ด้วยความไม่รู้หรือความผิดพลาดของรัฐบาล ที่ไม่ได้กู้เงินเตรียมไว้สำหรับโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/2557 เป็นเหตุให้แผนจัดหาเงินกู้จำนำข้าวมีอันต้องล้มลงถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรก วันที่ 30 มกราคม 2557 กระทรวงการคลังเชิญสถาบันการเงิน 34 แห่งมายื่นซองประกวดราคาปล่อยเงินกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรากฏว่าไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดยื่นซองประกวดราคา
ครั้งที่สอง กระทรวงการคลังปรับกลยุทธ์การจัดหาเงินกู้ใหม่ โดยให้ ธ.ก.ส. กู้เงินจากธนาคารออมสินผ่านตลาดเงินกู้ระหว่างธนาคาร (อินเตอร์แบงก์) ก้อนแรก 5,000 ล้านบาท วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ปรากฏว่าลูกค้าไม่พอใจจนแห่มาถอนเงิน ทำให้ในช่วงวันที่ 17-21 กุมภาพันธ์ 2557 มีลูกค้าถอนเงินออมสิน 121,700 ล้านบาท ในขณะที่มีผู้มาฝากเงิน 64,000 ล้านบาท หักกลบแล้ว 5 วันเงินฝากไหลออก 57,700 ล้านบาท ส่งผลให้นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกพร้อมกับยกเลิกวงเงินกู้ระยะสั้นให้ ธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท หลังจากนายวรวิทย์ลาออก วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2557 ธ.ก.ส. โอนเงินกู้ 5,000 ล้านบาท คืนธนาคารออมสิน พร้อมดอกเบี้ยกว่า 2 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือจะปลดนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เนื่องจากปมประเด็นเรื่องที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ชาวนาได้
อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังคงมีความพยายามเดินหน้าหาเงินกู้มาใช้หนี้ชาวนาต่อไป แม้จะมีการท้วงติงจาก “นักวิชาการ” ที่ออกมากล่าวเตือนตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักบริหารหนี้สาธารณะ เรื่องการจัดการเงินกู้ใหม่ให้ ธ.ก.ส. 130,000 ล้านบาทภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลรักษาการ อาจจะเข้าข่ายผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(3), (4)
และในระหว่างที่ น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เดินทางไปราชการต่างประเทศ วันที่ 20 มกราคม 2557 กระทรวงการคลังเริ่มแผนปฏิบัติการจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. เป็นครั้งที่ 3 โดยนายทวี ไอศูรย์พิศาลศิริ รองผู้อำนวยการ สบน. ลงนามในหนังสือเชิญชวนรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินยื่นซองประมูลตั๋วสัญญาใช้เงิน ธ.ก.ส. (P/N) อายุ 8 เดือน วงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินต้นและดอกเบี้ย และรัฐบาลเป็นผู้รับภาระชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยแทน ธ.ก.ส. หน่วยรัฐวิสาหกิจที่สนใจมายื่นซองประมูลที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ อาคารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชั้น 4 ภายในเวลา 10.00 น. วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ล่าสุดนายธนศักดิ์ วัฒนฐานะ ผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) ลงนามอนุมัติให้ กปน. เข้าร่วมประมูลตั๋วสัญญาใช้เงินวงเงิน 1,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การจัดหาเงินกู้แบบตั๋วสัญญาใช้เงินครั้งนี้เป็นไปตาม ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบัญชีและการเงินของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2548 ข้อ 14 ที่เปิดช่องให้รัฐวิสาหกิจนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินไปลงทุนในตราสารทางการเงินระยะสั้นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง สถาบันการเงินของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปกติรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะนำสภาพคล่องส่วนเกินไปฝากกินดอกเบี้ยธนาคารซึ่งได้รับผลตอบแทนต่ำมาก แต่ไม่มีความเสี่ยง ขณะที่ตั๋วสัญญาใช้เงิน ธ.ก.ส. มีความเสี่ยงผิดกฎหมายในอนาคตหากมีหน่วยงานนำประเด็นนี้ไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วผลการวินิจฉัยสรุปว่า ครม.รักษาการไม่มีอำนาจอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันวงเงินกู้ใหม่ให้ ธ.ก.ส. หรือเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(3), (4) อาจะมีผลทำให้การทำนิติกรรมสัญญา ธุรกรรมต่างๆ ถือเป็นโมฆะ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แผนการจัดหาเงินกู้ ธ.ก.ส. ต้องล้มลงถึง 2 ครั้ง
