ThaiPublica > คอลัมน์ > ระบบผูกขาดอาจทำให้โลกไม่รอดจากหายนะโควิด ฝุ่น pm2.5 และภาวะโลกร้อน

ระบบผูกขาดอาจทำให้โลกไม่รอดจากหายนะโควิด ฝุ่น pm2.5 และภาวะโลกร้อน

12 เมษายน 2021


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ณ วันนี้การระบาดโควิดของไทยและของโลกก้าวสู่ภาวะติดเชื้อแบบก้าวกระโดดแล้ว พูดง่ายๆ คือ ไม่มีอะไรคุมอยู่ แม้ว่าเราจะมีวัคซีนปริมาณมหาศาลแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้วก็ตาม

ภาพสะท้อนความเป็นไปของโลกก็สอดคล้องกับความเป็นไปของไทย นั่นคือ ภาวะโควิดและโลกร้อนเติบโตได้ดีในโครงสร้างอำนาจที่ผูกขาด เหลื่อมล้ำ และโครงสร้างนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลงแม้จะเผชิญวิกฤติโลกที่รุนแรงเช่นนี้ก็ตาม

ในระดับโลก ประเทศที่ร่ำรวยที่มีร้อยละ 16 ของประชากรโลก สามารถกว้านซื้อ กักตุนวัคซีนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของปริมาณวัคซีนโลก และสั่งซื้อได้วัคซีนมากกว่า 2-3 เท่าของประชากรประเทศ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนส่วนมากได้ส่วนแบ่งวัคซีนเพียงน้อยนิด1

กลุ่มประเทศที่ร่ำรวยยังได้รับวัคซีนเร็วก่อนใครเพื่อน โดยแบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงภายในปลายปี 2564 เช่น สหรัฐ ประเทศในยุโรป กลุ่มที่ 2 ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงภายในกลางปี 2565 เช่น รัสเซีย ออสเตรเลีย กลุ่มที่ 3 ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงภายในปลายปี 2565 เช่น จีน อินเดีย ไทย กลุ่มที่ 4 ประเทศที่จะฉีดวัคซีนทั่วถึงหลังจากปี 2566 เช่น อินโดนีเซีย เมียนมา ประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ส่วนประเทศยากจน จะได้ฉีดวัคซีนได้อย่างทั่วถึงช้าสุดคือหลังจากปี 2566 ไปแล้ว2

วัคซีนยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองระหว่างประเทศ ในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่สงครามเย็นรอบสองระหว่างศูนย์กลางอำนาจสหรัฐอเมริกาและเครือข่ายยุโรป ออสเตรเลีย กับจีน การจัดสรรวัคซีนก็สะท้อนการขับเคี่ยวทางการเมืองได้เป็นอย่างดี โดยในขณะนี้ประเทศจีนเร่งดำเนินการจัดสรรวัคซีนให้กับ 80 ประเทศ 3 องค์กรระหว่างประเทศ ส่งออกวัคซีนไปยัง 40 ประเทศ และร่วมมือวิจัยผลิตวัคซีนอีก 10 ประเทศ ด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งเพราะลดความเหลื่อมล้ำของการครอบครัววัคซีนของค่ายอเมริกาและยุโรป

ในทางตรงกันข้าม ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะให้คำมั่นในการจัดหาเงินทุน 4 พันล้านดอลลาร์ (2.8 พันล้านปอนด์) เพื่อสนับสนุนโครงการแบ่งปันวัคซีนทั่วโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ Covax และชัดเจนตามที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นายเอ็มมานูเอล มาครง เสนอว่า “ประเทศต่างๆ (กลุ่ม G7) ควรเจียดวัคซีนจำนวนเล็กน้อยจากหลายสิบล้านโดสที่มีให้เร็วขึ้นเท่านั้น…หากยุโรปและสหรัฐฯ ไม่ผลักดันโครงการแบ่งปันวัคซีนให้เกิดขึ้น ก็จะเป็นการเปิดช่องให้จีนและรัสเซียก้าวเข้ามาอุดช่องว่างนี้ ซึ่งจะ “ปูทางไปสู่สงครามการสร้างอิทธิพลด้านวัคซีน”3

