ThaiPublica > คอลัมน์ > สภาวะหลังอาณานิคมที่ไม่หลุดพ้นของการป่าไม้ไทย

สภาวะหลังอาณานิคมที่ไม่หลุดพ้นของการป่าไม้ไทย

29 กรกฎาคม 2019


กฤษฎา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki/

เหตุที่ UNESCO ไม่อนุมัติให้ป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มาจากความไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดนไทย-เมียนมา การปรับขอบเขตพื้นที่ที่ลดลง และที่สำคัญที่สุดคือ ข้อกังวลที่รัฐไทยละเมิดสิทธิชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ป่า (การใช้กำลังบุกเผาบ้าน การหายตัวไปของบิลลี่ และท่าทีอันก้าวร้าวของเจ้าหน้าที่รัฐต่อชุมชนในพื้นที่ป่า) เแม้หน่วยงานรัฐไทยจะพยายามชี้แจงว่า ได้ออก พ.ร.บ. (พระราชบัญญัติ) ป่าชุมชน และปรับแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้รับรองสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่าทั่วประเทศ แต่ดูเหมือน UNESCO เองก็เห็นว่า นั่นยังไม่ใช่หลักประกันที่ชุมชนพื้นเมืองในพื้นที่ป่าจะได้รับการปกป้องสิทธิอย่างจริงจัง ทั้งการพิจารณาจากเนื้อหากฎหมาย โครงสร้างและกลไกอำนาจรัฐ และท่าทีของหน่วยงานรัฐเอง

ความห่วงใยของนานาชาติต่อการละเมิดสิทธิชุมชน ได้รับการยืนยันจากคดีที่รัฐฟ้องชาวบ้านซับหวาย ชัยภูมิ ที่อยู่อุทยานแห่งชาติไทรทองด้วยข้อหาบุกรุกป่าภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า จนศาลสั่งจำคุกและให้ออกจากพื้นที่โดยไม่ไยดีต่อข้อมูลประวัติศาสตร์ว่าชุมชนอยู่ในพื้นที่มาก่อน

เหตุการณ์ทั้งสองเรื่องนี้บ่งบอกได้ว่า รัฐไทยไม่ยอมปฏิรูปตนเองในการจัดการป่า แม้ที่ผ่านมาจะมีการออกกฎหมายหรือปรับแก้กฎหมายหลายฉบับ มีกลไกการจัดการใหม่ๆ แต่เป้าหมายและโครงสร้างอำนาจยังรวมศูนย์เข้มข้นเช่นเดิม ทั้งๆ ที่ชุมชนท้องถิ่นและขบวนการสังคมได้ขับเคลื่อนสิทธิชุมชนในการอยู่ร่วมและจัดการป่าอย่างยั่งยืนมาไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ จนก่อให้เกิดหลักสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ประกอบกับทิศทางการจัดการป่าของโลกก็ได้เปลี่ยนไปสู่การจัดการป่าที่ชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่หลักการป่าไม้ (Forest Principle) ปี 2535 จนถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 15 ที่อยู่บนพื้นฐาน People, Peace, Planet, Prosperity และ Partnership

แรงผลักดันของท้องถิ่นผนวกกับสากลทำได้เพียงทำให้เกิดการแยกตัวระหว่างวาทกรรมทางนโยบายกับวัฒนธรรมอำนาจจัดการป่าของรัฐ จากเดิมที่นโยบาย กฎหมายบัญญัติการลิดรอนสิทธิชุมชนไว้ชัดเจนตรงไปตรงมา เปลี่ยนมาเป็นการยอมรับสิทธิชุมชนแต่เพียงวาทกรรม หรือการปฏิบัติเฉพาะพื้นที่ในเงื่อนไขจำกัด แต่ในความเป็นจริงรัฐยังคงเบียดขับชุมชนในพื้นที่ป่าและการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงไม่แปลกใจที่นโยบาย กฎหมายของรัฐในช่วงหลังๆ จะบรรจุไว้ด้วยภาษาสวยงามตามหลักสากล เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน การมีส่วนร่วมของชุมชน คนกับป่า ป่าชุมชน ฯลฯ แต่รัฐยังคงอำนาจไม่ต่างจากเดิม

