ThaiPublica > คอลัมน์ > ร่วมกัน Endgame ทุนนิยมความมั่นคงอาหารที่สร้างหายนะต่อโลก

ร่วมกัน Endgame ทุนนิยมความมั่นคงอาหารที่สร้างหายนะต่อโลก

19 พฤษภาคม 2019


กฤษฎา บุญชัย

FAO หรือองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ชูความสำคัญของความมั่นคงอาหาร (food security) เป็นนโยบายระดับโลกมาตั้งแต่ปี 2517 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวโลกเผชิญกับปัญหาขาดแคลนอาหาร เกิดวิกฤติอาหารราคาสูงซึ่งสัมพันธ์วิกฤติราคาน้ำมัน (ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเกษตรหลายชนิดเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปัญหาเรื่องการขนส่ง) จึงเกิดอดอยาก ยากจน ทุกขโภชนาการ นำมาสู่สุขภาพที่อ่อนแอ ความเจ็บป่วยจากการขาดสารอาหารของประชาชนที่ยากจนทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ ที่ระบบเศรษฐกิจถูกผนวกให้ถ่ายโอนทรัพยากรและความมั่งคั่งสู่ศูนย์กลางทุนนิยมโลก พร้อมกับถูกกำกับให้ต้องทำการผลิตเพื่อตอบสนองตลาดโลกมากกว่าผลิตเพื่อการบริโภคที่มั่นคงในประเทศตนเอง ประเทศเหล่านี้จึงประสบภาวะความเสี่ยงด้านอาหารอย่างรุนแรง

เมื่อนั้น ความมั่นคงด้านอาหารจึงกลายเป็นแนวคิด กรอบนโยบายสำคัญที่ FAO นำมาใช้ศึกษา ประเมิน เสนอแนะ ต่อบรรดาประเทศที่ถูกทำให้ยากจนเหล่านี้ให้สร้าง “ความมั่นคงอาหาร” ของตนเองขึ้นมา ด้วยองค์ประกอบคือ การเข้าถึงอาหาร มีอาหารอย่างพอเพียง ใช้ประโยชน์จากอาหาร และมีเสถียรภาพด้านอาหาร

แนวนโยบายดังกล่าวก็ถูกพัฒนาให้ชัดเจนเป็นระบบมากขึ้นจนบรรจุในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 2 ที่กำหนดว่า “มุ่งมั่นที่จะขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก ได้รับการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการตลอดทั้งปี เป้าหมายนี้ยังเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่และกำลังการผลิตของเกษตรกรรมขนาดเล็ก ที่ช่วยให้เข้าถึงแหล่งที่ดินทำกิน เทคโนโลยี และการตลาด อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร…”

ตลอดกว่า 40 ปีที่โลกมุ่งหวังจะสร้างความมั่นคงอาหารให้เป็นจริง โดยหวังว่าอีก 11 ปีข้างหน้า โลกจะบรรลุถึงขั้นไม่มีความอดอยาก หิวโหยอีกต่อไป แถมยังมีอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการ ด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรขนาดเล็ก ที่มีโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยการผลิต และเทคโนโลยีพร้อม

แต่บทเรียนความมั่นคงอาหารของโลกกลับย้อนแย้งไม่เป็นตรรกะแบบเส้นตรงแบบนั้น รุ่งอรุณของการแก้ปัญหาความมั่นคงอาหาร ประเทศพัฒนาดังเช่นสหรัฐอเมริกา บุกเบิกการปฏิวัติเขียวโดยการสร้างระบบเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งยกระดับผลิตอาหารขึ้นหลายเท่าตัวด้วยใช้พันธุ์พืชสัตว์ปรับปรุงใหม่ เทคโนโลยีปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เครื่องจักร โดยทั้งหมดเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เกิดระบบไร่พาณิชย์ ปศุสัตว์ ที่บริโภคทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า อย่างมหาศาลดังที่ไม่เคยเป็นมาก่อน กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารกลายเป็นธุรกิจที่สั่งสมความมั่งคั่งจนกลายเป็นธุรกิจข้ามชาติระดับโลกที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศ และนโยบายของประเทศต่างๆ

