ThaiPublica > คอลัมน์ > วิกฤติโควิดกับจุดเปลี่ยนของชุมชนท้องถิ่น

วิกฤติโควิดกับจุดเปลี่ยนของชุมชนท้องถิ่น

27 เมษายน 2020


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า วิกฤติจากการระบาดของโควิดกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกและประเทศไทยอย่างถึงรากถึงโคน โลกจะไม่เหมือนเดิม ดังที่เรียกว่า “ปรกติใหม่” (new normal) นักนโยบาย นักวิชาการ ต่างพากันคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงเชิงมหภาค หรือมองเป็นผลกระทบชั่วคราวในภาคเมือง แม้จะเริ่มสนใจคนจนในเมือง แต่ก็เป็นการเน้นการปัญหาเฉพาะหน้า หากแต่ผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลสะเทือนไปถึงชนบท ซึ่งยังไม่มีการทำความเข้าใจถ่องแท้ว่า ชุมชนท้องถิ่นกำลังเผชิญอะไรในวิกฤติโควิด พวกเขาตั้งรับปรับตัวอย่างไร ภาวะปรกติใหม่ของชุมชนจะเป็นอย่างไร และพวกเขาจะมีส่วนกำหนดอนาคตข้างหน้าได้เพียงไหน

ผู้เขียนจึงเริ่มต้นด้วยการใช้กระบวนการเสวนากับนักพัฒนาเอกชนที่ทำงานคลุกคลีกับชุมชนในทุกภาค ว่าชุมชนกำลังเผชิญอะไร จะเปลี่ยนอย่างไร และทิศทางที่สร้างความเข้มแข็งชุมชนในยุคหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ซึ่งผลการสังเคราะห์นี้ยังเป็นภาพปรากฏการณ์เพียงบางส่วนในสถานการณ์ที่เริ่มก่อตัว ผู้เขียนและเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนจะศึกษาเจาะลึกเพื่อแสวงหาภาวะ “ปรกติใหม่” แบบไหนที่จะก้าวพ้นจากโครงสร้างปัญหาเดิมทั้งความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมไปสู่การสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้กับชุมชนท้องถิ่นที่เป็นฐานรากของสังคม

เมืองน่าน สองระบบเศรษฐกิจที่ถูกท้าทาย

ในจังหวัดที่ห่างไกลประชิดชายแดนอย่างจังหวัดน่าน จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดในขณะนี้ ภาวะโควิดทำให้มีแรงงานลูกหลานกลับจากต่างประเทศราว 200 ราย คุณพิมลพรรณ สะกิดรัมย์ ผู้จัดการมูลนิธิฮักเมืองน่านเล่าว่า ภาครัฐและชุมชนที่นี่ร่วมมือกันเข้มแข็งมาก สาธารณสุขโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รณรงค์การสร้างระยะห่างในชุมชนอย่างเข้มแข็ง ชุมชนหลายแห่งเฝ้าระวันกันเองในการให้ความรู้ ป้องกันการติดเชื้อ การกักตัวคนกลับเข้าหมู่บ้าน บางหมู่บ้านถึงกับปิดป้ายห้ามคนนอกเข้า

หากเป็นในเมืองใหญ่ คงยากจะควบคุมชีวิตสาธารณะของคนได้เช่นนี้ แต่ชุมชนที่นี่ทำได้ เทศบาลมีมาตรการเข้มแข็ง เช่น ควบคุมตลาด หากแม่ค้าคนไหนไม่ใส่หน้ากากจะถูกห้ามเข้ามาขาย ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าก็ให้ความร่วมมืออย่างดี

ฐานเศรษฐกิจของเมืองน่านมีสองระบบ คือ ชุมชนที่พึ่งพาฐานทรัพยากรและการเกษตร กับแรงงานในภาคบริการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองกลุ่มได้รับผลกระทบต่างกัน ในเมือง เศรษฐกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร บริการตกฮวบอย่างรวดเร็ว ส่งให้ผลการค้าขายสินค้าในตลาดทั่วไปลดลงร้อยละ 30 กลุ่มคนใช้แรงงานในเมืองจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด

แต่สำหรับชุมชนในชนบท พวกเขายังมีฐานความมั่นคงอาหารระดับหนึ่งจากทรัพยากร และการเกษตร อาหารที่ชุมชนผลิตยังกระจายสู่ตลาดชุมชนและตลาดในเมือง แต่สังคมเมืองน่านอาจจะตรึงภาวะเศรษฐกิจฐานอาหารเช่นนี้ได้อีกไม่เกิน 2-3 เดือน เพราะชุมชนเกษตรกรรมกำลังเผชิญภัยแล้งที่ขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ทำให้หลายพื้นที่ทำการผลิตไม่ได้แม้จะมีแรงงานลูกหลานกลับบ้านก็ตาม ยังไม่นับปัญหาเมืองน่านมีพื้นที่ราบน้อย ร้อยละ 70 เป็นที่สูงและถูกรัฐประกาศเป็นเขตป่าตามกฎหมายทำให้ทำการผลิตไม่ได้มากนัก บวกกับการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากภาคเอกชน ศักยภาพการผลิตอาหารของชุมชนจึงอยู่ในสภาวะท้าทาย หากปัญหาวิกฤติโควิดลากยาวไปกว่านี้ ผนวกกับปัญหาภัยแล้ง และปัญหาการไม่มีสิทธิในพื้นที่ทำกินและที่ป่ายังเป็นปัญหาท้าทาย

เชียงใหม่ เศรษฐกิจอาหารที่กำลังไร้ทางออก

วิกฤติโควิดทำให้เศรษฐกิจเชียงใหม่ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการเกษตรตกฮวบอย่างรวดเร็ว เมื่อธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สถานบริการปิดตัวลง กระทบต่อแรงงานท้องถิ่นและต่างด้าวอย่างมาก ทั้งคนชั้นกลางและแรงงานมีหนี้สินพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลกระทบไม่ได้จำกัดอยู่ที่ภาคเมืองแต่ลามไปถึงชนบท ตัวชี้วัดอยู่ที่ตลาดในเมืองและท้องถิ่นที่เผชิญภาวะซบเซา ฐานเศรษฐกิจของเมืองและชนบทของเมืองที่พึ่งพาตลาดจึงตกต่ำ

คุณมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ที่มีถิ่นฐานในเชียงใหม่ เล่าว่า เกษตรกรกำลังเผชิญปัญหาที่จะตามครั้งใหญ่คือ ผลผลิตการเกษตรโดยเฉพาะลำไยที่จะออกสู่ตลาดช่วงเดือนมิถุนายนจะไม่มีตลาดรองรับ ซึ่งปีที่ผ่านๆ มา เกษตรกรก็ต้องเผชิญปัญหาราคาลำไยและผลไม้ต่างๆ ตกต่ำต่อเนื่อง แต่ในปีนี้เมื่อตลาดใหญ่คือจีนหยุดชะงัก ผลไม้ปริมาณมหาศาลที่ไม่มีตลาดจะทำให้วิกฤติเศรษฐกิจของเกษตรกรรุนแรง

แม้จะมีผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ที่มีรายได้ดี เช่น ข้าว มันสำปะหลัง (ทำแอลกอฮอล์) จะมีราคาขายสูงขึ้น แต่โอกาสนั้นก็ไม่ได้ตกสู่ชาวบ้าน เพราะพวกเขากำลังเจอวิกฤติขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่ ทำให้ทำการเกษตรไม่ได้

ในวิกฤติเศรษฐกิจโควิด ธุรกิจออนไลน์ได้เฟื่องฟู สร้างรายได้นับแสนบาทให้กับผู้ขาย ผู้ส่งของจากบริการออนไลน์ เศรษฐกิจออนไลน์ไม่ได้จำกัดเฉพาะเชียงใหม่แต่เชื่อมไปถึงจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ แต่ผู้ที่จะค้าขายออนไลน์ได้ต้องมีเงินทุนสำรองเพียงพอ ยากที่เกษตรกรหรือคนจนเมืองจะเข้าถึงตลาดในฐานะผู้ค้าได้ จึงยากที่ชุมชนจะได้โอกาสจากธุรกิจอาหารออนไลน์ที่จะตกอยู่ในการควบคุมของธุรกิจอาหารและการขนส่งรายใหญ่

นครสวรรค์ ทางสองแพร่งของสายน้ำการเกษตร

นครสวรรค์เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคกลางตอนบน เป็นแหล่งผลิตข้าวรายใหญ่ของภาค แต่ตลาดที่ซบเซาลงกำลังทำให้เกษตรกรไม่มีที่ขายผลผลิต ประจวบกับแม้ข้าวจะมีราคาดี แต่ภาวะภัยแล้ง บวกกับตลาดซบเซา ทำให้อุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรกรตกต่ำลงทั้งสองด้าน อาชีพที่ยังพอไปได้คือ แรงงานก่อสร้าง ที่ยังมีงานแม้จะลดลงก็ตาม

