ThaiPublica > เกาะกระแส > ไทยไปไกลกว่าได้เลือกตั้งพร้อมก้าวทันโลก รัฐบาลใหม่เร่งปฏิรูปให้ประชาชนมีส่วนร่วม

ไทยไปไกลกว่าได้เลือกตั้งพร้อมก้าวทันโลก รัฐบาลใหม่เร่งปฏิรูปให้ประชาชนมีส่วนร่วม

19 มกราคม 2019


งานสัมมนาสาธารณะ “มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง” โดย ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา(ที่ 3 จากซ้าย) ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ (กลาง) นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก (ที่ 3 จากขวา)นักวิชาการด้านกฎหมาย ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร(ที่ 2 จากขวา) ผู้เชี่ยวชาญโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง (ที่ 2 จากซ้าย)เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีนายสุภาพชาย บุตรจันทร์ และดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย ดำเนินการเสวนา

เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2562 หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 8 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลักสูตร บสส.8 สถาบันอิศรา ได้จัดงานสัมมนาสาธารณะ “มองเมืองไทย ให้ไกลกว่าได้เลือกตั้ง” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 6 อาคารปฏิบัติการวิทยุโทรทัศน์ บมจ. อสมท.

โดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมเวทีสัมมนา ประกอบด้วย ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีนายสุภาพชาย บุตรจันทร์ และดร.รุ่งทิพย์ โชติณภาลัย ดำเนินการเสวนา

รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขวิกฤติการศึกษา

ศ.กิตติคุณ นพ. จรัส สุวรรณเวลา กล่าวว่า ด้านการศึกษามีปัญหาหนัก 4 ข้อได้แก่ หนึ่ง คุณภาพต่ำการเรียนการสอนยังไม่ดีขึ้นเน้นการท่องจำเทียบ ต่างประเทศไม่ได้ สอง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษารุนแรงมาก ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้เป็นปัญหาข้ามรุ่น สาม ไร้ความสามารถการแข่งขันกับต่างชาติ ตกอยู่ในอันดับที่ 56 ของโลก ถือเป็นตัวถ่วงประเทศไทย และสี่ ใช้งบประมาณสูงถึง 150,000 ล้านบาท เพื่อการศึกษาแต่กลับไม่ได้ผล

ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

“เกือบยี่สิบปีให้หลัง ประเทศไทยปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาต้องสำเร็จให้ได้ เพราะจะมีผลการพัฒนาเศรษฐกิจตามไปด้วย ขณะนี้มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 10 ล้านกว่าคน ขณะที่ในระดับอุดมศึกษาจากที่ก้าวหน้ามากกลับถูกประเทศอื่นนำ ทั้งฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซียที่ระบบการศึกษาพัฒนาหลังไทย จนสถาบันศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยไม่ติดใน 200 อันดับแรกของโลก ส่วนใน 300 อันดับมีติดเป็นที่เดียว” นายแพทย์จรัสกล่าว

ศ.กิตติคุณ นพ. จรัส กล่าวว่า พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ประกาศใช้แล้ว เพื่อให้ผลักดันบางส่วน เนื่องจากไทยประสบกับวิกฤตการศึกษา โดยมีโรงเรียนกว่า 30,000 โรงเรียนแต่โรงเรียนที่มีปัญหาถึง 10,000 โรงต้องแก้ไข โดยวิธีการแก้ไขต้องจัดการที่ระดับครูและโรงเรียน ไม่ใช่ระบบด้านบนสั่งการลงมา และปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีดิจิตอลแล้ว ควรให้นักเรียนเข้าถึง รวมทั้งต้องเปลี่ยนหลักสูตรจากท่องจำมาเป็นการสร้างสมรรถนะหากทำได้จะทำให้ระบบการศึกษาพัฒนาทุกระดับของผู้เรียน

“วิกฤติการศึกษาไทยต้องรีบแก้ไขให้ได้ผล แม้ต้องใช้เวลา แต่บางด้านสามารถแก้ไขได้ในระยะเวลา 3-5 ปี เพราะไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน เปลี่ยนรัฐบาลก็ต้องมีการแก้ไขต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนระดับไหน โดยต้องมีกลไกแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง มีการแก้ไขกฎระเบียบบางอย่างที่เป็นข้อจำกัด เช่น ข้อกำหนดการมีใบประกอบวิชาชีพของผู้บริหารสถานศึกษา ”ศ.กิตติคุณ นพ. จรัส กล่าว

ก้าวให้ทันภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ให้ความเห็นว่า ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกเป็นสิ่งที่ท้าทายไทยในยุคดิจิทัล ดังนั้นการเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งในลักษณะทวิภาคี หรือพหุภาคจึงมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ที่ให้ผลประโยชน์ต่อประเทศ

