ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > ประชุม ครม. นัดสุดท้ายปี’57 “ประยุทธ์”บอกประชาชนอย่ากังวลจีดีพีแต่ต้องเตรียมพร้อม – อัดฉีดเงินบำนาญ 4% -ผ่านแผนจัดการน้ำแสนล้าน

ประชุม ครม. นัดสุดท้ายปี’57 “ประยุทธ์”บอกประชาชนอย่ากังวลจีดีพีแต่ต้องเตรียมพร้อม – อัดฉีดเงินบำนาญ 4% -ผ่านแผนจัดการน้ำแสนล้าน

31 ธันวาคม 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 16 ซึ่งถือว่าเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2557 ว่า อัตราค่าบริการทางด่วนที่มีการปรับขึ้นเป็นผลมาจากข้อตกลงตามสัญญา โดยตนได้ใช้อำนาจชะลอการปรับขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ในเวลานี้ หากยังคงชะลออยู่จะเกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการ จึงต้องปรับขึ้น แม้กระทั่งภาษีต่างๆ ก็เช่นกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า “อย่าวิตกกังวลกับตัวเลขเศรษฐกิจว่าในปีหน้าจีดีพีของประเทศจะเป็นเท่าใด ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมของตนเองว่าจะบริหารจัดการการใช้จ่ายอย่างไรให้เพียงพอ จีดีพีจะเท่าไร ติดลบอย่างไร ไม่เกี่ยวทั้งนั้น เพียงแต่ทำอย่างไรที่ท่านจะอยู่ได้ ผมก็ให้หามาตรการเพื่อคุมราคาสินค้า ส่วนนี้ก็ต้องมีการต่อรอง เนื่องจากเป็นเรื่องของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม จึงไม่สามารถไปห้ามผู้ประกอบการได้ทั้งหมด จะให้ใช้อำนาจอย่างเต็มที่ในกรณีนี้ก็ไม่ใช่”

ด้านการปรับขึ้นเงินบำนาญให้กับข้าราชการบำนาญนั้น เนื่องจากไม่มีการปรับขึ้นเงินให้ข้าราชการบำนาญมาหลายปีแล้ว โดยเริ่มปรับจากข้าราชการระดับล่างก่อน อัตราอยู่ที่ร้อยละ 4 ของจำนวนเงินเบี้ยหวัดและบำนาญที่ได้ ส่วนการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับรัฐวิสาหกิจนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอยู่ ซึ่งต้องพิจารณาประกอบกับผลประกอบการและตัวชี้วัดอื่นๆ ก่อน

ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการพูดคุยในหลักการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ปัญหาจากอุทกภัย โดยรัฐบาลได้มีการจัดทำแผนจัดการน้ำระยะยาวตั้งแต่ปี 2558-2569 ซึ่งมีโครงการต่างๆ กว่า 10,000 โครงการ ต้องจัดทำแผนงบประมาณประจำปี อนุมัติปีต่อปี โดยจะมุ่งแก้ปัญหาในภาคที่เกิดภัยแล้งซ้ำซากเป็นอันดับแรก คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ซึ่งในปี 2558 มีการตั้งวงเงินงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำไว้ 52,244 ล้านบาท

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า หากต้องการการเร่งรัดให้โครงการดำเนินการอย่างต่อเนื่องนั้นต้องจัดทำแผนงบประมาณผูกพันข้ามปี ซึ่งในกรณีนี้จะต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลังว่าจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มเติมหรือไม่

“การกู้เงินคงไม่กู้ถึงแสนล้าน งบประมาณเก่าที่เคยกู้นั้นได้ยกเลิกไปหมดแล้ว ก็ต้องเข้าใจ แผนใหม่นี้ยังไม่ได้กู้อะไรเลย ใช้เฉพาะงบประมาณปี 2557 และปี 2558 หากมีการนำแผนมาเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนก็อาจต้องกู้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว”