ดังนั้น กรณีผู้บริหารรัฐวิสาหกิจใช้อำนาจสั่งการให้ฝ่ายบัญชีถอนเงินฝากเป็นจำนวนมากไปลงทุนในตั๋ว P/N ทั้งๆ ที่ทราบล่วงหน้าว่าเป็นการจัดหาเงินไปใช้หนี้ชาวนามีความเสี่ยงผิดกฎหมาย ทั้งผู้บริหารและบอร์ดอาจจะต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในฐานะผู้ให้การสนับสนุน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากแผนการจัดการเงินกู้โดยการออกตั๋ว P/N แล้ว นายกิตติรัตน์ได้เตรียมแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์เปิดขายให้กับประชาชนทั่วไป โดยเสนอดอกเบี้ยสูงกว่าผลตอบแทนเฉลี่ย 15% (Average yield curve) เป็นแรงจูงใจ ที่ผ่านมาการจัดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์กำหนดวงเงินลงทุนขั้นต่ำต่อราย 10,000 บาท และเพดานสูงสุดได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ครั้งนี้ไม่มีจำกัดวงเงินลงทุน หากนายกิตติรัตน์ตัดสินใจเลือกพันธบัตรออมทรัพย์ประเภทอายุ 1 ปี คาดว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.64% ต่อปี แต่ถ้าเลือกอายุ 3 ปี ดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.14%ต่อปี
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 20 กำหนดให้รัฐบาลออกพันธบัตรมากู้เงินโดยตรง 5 วิธี คือ (1) กู้เพื่อชดเชยการขาดดุล (2) กู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (3) กู้เพื่อนำเงินไปใช้ปรับโครงสร้างหนี้ (4) กู้เงินมาให้หน่วยงานอื่นกู้ต่อ และ (5) กู้เพื่อพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ ดังนั้น สบน. จึงอาศัยช่องทางของ มาตรา 20(4) ออกพันธบัตรออมทรัพย์กู้เงิน เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อให้ ธ.ก.ส. โดยรัฐบาลต้องจัดงบประมาณมาจ่ายดอกเบี้ยแทน ธ.ก.ส.
แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่ออีกว่า ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ ในหมวดของการกู้ตรงไม่มีวงเงินเหลือให้รัฐบาลออกพันธบัตรออมทรัพย์ได้ เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะวันที่ 3 มกราคม 2557 มีมติให้ปรับลดวงเงินกู้โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 1.2 แสนล้านบาท และให้โยกวงเงินกู้ดังกล่าวข้ามหมวดมาตั้งเป็นวงเงินค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหม่ให้ ธ.ก.ส. 1.3 แสนล้านบาท เป็นประเด็นที่ทำให้บรรดานักวิชาการ นักกฎหมาย นายธนาคาร ตั้งเป็นข้อสังเกตว่าอาจจะขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ ถือเป็นโครงการใหม่ที่ยังไม่ได้บรรจุในแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2557 มาก่อน
ทั้งนี้ วงเงินกู้ตรงที่เหลืออยู่ไม่สามารถตัดทอนลงได้ เพราะต้องเตรียมกันวงเงินไว้ออกพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และกู้เงินบาทเพื่อทดแทนเงินกู้ต่างประเทศอีก 8,000 ล้านบาท หากนายกิตติรัตน์จัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. โดยใช้วิธีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 เพื่อปรับลดวงเงินค้ำประกันเงินกู้ ธ.ก.ส. แล้วโยกวงเงินกลับมาตั้งเป็นวงเงินกู้โดยตรงเท่ากับวงเงินพันธบัตรออมทรัพย์ หลังจากคณะกรรมการนโยบายฯ มีมติแล้วก็ต้องส่งให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ กระบวนการดังกล่าวนายกิตติรัตน์คาดว่าจะใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ สบน. ถึงจะเริ่มลงมือจัดการเงินกู้โดยการขายพันธบัตรออมทรัพย์ให้กับประชาชนทั่วไปได้
อย่างไรก็ตาม แผนการจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ตามที่กล่าวมาในข้างต้นอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่านายกิตติรัตน์ไม่สนใจคำเตือนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นักวิชาการ นักกฎหมาย นายธนาคาร กล่าวย้ำมาตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาว่าการจัดหาเงินกู้ให้ ธ.ก.ส. มีความเสี่ยงผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(3) แผนการจัดหาเงินกู้จำนำข้าวรอบที่ 3 จะผ่านด่านสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป