ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > ความยั่งยืน# จากโลกถึงไทยกับมายาคติว่าด้วยความก้าวหน้าของ SDGs ในภาคธุรกิจ

ความยั่งยืน# จากโลกถึงไทยกับมายาคติว่าด้วยความก้าวหน้าของ SDGs ในภาคธุรกิจ

12 เมษายน 2017


ที่มา: http://www.globescan.com

แม้จะดูเหมือนว่าเราเห็นภาพความตื่นตัวอย่างคึกคักของทุกภาคส่วน หลังการประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนขององค์การสหประชาชาติ ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 เป็นต้นมา หลัง 193 ประเทศมีฉันทามติร่วมกันในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า SDGs

ทว่า น่าสนใจว่าในรายงานล่าสุด “Evaluating Progress Towards The Sustainable Development Goals” ที่เปิดเผยโดย Globescan และ Sustainability ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนระดับโลก เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 2560 กลับพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแตกต่างไป โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความก้าวหน้าในการทำงานเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนนี้ทั้งในระดับองค์กรในทุกระดับยังอาจไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะภาคธุรกิจ รายงานระบุว่า “อาจจะมีโอกาสอีกมากที่จะทำให้ดียิ่งขึ้น”

รายงานฉบับนี้อ้างอิงผลการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนทั่วโลกกว่า 500 คนจากภาคบริการ สื่อ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งสรุปความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ไว้ว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDG) นั้นไม่ได้มีความก้าวหน้ามากเท่าที่ควรจะเป็น แม้ในภาพใหญ่จะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เป็นบวกมากขึ้นเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา

ในภาพรวมเราจะเห็นความตื่นตัวที่คนมีต่อ SDGs โดยเฉพาะบทบาทที่เห็นจากฝั่งการทำงานของภาคประชาสังคมและผ่านการทำงานขององค์การสหประชาชาติเองในการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับเป้าหมายใหม่ในการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สำหรับในภาคปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะในภาครัฐและภาคธุรกิจในระดับโลกนั้น SDGs กลับไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรเป็น  “แม้จะมีสัญญาณที่ดีมากจากการที่ SDGs ทำให้ธุรกิจมีโฟกัสมากขึ้นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่ช้าเกินไปและไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร หากเราจะต้องการบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน” รายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนในฝั่งแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย จะมีมุมมองที่เป็นบวกต่อความก้าวหน้าของ SDGs มากกว่าผู้เชี่ยวชาญในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยผู้เชี่ยวชาญในแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง ให้คะแนนการ “ต้องปรับปรุง” ในประเด็นภาพรวมของความก้าวหน้าเรื่อง SDGs น้อยกว่าในสหภาพยุโรปและอเมริกาเหนือ

เป้าหมายไหนก้าวหน้า-เป้าหมายไหนล้าหลัง

ในการประเมินผลความก้าวหน้าในภาพรวมของการดำเนินการตามเป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายตามรายงานฉบับนี้ พบว่ามี 4 เป้าหมายหลักจาก 17 เป้าหมายของ SDGs ที่ยังน่าเป็นห่วงและไม่มีความก้าวหน้ามากนัก ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำ (เป้าหมายที่ 5) การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล (เป้าหมายที่ 14)  การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศน์บนบก (เป้าหมายที่ 15) และการขจัดความยากจน (เป้าหมายที่ 1) เพราะทั้งหมดมีความคืบหน้าน้อยมาก

ที่มา: http://www.globescan.com/component/edocman/?view=document&id=271&Itemid=591
หากเรียงลำดับจากการจัดอันดับความก้าวหน้าของแต่ละเป้าหมายความยั่งยืนฯ ทั้ง 17 เป้าหมายจากผลสำรวจพบว่า เป้าหมายที่มีความคืบหน้ามากที่สุดไปยังน้อยที่สุด เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา

ขณะที่เป้าหมายที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดใน 3 ลำดับแรก คือ 1) เป้าหมายที่ 9 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมและนวัตกรรม 2) เป้าหมายที่ 17 การสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 3) เป้าหมายที่ 3 การสร้างหลักประกันทางสุขภาพและคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเด็นที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด กลับไม่สอดคล้องกับ 3 เป้าหมายที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนมองว่า หากจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย ต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายสำคัญที่สร้างผลกระทบกับเป้าหมายทั้งหมดได้มากที่สุด ได้แก่ 1) การเร่งต่อสู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 39% (เป้าหมายที่ 13) 2) การสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา 26% (เป้าหมายที่ 4) และ 3) การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 24% (เป้าหมายที่ 12)

ต่อสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุด

ที่มา: http://www.globescan.com/component/edocman/?view=document&id=271&Itemid=591

ผลดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนจากทุกเซ็กเตอร์ยอมรับร่วมกันถึงประเด็นด้านการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่าเป็นประเด็นหลักที่สำคัญที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายอื่น โดยมีเพียงไม่มากนักที่ผู้เชี่ยวชาญจากบางภูมิภาคอย่าง แอฟริกาจะมองแตกต่าง โดยจัดอันดับให้ประเด็นเรื่องคุณภาพการศึกษาคือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของ SDG ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากลาตินอเมริกาเลือกให้การลดความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด (ดูภาพด้านบนประกอบ)