ในประเด็นเรื่องความโปร่งใส การดำเนินการของรัฐบาลในทุกๆ โครงการมีคณะกรรมการในการตรวจสอบอยู่แล้ว ทั้งจากคณะกรรมการของรัฐบาล คณะกรรมการของ คสช. คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ คตร. รวมถึงภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายทั้งหมด

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในกรณีที่ต้องตรวจสอบทันทีตนจะขอใช้อำนาจพิเศษที่มีอยู่อย่างเต็มที่ เพื่อดำเนินการลงโทษไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ทำให้เกิดความบกพร่องในการใช้จ่ายภาครัฐ ถือว่าไม่ทำให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนโครงการที่มีขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณสูงกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ได้มีการประสานงานให้หน่วยงานต่างประเทศเข้ามาช่วยตรวจสอบ โดยยืนยันว่ารัฐบาลดำเนินการโดยไม่หวังผลประโยชน์ใดๆ รัฐบาลเป็นเพียงผู้ออกคำสั่ง ในรายละเอียดมีหน่วยงานอื่นๆ ต้องไปปฏิบัติ หากมีผู้พบการทุจริตสามารถแจ้งรายละเอียดเข้ามาได้ ซึ่งตนก็พยายามกวดขันเรื่องการทุจริตอยู่ตลอด ไม่ได้ปัดความรับผิดชอบแต่อย่างใด

สำหรับการดำเนินการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรยังคงประสบปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ในเรื่องของการตรวจสอบความถูกต้อง ความชัดเจนของข้อมูล โดยหลังจากปีใหม่แล้วจะต้องมีการทบทวนเรื่องนี้เป็นพิเศษ ทั้งเรื่องฐานะเกษตรกร การเสียภาษี เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นอีก ในส่วนของการจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรปัจจุบันมีความคืบหน้าพอสมควรแล้ว และได้สั่งการให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จหลังปีใหม่

ด้านการต่างประเทศ ได้มีการสั่งการนโยบายเกี่ยวกับความร่วมมือทุกมิติกับ 6 กลุ่มประเทศที่เป็นมิตรประเทศกับไทย ได้แก่ ประเทศในอาเซียน ประเทศในเอเชียตะวันออก อาทิ ประเทศจีน ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศยุโรป กลุ่มประเทศตะวันตก กลุ่มประเทศหมู่เกาะ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนั้นได้มีการวางแผนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจใน 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และตราด ให้สามารถรองรับการเป็นศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาคอาเซียนได้ โดยได้วางแผนให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในการจัดทำคลังสินค้า การพัฒนาและดำเนินการในส่วนของหลักกฎหมายเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องทำในระยะยาวต่อไป รวมไปถึงเรื่องแรงงานที่จะต้องเดินทางข้ามมาทำงานเช้าไปเย็นกลับ โดยต้องมีศูนย์ One Stop Service และมีการลงทะเบียนแรงงานว่าเป็นแรงงานที่มีฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือจำนวนเท่าไร เพื่อให้เกิดการจ้างงานและเกิดเป็นเขตเศรษฐกิจที่สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง

สำหรับประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัล ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือ จะสามารดำเนินการอย่างไรให้เศรษฐกิจดิจิทัลเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ โดยให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และสามารถควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน ซึ่งต้องมีการดำเนินการอีกหลายขั้นตอน แต่จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2558

นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงกรณีการเข้ามาร่วมลงทุนของภาคเอกชนว่า ในธุรกิจดิจิทัลของไทยมีผู้ประกอบกิจการอยู่เพียงไม่กี่กลุ่มอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดทั้งสิ้น ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐอย่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom Public Company Limited) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็ต้องมีการปรับระบบให้สามารดำเนินการร่วมกับเอกชนได้