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง

รศ.ดร.สมชายกล่าวว่า ไทยเป็นสมาชิกข้อตกลงระหว่างประเทศหลายกลุ่มแต่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้มาก เช่น ข้อตกลง AFTA หรือเขตการค้าเสรีอาเซียน ไทยได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตเท่านั้น และเริ่มผลักดันการลงทุนที่สร้างมูลค่าเพิ่มในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไทยต้องให้ความสำคัญและวางแนวปฏิบัติเพื่อได้ให้ประโยชน์ได้แก่ หนึ่ง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หรือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง ASEAN 10 ประเทศกับคู่ภาคี อีก 6ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และสอง Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement (TPP) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก เป็นความตกลงการค้าเสรีกรอบพหุภาคีของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่สำคัญต้องรู้จักสมาชิกของแต่ละกรอบความร่วมมือให้ดี เพราะบางประเทศเป็นสมาชิกของหลายข้อตกลง

“ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเทคโนโลยี เพราะจะทำให้มีความไม่เท่าเทียมเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และทางการศึกษาอยู่แล้ว เพราะความก้าวหน้าทางดิจิทัลทำให้คนส่วนหนึ่งที่ฉลาดอยู่แล้ว จะมีโอกาสมากขึ้น จากการเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่องว่างจะกว้างมาก โลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง การเมืองต้องตอบคำถามนี้ให้ได้” รศ.ดร.สมชายกล่าว

ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ให้ความเห็นว่า อย่าฝากความหวังไว้กับนักการ เมือง เนื่องจากมีตัวอย่างให้เห็นมาหลายยุคแล้ว เห็นได้ชัดจากผลสำรวจความเห็นประชาชน ที่ให้คำตอบเดิมถึงความต้องการพื้นฐานที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นการสำรวจจากหน่วยงานใดและสำรวจช่วงใด ได้แก่ ความต้องการให้แก้ไขปัญหาปากท้อง ต้องการนักการเมืองที่มีคุณธรรมเสียสละ ต้องการเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียม การพัฒนาการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย

“คำตอบเหล่านี้สะท้อนถึงความเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา และเป็นคำตอบที่จะไม่ได้เจอในประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ว่าเขียนกฎหมายได้ดีแค่ไหน ก็ยังวนเวียนอยู่ในการแย่งชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน ยุคเลือกตั้งก็เป็นการแย่งชิงระหว่างพรรคการเมือง ยุคปฏิวัติรัฐประหารเป็นการแย่งชิงระหว่างทหารกับพลเรือน” ดร.เจษฏ์กล่าว

รศ.ดร.เจษฏ์มองว่า การพัฒนาทางการเมืองให้เป็นผลดีกับบ้านเมือง เป็นโจทย์ใหญ่มากสำหรับไทยที่ไม่เคยทำได้ ไทยมีการดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศแบบตั้งรับ รวมทั้งขาดการตระหนักและคำนึงถึงผลประโยชน์ จากความสัมพันธ์และข้อตกลงระหว่างประเทศ และนับจากการปฏิวัติยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไม่มีการปฏิรูปประเทศ แม้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในปี 2560 ก็ยังไม่ช่วยให้ไทยพัฒนาได้มาก เนื่องจากยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทุกกลุ่มในทุกด้าน

“สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นคิดว่า เมื่อไปหย่อนบัตรแล้ว ภายหลังการหย่อนบัตร ชีวิตจะเป็นอย่างไร เราฝากความหวังกับนักการเมืองไม่ได้ แต่ฝากความหวังกับตัวเองได้ ที่ผ่านมาทุกเรื่องของประเทศประชาชนมีส่วนร่วม ดังนั้นสุดท้ายแล้วหย่อนบัตรแล้ว ประชาชนก็ยังต้องไปช่วย” ดร.เจษฏ์กล่าว

“นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากระบบการเมืองแบบไหน หากเล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ยึดหลักการ นำหลักการมาสู่การปฏิบัติได้ ในหลายประเทศนักการเมืองไม่ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญเองที่ญี่ปุ่น คนที่เขียนรัฐธรรมนูญให้คือศัตรูที่มาทิ้งระเบิดที่ฮิโรชิมา มาจากระบอบประธานาธิบดี มาเขียนรัฐธรรมนูญให้กับระบอบรัฐสภา นี่คือการสร้างสรรค์ ไทยต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาทำประโยชน์” ดร.เจษฎ์กล่าว

ต้องเพิ่มวิจัยโยงเพื่อนบ้านส่งสินค้าเกษตร

ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร มองว่า ศักยภาพด้านการเกษตรของไทยจะด้อยลงต่อเนื่อง แม้ประเทศไทยเป็นประเทศการเกษตรที่มีประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 55 เป็นเกษตรกร เนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตร ดังนั้นจึงมีผลต่อการพัฒนาการเกษตรของประเทศในระยะต่อไป

ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV

การแข่งขันด้านการเกษตรของไทยในการค้าโลก กำลังถดถอยจากผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันเวียดนามนำหน้าไทยในการประกวดข้าวของโลกเป็นอันดับ 1ส่วน อันดับ 2 คือ ข้าวหอมลำดวนของกัมพูชา อันดับ 3 คือข้าวหอมมะลิของไทย ขณะเดียวกันพริกไทยและกาแฟอันดับหนึ่งของโลกคือเวียดนาม ขณะที่กัมพูชาได้อันดับหนึ่งของโลกในเรื่องของมันสำปะหลัง ส่วนการส่งออกไม้ผลที่เคยทำรายได้สูงก็ลดลง

ประเทศไทยมีข้อดี คือ หนึ่ง พันธุกรรม พืชเขตร้อน ประมงเขตร้อน ปศุสัตว์เขตร้อน นับเป็นจุดแข็ง ข้อที่ที่สองคือความรู้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่เรียนรู้จากสิ่งที่ไทยประสบความสำเร็จทำให้ระยะเวลาการเรียนรู้สั้น การออกแบบให้หน่วยรัฐหรือเกษตรกรเป็นเรื่องจำเป็น อย่างไรก็ตามไทยต้องพัฒนาชุดความรู้ด้าน Value Chain และการวิจัย ที่ยังมีน้อย เช่น การควบคุมระยะเวลาการส่ง ควบคุมกระบวนการสุกของผลไม้

“เราพอคาดการณ์ได้ว่าหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แต่เราต้องส่งสัญญานให้ผู้ข้องเกี่ยวรับรู้มากที่สุด ไทยตกขบวนไม่ได้ ถ้าสินค้าเกษตรเราโดนคุกคามเราจะอยู่อย่างไร เราทำได้ถ้ามีนโยบายช่วย เชื่อในศักยภาพของคนไทย เพียงแต่เราเพิกเฉยมากเกินไป เราไม่ตระหนักกับเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเกษตร” ดร.วรชาติกล่าว

สิ่งที่ต้องจับตามองอีกประเด็นคือ การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วระดับกลางจากจีนมาเวียงจันทร์ ที่จะแล้วเสร็จในปี2564 ไทยควรได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ด้วย โดยต้องเป็นพันธมิตรกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากไทยไม่มีชายแดนติดกับจีน ขณะที่เมียนมาเป็นประเทศที่มีอนาคตมาก เพราะมีพรมแดนติดกับจีนและอินเดีย ซึ่งจีนจะใช้ประเทศเหล่านี้ เช่น อ่าวตังเกี๋ย เป็นเส้นทางออกทะเล ไม่อ้อมแหลมฉบัง เส้นทางเหล่านี้จะเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรของประเทศไทยทั้งหมด ไทยต้องปรับตัว ต้องมีแนวทางการจัดการ

งานแรกรัฐบาลใหม่ลดความเหลื่อมล้ำ

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า การเลือกตั้งมีความสำคัญ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่าง ประชาชนต้องทำเอง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำหลังเลือกตั้งเรื่องแรก คือ การสร้างความเท่าเทียมในเรื่องคุณภาพชีวิต อย่างเช่น การรักษาพยาบาลระหว่างประชาชน และข้าราชการที่มีการรักษาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้การรักษาพยาบาลมีความเท่าทียมกันจากเปอร์เซ็นต์ความเท่าเทียมในเรื่องคุณภาพชีวิตที่มีประมาณ 4% หวังว่าจะเพิ่มขึ้น 40% หลังเลือกตั้ง

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

“ค่ารักษาพยาบาล เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากในเวลานี้มีค่าใช้จ่ายที่แพงมาก จนกระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ไปใช้บริการ เพราะในการใช้สวัสดิการของรัฐอย่าง บัตรทอง ที่มีสถานรักษาพยาบาลที่อยู่ห่างจากที่พักอาศัยเป็นต้น ดังนั้นค่ารักษาพยาบาลจึงมีการตรวจสอบได้ และมีเพดานราคา อย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่มีการกำกับราคาค่ารักษาพยาบาล ด้วยเหตุนี้ถ้ามีการเลือกตั้ง สิ่งที่ต้องทำหลังเลือกตั้ง คือ การผลักดันค่ารักษาพยาบาลให้เกิดความท่าเทียมกัน มีการตรวจสอบได้” นางสาวสารี กล่าว

ส่วนเรื่องที่สองนั้น ควรมีการผลักดันเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้านสวัสดิการให้ชัดเจนมากขึ้น อย่างเช่น ระบบประกันสังคมที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ได้เท่าที่เสียภาษีในรูปแบบมูลค่าเพิ่มเหมือนๆกันทุกคน โดยอาจจะเข้าไปจัดลำดับงบประมาณแผ่นดินของประเทศที่มีประมาณ3.3 ล้านล้านบาท แต่ไม่สามารถให้งบประมาณเพียง 300 ล้านบาทให้กับองค์กรผู้บริโภค เป็นต้น

ทั้งนี้ นางสาวสารี กล่าวต่อว่า การจัดลำดับงบประมาณ เพื่อนำมาใช้อย่างมีประโยชน์ เพื่อทำให้ประชาชนมีความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น 1.การศึกษา ต้องให้เรียนไปจนถึงระดับปริญญาตรฟรี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต 2.ต้องให้ผู้บริโภคมีอำนาจการต่อรอง เนื่องจากผู้บริโภคทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำให้สินค้าพัฒนาคุณภาพ และส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพที่ดีขึ้น 3.ระบบการขนส่ง ควรมีเพดานราคา ให้ประชาชนจ่ายเพียง 10%ของรายได้ขั้นต่ำ