ฐานคิดสำคัญที่รองรับการปฏิบัติเขียวเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารของโลกมาจากแนวคิดของโทมัส โรเบิร์ต มัลทัส นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกชาวอังกฤษในยุคศตวรรษที่ 18 ที่เสนอแนวคิดว่า ประชากรจะเติบโตเกินกว่ากำลังการผลิตอาหาร ประชากรที่เพิ่มขึ้นจะถูกจำกัดด้วยปริมาณอาหาร ทำให้ไม่สามารถสร้างผลิตภาพที่ก้าวหน้าได้ ต้องมีขนาดประชากรที่เหมาะสม และขยายการผลิตอาหารสูงขึ้น

แต่ในโลกความเป็นจริง เราไม่สามารถใช้วิธีแบบทานอส (Thanos) จากหนัง Marvel ที่ใช้อำนาจแห่งอัญมณีกำเนิดจักรวาล 6 เม็ดที่บรรจุถุงมือ infinity gauntlet ดีดนิ้วให้ประชากรทั้งคนและสิ่งมีชีวิตในจักรวาลหายไปครึ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างประชากรกับการใช้ทรัพยากรได้ แต่การสร้าความมั่นคงอาหารของทุนนิยมโลกกลับส่งผลร้ายไม่ต่างจากทานอสเท่าใดนัก เพราะมีชีวิตมากมายกำลังถูกลบไป

FAO รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2533 พื้นที่ป่าโลกหดหายไป 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร (813 ล้านไร่) ที่รุนแรงที่สุดคือในประเทศเขตร้อนซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุด สาเหตุหลักเนื่องจากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจจนทำให้ป่าสมบูรณ์กลายเป็นป่าปลูก เช่น การปลูกถั่วเหลือง ปลูกพืชน้ำมัน พืชเศรษฐกิจอื่นๆ หรือเปลี่ยนป่าเป็นถนนเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ

ป่าที่หายไป หมายถึง ฐานทรัพยากรอาหารและปัจจัยดำรงชีพอันเป็นที่พึ่งพิงของคนทั่วโลกกว่า 2,400 ล้านคนหรือร้อยละ 32 ของประชากรโลก ประชากรเสี้ยวหนึ่งของโลกไม่สามารถเข้าถึงอาหารจากธรรมชาติได้แล้ว ทางที่จะมีอาหารบริโภคให้มั่นคงได้ก็ต้องเร่งการผลิตอาหาร หรือสร้างรายได้จากภาคอื่นๆ มาซื้ออาหารบริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกควบคุมกำกับโดยระบบเศรษฐกิจการค้าอาหารที่มีกลุ่มทุนอาหารผูกขาด นั่นจึงเป็นที่น่าแปลกใจว่า ทำไมคนในภูมิภาคแถบร้อนชื้นจึงอยู่ในความยากจน หนทางสร้างความมั่นคงอาหารจึงเหลือแต่เพิ่มผลิตภาพการผลิตเพื่อการค้า แต่พวกเขากลับไม่มีอำนาจต่อรองและล้มละลายทางเศรษฐกิจ สังคมในที่สุด

สถานการณ์ในประเทศไทยก็เป็นภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นอย่างดี พื้นที่ป่าของประเทศถูกสัมปทานไม้โดยรัฐและกลุ่มทุนจนลดฮวบฮาบ ตามมาด้วยการขยายตัวของพืชพาณิชย์ เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา และอื่นๆ จนป่าลดลงอย่างรวดเร็ว ชุมชนที่เคยมีฐานทรัพยากรกลายเป็นคนยากจนเพราะทรัพยากรถูกทำลายหรือถูกปิดกั้น การเร่งทำเกษตรแผนใหม่ในระบบปฏิวัติเขียวที่รัฐส่งเสริม แม้จะสร้างรายได้มากขึ้น แต่กลับมีความมั่นคงอาหารที่ตกต่ำลง