แต่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ คุณนพดล มั่นศักดิ์ มูลนิธิจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ ชี้ว่า ได้เห็นโอกาสที่จะเป็นจุดเปลี่ยนอนาคตเกษตรกรได้มากขึ้น กลุ่มเกษตรกรที่ทำการผลิตอาหารอินทรีย์ที่มีการจัดการที่ดี เช่น จัดการระบบธนาคารน้ำ จัดการผลิตที่ไม่ต้องมีต้นทุนสารเคมี มีระบบมาตรฐานที่ชุมชนมีส่วนร่วมรับรอง (PGS) ผลิตเพื่อบริโภคควบคู่ไปกับการค้า และสร้างตลาด “สีเขียว” เชื่อมโยงกับผู้บริโภคในจังหวัด กลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เหล่านี้กลับได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจไม่มากนัก และกำลังมีบทบาทสร้างความมั่นคงอาหารให้กับชุมชนและเมืองในภาวะวิกฤติเช่นนี้ แต่กระนั้นกลุ่มเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยเหล่านี้ยังเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เกษตรกรส่วนมากที่พึ่งพากับเกษตรพาณิชย์เชิงเดี่ยวยังไร้ทางออกทั้งเรื่องตลาดและน้ำ ซึ่งหากไม่สามารถปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรยั่งยืนได้ ก็ยากจะที่ยืนหยัดในวิกฤติเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ วิกฤติยังสร้างจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจบางประการ ชาวบ้านหลายรายเริ่มลดการปลูกอ้อย เพราะขาดทุน นั่นอาจทำให้เป็นโอกาสการเปลี่ยนพื้นที่อ้อยเป็นพื้นที่อาหาร และยังลดปัญหาการเผาอ้อยที่สร้างฝุ่นควัน PM2.5 ลงได้

มหาสารคาม ฐานเกษตรยั่งยืนที่ตั้งรับภัยเศรษฐกิจได้เข้มแข็ง

นับว่าโชคดีที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ในจังหวัดมหาสารคามรีบปิดตัวลงก่อนที่ไวรัสจะแพร่ระบาด ทำให้เมืองหลวงแห่งการศึกษาของอีสานแห่งนี้ไม่เผชิญกับการแพร่ระบาดไวรัสอย่างรุนแรง ทั้งสาธารณสุขและชุมชนช่วยกันดูแลป้องกัน ตรวจตราการแพร่ระบาดของไวรัส แต่การกลับบ้านของลูกหลานในภาวะนี้ก็เป็นทั้งปัญหาและโอกาสที่น่าสนใจ

ประมาณการว่า ร้อยละ 30 ของครัวเรือนในมหาสารคามพึ่งพาเศรษฐกิจแรงาน พวกเขาจึงได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดไม่น้อย แต่อีกร้อยละ 50 มีฐานเศรษฐกิจการผลิตเกษตรที่บ้าน ผลกระทบจึงไม่มากเท่า บางครอบครัวที่ทำการผลิตกลับได้โอกาสดีเมื่อได้แรงงานมาช่วยทำนาทำไร่มากขึ้นจากลูกหลานที่กลับบ้าน คนกลุ่มนี้จึงไม่ลำบากนัก ส่วนกลุ่มที่ลูกหลานยังไม่แน่นอนว่าจะกลับบ้านเมื่อไหร่ หรือไม่กลับเลยก็ขาดแคลนแรงงานการผลิต

คุณสุเมธ ปานจำลอง นักพัฒนาด้านเกษตกรรรมยั่งยืนเสนอว่า นอกเหนือจากการแจกเงินคนละ 5,000 บาทที่รัฐบาลทำ รัฐบาลควรที่จะมีโครงการสนับสนุนให้แรงงานที่กลับบ้านให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่กลับมาทำเกษตรกรรมยั่งยืนในครอบครัวและชุมชน เพราะเกษตรกรรมยั่งยืนกำลังเป็นคำตอบของการเปลี่ยนผ่านสังคม ดังรูปธรรมที่ปรากฏชัดว่า ในขณะนี้ เครือข่ายเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์สามารถยืนหยัดผลิตสร้างความมั่นคงอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชนไว้ได้ ส่วนหนึ่งได้มีปัจจัยเอื้ออำนวยจากที่มหาสารคามไม่ได้เจอวิกฤติขาดแคลนน้ำเหมือนจังหวัดอื่นๆ แต่ที่สำคัญคือ เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนได้สร้างฐานความมั่นคงอาหารของครัวเรือนและชุมชนที่เข้มแข็ง และเชื่อมโยงระบบการผลิต การกระจายอาหารผ่านตลาดอหารอินทรีย์หรือตลาด “สีเขียว” ทั้งในท้องถิ่นและในเมือง และเชื่อมต่อกับผู้บริโภคได้ตรง แม้เศรษฐกิจจะตกต่ำจากโควิด แต่กลไกความมั่นคงอาหารของท้องถิ่นยังคงทำงานอย่างเข้มแข็ง

แต่กระนั้นก็มีสิ่งที่ชุมชนต้องหาทางปรับตัว เพราะการกระจายอาหารจากชุมชนสู่เมืองจำเป็นต้องมีระบบการจัดการที่ชัดเจน ระบบการสั่งอาหารล่วงหน้าของผู้บริโภคได้เรียกร้องให้เกษตรกรที่ทำการผลิตที่มีปริมาณและชนิดผลผลิตที่แน่นอนสม่ำเสมอ แต่ปัญหาการผลิตภาคเกษตรขาดความแน่นอนทั้งด้านสภาพแวดล้อม ทรัพยากร และการพัฒนาตลาดอาหารท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ท้าทาย ที่ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาช่วยกันพัฒนา

คุณมาลี สุปันตี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกอีสานได้เสนอเพิ่มเติมว่า การมีพื้นที่และระบบตลาดท้องถิ่นที่มั่นคงมีความสำคัญ ในภาวะวิกฤติโควิด เทศบาลปิดตลาดไปหลายแห่ง และเมื่อเกษตรกรต้องหาทางเชื่อมโยงกับผู้บริโภคโดยไม่ผ่านตลาดในเชิงกายภาพ การพึ่งตลาดออนไลน์ก็ต้องอาศัยกลไกการเชื่อมโยงที่การสื่อสาร และการขนส่ง ท้องถิ่นควรสร้างระบบขนส่งอาหารท้องถิ่นมากกว่าที่จะพึ่งพา Grab หรือ Panda Food ในการส่งอาหาร และสำหรับเกษตรกรแล้ว การเปลี่ยนผ่านระบบการผลิตสู่เกษตรกรรมยั่งยืนนั้น การมีเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญของการพึ่งตนเองด้านอาหาร เพราะหากชุมชนสามารถพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ และใช้พันธุ์พืชอาหารพื้นบ้านตามความเหมาะสมทางนิเวศ เศรษฐกิจ และสังคม ชุมชนจึงจะมีความมั่นคงอาหารที่ยั่งยืนได้
โดยสรุปแล้ว จุดเปลี่ยนสำคัญของชุมชนจากภาวะวิกฤติคือการสร้างความมั่นคงอาหารของชุมชนและขยายไปสู่ระบบจัดการอาหารที่กระจาย สื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคที่เข้มแข็งในระดับท้องถิ่นและจังหวัด

คลองโยง นครปฐม การปรับตัวสร้างตลาดภายในชุมชน

คุณนันทา ประสารวงษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านคลองโยง-ลานตากฟ้า นครปฐม ที่ทำการผลิตเกษตรยั่งยืนมาได้ระดับหนึ่งพบว่า จากเดิมที่เกษตรกรต้องพึ่งพาตลาดภายนอก ด้วยการตระเวณขายผลผลิตในที่ต่างๆ แต่เมื่อตลาดสีเขียวในเมืองปิดตัวลง ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้น้อยลง ในขณะนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาคีสังคมที่ช่วยสั่งสินค้าผลผลิตอาหารล่วงหน้า (pre-order) แต่เมื่อไม่ต้องออกเดินทางไปภายนอก ก็ทำให้รายจ่ายของชุมชนโดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง การขนส่งลดลงเช่นกัน

ชุมชนคลองโยงเริ่มปรับตัวด้วยการหันกลับมาเพิ่มการบริโภคสินค้าในชุมชนกันเอง ขยายตลาดภายในชุมชนให้กว้างขวางขึ้น สินค้าหลายชนิดที่เคยผลิตส่งออก ชุมชนก็เริ่มหันมาซื้อขายบริโภคกันมากขึ้น เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม ผักสลัด และอื่นๆ นับเป็นการปรับตัวของชุมชนในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโควิดได้ระดับหนึ่ง แต่นี่เป็นเพียงระยะเริ่มต้น ชุมชนคลองโยงกำลังหาจุดตั้งหลักเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารของครอบครัวและชุมชน และสร้างเศรษฐกิจอาหารท้องถิ่นซึ่งจำเป็นต้องศึกษาหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป

ภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวที่ร้างและถูกปิดล้อม

ภูเก็ต จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงอันดับต้นๆ ของประเทศไทย รองจากกรุงเทพฯ เศรษฐกิจภูเก็ตส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจโควิด แรงงานส่วนใหญ่ที่เป็นคนต่างจังหวัดต่างพากันกลับบ้าน ศูนย์กลางเศรษฐกิจภูเก็ตตกอยู่ในภาวะอัมพาต

สำหรับพื้นที่ชายขอบ เช่น ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง ซึ่งเป็นชุมชนชายฝั่งทะเล พิเชษฐ์ ปานดำ นักพัฒนาในพื้นที่ได้เล่าให้ฟังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ชายขอบกับเมืองมีสองลักษณะ คือ ส่งแรงงานเข้าไปในเมือง กับเป็นพื้นที่ส่งอาหารสู่เมืองโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว เมื่อเศรษฐกิจเมืองหยุดชะงัก วงจรเศรษฐกิจถูกตัดขาด กิจกรรมประมงของชาวบ้านก็เปลี่ยนไปด้วย จากที่เคยจับปูปลาส่งตลาดในเมือง กลับหันมาจับสัตว์น้ำเพื่อบริโภคมากขึ้น ทรัพยากรทะเลได้เปลี่ยนจากการค้ามาเป็นการพึ่งตนเองมากขึ้น ชาวบ้านหลายรายที่เคยรับจ้างในเมืองและปล่อยเรือทิ้งร้างกลับมาซ่อมแซมเรือเพื่อออกหาปลามาบริโภคแทนรายได้ที่หายไป และผลจากการที่ทรัพยากรอาหารทะเลกลับมาสู่ท้องถิ่น ทำให้ตลาดในชุมชนคึกคักขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ชุมชนที่นี่ยังมีฐานเศรษฐกิจจากกลุ่มออมทรัพย์ที่สามารถรองรับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับชุมชนได้ แต่ชุมชนจะยืนหยัดได้นานแค่ไหน พิเชษฐ์ชี้ว่า ผลกระทบขณะนี้ยังเป็นระยะเริ่มต้น ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นในเพียงใด แต่เขาได้เห็นบทเรียนว่า รูปแบบเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว การผลิตเชิงเดี่ยว ความมั่นคงอาหารเชิงเดี่ยว ฯลฯ ไม่สามารถไปรอดได้ การสร้างจุดเปลี่ยนผ่านสู่ชุมชนคือการต้องเสริมสร้างฐานทรัพยากรให้สมบูรณ์ สร้างทางเลือกเศรษฐกิจที่หลากหลาย พัฒนาตลาดท้องถิ่น และออมทรัพย์ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จึงจะทำให้ชุมชนยืนหยัดอยู่ในภาวะวิกฤติ

บทสรุปของชนบท และอนาคตชุมชนท้องถิ่นบนทางหลายแพร่ง

ผลกระทบ

จากการประเมินเบื้องต้นของนักพัฒนาเอกชนในแต่ละภาค ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไปทำงานเมืองเป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบทันทีอย่างรุนแรง และกำลังกลับไปพึ่งชุมชนเหมือนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แต่ชุมชนท้องถิ่นส่วนมากกำลังอยู่ในความเสี่ยงอย่างที่เคยเจอมาก่อน เกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่พึ่งพาตลาดส่งออกต่างประเทศโดยเฉพาะพืชผักผลไม้กำลังจะไม่มีตลาด เศรษฐกิจชุมชนจะล้มเหลวอย่างรุนแรงยิ่งกว่าที่เคย สิ่งที่ตามมาสำหรับรอบการผลิตใหม่ก็คือภาวะภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง ทำให้ทั้งเกษตรเชิงเดี่ยวและเกษตรกรรมยั่งยืนก็จะประสบปัญหา ดังนั้นถึงแม้ว่า สินค้าเกษตรบางชนิด เช่น ข้าว มันสำปะหลัง จะมีราคาสูงขึ้น แต่พวกเขาก็ผลิตไม่ได้

เมื่อตลาดขนาดใหญ่ซบเซาลง ตลาดสินค้าอาหารออนไลน์เติบโตขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงและสร้างโอกาสให้กับตนเองได้มากเท่ากับธุรกิจอาหารขนาดใหญ่ อีกทั้งในระบบตลาดออนไลน์ที่เรียกร้องการผลิตจำนวนมาก สม่ำเสมอแน่นอน และต้องมีเงินทุนสำรองพอเพียง ชุมชนไม่ได้มีศักยภาพที่จะเข้าถึงและต่อรองผ่านกลไกตลาดออนไลน์หลัก ยังไม่นับรวมถึงระบบการขนส่งอาหาร เช่น Grab, Lineman, Panda Food ฯลฯ ที่เหมาะสำหรับสังคมเมือง แต่ไม่สามารถเชื่อมระหว่างสินค้าชุมชนสู่ผู้บริโภค นั่นเท่ากับความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างเศรษฐกิจอาหารจะขยายตัวมากยิ่งขึ้น

การปรับตัว โอกาส และสิ่งท้าทาย

แรงงานที่หลั่งไหลกลับบ้านเป็นได้ทั้งแรงกดดันและปัจจัยหนุนเสริมชุมชน ในชุมชนส่วนใหญ่ที่พึ่งเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวกับตลาดภายนอกอยู่ในภาวะอ่อนแอ ผลผลิตที่ไม่มีตลาด และภาวะขาดแคลนน้ำอาจทำให้ชุมชนไม่สามารถเป็นหลังอิงให้กับลูกหลานที่ไปทำงานในเมืองได้เหมือนก่อน แต่สำหรับชุมชนที่มีฐานเข้มแข็ง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้คงความสมบูรณ์ จัดการดิน น้ำ ป่าได้ดี และมีระบบเศรษฐกิจ การผลิตที่หลากหลาย บางที่มีฐานการเงินชุมชนที่เข้มแข็ง การกลับมาของลูกหลานคือการมาช่วยเพิ่มแรงงานการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารและเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น เพราะในภาวะสังคมสูงวัยที่ภาคเกษตรขาดแรงงาน เมื่อชุมชนพร้อมย่อมจะเป็นโอกาสดีที่ได้แรงงานเพิ่ม

ในชุมชนเองก็มีการปรับตัวพอสมควร หลายพื้นที่หันกลับมาฟื้นฐานทรัพยากร การผลิต การบริโภคสร้างตลาดในชุมชน เกิดเป็นความมั่นคงอาหารและเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อยืนหยัดในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะชุมชนที่มีระบบการจัดการทรัพยากรที่เข้มแข็ง มีเศรษฐกิจและการผลิตที่ยั่งยืนและหลากหลาย มีฐานการเงินชุมชนสนับสนุน มีระบบตลาดท้องถิ่นสนับสนุน และมีฐานเครือข่ายทางเศรษฐกิจและสังคมด้านอาหารที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง พวกเขาสามารถยืนหยัดพึ่งตนเองด้านอาหารได้มาก รองรับแรงงานกลับบ้านได้ดี แม้วิกฤติเศรษฐกิจโควิดจะทำให้รายได้ลดลง แต่ก็ไม่ทำให้ความมั่นคงอาหารชุมชนสูญเสียไป

เพียงแต่ตัวอย่างของชุมชนที่เข้มแข็งมีไม่มากนัก เป็นกระบวนการสั่งสมทางภูมิปัญญาและการจัดการของชุมชนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เกิดเป็นต้นแบบที่เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นฐานในการแสวงหาคำตอบถึงทิศทางอนาคตที่พึงประสงค์ของชุมชนได้ แต่ต้นแบบเหล่านี้มักถูกรัฐและสังคมเพิกเฉยที่จะนำมาขยายผลส่งเสริมอย่างจริงจัง

โอกาสของชุมชนทางเลือก กับโลกที่เปลี่ยนไป

บทเรียนหลายครั้งที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเมือง หากโครงสร้างอำนาจนำยังเป็นเช่นเดิม วิกฤติดังกล่าวก็อาจไม่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ดังที่พิเชษฐ์สะท้อนว่า เมื่อตอนเกิดสึนามิปี 2549 ที่คลื่นยักษ์กวาดเอาชีวิต บ้านเรือน พื้นที่ทำกินของชุมชน ธุรกิจท่องเที่ยวริมฝั่งทะเลเสียหาย แต่กระบวนการฟื้นฟูกลับไปหาจุดเดิมที่เป็นต้นเหตุปัญหา เกิดธุรกิจท่องเที่ยวแบบเดิม กระบวนตักตวงแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจากชุมชนเป็นเช่นเดิม สึนามิที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิด โครงสร้าง และความสัมพันธ์ในการใช้ทรัพยากรและการผลิตที่เหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมเลย

เช่นเดียวกับมนตรี จันทวงศ์ ที่สะท้อนว่า ในวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลจะเร่งอัดฉีดงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่เพื่อหวังกู้เศรษฐกิจ โครงการจำนวนมากเป็นโครงการที่ยิ่งทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติ และเศรษฐกิจชุมชน เช่น โครงการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า อุตสาหกรรม ฯลฯ ชุมชน ซึ่งโครงการจำนวนมากมุ่งตอบผลประโยชน์ภาคส่วนต่างๆ ผูกพันมากกว่าจะมุ่งสร้างความเข้มแข็งชุมชน

สอดคล้องกับ ดร.โอฬาร อ่องฬะ นักวิชาการจากเชียงใหม่ที่ห่วงใยว่า รัฐจะยิ่งใช้ทรัพยากรอย่างหนักหน่วงขึ้นเพื่อทดแทนการสูญเสียวิกฤติ ชุมชนจะถูกปิดกั้นและถูกควบคุมการเข้าถึงทรัพยากร ดังในขณะที่ชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ถูกกดดันจากนโยบายการจัดการป่าของรัฐ

ข้อสังเกตของนักพัฒนาและนักวิชาการเหล่านี้บ่งบอกว่า แม้จะเกิดวิกฤติอย่างรุนแรง แต่การจะเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนได้นั้นยังต้องเผชิญสิ่งท้าทายสำคัญจากกระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐและภาคทุนที่อาจฉุดรั้งอยู่ที่เดิม ยังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนนัก “ภาวะปรกติใหม่” จะเป็นสิ่งที่ชุมชนปรารถนา หากไม่มีการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

ย่างก้าวของการเปลี่ยนผ่านชุมชนท้องถิ่นสู่สังคมไทยยั่งยืน

วิกฤติโควิดอาจเปลี่ยนโลก แต่โลกใหม่จะเป็นอย่างไร ชุมชนและภาคสังคมต้องร่วมกันออกแรงขับเคลื่อน ผู้เขียนได้ประมวลข้อเสนอจากนักพัฒนาเอกชนทุกภาคสรุปได้ดังนี้