ทำไมการจัดการป่าไทยจึงเป็นพื้นที่ผูกขาดอำนาจของรัฐในอันดับต้นๆ รองจากเรื่องความมั่นคงทางการทหารและการเมือง ขณะที่ความรู้และทิศทางนโยบายทั้งในระดับสากลและท้องถิ่นได้เปลี่ยนไปมากแล้ว เราควรต้องย้อนกลับไปดูที่ต้นแบบการจัดการป่าที่มีอิทธิพลทางนโยบายของรัฐไทย และปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้โครงสร้างอำนาจเปลี่ยน

ระบบการจัดการป่าไม้ไทยไม่ได้ผุดขึ้นมาจากปัญญาของชนชั้นนำรัฐไทย แต่หยิบยืมจากอังกฤษที่เข้ามาปกครองอินเดียและพม่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการรวมศูนย์อำนาจอาณาจักรและหัวเมืองต่างๆ สู่รัฐส่วนกลาง และใช้ป่าไม้เป็นฐานการสั่งสมความมั่งคั่งจากการค้าไม้ ใช้ผู้เชี่ยวชาญ ความรู้จัดการป่าแบบวิทยาศาสตร์เชิงพาณิชย์ ระบบกรรมสิทธิ์ทรัพยากรของรัฐเป็นฐาน

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการล้างบางวัฒนธรรม ประเพณีชุมชนท้องถิ่นที่อยู่กับป่า การลบเลือนสถานะสิทธิชุมชนในทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับธรรมชาติไปอย่างสิ้นเชิง โครงสร้างดังกล่าวถูกสร้าง ผลิตซ้ำอย่างเป็นระบบด้วยการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญป่าไม้จากอังกฤษที่มาทำไม้ในอินเดีย การจัดตั้งกรมป่าไม้ควบคุมบริหารจัดการ และการออกกฎหมายป่าไม้ที่ออกแบบระบบรวมศูนย์อำนาจรัฐไว้

พัฒนาการของการจัดการป่าไม้รัฐไทยมีเพียงยกเลิกสัมปทานไม้ปี 2531 เพราะชุมชนท้องถิ่นคัดค้าน การยกระดับนโยบายป่าอนุรักษ์นำป่าเศรษฐกิจในปี 2535 และเพิ่งจะเปิดพื้นที่บางส่วนให้ชุมชนที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองของรัฐให้มีสิทธิดำรงอยู่และใช้ทรัพยากรที่รัฐกำกับ

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่มาภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki/

เปรียบเทียบการจัดการป่า อินเดีย-ไทย

เรามาลองเปรียบเทียบกับประเทศอินเดียที่รัฐไทยเป็นต้นแบบการจัดการป่าแบบอำนาจนิยม Dr. P J Dilip Kumar อดีตอธิบดีกรมป่าไม้อินเดียเล่าให้ฟังว่า ในช่วงอาณานิคมอังกฤษ อินเดียตั้งกรมป่าไม้จักรวรรดิ (Imperial Forest Department) โดยการผลักดันของอังกฤษ ขึ้นในปี พ.ศ. 2403 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทย) หลังจากนั้นเพียง 5 ปี ก็ได้ออก พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2408 ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของเจ้าอาณานิคมชัดเจนคือ ไม่ยอมรับสิทธิประชาชนในพื้นที่ป่าแต่อย่างใด จนมาปี พ.ศ. 2421 จึงได้ปรับแก้กฎหมายให้รับรองสิทธิอย่างจำกัดและชั่วคราว

การแบ่งแยกประเภทป่าเริ่มปรากฏอย่างชัดเจนในการปรับแก้กฎหมายปี 2470 ให้มีป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ และป่าหมู่บ้าน (village forest) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้ของรัฐต่างๆ ว่าจะมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมหรือไม่เพียงใด

ต่อมาเมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐส่วนกลางอินเดียก็ใช้โอกาสรวมศูนย์จัดการทรัพยากรมากขึ้น (แม้ไม่เข้มข้นเท่าไทย) ด้วยการออกนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2495 ที่เน้นป่าเศรษฐกิจ พร้อมไปกับการยึดที่ดินจากเจ้าผู้ครองที่ดินให้เป็นของรัฐ

หากนับช่วงเวลาดังกล่าว ที่อังกฤษมาช่วยรัฐไทยจัดตั้งกรมป่าไม้ในปี พ.ศ. 2439 (หลังกรมป่าไม้อินเดีย 36 ปี) และออก พ.ร.บ.ป่าไม้ในปี พ.ศ. 2484 (หลังอินเดียปรับแก้กฎหมาย 14 ปี) กำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2528 (แบ่งประเภทป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์) แต่กฎหมายและนโยบายป่าไม้ไทยซึ่งมาทีหลัง กลับล้าหลังกว่าอินเดียที่เริ่มแบ่งประเภทป่าและรับรองป่าหมู่บ้านแล้ว

จุดเปลี่ยนทางนโยบายของป่าไม้อินเดียมาจากวิกฤตินิเวศป่าไม้ การลุกขึ้นสู้ของประชาชน เกิดขบวนการโอบกอด (ชิปโก้) ในรัฐอุตรขานราวในปี พ.ศ. 2513 เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนมาตัดไม้ซึ่งเป็นต้นแบบขบวนการประชาชนปกป้องป่าไปทั่วประเทศและโลก เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมดินถล่มจากการตัดไม้ของนายทุนในปี พ.ศ. 2521 ท้ายที่สุดรัฐจึงได้ประกาศ พ.ร.บ.อนุรักษ์ป่าไม้ในปี พ.ศ. 2523

แบบแผนเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับไทย ที่ชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือและอีสานคัดค้านสัมปทานไม้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และเกิดอุทกภัยดินถล่มจากสัมปทานไม้ จนรัฐต้องยกเลิกสัมปทานในปลายปี พ.ศ. 2531 แต่หลังจากนั้นเรื่องราวป่าไม้อินเดียและไทยก็เริ่มแตกต่างออกไป

รัฐอินเดียทบทวนนโยบายป่าไม้แห่งชาติอีกครั้งในปี พ.ศ. 2531 ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาระบบนิเวศและให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการป่า (Joint Forest Management: JFM) ใช้เวลาเพียง 4 ปี มีรัฐ 17 แห่งให้การรับรองและนำหลักนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ

ก้าวหน้าไปกว่านั้น ในปี พ.ศ. 2549 รัฐอินเดียออก พ.ร.บ.กลุ่มชนเผ่าที่กำหนดตามกฎหมายและกลุ่มผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอื่นๆ (คล้ายกับมติ ครม. 3 ส.ค. รับรองสิทธิชุมชนกะเหรี่ยง และร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชน) เพื่อรับรองสิทธิในทรัพยากรป่าไม้แก่บุคคล ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและยุติธรรม

การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่รับรองสิทธิชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาความยากจนโดยใช้ป่าพัฒนาชนบท หรือลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนเท่านั้น ผลลัพธ์สำคัญที่ยืนยันได้ว่า จะรักษาป่าต้องรับรองส่งเสริมสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนก็คือ ในช่วงปี พ.ศ. 2540-2550 ป่าในอินเดียเพิ่มขึ้นสูงถึง 18.75 ล้านไร่ มีคณะกรรมการจัดการป่าที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั่วประเทศราว 118,000 คน และแรงผลักดันดังกล่าวทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีการเพิ่มพื้นที่ป่าสูงที่สุดของโลกควบคู่ไปกับจีน

แต่ก็ใช่ว่าการเปลี่ยนนโยบายจัดการป่าของอินเดียจะนำไปสู่การปฏิบัติที่ราบรื่นทั้งหมด Dr.T.Haque อดีตประธานคณะทำงานนโยบายที่ดิน สถาบันแห่งชาติเพื่อการปฏิรูปอินเดียกล่าวว่า แม้รัฐส่วนกลางออกนโยบาย กฎหมายรับรองสิทธิชุมชน แต่รัฐท้องถิ่นหลายแห่งยังเพิกเฉย ล่าสุด 13 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลฏีกาได้มีคำสั่งให้รัฐท้องถิ่นขับไล่ประชาชนที่ถูกปฏิเสธสิทธิ (ยื่นคำขอ 4.2 ล้านราย ถูกปฏิเสธ 1.9 ล้านราย)ให้ออกจากพื้นที่ป่า จนรัฐบาลกลางต้องฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลเพื่อคุ้มครองชุมชนผู้ถูกปฏิเสธ หรือกรณีรัฐท้องถิ่นบางแห่งใช้ พ.ร.บ.กองทุนปลูกป่าทดแทน ปี 2559 เอาที่ชุมชนไปให้เอกชนปลูกป่า และบังคับการเกษตรถาวรแทนไร่หมุนเวียน ทำให้เกิดความขัดแย้งกับชุมชน