จากการขับเคลื่อนจัดสรรวัคซีนของสองขั้วอำนาจ บ่งบอกได้ว่า วัคซีนไม่ได้ถูกแบ่งปันบนความรับผิดชอบและเอื้ออาทรต่อพลเมืองโลกร่วมกัน จนนายTedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเรียกสถานการณ์แย่งชิงอำนาจด้วยวัคซีนว่า “วัคซีนชาตินิยม” โดยชี้ว่า ปัญหานี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ล่าสุดคือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ H1N1 กว่าจะมาถึงประเทศกำลังพัฒนา ประชากรประเทศร่ำรวยต้องได้รับวัคซีนถ้วนหน้าก่อน เช่นเดียวกับวัคซีนไข้ทรพิษ โปลิโอ ยาต้านโรคเอดส์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้จีนและอินเดียต้องเสริมสร้างศักยภาพในการค้นคว้านวัตกรรมและผลิตยาภายในประเทศ4

วัคซีนชาตินิยมส่งผลให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้บางประเทศจะฉีดวัคซีนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตราบใดที่โควิด-19 ยังระบาดทั่วโลก ก็ยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะก่อนการระบาด ขณะที่โครงการริเริ่มเพื่อการเข้าถึงวัคซีนแก่ทุกประเทศอย่างเท่าเทียมไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจน (COVAX) ซึ่งเป็นระบบการจัดการร่วมเพื่อแบ่งปันวัคซีนให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีประเทศกว่า 180 ประเทศร่วมลงขัน COVAX มีเป้าหมายจัดหาวัคซีให้กับประเทศยากจนหรือประเทศที่มีรายได้ปานกลาง 92 ประเทศอาจประสบปัญหา เพราะต้องใช้เงินราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ขณะนี้ระดมทุนได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง เพราะประเทศร่ำรวยเช่น สหรัฐอเมริกาปฏิเสธเข้าร่วมโครงการดังกล่าว

สถานการณ์ดังกล่าวมีรากปัญหามากกว่าแนวคิดชาตินิยมตามที่นาย Tedros แต่คือ “สภาวะสงครามเย็นวัคซีน” โดยประเทศศูนย์กลางอำนาจต่อสู้แข่งขันอำนาจกันโดยใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือต่อขยายอำนาจ อิทธิพลสร้างความสวามิภักดิ์หรือบริวารให้แก่ตนและเพื่อต่อต้านการขยายอำนาจของฝ่ายตรงข้าม ภาวะการณ์ดังกล่าวก่อตัวในบริบทการปะทะทางอารยธรรม (clash of civilization) รอบใหม่ระหว่างขั้วอำนาจตะวันตกกับจีนตามที่นักวิชาการแซมมวล ฮันติงตันได้เคยชี้นำไว้

สิ่งที่ต่างออกไปคือ สงครามเย็นรอบที่แล้วเป็นการต่อสู้ของอุดมการณ์ทุนเสรีนิยมกับสังคมนิยม หากแต่ในรอบนี้เป็นการต่อสู้ภายใต้ระบบทุนนิยมร่วมกัน แต่เป็นทุนนิยมผิวขาวกับผิวเหลืองที่ไม่มีเพียงมีตัวแสดงหลักแค่รัฐ แต่ยังมีบทบาทของกลุ่มทุนข้ามชาติด้วย และจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์จะไม่ใช่ชัยชนะของอุดมการณ์การเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คือความพ่ายแพ้ของมนุษยชาติ

จากสถานการณ์แย่งชิงวัคซีน เราไปดูต่อที่สถานการณ์ฝุ่น pm 2.5 ซึ่งเป็นส่งผลให้สุขภาพของประชาชนเกิดเจ็บป่วยล้มตายจากมะเร็งหรือแม้แต่โควิดเอง สภาวะความเหลื่อมล้ำในอากาศสะอาดก็ปรากฏไม่ต่างกัน จากรายงานของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค พบว่า คนในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งส่วนมากคือเอเชีย สูดมลพิษฝุ่นมากที่สุด เห็นได้จากเมืองที่มีมลพิษสูงสุด 50 แห่งของโลกอยู่ในเอเชียเกือบทั้งหมด แม้ว่าไฟป่ารุนแรงทางตะวันตกของสหรัฐฯ จะทำให้ระดับมลพิษสูงขึ้นก็ตาม5

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดจากการเผาพืชพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย ฯลฯ เพื่อแปรรูปเนื้อสัตว์ และการเผาเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมป้อนสู่ประเทศศูนย์กลางเศรษฐกิจ เช่น จีน สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น

ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาเดียวกับสภาวะโลกร้อนที่การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ และอื่นๆ จากกลุ่มอุตสาหกรรมบนฐานพลังงานฟอสซิล รายงานของ Greenpeace ระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมปศุสัตว์ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ รวมทั้งแหล่งทุนซึ่งเป็นผู้สนับสนุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นผู้รับผิดชอบผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างยิ่งกลุ่มบริษัทเพียง 100 บริษัทปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 71 ทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเงินทุนจากธนาคารเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกด้วย6

แต่กลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มกำลังทำให้ประเทศยากจนชายฝั่งทะเลหลายประเทศหายไป ประชาชนคนยากจนในแอฟริกา เอเชีย อเมริกาใต้ประสบปัญหาเจ็บป่วยจากคลื่นความร้อน ไม่มั่นคงอาหาร สภาวะอากาศผันผวน ภัยแล้ง โรคระบาด การผลิตตกต่ำ ภัยพิบัติธรรมชาติรุนแรง ยากจน แม้แต่ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ที่เสี่ยงต่อผลกระทบรุนแรงจากสภาวะโลกร้อน แต่ความเดือดร้อนจากสภาวะโลกร้อนก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

งานวิจัยจากองค์การอ็อกแฟม (Oxfam ) ระบุว่า กลุ่มคนมั่งคั่งที่สุดในโลกที่มีเพียงร้อยละ 10 จากประชากรทั้งโลกนั้นเป็นสาเหตุก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 50 คนกลุ่มนี้ยังครอบครองทรัพยากรของโลกเกินครึ่ง พวกเขาส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในโลกที่ “พัฒนาแล้ว” ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 50 ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

หากแต่ปัญหาฝุ่นและโลกร้อนเป็นปัญหาที่อบจนยิ่งกว่าปัญหาโควิด เพราะโควิดยังมีวัคซีนมาช่วยแก้ปัญหา แต่เพราะการช่วงชิงผูกขาดอำนาจในภาวะสงครามเย็นวัคซีน อาจทำให้ผลกระทบโควิดยืดเยื้อยาวนาน แต่ปัญหาฝุ่นกับโลกร้อนไม่มีวัคซีนใดๆ ป้องกันได้ หากระบบการผูกขาดผลประโยชน์ การเล่นเกมส์สงครามเย็นวัคซีนที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพยังดำเนินต่อไป โลกกำลังเข้าสู่ภาวะล่มสลายในไม่ช้า

ทางรอดจากวิกฤติโควิด ฝุ่น pm 2.5 และโลกร้อน ต้องทลายระบบผูกขาดอำนาจ ยุติความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมทางนิเวศ สุขภาพ ด้วยหลักการพื้นฐานของการเมืองสิ่งแวดล้อมคือ 1) ความรับผิดชอบเชิงนิเวศ 2) ความยุติธรรมทางสังคม 3) ความไร้ความรุนแรง และ 4) ประชาธิปไตยรากหญ้า

เริ่มต้นด้วยการมองพลเมืองโลกอย่างเท่าเทียมและรับผิดชอบซึ่งกัน ข้ามความคิดความเป็นรัฐ-ชาติ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ต่างๆ

