ThaiPublica > คอลัมน์ > การเมืองแห่งความหวังในการเผชิญโลกร้อน

การเมืองแห่งความหวังในการเผชิญโลกร้อน

12 มีนาคม 2020


กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

“ผมเคยคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดคือ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การล่มสลายของระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้ามีการพัฒนาวิทยาศาสตร์ที่ดี อีกสัก 30 ปี เราน่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ผมคิดผิด เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดคือ ความเห็นแก่ตัว ความโลภ และการเพิกเฉยไม่ใส่ใจ … และเราจะแก้ไขก็ด้วยการเปลี่ยนผ่านทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม…ซึ่งนักวิทยาศาสตร์อย่างเราไม่รู้จะทำยังไง” (James Gustave Speth)

ถ้อยคำของ Speth นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งสถาบันทรัพยากรโลก และสภาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ได้สรุปว่า แท้จริงแล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ผู้เชี่ยวชาญจะมาออกแบบแก้ไขเชิงเทคนิค แต่เป็นปัญหาทางสังคมและจิตวิญญาณของมนุษย์ ถูกขับออกมาอย่างเด่นในชัดในระบบทุนนิยม ซึ่งระบบการเมืองการปกครองหลักๆ ของโลกที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เช่น ระบบสังคมนิยม (ที่ล่มสลายไปแล้วหรือผนวกเข้ากับทุนนิยม เช่น จีน รัสเซีย ฯลฯ) และทุนนิยมเสรีล้มเหลวเสมอในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม ดังคำปรารถของสาวน้อยเกรียตา ทุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนที่โด่งดังทั่วโลกที่กล่าวอย่างหมดหวังว่า

“ไม่ว่าซ้ายหรือขวาหรือตรงกลาง ล้วนล้มเหลวทั้งสิ้น ไม่มีแนวคิดทางการเมืองการปกครอง หรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจใดที่สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือสร้างโลกที่ยั่งยืนได้”

เสียงสะท้อนของเกรียตาก็เป็นความรู้สึกร่วมของขบวนการสิ่งแวดล้อมทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ที่แม้ประเด็นโลกร้อนจะเป็นเรื่องที่รุนแรงและเร่งด่วนที่สุดของมนุษยชาติและสรรพชีวิตในโลก แต่รัฐต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังในระดับขั้นต้องปฏิวัติสังคม รัฐกระทำแต่เพียง “การเมืองแห่งถ้อยคำ” หรือใช้เรื่องโลกร้อนเป็นยุทธวิธีระดมทุนผ่านข้อตกลงระดับสากล เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งทั้งหมดก็ต้องปฏิบัติการผ่านกลไกรัฐที่เป็นตัวปัญหาในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมเสียเอง

ปัญหาสำคัญที่ทำให้รัฐแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ เป็นเพราะรัฐในเวลานี้ถูกกำกับโดยระบบทุนนิยม มีสภาพเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนทุนนิยมให้ไปรอดในสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกทั้งจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติโรคระบาดจาก COVID-19 ดังนั้นไม่ว่าระบบทุนรัฐผูกขาดแบบจีน ทุนนิยมเสรีแบบสหรัฐฯ หรือระบบประชาธิปไตยอื่นๆ ที่มีอยู่จึงไม่ได้มีอิสระ และไม่ได้มีอำนาจต่อรองพอที่จะกำกับทุนนิยมที่สร้างสภาวะโลกร้อนได้

ปัญหาสภาวะโลกร้อนได้ทำให้เกิดการทบทวนแนวคิด ทฤษฎีรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชุดแนวคิดเดิมไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับรัฐเป็นศูนย์กลางเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ มุ่งการเมืองระดับบน สร้างข้อตกลง กติกาผ่านองค์กรรัฐระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ เชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี บริหารด้วยทรัพยากรด้วยกลไกตลาด สร้างการพัฒนาเพื่อความเติบโตมั่งคั่ง และสร้างระบบแลกเปลี่ยนถ่ายโอนการจัดการปัญหาโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมในฐานะสินค้าชนิดหนึ่ง ทั้งหมดนี้ปฏิรูปทุนอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอื่นๆ ที่เป็นเหตุสำคัญแห่งโลกร้อนไม่ได้เลย

เมื่อปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางโดยที่กลไกรัฐไม่สามารถจัดการได้ ขบวนการต่อสู้โลกร้อนทั่วโลกจึงก่อตัวเคลื่อนไหวหลากหลายทิศทาง รวมถึงในประเทศไทยก็มีขบวนการสิ่งแวดล้อมที่มียุทธศาสตร์การจัดการโลกร้อนหลากหลายรูปแบบดังต่อไปนี้

1) กระแสเทคโนโลยีนิยม ในระดับบุคคล เช่น พัฒนาอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน โซลาร์เซลล์ รถไฟฟ้า ฯลฯ ในระดับองค์กร และสาธารณะ เช่น ขนส่งมวลชนสาธารณะแบบไฟฟ้า การผลิตอาหาร ปัจจัยใช้สอยที่ใช้พลังงานต่ำ เป็นต้น

2) กระแสพลังงานหมุนเวียน เช่น ลดเลิกพลังงานฟอสซิล แทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ

3) กระแสกลไกตลาด เช่น สร้างตลาดการซื้อขาย ลงทุนคาร์บอน เพื่อให้เกิดการโอนย้ายถ่ายเทภาระ ความรับผิดชอบ บนฐานผลประโยชน์สูงสุด

4) กระแสเพิ่มพื้นที่ป่า เช่น การปลูกป่า รักษาพื้นที่สีเขียวตามธรรมชาติทั้งบนบกและทะเล

5) กระแสบริโภค เช่น ลดเลิกทานเนื้อสัตว์ อาหารที่ผลิตจากพืชเชิงเดี่ยว เปลี่ยนมาสู่อาหารจากระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

6) กระแสการออกแบบเมืองสีเขียว ที่มีโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน พื้นที่สาธารณะ ที่อยู่อาศัย จัดการขยะพลังงานหมุนเวียน) เพื่อให้ตั้งรับ ปรับตัว ลดการปล่อยก๊าซ

7) กระแสนิเวศวัฒนธรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับวิถีประเพณีของการดำรงชีพของชุมชนท้องถิ่น ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนทั้งการจัดการป่า เกษตรพื้นบ้าน เกษตรกรรมยั่งยืน และอื่นๆ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบของการจัดการทรัพยากรทั้งในเชิงตั้งรับ ปรับตัว และเพิ่มขีดความสามารถ

8) กระแสนิเวศวิทยาการเมือง ที่ตั้งคำถามและวิพากษ์ความไม่เป็นธรรมของโครงสร้างการพัฒนาที่สร้างสภาวะโลกร้อน และผลักผลกระทบให้สาธารณะ ซึ่งคนชายขอบโดนหนักที่สุด โดยเสนอให้ปรับโครงสร้างนโยบาย กระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมประชาชน รับรองสิทธิชุมชน เป็นต้น

แต่ละกระแสให้น้ำหนักทางยุทธศาสตร์ที่ต่างกัน บ้างเน้นที่พฤติกรรมบุคคล (กิน ใช้ บริโภค ไลฟ์สไตล์) บ้างเน้นไปที่การเปลี่ยนแนวคิด คุณค่า วิถีชีวิตของชุมชน สังคมไปสู่นิเวศวัฒนธรรมทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่ บ้างเน้นไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น โครงสร้างนโยบายระบบพลังงาน ระบบการจัดการทรัพยากร ที่ต้องออกแบบนโยบาย กลไกนโยบายใหม่ บ้างเน้นไปที่กลไกทางเศรษฐกิจโดยตลาด เช่น การสร้างแรงกดดันและแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

แต่การเคลื่อนไหวของขบวนการสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ล้วนเผชิญข้อจำกัดในการต่อสู้ปัญหาโลกร้อน ได้แก่

    1. ขาดความเชื่อมโยง แม้สังคมจะรับรู้ปัญหาว่าเกี่ยวข้องกับโลกร้อน เช่น ฝุ่นควัน PM 2.5 ปัญหาไฟป่า ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาความไม่มั่นคงอาหาร ปัญหาภัยพิบัติ และอื่นๆ แต่สังคมจะสนใจรับรู้และแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนๆ ขาดความเชื่อมโยงกับปัญหาเชิงระบบโลกร้อน ในขณะที่การขับเคลื่อนโลกร้อนทั้งในระดับสากลและประเทศ ยังไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลวิทยาศาสตร์ เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ ให้เข้ากับการดำรงชีพในชีวิตประจำวันของประชาชน และในทางกลับกันก็มองไม่เห็นว่า สิ่งที่ประชาชนขับเคลื่อน เช่น ป่าชุมชน เกษตรกรรมยั่งยืน พลังงานหมุนเวียน การปกป้องพื้นที่อาหาร การคัดค้านนิคมอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าถ่านหิน และอื่นๆ นั้นเป็นเรื่องโลกร้อนโดยตรง ทำให้ข้อเสนอการแก้ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นมักไม่รอบด้าน เช่น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแต่ละเลยความเป็นธรรม เน้นเทคโนโลยีแต่ขาดมิติความเหลื่อมล้ำ เน้นพฤติกรรมแต่ไม่โยงโครงสร้าง หรือขับเคลื่อนโครงสร้างแต่ไม่มีจุดเริ่มต้นให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