“วันนี้มีข่าวว่ารัฐบาลนี้ขึ้นมาก็ไปสร้างกลุ่มอำนาจใหม่ ผมไม่เห็นมีกลุ่มไหนที่ผมจะได้ประโยชน์ เป็นกลุ่มเดิมที่ได้ประโยชน์ เพียงแต่ว่ามีการปรับผลประโยชน์ให้เกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้น ปี 2558 ที่จะมีการเปิดประมูลใบอนุญาต 4 จี แต่จะเปิดอย่างไรให้รัฐได้ประโยชน์และประชาชนก็ได้ประโยชน์ ส่วนนี้รัฐต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้ง กสท และ ทีโอที เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ ต้องดำเนินการปรับให้สามารถประกอบการได้และเกิดประโยชน์ ไม่ใช่มีหน่วยงานแล้วแต่ภาคเอกชนได้ไปหมดอันนี้ไม่ได้ ประเทศไทยใช้การติดต่อสื่อสารถือว่ามากที่สุดในอาเซียน ดังนั้นน่าจะใช้ส่วนนี้ให้เกิดประโยชน์ โดยการที่จะเป็นผู้นำธุรกิจด้านการติดต่อสื่อสารในภูมิภาคอาเซียน”

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทิ้งท้ายการแถลงว่า การปฏิรูปประเทศต้องใช้ระยะเวลา โดยเปรียบเทียบในกรณีของประเทศจีนที่ต้องใช้ในเวลาในการปฏิรูปประเทศถึง 30 ปี สำหรับประเทศไทยวันนี้เป็นเพียงระยะเริ่มต้นเท่านั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถรับประกันได้ว่าการดำเนินการปฏิรูปต่างๆ จะสำเร็จทุกอย่าง โดยระบุว่าที่ตนทำงานทุกวันนี้ทำด้วยความตั้งใจและทำเพื่อคนไทย

“ที่ทำทุกวันนี้ก็ไม่น้อย จะเก่งไม่เก่งไม่รู้แต่ทำแล้วก็ตั้งใจ แล้วก็ทำเพื่อพี่น้องคนไทย ซึ่งคนไทยมี 60 กว่าล้าน จะให้เกิดความพอใจทุกคนก็คงไม่ได้ แต่ผมว่าดีกว่าคนเก่งแล้วทำไม่เป็น”

ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุม  ครม.
ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม.

ภายหลังการประชุม ครม. ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ซึ่งมีการอนุมัติงบประมาณ แผนงาน และโครงการ โดยสรุปมีสาระสำคัญดังนี้

ขึ้นเงินเดือนข้าราชการบำนาญ 4%

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญคือปรับเพิ่มเงินค่าครองชีพให้กับข้าราชการบำนาญที่เกษียณอายุราชการไปแล้วในอัตรา 4% รวม 533,328 ราย และมีวงเงินค่าใช้จ่าย 5,139 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2557 เพื่อให้สอดคล้องการปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลว่าการสั่งมีผลในวันดังกล่าวเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี เนื่องจากข้าราชการกล้าใช้จ่ายมากขึ้นเพราะทราบว่าจะได้ขึ้นเงินเดือน

ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีการกำหนดให้ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม, ผู้ได้รับหรือมีสิทธิได้รับบำนาญปกติ, บำนาญพิเศษเพราะเหตุทุพพลภาพ, บำนาญพิเศษหรือบำนาญตกทอดในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะหรือผู้อยู่ในอุปการะ ซึ่งได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญอยู่แล้วในวันที่ 1 ธ.ค. 2557 ให้ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) ในอัตราดังนี้

1. ผู้ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญและ ช.ค.บ. อยู่แล้วให้ได้รับ ช.ค.บ. เพิ่มขึ้นอีกในอัตราเดือนละ 4% ของจำนวนเบี้ยหวัดหรือบำนาญและ ช.ค.บ. ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ

2. ผู้ที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับเฉพาะเบี้ยหวัดหรือบำนาญ ให้ได้รับ ช.ค.บ. ในอัตราเดือนละ 4% ของจำนวนเบี้ยหวัดหรือบำนาญที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังรายงานที่ประชุม ครม. ว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามที่ ครม. ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่องการจัดระบบอัตรากำลังและปรับปรุงค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐให้เหมาะสมและเป็นธรรม อีกทั้ง ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ให้ปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐชั้นผู้น้อย โดยปรับบัญชีเงินเดือนระดับตำแหน่งไม่เกินระดับชำนาญการ, ระดับ 7 หรือชั้นยศพันโท จะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น 1 ขั้น หรือ 4% รวมทั้งปรับเพดานเงินเดือนขั้นสูงทุกระดับ โดยในการปรับปรุงค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐกระทรวงการคลังจะพิจารณาในการปรับปรุงเงินเพิ่ม ช.ค.บ. ควบคู่ในทางเดียวกันเสมอ เพื่อให้มีความสอดคล้องกันในด้านค่าครองชีพ เช่น ในการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2550 และเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 ในอัตรา 4% และ 5% โดยมีการปรับเงิน ช.ค.บ. ให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญเพิ่มขึ้นในอัตรา 4% และ 5% เช่นเดียวกัน

แผนบริหารจัดการน้ำ 2558 – กรมชลหวังฟลัดเวย์สำเร็จรัฐบาลนี้

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมี พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธาน กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 108,229 ล้านบาท จำนวน 59,778 โครงการ รวมไปถึงงบประมาณที่เหลืออีก 55,985 ล้านบาท จำนวน 4,227 โครงการ จากเดิมที่แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้รับการจัดสรรแหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ก่อนหน้านี้ วงเงิน 52,244 ล้านบาท จำนวน 55,551 โครงการแล้ว ทั้งนี้ วงเงินที่อนุมัติเพิ่มเติมจะแบ่งเป็นเงินกู้ 71% และจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 29%

สำหรับรายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำที่ ครม. อนุมัติวันนี้ มีการแบ่งแผนยุทธศาสตร์ออกเป็น 6 ด้าน คือ 1) การขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม หรือน้ำเพื่อการผลิต วงเงิน 70,599 ล้านบาท 2) การขาดแคลนน้ำด้านการบริโภค วงเงิน 12,755 ล้านบาท 3) แผนฟื้นฟูป่าต้นน้ำและพังทลายของหน้าดิน วงเงิน 667 ล้านบาท 4) การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย วงเงิน 16,870 ล้านบาท 5) จัดการคุณภาพน้ำ วงเงิน 1,718 ล้านบาท และการบริหารจัดการ วงเงิน 5,610 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวแก่ ครม. แล้ว แต่มีการรวมแผนยุทธศาสตร์การขาดแคลนน้ำเป็นยุทธศาสตร์เดียว ซึ่ง ครม. ได้มีคำสั่งแบ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น โดยแยกการใช้น้ำภาคเกษตร การอุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรมออกจากกัน นอกจากนี้ยังสั่งเน้นการจัดการปัญหาขาดแคลนน้ำในระยะเร่งด่วนและเพิ่มเติมแผนรับมืออุทกภัยในชุมชนและเมืองสำคัญด้วย ส่วนด้านงบประมาณได้สั่งให้จัดทำรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์ปี 2558 ให้ชัดเจนว่าในปีงบประมาณปกติมีการจัดสรรไปแล้วเท่าไรและต้องของบประมาณเพิ่มจำนวนเท่าไร

ส่วนเป้าหมายหรือผลสัมฤทธิ์ของแผนยุทธศาสตร์ นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า จะสามารถฟื้นฟูพื้นที่ป่าได้ 47,000 ไร่ และปลูกหญ้าแฝกป้องกันการกัดเซาะได้ 675,000 ไร่ มีน้ำอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 3,941 หมู่บ้าน มีประปาเขตเมืองอีก 481 แห่ง เกษตรกรมากกว่า 150,000 ครัวเรือน สามารถทำการเกษตรที่มีระบบชลประทานพื้นที่ 2.91 ล้านไร่ นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและการบริการได้อย่างมั่นคง บรรเทาปัญหาอุทกภัยและป้องกันพื้นที่สำคัญได้ 24 แห่ง แม่น้ำสายหลักมีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และบูรณการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

นอกจากนี้ นายเลิศวิโรจน์ยังกล่าวถึงโครงการเส้นทางระบายน้ำฝั่งตะวันออก หรือฟลัดเวย์ (flood way) ว่าเป็นโครงการที่หวังจะผลักดันให้สำเร็จภายในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ เนื่องจากเป็นโครงการที่ส่วนใหญ่สร้างในพื้นที่ของกรมชลประทาน ทำให้ไม่ต้องเสียงบประมาณและเวลาในการเวนคืนจำนวนมาก ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะแบ่งเป็นสองระยะ คือ 1) คลองชัยนาท-เขื่อนป่าสัก และ 2) เขื่อนป่าสัก-อ่าวไทย มีวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท

“มันเป็นโครงการที่ค่อนข้างจะเก่า เมื่อก่อนเป็นโครงการส่งน้ำอย่างเดียว แต่ตอนนี้เราจำเป็นต้องทำเป็นทางระบายน้ำออกมาด้วย อยากจะสร้างตรงนี้ อยากให้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้” นายเลิศวิโรจน์กล่าว

สั่งเจรจาหั่นค่าก่อสร้าง ดึงงบกลับ เหตุราคาน้ำมันร่วง

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติปรับหลักเกณฑ์ราคากลางของโครงการก่อสร้างภาครัฐลง เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลต่ออัตราราคางานก่อสร้าง ถูกลง 2 บาทต่อลิตร ตามการปรับโครงพลังงานจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 โดยค่าดำเนินการงานก่อสร้างทางจะมีราคากลางถูกลง 1.38-9.11%, ค่าขนส่งวัสดุก่อสร้าง เช่น ค่าขนส่งรถบรรทุกสิบล้อ ระยะทาง 1-200 กิโลเมตร ถูกลง 1.73-5.1% และอัตราราคางานดิน งานก่อสร้างชลประทาน ถูกลง 2.39-6.67% ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าจะสามารถปรับลดวงเงินการก่อสร้างภาครัฐได้เป็นจำนวนเงินเท่าไร เนื่องจากไม่ทราบตัวเลขโครงการลงทุนที่จะต้องปรับลดทั้งหมด

ทั้งนี้ มีการแบ่งหลักเกณฑ์เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่

1) กรณีได้ดำเนินการกำหนดราคากลาง เปิดซองราคาจัดจ้างก่อสร้าง สอบราคาหรือรับการเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วเสร็จก่อนวันที่ 16 ธันวาคม 2557 และอยู่ระหว่างการลงนามในสัญญาก่อสร้าง ให้เจรจาต่อรองราคาค่างานก่อสร้างกับผู้เสนอราคาต่ำสุด ตามหลักเกณฑ์ราคากลางที่ปรับปรุงใหม่ ขณะที่หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มหรือเรียกเงินคืน (ค่า K) ให้ใช้วันที่เจรจาต่อรองจนได้ข้อยุติ เป็นฐานการคำนวณแทนเดือนเปิดซองประกวดราคา

2) กรณีได้ดำเนินการกำหนดราคากลางก่อนวันที่ 16 ธันวาคม 2557 และอยู่ระหว่างการประกวดราคา สอบราคา หรือรับการเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เจรจาต่อรองราคาค่างานก่อสร้างกับผู้เสนอราคารายต่ำสุด ตามหลักเกณฑ์ราคากลางที่ปรับปรุงใหม่ ขณะที่ค่า K ให้วันเปิดซองประกวดราคา สอบราคา หรือรับการเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นฐานการคำนวณค่า K

3) กรณีได้ดำเนินการกำหนดราคากลางก่อนวันที่ 16 ธันวาคม 2557 และยังไม่ได้ประกวดราคา สอบราคา หรือประกาศร่างขอบเขตงาน ให้ยกเลิกการกำหนดราคากลางและกำหนดราคากลางก่อสร้างใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงแล้ว

4) กรณีดำเนินการกำหนดราคากลางภายหลังวันที่ 16 ธันวาคม 2557 ให้กำหนดราคากลางก่อสร้างใหม่ตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงแล้ว

ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใจ 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบมติ ครม.

ยุบ AFET รวม TFEX หนุนประสิทธิภาพตลาดซื้อขายล่วงหน้า

ครม. ได้มีมติอนุมัติแนวทางการดำเนินการรวมตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าหรือ AFET กับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้าในประเทศไทย ให้เกิดขีดความสามรถในการแข่งขันกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค รวมทั้งสร้างการประหยัดจากขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น และเป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้ลงทุนที่สามารถทำธุรกรรมได้ในตลาดเดียว อีกทั้งช่วยให้นักลงทุนมีต้นทุนในการลงทุนที่ต่ำลง ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดในต่างประเทศได้เริ่มมาการปฏิบัติตามแนวทางนี้แล้ว เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องจัดทำประกาศกำหนดให้สินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ TFEX สามารทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าเกษตรเป็นสินค้าอ้างอิงได้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แสดงความกังวลถึงแนวทางดังกล่าว แม้จะไม่ขัดข้องในหลักการ โดยระบุว่าแนวทางดังกล่าวควรคำนึงถึงวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของการจัดตั้ง AFET และการดูแลบุคลากร ขณะเดียวกัน ต้องพิจารณาแนวทางการดำเนินการที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรส่วนใหญ่, กลไกอื่นๆ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร, ระดับความเหมาะสมของการแทรกแซงสินค้าเกษตรที่สำคัญ รวมถึงบทบาทของรัฐในการช่วยเหลือเกษตรกร

อนุมัติเงิน 3,566 ล้าน ช่วยปัญหาภัยแล้งเกษตรกร

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้ดำเนินโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอในวงเงินงบประมาณ 3,566.37 ล้านบาท โดยใช้งบกลางจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ในรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

โครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนเกษตรสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้กำหนดกิจกรรม และบริหารจัดการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการ

โดยคาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับผลกระทบภัยแล้ง ปี 2557/2558 ในพื้นที่ 3,456 ตำบล 68 จังหวัด ตามบัญชีรายชื่อพื้นที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตร ปี 2558 ของประกาศแผนเตรียมการรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2558 และประกาศกรมชลประทานเรื่องงดส่งน้ำ เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องและข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง

นอกจากนี้ พล.ต. สรรเสริญ กล่าวถึงวาระที่นายกรัฐมนตรีได้ปรารภและสั่งการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงยุทธศาสตร์ประเทศปี 2558 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 ว่า จะใช้วิสัยทัศน์ “ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง และอย่างยั่งยืน” และการที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวประสบผลสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับข้าราชการทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามหน้าที่และตามแผนงานที่แต่ละส่วนได้เสนอมาด้วยความตั้งใจจริง โปร่งใส สามารถที่จะตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น

กรณีการช่วยเหลือของภาครัฐที่มีต่อประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางว่า ควรที่จะจัดกลุ่มประชาชนตามรายได้ สาขาอาชีพ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยได้ โดยจะให้มีการจัดทำการแสดงบัญชีภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อให้ข้อมูลประชาชนทุกคนได้เข้าไปอยู่ระบบของทางราชการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปพิจารณาหาแนวทางเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวร่วมกันต่อไป เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงมาตรการต่างๆ ของรัฐได้ทั้งที่มีอยู่และมาตรการในอนาคต

ประเด็นเรื่องค่านิยม 12 ประการ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า เป็นสิ่งที่ดีแต่มีเสียงสะท้อนว่าใช้งบประมาณในการดำเนินการสูงเกินความจำเป็น โดยกำชับว่า ให้คำนึงถึงความเหมาะสมรายการงบประมาณต่างๆ ที่จะใช้ในเรื่องของค่านิยมด้วย