ชาวนาภาคกลางปลูกข้าวคุณภาพต่ำเพื่อแปรรูปแต่ต้องซื้อข้าวหอมจากอีสานมาบริโภค คนอีสานทุ่งกุลาร้องไห้ปลูกข้าวหอมมะลิไว้ขายทั้งๆ ที่ตัวเองกินข้าวเหนียว หลายรายเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาปลูกไร่อ้อย มันสำปะหลัง ยางพาราที่ซึ่งไม่ใช่พืชอาหาร ชาวบ้านในภาคเหนือเปลี่ยนนาข้าว ไร่หมุนเวียน สวนผลไม้กลายเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เอามาทำกินไม่ได้ เพื่อให้ได้รายได้มาซื้อข้าว สวนสมรมของคนใต้กลายเป็นยางพาราและปาล์มผืนใหญ่ หรือชาวประมงพื้นบ้านที่จับปู ปลา และอาหารจากแม่น้ำ ทะเลที่มีราคาแพงได้ แต่พวกเขาบริโภคไม่ได้เพราะมันมีมูลค่าเกินกว่าจะมาบริโภคเอง

เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพอันเป็นผลจากการใช้สารเคมีอย่างหนักหน่วง อุตสาหกรรมอาหารและนโยบายของรัฐผลักดันให้ประเทศไทย ซึ่งมีขนาดพื้นที่เกษตรเป็นอันดับ 48 ของโลก ต้องใช้สารเคมีในภาคเกษตรทั้งยาฆ่าแมลงเป็นอันดับ 5 ของโลก และยาฆ่าหญ้าเป็นอันดับ 4 ของโลก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างรุนแรง เกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตเป็นกลุ่มแรกที่เผชิญปัญหา อัตราการเป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน และอื่นๆ เกิดกับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก แต่กลไกนโยบายของรัฐที่ควบคุมสารเคมีกลับไม่มีความเข้มแข็งที่จะต่อต้านกลุ่มทุนเกษตรและอาหาร เพื่อปกป้องนิเวศ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีการดำรงชีพของประชาชนได้

ความรุนแรงของการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของพืชพาณิชย์ทั้งเพื่อผลิตอาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรม การขยายตัวของไร่ข้าวโพดในภาคเหนือที่โยงกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ และเอทานอล และไร่อ้อยที่ป้อนอุตสาหกรรมน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลในอีสาน และสวนยางพารา สวนปาล์มที่ป้อนอุตสาหกรรม ทำให้นิเวศเสื่อมโทรม เกิดปัญหาไฟป่า หมอกควัน อย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เมื่อเกษตรกรเป็นโซ่ข้อแรกของระบบห่วงโซ่อาหารที่สังคมเห็น สังคมที่ตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงประณามแต่เกษตรกร แต่มองไม่เห็นระบบโครงสร้างผลิตอาหารที่มีกลุ่มทุนผูกขาดผลประโยชน์แต่ผลักภาระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสู่สังคม โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นกลุ่มที่ถูกเอารัดเอาเปรียบที่สุด

เมื่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และตัวกระทำการต่างๆ ทั้งภาครัฐ ทุน และสังคม สร้างสภาวะเลวร้ายให้กับเกษตรกรเช่นนี้ การใช้สารเคมีร้ายแรงจนถูกกล่าวหาว่าไม่รับผิดชอบต่อสังคม ไม่เพียงสะท้อนการไม่มีทางเลือกของเกษตรกร แต่ยังอาจหมายถึงการตอบโต้กับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมที่อยุติธรรมก็เป็นได้

จริงอยู่ที่เป้าหมายความมั่นคงอาหารเป็นสิ่งที่ทุกผู้คน ทุกสังคมใฝ่ฝันถึงดังที่ระบุไว้ใน SDGs แต่โลกและประเทศไทยมาถึงจุดท้าทายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ว่าเราจะเลือกสร้างความมั่นคงอาหารในระบบทุนนิยมที่ทำลายล้างแบบนี้ต่อไป หรือจะสร้างทางเลือกใหม่ที่อิสระไปจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองแบบเดิม

การปฏิวัติเขียวได้พิสูจน์กล่าวหลายทศวรรษได้พิสูจน์แล้วว่า แม้เพิ่มผลิตภาพอาหารมากขึ้นทวีคูณ แต่เทคโนโลยีที่ใช้สร้างผลกระทบต่อนิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพมากมาย จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการชี้ว่า สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (ปัญหาส่วนสำคัญมาจากอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน) กำลังทำให้สิ่งมีชีวิต 1 ล้านชนิดจาก 8 ล้านชนิดของโลก (นิเวศบกร้อยละ 75, นิเวศทะเลร้อยละ 40, นิเวศน้ำจืดร้อยละ 50) เสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ แม้จะยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งแบบที่ทานอสดีดนิ้ว แต่ก็กำลังจะพาโลกไปสู่ความปั่นป่วน และจุดจบได้ หากภายใน 11 ปีข้างหน้าเราไม่สามารถรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้

แม้โลกและไทยยังเผชิญปัญหาความอดอยาก หิวโหย และทุกขโภชนาการจนต้องเป็นเป้าหมายสำคัญใน SDGs แต่ระบบทุนอาหารกลับทำให้โลกเรามีอาหารเหลือทิ้งราว 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ และอาหารเหลือทิ้งเหล่านี้มีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจกราวร้อยละ 30

ดูเหมือนทฤษฎีมัลทัสที่ให้คุมประชากรและเพิ่มการผลิต และทานอสที่ให้ลดประชากรลงอย่างเร่งด่วนมีความผิดพลาด ตรงที่ไม่เข้าใจระบบทุนนิยมที่ทำให้เกิดโครงสร้างการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตอาหารที่เป็นปัญหา เกิดการกระจุกตัวในกลุ่มชนชั้นมีกำลังทางเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นธรรม และผลักภาระสู่นิเวศ และสังคมทั้งกลุ่มคนเปราะบางและโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยคนกลุ่มน้อยผู้มั่งคั่ง ไม่ใช่ประชากรทั้งโลกมาร่วมใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมเสมอหน้า

ณ เวลานี้ ประชากรโลกที่ขณะนี้มีสูงถึง 7.4 พันล้านคน จะเพิ่มไปถึงเกือบ 1 หมื่นล้านในปี 2593 หรืออีก 31 ปีข้างหน้า ประมาณการกันว่า โลกต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารให้สูงขึ้นอีกร้อยละ 56 ของปัจจุบัน จึงจะพอเพียงกับการบริโภคอาหาร แต่ใครจะผลิตอาหาร และผลิตด้วยวิถีแบบใด

แต่เราจะไม่เหลือทรัพยากรให้เพิ่มได้อีก ไม่มีระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังปั่นป่วนจะทำหน้าที่หล่อเลี้ยงระบบอาหารได้ดีเช่นเดิม และไม่มีเกษตรกรรายย่อยที่จะทำการผลิตอีกแล้ว ไม่ว่าเขาจะดำรงวิถีเศรษฐกิจดั้งเดิมหรือจะผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการก็ไปไม่รอด เพราะเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถดำรงอยู่ในระบบเศรษฐกิจอาหารแบบนี้ต่อไปได้แล้ว เกษตรกรไทยลดลงเหลือเพียงร้อยละ 50 และจะลดไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย มีหนี้สินสูง และมีรายได้ต่ำกว่าเส้นวัดความยากจน รอการช่วยเหลือจากรัฐ ผู้คนรุ่นใหม่จากภาคเกษตรเคลื่อนเข้าสู่เมือง จนประชากรในเมืองมีสูงถึงร้อยละ 36 ของประชากรประเทศ

พื้นที่ชนบทที่เป็นแหล่งผลิตอาหารกำลังเป็นพื้นที่แห่งความเงียบเหงา ว่างเปล่า ไม่ใช่แค่เพียงการใช้สารเคมีเคยทำให้ฤดูใบไม้ผลิเงียบเหงา (Silent Spring) ดังที่ราเชล คาร์สัน เคยวิเคราะห์ผลกระทบต่อนิเวศจากสารเคมีดีดีทีในสหรัฐฯ ไว้หลายสิบปีก่อน แต่ยังเป็นความเงียบเหงา วังเวงสุดหยั่งคาด เพราะจะไม่มีวิถีวัฒนธรรมการเกษตรของชุมชนที่สร้างความหลากหลายทางชีวภาพในด้านการเกษตร ไม่มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลลึกซึ้งระหว่างชาวบ้านกับสรรพชีวิตในภูเขา ผืนป่า สายน้ำ ทุ่งนา และท้องทะเลแบบเดิมอีกต่อไป