    2. ขาดเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ลำพังการบอกแต่เพียงประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งในภาพรวมและต่อหัวเท่าไหร่ และกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซลงเท่าไหร่ เป็นการนำเสนอที่เป็นนามธรรม (ภาพรวม มีแต่ตัวเลข) เกินไป ทำให้ไม่เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนว่าในแต่ละภาคส่วน เช่น ภาคพลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคเมือง ภาคเกษตร ภาคป่าไม้ ควรกำหนดเป้าหมายการลดและดูดซับก๊าซเท่าไหร่ ด้วยระบบ กลไกอะไร และกระบวนการเปลี่ยนผ่านควรเป็นอย่างไร

    3. ขาดการสื่อสารที่โยงมิติคุณค่า อารมณ์ และความสัมพันธ์ทางสังคม หรือกล่าวง่ายๆ เป็นการสื่อสารที่มีมิติมนุษย์ เพื่อตระหนัก สร้างความหวัง และพลังการเปลี่ยนแปลง มากไปกว่ามิติวิทยาศาสตร์กายภาพ และมิติเศรษฐศาสตร์

    4. ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณะอย่างกว้างขวาง แม้จะเริ่มมีกิจกรรมรณรงค์ เช่น กลุ่ม Climate Strike แต่ก็ยังจำกัดวงเฉพาะเยาวชน ยังไม่มีกลุ่มเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ขับเคลื่อนสาธารณะที่กว้างขวาง เปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มได้นำเสนอปัญหา สะท้อนบทเรียน นำเสนอเป้าหมาย และแนวทางการขับเคลื่อน เพื่อที่จะทำให้เรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องสาธารณะของทุกกลุ่ม

    5. ขาดพื้นที่ (platform) และกลไกประสานงานการขับเคลื่อน การขาดพื้นที่และกลไกทำให้ไม่มีการรวมพลังขับเคลื่อน และไม่สามารถสร้างจุดเน้นทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดพลังได้ แม้ไม่จำเป็นต้องมีกลไกกลางเพียงกลไกเดียว แต่ก็ควรมีพื้นที่กลางที่เปิดให้ผู้คนที่ขับเคลื่อนได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ แนวทางการขับเคลื่อน และการสร้างความร่วมมือกัน และควรมีกลไกในเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น กลไกเชิงยุทธศาสตร์ กลไกนโยบาย กลไกการสื่อสาร กลไกวิชาการ กลไกเชื่อมประชาชน

แต่ไม่ว่าจะเป็นกระแสไหน ไม่มีทางออกไหนโดยลำพังที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่าโลกและประเทศไทยจะก้าวพ้นวิกฤติโลกร้อนได้ ขบวนการขับเคลื่อนเพื่อเผชิญสภาวะโลกร้อนจึงควรมีทิศทางดังนี้

    1. ขับเคลื่อนหลายมิติและเชื่อมโยงกัน ทั้งการเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค การสร้างคุณค่าทางสังคม การสร้างนโยบาย การใช้กลไกตลาด และกลไกทางสังคมเพื่อจัดการปัญหา แต่มียุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงกัน เช่น การรณรงค์เรื่องพฤติกรรมบุคคล เพื่อให้บุคคลรับรู้และเห็นเชื่อมโยงปัญหาเชิงโครงสร้าง และใช้พฤติกรรมวิถีชีวิตประจำวันเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง หรือการใช้เทคโนโลยี กลไกตลาดก็จะต้องไม่มองข้ามปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคม
    2. กำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมในแต่ละภาคส่วนและประเมินอย่างรอบด้านเพื่อวางแผนขับเคลื่อน โดยมีการประเมิน สำรวจสถานการณ์ สภาพปัญหา ทุนทางสังคม โอกาส และปัจจัยท้าทายแต่และด้านให้ชัดเจน
    3. สื่อสาร รณรงค์ที่มีมิติมนุษย์ โดยมีเป้าหมายให้ผู้คนตื่นตัวเห็นว่าเรื่องโลกร้อนสำคัญยิ่งยวด เชื่อมโยงกับชีวิตพวกเขา ทำให้พวกเขามีความหวังที่จะเปลี่ยนแปลง และมีบทบาทกระทำการที่มีคุณค่าในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ควรเริ่มต้นจากศึกษาทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายให้ลึกซึ้ง และวางแผนการสื่อสารที่เชื่อมโยงโลกร้อนกับเรื่องราวชีวิตของพวกเขา
    4. สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของสาธารณะอย่างกว้างขวาง โดยส่งเสริมให้แต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มชุมชนฐานทรัพยากร กลุ่มเกษตร กลุ่มคนชั้นกลางเมือง กลุ่มธุรกิจ กลุ่มพลังงาน ฯลฯ โดยเน้นไปที่กลุ่มทางยุทธศาสตร์ที่มีโอกาสที่จะเป็นหัวขบวนการขับเคลื่อน และวางแผนสื่อสารให้สอดคล้องกับวิถี ปัญหา ความสนใจ และเป้าหมายของแต่ละกลุ่ม ให้เชื่อมโยงเป็นขบวนการขับเคลื่อนต้านโลกร้อน
    5. สร้างพื้นที่ (platform) และกลไกประสานการขับเคลื่อนในแต่ละด้าน โดยสร้างพื้นที่กลางสาธารณะทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมมือกัน และดึงภาคีที่มีความสนใจ มีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแต่ละด้าน เช่น ด้านวิชาการ ด้านการสื่อสาร ด้านนโยบาย ด้านขับเคลื่อนมวลชน ฯลฯ มาสร้างเป็นกลุ่มประสานงาน (node) ในการระดมพลังสังคมมาขับเคลื่อนแต่ละด้าน โดยมีกลไกเชิงยุทธศาสตร์ประสานเชื่อมโยงกัน