159 ปีของการป่าไม้อินเดียก้าวข้ามไปไกลมาก

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความเป็นประชาธิปไตยในโครงสร้างการเมืองของอินเดีย ที่มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างรัฐส่วนกลาง ศาล และรัฐท้องถิ่น และพลังประชาชน คาดการณ์ว่ามีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ที่ได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.สิทธิในพื้นที่ป่า ทำให้มีดุลอำนาจในนโยบายป่าไม้ แม้ยังมีรัฐท้องถิ่นหลายแห่งที่มีปัญหา แต่ก็ยังมีอีกหลายแห่งที่สำเร็จ หลายชุมชนได้สิทธิเป็นเจ้าของต้นไผ่ในผืนป่า สามารถเพิ่มไม้ไผ่ขึ้นเท่าตัวในเวลาอันสั้น สร้างรายได้ให้ชุมชน หลายชุมชนเปลี่ยนพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมให้กลายเป็นป่าสมบูรณ์ด้วยคามหลากหลายทางชีวภาพ

กล่าวได้ว่า 159 ปีของการป่าไม้อินเดียจากยุคอาณานิคมสู่หลังอาณานิคม ทิศทางนโยบายการจัดการป่าอินเดียพ้นไปจากมรดกอำนาจอาณานิคมแล้ว รัฐอินเดียมีความชัดเจนในเป้าหมายและกระบวนการจัดการป่าโดยชุมชนมีส่วนร่วม การจัดการป่าถูกเชื่อมโยงกับการพัฒนาชนบท เกษตรกรรม พืชสวน สวัสดิการสังคมสำหรับชนเผ่า พลังงาน การพัฒนาเมือง การศึกษาเพื่อเเก้ไขปัญหาความยากจน การจ้างงาน เเละความมั่นคงทางอาหาร มีการรื้อฟื้นความรู้จัดการป่า เช่น วนวัฒน์วิธี (silviculture) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องมือให้นายทุนแสวงประโยชน์จากป่ามาเป็นการจัดการป่าอย่างยั่งยืนที่ประชาชนมีส่วนร่วม นำเครื่องมือนโยบายใหม่ๆ เช่น หลักเกณฑ์เเละตัวชี้วัดว่าด้วยการจัดการป่าไม้ระดับชาติเช่นกันเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพป่าไม้ของประเทศ ในปี พ.ศ. 2543 ที่มีมิติวัฒนธรรมและจิตวิญญาณควบคู่กับนิเวศและทรัพยากร การฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ (Forest Landscape Restoration – FLR) เป็นต้น

Dr. P J Dilip Kumar ได้สรุปประสบการณ์จัดการป่าไม้ของอินเดียจากป่าชุมชนสู่การเปลี่ยนแปลงเเนวคิดเรื่องความยั่งยืนของป่าไม้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะปกป้องป่าไม้เเละทรัพยากรร่วม หากชุมชนในพื้นที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่นั้นๆ เจตจำนงร่วมของชุมชนมีพลังที่จะปกป้องป่าจากบุคคลภายนอกที่เข้ามาผลประโยชน์ ป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ และทำให้ป่าเป็นสมบัติสาธารณะที่ชุมชนดูแล ป่าไม่ใช่สมบัติของผู้ใด

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ กฎหมายเป็นเครื่องมือของสาธารณะ ไม่ใช่คำสั่งของรัฐ(บาล) ชาวบ้านพยายามใช้ พ.ร.บ.อนุรักษ์ป่าไม้ พ.ศ. 2523 มาเป็นข้อต่อสู้ซึ่งอาจเป็นกฎหมายเดียวที่สามารถช่วยรักษาป่านี้ไว้ได้

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ทิศทางป่าไม้อินเดียก้าวไกลกว่ายุคอาณานิคม ด้วยโครงสร้างการจัดการป่าของรัฐที่มีการถ่วงดุลอำนาจกันได้ มีเพียงปัญหาของรัฐท้องถิ่นบางแห่ง รวมทั้งศาลฎีกาที่ยังติดในโครงสร้าง วิธีคิดอำนาจนิยมและผลประโยชน์แบบเดิมที่ยังต้องปรับแก้