ระบบนิเวศในอนาคตจะเหลือไว้ให้คนเมืองชื่นชมแต่กินไม่ได้ เกษตรกรรมจะยังอยู่แต่ไม่มีวิถีเกษตรประเพณี ความมั่นคงและความปลอดภัยอาหารจะเพิ่มขึ้นแต่ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของการผลิต มีแต่ผู้บริโภคที่มุ่งหวัง รอคอยการเข้าถึงอาหารภายใต้ระบบตลาดอาหารขนาดใหญ่ที่ทุนกำกับ โดยที่รัฐซึ่งถูกตีกรอบในระบบเสรีนิยมใหม่ไม่สามารถมีบทบาทปกป้องความมั่นคงอาหารของสังคมได้มากนัก

หากฝากความหวังไว้ที่ระบบทุนนิยมอาหาร บรรดากลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายรัฐ คงจะตอบเราดังเช่นพลพรรคของทานอสกล่าวต่อผู้ที่จะถูกกำจัดว่า “จงฟัง และปลาบปลื้ม ที่พวกท่าน (เกษตรกรรายย่อย) ไม่ต้องทำหน้าที่ผลิตอีกต่อไป แต่เราจะทำการผลิตสร้างอาหารที่มั่นคงและปลอดภัยให้พวกท่าน ด้วยการเริ่มปฏิวัติเขียวรอบใหม่” พวกเขาจะรับผิดชอบการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการโลกแทนเกษตรกรรายย่อย ด้วยการพัฒนาระบบเกษตรอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าด้วยการใช้สารเคมี เทคโนโลยีจีเอ็มโอ และ AI หรือการทำเกษตรพันธสัญญากับแรงงานเกษตรหน้าใหม่ๆ ที่ยังคงเหลืออยู่ เพื่อผลิตอาหารทุกประเภท (อาหารเคมียันอาหารออร์แกนนิกส์) ตอบสนองทุกกลุ่มเป้าหมาย (กลุ่มชนชั้นสูงยันคนชั้นล่าง) กลุ่มธุรกิจจะเข้ามาคุมทุกห่วงโซ่อาหาร ทั้งการทำหน้าที่จัดสรรอาหารผ่านระบบตลาดออนไลน์ และโลจิสติกส์ที่ทุนเป็นเจ้าของ โดยเหลือพื้นที่เล็กๆ ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ กลุ่ม startup ต่างๆ ได้พอมีบทบาทในตลาดภายใต้การกำกับส่งเสริมของอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ได้บ้าง

เปรียบกับทานอสแล้ว ทุนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของโลกและไทยได้ดีดนิ้ว ลบสิทธิและเสรีภาพความมั่นคงอาหารในวิถีธรรมชาติ วัฒนธรรม ของเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภคไปกว่าครึ่งแล้ว ถึงคราวที่ขบวนการพลเมืองอาหารในครึ่งที่เหลือไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้บริโภค นักพัฒนา นักวิชาการ ผู้ประกอบการอาหารยั่งยืน กลุ่มตลาดสีเขียว ราชการหัวก้าวหน้า องค์กรสาธารณะต่างๆ จะสามารถรวมพลังเพื่อ endgame ทุนนิยมความมั่นคงอาหารที่ทำลายล้าง และฟื้นฟู สร้างสรรค์ระบบอาหารขึ้นใหม่ให้ก้าวหน้าเท่าทันปัญหาความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต โดยอยู่บนฐานนิเวศ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีของสังคมที่หลากหลาย ยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมได้หรือไม่ นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายที่ขบวนการพลเมืองอาหารต้องร่วมกันหาคำตอบต่อความเป็นไปได้นี้ครับ