    1.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชนอย่างเท่าทันสถานการณ์ โดยสามารถจำแนกแยกแยะชุมชนแบบต่างๆ ทั้งชุมชนท้องถิ่นที่มีฐานทรัพยากร ฐานการผลิต ความมั่นคงอาหาร กับชุมชนหรือกลุ่มทางสังคมที่อยู่ในภาคแรงงาน บริการ กลุ่มที่พึ่งพาตลาด เทคโนโลยี โดยระบบฐานข้อมูลดังกล่าวนี้ควรออกแบบให้ชุมชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนจากภาครัฐและสังคม
    2.ศึกษาชี้วัดความมั่นคงอาหารของครัวเรือนและชุมชน เพื่อให้ชุมชนและภาคีรัฐและสังคมได้ประเมินสถานภาพความมั่นคงอาหารของชุมชนได้อย่างถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาความมั่นคงอาหารของชุมชน
    3.ศึกษาและพัฒนาโมเดลการจัดการท้องถิ่นที่เข้มแข็งในแบบต่างๆ ทั้งการจัดการทรัพยากรยั่งยืน การผลิตที่ยั่งยืน การสร้างกลไกการเข้าถึง กระจายอาหารในท้องถิ่น ฯลฯ และนำโมเดลการพัฒนาเหล่านี้ไปออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ
    4.ส่งเสริมให้แรงงานที่กลับบ้าน พัฒนาศักยภาพเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ไปช่วยสร้างความมั่นคงอาหาร พัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน สร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่หลากหลาย
    5.สนับสนุน คุ้มครองสิทธิชุมชนในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพราะฐานทรัพยากรที่สมบูรณ์จะเป็นต้นทางของการพึ่งตนเองด้านอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
    6.ขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างเร่งด่วน โดยมีปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น การจัดการน้ำในไร่นา และกระบวนการเรียนรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสมของชุมชน ฯลฯ โดยเปลี่ยนผ่านเกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรพาณิชย์เชิงเดี่ยวมาสู่เกษตรกรรมยั่งยืนที่หลากหลาย มั่นคง
    7.เร่งส่งเสริมเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร การจัดการทรัพยากร การผลิต การกระจายอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นทุกรูปแบบให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึง ใช้ประโยชน์ได้จริง และพัฒนา
    8.คุ้มครอง สนับสนุนตลาดชุมชน ตลาดท้องถิ่นให้มีบทบาทหลักในการกระจายอาหาร ทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อเป็นแรงกระตุ้นการผลิตและการบริโภค สร้างเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองมากกว่าพึ่งภายนอกเพียงอย่างเดียว
    9.พัฒนาระบบการเงินชุมชน สวัสดิการชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ วิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นฐานสนับสนุนให้ชุมชนมีศักยภาพและอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ และมีระบบสวัสดิการที่เข้มแข็งมากขึ้น
    10.สร้างระบบข้อมูล และ platform ที่เชื่อมโยงหนุนเสริมการผลิตของเกษตรกร การะจายอาหาร สู่ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค โดยเป็นระบบที่ชุมชนเข้าถึงง่าย สร้างการเรียนรู้และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค มีกลไกการดูแลสิทธิเกษตรกรและผู้บริโภค
    11.ส่งเสริมการพึ่งตนเองด้านอาหารของเมือง ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนเมืองเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ สร้างการผลิตอาหาร และกระจายอาหารในภาคเมือง
    12.พัฒนาระบบโลจิสติกส์การขนส่ง กระจายอาหารในระดับท้องถิ่นอย่างเหมาะสมกับเศรษฐกิจและวิถีท้องถิ่น แทนการพึ่งพาต่อระบบเอกชนรายใหญ่
    13.ปรับโครงสร้างการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ป่า พันธุกรรม แร่ ฯลฯ โดยกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อตอบสนองการผลิตที่เหมาะสมของชุมชน พร้อมกับทบทวนยกเลิกโครงการที่จะทำลายหรือแย่งชิงฐานทรัพยากรจากชุมชนท้องถิ่น
    14.กระจายอำนาจการบริหารจัดการพัฒนาสู่ท้องถิ่น โดยการพัฒนาระบบการจัดการร่วมระหว่างชุมชน ประชาสังคม รัฐในท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ประสาน พัฒนา ขับเคลื่อนนโยบายระดับท้องถิ่น
    15.ปรับทิศทางโครงสร้างการเกษตรของไทย ให้ลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ พร้อมกับส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร การผลิตขนาดเล็กที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ท้องถิ่น โดยไม่ปล่อยให้ธุรกิจรายใหญ่ผูกขาด
    16.สร้างระบบคุ้มครองทางสังคม อันประกอบด้วยการจัดสวัสดิการทางสังคมโดยรัฐทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา เบี้ยยังชีพคนพิการ คนชรา คนว่างงาน การประกันสังคม การช่วยเหลือทางสังคมให้แก่คนยากจน คนด้อยโอกาส และการส่งเสริมหุ้นส่วนทางสังคม เช่นวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม

ปิดท้าย

วิกฤติโควิด นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดพื้นที่ใหม่ทั้งที่เป็นโอกาสและสิ่งท้าทาย ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ นักพัฒนาสังคม นักวิชาการ ภาคเอกชน ภาครัฐ ควรอาศัยสถานการณ์นี้การทบทวนความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าของวิกฤติเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงทบทวนความล้มเหลวของการแก้ปัญหาเพื่อกลับไปแบบเดิมซึ่งได้รับการพิสูจน์หลายครั้งว่าล้มเหลว ชุมชนท้องถิ่นมีแต่จะยิ่งอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ

หากทุกภาคส่วนของสังคมเอาจริงเอาจังต่อการปฏิรูปการพัฒนาใหม่อย่างถอนรากถอนโดน ภาวะ “ปรกติใหม่” ที่จะมาถึงย่อมจะหมายถึงการก่อรูปความเข้มแข็งของสังคมไทยจากฐานรากของชุมชน แทนที่จะปล่อยให้อนาคตวนกลับไปที่เดิม ถูกเปลี่ยนเป็นอนาคตที่มีแต่ความรุนแรงจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ไม่ยั่งยืน ซึ่งนั่นหมายถึงสังคมไทยจะไม่มีอนาคตอีกต่อไป