ไทยติดกับดัก-ไม่เชื่อมโยง

ย้อนกลับมาเทียบกับไทย แม้รัฐไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ แต่โครงสร้างป่าไม้ไทยยังไม่พ้นไปจากอาณานิคม ย่ำในห้วงเวลาเดิมเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว พื้นที่ป่าคือพื้นที่อำนาจของรัฐอย่างเข้มข้น การขับเคลื่อนของประชาชนมีข้อจำกัดมากในระบบรวมศูนย์เช่นนี้ กฎหมายป่าชุมชนที่ขบวนการชุมชนสร้างและผลักดันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 บนฐานสิทธิชุมชนในทุกพื้นที่ กลายเป็นกฎหมายที่รัฐเอาไปป่าวประกาศโฆษณาว่าแก้ปัญหาคนกับป่าแล้ว แต่กลับทิ้งชุมชนจำนวนมากกว่าที่ตกอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ซึ่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าที่แก้ไขใหม่ก็ไม่ได้รับรองสิทธิชุมชนอย่างแท้จริงตามที่รัฐกล่าวอ้าง

ชุมชนจัดการป่ากำลังถูกแบ่งชั้นและแบ่งป้อมค่ายในระบบอุปถัมภ์ของแต่ละกรม เป็นป่าชุมชนของกรมป่าไม้ เป็นชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานฯ การแบ่งแยกแบบนี้มีแต่ถูกจำกัดสิทธิ ถูกฟ้องร้องขับไล่ สร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนโยบายไม่ได้ จัดการเชิงภูมิทัศน์แบบยั่งยืนก็ไม่ได้ (ต้องจัดการแบบองค์รวม) เพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อลดสภาวะโลกร้อน เพิ่มความมั่นคงนิเวศและฐานทรัพยากรอาหารก็ไม่ได้

การที่ขบวนการจัดการป่าของประชาชนถดถอยต่อเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง การติดกับดักการแบ่งแยกของรัฐ การถูกปิดล้อมให้ตัดขาดความเชื่อมโยงกับสาธารณะให้เป็นเรื่องปัญหาเฉพาะกลุ่ม ไม่เชื่อมโยงป่าไม้กับปัญหาประเทศทั้งเรื่องความยากจน หนี้สิน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่เกี่ยวกับการฟื้นฟูโลกร้อน การสร้างความมั่นคงอาหาร เพิ่มพื้นที่สีเขียว และอื่นๆ ทำให้โครงสร้างอำนาจรัฐไม่ถูกปรับเปลี่ยน ยังคงตรึงระบบอำนาจนิยมมาตั้งแต่ยุคสมัยอาณานิคมทางปัญญา

สภาวะเช่นนี้ทำให้ตัวแสดงทางการเมืองต่างๆ ยังคงใช้เรื่องป่าไม้ในการ “เล่น” เกมต่อสู้อำนาจ เช่น ข้อวิพากษ์เรื่องพรรคการเมืองไปใช้รีสอร์ตรุกป่า คดีเสือดำ กรณีป่าแหว่ง ฯลฯ ไม่ว่าใครแพ้ชนะผลลัพธ์ก็คือ การตอกย้ำเสริมอำนาจรัฐเข้มข้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวกระทำทางการเมืองทั้งในฝั่งรัฐและเอกชนที่มีแนวคิดรัฐนิยมก็ยัง “เล่น” เรื่องป่าไม้เพื่อขยายอำนาจรัฐ โครงสร้างป่าไม้ไทยจึงไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเช่นอินเดีย

หากประวัติศาสตร์ป่าไม้ไทยจะเริ่มต้นขึ้นใหม่ คงต้องหลุดพ้นจากมรดกทางปัญญาของยุคอาณานิคม ด้วยการสร้างประชาธิปไตยในการจัดการป่าที่มีฐานชุมชน โยงป่าไม้ในทุกมิติสาธารณะสู่ชุมชนและประชาชน สร้างขบวนการเคลื่อนไหวประชาชนที่ก้าวข้ามข้อจำกัดเชิงแนวคิดและโครงสร้างอำนาจเดิม ไม่เช่นนั้น ป่าไม้ไทยจะยังคงเป็นพื้นที่ “เล่น” ของชนชั้นอำนาจต่อไป และความหวังรัฐไทยจะผลักดันให้ป่าแก่งกระจานและป่าอื่นๆ จะได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติก็คงจะริบหรี่ เพราะโลกเขาเลิก “เล่น” เกมอำนาจป่าไม้จากที่มาจากมรดกอำนาจแห่งอาณานิคมแล้ว