มองให้เห็นว่าเราล้วนอยู่ในห่วงโซ่แห่งผลกระทบของโลกซึ่งกัน การดำรงชีวิตของเราอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่ เราได้อภิสิทธิ์หรือหรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากโลกอย่างไร และมุ่งหมายที่จะสร้างความเป็นธรรมให้ปรากฏ

สร้างพลังความร่วมมือเป็นเครือข่ายทางสังคมในการช่วยเหลือ จัดการร่วมกัน พัฒนาให้เป็นระบบคุ้มครองทางสังคมในกลุ่ม ชุมชนจัดการตนเอง และระดมความร่วมมือช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ยากให้เกิดความเป็นธรรม

เปลี่ยนความสัมพันธ์เรากับธรรมชาติ การรักษาสุขภาพเป็นเรื่องเดียวกับสิ่งแวดล้อม ลดระดับการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติแบบล้างผลาญ เปลี่ยนเป็นเอาธรรมชาติเป็นตัวตั้ง หยุดการผลักภาระและผลกระทบใดๆ ไปสู่ธรรมชาติ

แสดงตนต่อต้านการผูกขาด ต่อสู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมที่ปรากฏในทางนโยบายรัฐ โดยการเรียกร้องการมีส่วนร่วมในฐานะสิทธิพลเมือง ต่อต้านการผูกขาดผลประโยชน์ของกลุ่มทุนโดยใช้พลังของผู้บริโภค และคัดค้านการเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมาเป็นการเมืองแย่งชิงอำนาจ

ด้วยการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาโลกตามแนวเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGSs) ไปสู่การให้ระบบนิเวศเป็นศูนย์กลาง ก้าวข้ามความเป็นรัฐ-ชาติ และชาติพันธุ์นิยมใดๆ ที่ก่อให้เกิดการแบ่งขั้วแบ่งฝ่าย การยืนหยัดในสิทธิของธรรมชาติ สิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนท้องถิ่นที่แตกต่างหลากหลายแต่เท่าเทียมและเป็นธรรม พัฒนาระบบการจัดการปกครองเชิงสิ่งแวดล้อม มุ่งลดความเสี่ยงเชิงนิเวศ เพื่อป้องกันการผลักภาระ ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไปสู่สังคม สร้างประชาธิปไตยรากหญ้าที่เครือข่ายชุมชนร่วมมือกันสามารถจัดการตนเอง และพัฒนาระบบจัดสวัสดิการทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

ทั้งหมดนี้รวมมาสู่การสร้างขบวนการพลเมืองเพื่อความเป็นธรรมในสุขภาพและสิ่งแวดดล้อมที่ต้องเร่งสร้างและขับเคลื่อนโดยด่วน การที่ระบบผูกขาดจะทำลายโลกจนย่อยยับ

หมายเหตุ

1.XINHUA Thai News Service, จีนช่วยเหลือ 80 ประเทศ ด้านวัคซีนโควิด 19 หวังลดความเหลื่อมล้ำ, 31 มีนาคม 2564, https://www.xinhuathai.com/high/189919_20210331

2.กรุงเทพธุรกิจ, โลกเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง ‘วัคซีนโควิด’, 18 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923157

3.The Standard, ผู้นำฝรั่งเศสเสนอยุโรป-สหรัฐฯ แบ่งวัคซีน 4-5% ให้ประเทศยากจน หวังลดความเหลื่อมล้ำ, 20 กุมภาพันธ์ 2021, https://thestandard.co/french-leader-offers-europe-us-sharing-vaccines-to-poor-countries/

4.The Momemtum, ศึกวัคซีนชาตินิยม: เมื่อประเทศร่ำรวยสั่งซื้อจนไม่เหลือเผื่อประเทศยากจน, 26 มกราคม 2021, https://themomentum.co/economiccrunch-vaccine-war/

5.National Geographic, 2021, ราคาของอากาศสะอาด, เมษายน 2564, น.58-59

6.Greenpeace Thailand, ความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ” จะช่วยให้โลก “เท่าเทียม” มากขึ้น, 4 พฤษภาคม 2020, https://www.greenpeace.org/thailand/story/12509/climate-justice-will-prevent-unequality/