มากไปกว่าการขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์หรือยุทธวิธี ขบวนการสิ่งแวดล้อมทั่วโลกกำลังร่วมกันก่อร่างแนวคิดระบบการเมืองใหม่ที่มีหลักการทางการเมืองเชิงนิเวศขึ้นมาใหม่ ที่ก้าวพ้นจากระบบการเมืองในรูปแบบเดิม การเมืองเชิงนิเวศใหม่มีหลักคุณค่าพื้นฐานประกอบด้วย

    1) ความรับผิดชอบเชิงนิเวศ
    2) ความยุติธรรมทางสังคม
    3) ความไร้ความรุนแรง
    4) ประชาธิปไตยรากหญ้า
    5) นิเวศวัฒนธรรม
    6) การรับรองสิทธิของธรรมชาติที่มนุษย์ควรเคารพและยอมรับ

ระบบการเมืองเชิงนิเวศกำลังสร้างทิศทางที่แตกต่างไปจากระบบการเมืองที่มีอยู่ ตั้งแต่การเมืองที่ไม่ได้มีรัฐเป็นศูนย์กลางเดียวแต่มีภาคสังคมมากำกับ มุ่งเน้นการเมืองระดับล่าง หรือการเมืองของประชาชนในการสร้างระบบจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เป็นการเมืองข้ามพรมแดนก้าวข้ามกรอบของรัฐ-ชาติ เข้าใจและจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในฐานะปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม และการสร้างมาตรฐานเดียวทางสังคม ระบบการเมืองเชิงนิเวศต้องไม่ลดรูปปัญหาโลกร้อนที่เป็นปัญหาสังคมให้กลายเป็นชุดคำ/แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่ผูกขาดโดยผู้เชี่ยวชาญ สร้างระบบผสานพลังรัฐและสังคมกำกับทุน กลไกตลาด ให้ตอบโจทย์ความรับผิดชอบ ความยั่งยืนทางนิเวศ เปิดพื้นที่รับรองสิทธินิเวศวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นที่หลากหลายให้มีความเข้มแข็งในการจัดการสภาวะโลกร้อน

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นชุดความรู้ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์เพื่อจัดการสภาวะโลกร้อนประเภทต่างๆ เช่น สภาวะภูมิอากาศ (climatology) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การซื้อขายคาร์บอน (carbon credit) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา (REDD) และอื่นๆ ต้องอยู่ภายใต้หลักการและระบบการเมืองเชิงนิเวศใหม่

หากการเมืองเชิงนิเวศใหม่เกิดขึ้นได้ จะเปลี่ยนโฉมหน้าของระบบการเมืองต่างไปจากเดิม รัฐชาติ พลเมือง ประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ที่เราเข้าใจจะถูกนิยาม ออกแบบโครงสร้าง และจัดความสัมพันธ์ใหม่เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของมนุษยชาติรุ่นต่อไป

แต่หากขบวนการสู้โลกร้อนทำได้เพียงคลื่นกระทบฝั่ง ระบบการเมืองของโลกและของไทยยังอยู่บนฐานรัฐชาติและทุนนิยมผูกขาด เราคงหลีกเลี่ยงหายนะจากสภาวะโลกร้อนไม่พ้น