลิปปินส์เป็นอีกประเทศที่ “น่าผิดหวัง” เช่นกัน เพราะในปี ค.ศ. 2014 คะแนน CPI ของฟิลิปปินส์ก้าวขึ้นมาสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน (38 คะแนน เท่ากับไทยและได้อันดับที่ 85 ของโลก) แต่ CPI ปีล่าสุด คะแนนของพวกเขาร่วงลงมาอยู่ที่ 35 คะแนน

…น่าคิดเหมือนกันว่า เพราะเหตุใดฟิลิปปินส์จึงก้าวไม่พ้น “กับดัก” การขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้เสียที

บทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งของ Mong Palatino จากเว็บไซต์ The Diplomat เรื่อง Corruption Scandals Hound ASEAN Leaders in 2015 ชี้ให้เห็นว่า กรณีฟิลิปปินส์ แม้ภาพลักษณ์ของประธานาธิบดี “นอยนอย” เบนิกโน อากีโน (Benigno Aquino III) จะดูซื่อสัตย์ มือสะอาด แต่คนรอบข้างของเขากลับทำให้ภาพของเขา “มัวหมอง” ไปด้วย

โดยเฉพาะเมื่อปีที่แล้ว รองประธานาธิบดีเจโจมาร์ บิเนย์ (Jejomar Binay) ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกรับผลประโยชน์สินบนระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของเมืองมากาติ (Makati City) ศูนย์กลางทางการเงินของฟิลิปปินส์

บิเนย์ถูกคาดหมายว่าจะเป็น “ทายาท” ของนอยนอยเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไปในปี ค.ศ. 2016 ดังนั้น การเจอ “สกัดดาวรุ่ง” ตั้งแต่ต้น โดยขุดคุ้ยเรื่องเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ทับซัอนต่างๆ จึงเป็น “วิชามาร” ที่ถูกงัดมาใช้ก่อนเลือกตั้ง

สำหรับประเทศไทยของเรา ค่าคะแนน CPI ยังคงเท่าเดิม คือ 38 คะแนน แม้อันดับจะดูดีขึ้น แต่อย่าเพิ่งดีใจจนลืมไปว่าปีนี้มีจำนวนประเทศที่ถูกจัดอันดับน้อยลงกว่าเมื่อปีที่แล้ว

กล่าวโดยสรุป สถานการณ์ความโปร่งใสและทุจริตคอร์รัปชันของทั้งภูมิภาคอาเซียนมิได้แตกต่างจากปีที่ผ่านมา คะแนน CPI ส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก สิงคโปร์ยังครองแชมป์เช่นเดิม และคงอีกนานกว่าจะหาคู่ท้าชิงได้ในภูมิภาคนี้ อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างประเทศที่ปรับปรุงแก้ปัญหาคอร์รัปชันดีขึ้น ขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ดูจะถอยหลังเข้าคลอง