นอกจากนี้ในรายงานยังพบว่า 4 ใน 10 ของคนที่ตอบคำถามมองว่า จากทั้ง 17 เป้าหมายเรื่อง การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate action) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากองค์กรธุรกิจมากที่สุด โดยดำเนินการเพื่อตอบสนองในการบรรลุเป้าหมาย (global goals) ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งเรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่า การทำเพื่อตอบสนองเป้าหมายนี้เป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจมีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเห็นโอกาสธุรกิจจากเรื่องนี้มากไปกว่ามองว่าเป็นแรงกดดันที่มาจากภายในและภายนอกองค์กร หรือเป็นภาวการณ์ในการแข่งขัน ถือเป็นพัฒนาการของธุรกิจ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ มาจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเวลา 30 ปีที่ความคิดนี้ค่อยๆ เปลี่ยนมุมมอง “ความยั่งยืน” ขององค์กรธุรกิจซึ่งทำให้เป้าหมาย SDGs ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับองค์กร

แนวโน้มใหม่ บรรจุ SDGs ในกลยุทธ์ เปลี่ยนแรงกดดันเป็นโอกาส

แม้ในภาพรวมของผลสำรวจอาจจะเป็นข่าวที่ไม่ดีนักของภาคธุรกิจที่อาจจะไม่ได้มีความก้าวหน้ามากเท่าที่ควรในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ในรายงานชี้ให้เห็นประเด็น “การลงมือทำ” ของธุรกิจกลับน่าสนใจ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนจากภาคธุรกิจระบุว่า องค์กรธุรกิจของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน SDGs ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการสอดคล้องกับเป้าหมายของ SDG ในการที่จะแก้ปัญหาต่างๆ พวกเขายังเห็นความพยายามร่วมกันขององค์กรธุรกิจและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ในการที่มุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน รวมไปถึงการประยุกต์เป้าหมายความยั่งยืนให้อยู่ในกลยุทธ์และเป้าหมายธุรกิจ มีเพียงธุรกิจจำนวนน้อยมากเพียงประมาณ 4% ที่ยังเห็นว่าการบริจาคเป็นทางออกในการเดินหน้า SDGs

ทีมา:http://www.globescan.com/component/edocman/?view=document&id=271&Itemid=591

นั่นจึงเป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทมองประเด็นเรื่องความยั่งยืนในบริบทใหม่ โดยเลือกที่จะมีบทบาททางตรงในการที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหามากไปกว่าการให้เงินบริจาค นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญความยั่งยืนจากฝั่งองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ยังมองเห็นนัยสำคัญที่เปลี่ยนไปของธุรกิจว่า “จากภาพที่เราเคยเห็นในอดีตว่าธุรกิจทำเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ของความยั่งยืนจากแรงกดดันและการถูกบังคับ แต่จากการสำรวจครั้งนี้ธุรกิจมองว่า การสนับสนุนการแก้ปัญหาภายใต้เป้าหมายทั้ง 17 เรื่องเป็น “โอกาส” ของธุรกิจ ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) เป็นการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับกิจกรรมหลักในธุรกิจหรือความพยายามในเรื่องนวัตกรรมที่จะสามารถตอบสนองต่อสังคมได้มากขึ้น 2) เป็นการแสดงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดโครงการ 3) ให้นำ SDGs เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายความยั่งยืน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

SDGs ธุรกิจไทย ตอบสนองเป้าหมายการศึกษาสูงสุด

ที่มา: สถาบันไทยพัฒน์

หากย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมาเช่นกัน ที่สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำดัชนี SDGs สำหรับภาคธุรกิจไทย โดยใช้วิธีการประเมินจากการเปิดเผยข้อมูลใน 124 องค์กรซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จากการเปิดเผยข้อมูลในเวที Sustainability Report Award โดยการประมวลข้อมูลด้านความยั่งยืนในครั้งนี้ถือเป็นการเริ่มต้นในการทำฐานข้อมูลและเป็นครั้งแรกที่พอจะทำให้เห็นภาพ “สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ของธุรกิจไทยโดยการใช้เครื่องมือ Corporate SDG Index

ในการประมวลข้อมูลขององค์กรธุรกิจที่มีต่อการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการประเมินธุรกิจใน 8 อุตสาหกรรม ได้แก่ เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจการเงิน สินค้าอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ทรัพยากร บริการ และเทคโนโลยี พบว่า เป้าหมายที่ธุรกิจไทยสามารถตอบสนองได้มากที่สุด 3 เป้าหมายแรก ได้แก่ การศึกษาที่เท่าเทียม 57.5 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 40.1 และความเท่าเทียมทางเพศ 31.0 

ในเวลาเดียวกัน หากพิจารณาจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า อุตสาหกรรมที่มีผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกับผลกระทบของธุรกิจมากที่สุดคืออุตสาหกรรมทรัพยากร ที่นอกจากจะตอบสนองต่อเป้าหมายความเท่าเทียมทางการศึกษา 75.4 (เป้าหมายที่4) โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมและนวัตกรรม 51.0 (เป้าหมายที่ 9) และการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี 49.8 (เป้าหมายที่ 3) ผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นยังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในระดับสากลค่อนข้างสูง โดยในด้านเศรษฐกิจได้คะแนน 5.4 จากค่าเฉลี่ย 3.1 ด้านสังคมได้คะแนน 4.9 จากค่าเฉลี่ย 2.6 ด้านสิ่งแวดล้อมได้คะแนน 3.4 จากค่าเฉลี่ย 1.8 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

“อย่างไรก็ตาม การประเมินครั้งนี้เป็นการประเมินจากสถานการณ์ที่เป็น เรายังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าแต่ละอุตสาหกรรมจัดลำดับความสำคัญในการตอบสนองเป้าหมาย SDGs ในแต่ละเรื่องได้ดีมากแค่ไหน ซึ่งเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่เราพุ่งเป้าไปในอนาคตเพื่อฐานข้อมูลนี้จะช่วยลดช่องว่างของการประเมิน SDGs ในการดำเนินของทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม” ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์กล่าวในที่สุด