ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. อนุมัติงบ 35,000 ล้าน ลุยโครงการประชารัฐ – “ประยุทธ์” ยันมีเลือกตั้ง ปี 60 แม้ รธน. ไม่ผ่านประชามติ จี้ คตร. เร่งอนุมัติโครงการ สสส.

ครม. อนุมัติงบ 35,000 ล้าน ลุยโครงการประชารัฐ – “ประยุทธ์” ยันมีเลือกตั้ง ปี 60 แม้ รธน. ไม่ผ่านประชามติ จี้ คตร. เร่งอนุมัติโครงการ สสส.

26 มกราคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

“ประยุทธ์” ย้ำ มีเลือกตั้งปี 60 แม้ รธน. ไม่ผ่านประชามติ

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงความคืบหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ซึ่งจะต้องมีการจัดทำประชามติในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ว่า ที่นายมีชัยบอกว่าถ้าประชามติไม่ผ่านจะให้นำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาใช้แทน ต้องไปถามกับนายมีชัยเองว่าเหตุใดจึงพูดเช่นนั้น แต่ยืนยันว่าถึงจะประชามติไม่ผ่าน ก็ยังจะมีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2560 ตามโรดแมปอยู่ดี เพราะตนได้เตรียมวิธีในการแก้ปัญหาไว้แล้ว โดยอาจจะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ มาปรับแก้ อะไรที่ต้องทำให้เป็นสากลก็ทำให้สากล ส่วนอะไรที่ต้องทำให้แตกต่างเพื่อแก้ปัญหาและปฏิรูปประเทศก็ต้องทำให้แตกต่าง ส่วนจะทำอย่างไร ไว้ไม่ผ่านประชามติค่อยให้ฝ่ายกฎหมายมาหาหาทางดู อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวอยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่ก็ต้องถามสังคมด้วยว่าอยากให้บ้านเมืองกลับไปแบบเดิมหรือไม่ หรือควรจะต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีการปฏิรูปประเทศหรือไม่

“ผมผูกเองก็ต้องแก้ของผมเอง ผมจะทำให้มีเลือกตั้งให้ได้ตามโรดแมป หากร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. ไม่ผ่านประชามติ ผมก็จะไปหาทางทำให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่ทำให้มันมีเลือกตั้งได้ อาจจะมีแค่ไม่กี่มาตรการ แต่ต้องมีเลือกตั้งได้ในเดือนกรกฎาคม 2560” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยหนาวว่า ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะมีมาตรการแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว เช่น การแจกผ้าห่มซึ่งทำกันทุกปี แต่ต่อไปอาจต้องหามาตรการแก้ปัญหาระยะยาว ส่วนภัยแล้ง ที่มีข่าวว่ามีกว่า 500 อำเภอเสี่ยงจะเผชิญภัยแล้ง ก็มีการเตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว เช่น อาจใช้วิธีขุดบ่อบาดาล โดยสิ่งที่ต้องระวังที่สุดคือไม่ให้มีปัญหาเรื่องน้ำในการอุปโภคบริโภค สำหรับมาตรการประหยัดน้ำ รัฐบาลได้ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่จะทำได้สำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการร่วมมือของประชาชน ถ้าไม่ร่วมมือกันก็จบ

ยังไม่ให้งบซื้อยางเพิ่ม

นายกฯ ยังกล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำอินโฟกราฟิกวิธีการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวการยางแห่งประเทศไทยจะของบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มเติมว่า ยังไม่มีการเสนอมาในการประชุม ครม. วันนี้ เพราะงบประมาณเดิมที่อนุมัติไว้ 500 ล้านบาทยังใช้ไม่หมด เนื่องจากเพิ่งมีการนำไปซื้อยางได้เพียง 70 ตันเท่านั้น โดยเหตุผลที่ยังซื้อยางมาได้น้อย เพราะระยะทางไปสู่จุดรับซื้อของรัฐบาลค่อนข้างไกล ที่สำคัญคือราคายางในตลาดขณะนี้ใกล้เคียงกับราคายางชี้นำที่รัฐบาลตั้งเอาไว้

ส่วนกรณีที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งปลดล็อกผังเมืองให้สร้างโรงงานได้ทั่วประเทศ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นเพียงการปลดล็อกพื้นที่สีต่างๆ ในผังเมืองเท่านั้น การจะตั้งโรงงานยังต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ตามกฎหมายอยู่ดี

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่รัฐบาลซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางได้น้อยเพียง 70 ตันเท่านั้น ว่า มีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ 1. ในวันที่เปิดรับซื้อยางมีฝนตก 2. พ่อค้าคนกลางขยับราคาซื้อยางในตลาดจนมีส่วนต่างจากราคาชี้นำของรัฐบาลเพียงกิโลกรัมละ 1-2 บาทเท่านั้น และ 3. เกษตรกรชาวสวนยางคิดว่าโควตาในการรับซื้อของรัฐบาลยังมีเหลืออีกมาก จึงไม่จำเป็นต้องรีบขาย

“การรับซื้อยางได้น้อย ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลวิตก เพราะโครงการนี้ทำขึ้นมาเพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถขายยางได้ในราคาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ในการแก้ไขปัญหาระยะยาวจะต้องลดปริมาณการผลิตยางที่ล้นตลาดอยู่ในขณะนี้” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ประธาน คตร. เผยนายกฯ สั่งเร่งอนุมัติโครงการ สสส.

ด้าน พล.อ. ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวถึงเสียงเรียกร้องให้ปลดล็อกโครงการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้เงินสนับสนุนแก่องค์กรภาคีเครือข่าย ที่ปัจจุบันมีโครงการลักษณะดังกล่าวติดล็อกเพราะอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบโดย คตร. กว่า 500 โครงการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1.9 พันล้านบาท ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ คตร. เร่งรัดการตรวจสอบและอนุมัติโครงการลักษณะดังกล่าวแล้ว โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ตนก็เพิ่งเซ็นคำสั่งอนุมัติให้เดินหน้าโครงการที่ สสส. สนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรภาคีเครือข่ายไปทั้งสิ้น 20 โครงการ ทุกโครงการมีมูลค่ามากกว่า 5 ล้านบาท และเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีก่อนๆ สำหรับการพิจารณาอนุมัติโครงการอื่นๆ นั้น ขึ้นอยู่กับการเสนอของ สสส. ให้มาพิจารณา

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นๆ ที่สำคัญ

ครม.ลุยโครงการประชารัฐ 3.5 หมื่นล้าน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการ วงเงิน 35,000 ล้านบาท โดยให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เป็นผู้ดำเนินการสนับสนุนเงินให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวน 79,556 กองทุน ในวงเงินกองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ยุ้งฉางชุมชน โรงตากพืชผลการเกษตร โรงผลิตปุ๋ย ฯลฯ เป็นต้น โดย สทบ. จะต้องดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณ (สงป.) โดยที่มาของแหล่งเงินจะใช้งบกลางของปีงบประมาณ 2559

“นายกฯ ได้สั่งการว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรอยู่เป็นระยะ ดังนั้น โครงการประชารัฐครั้งนี้จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการที่เคยเสนอมาแล้ว และต้องเป็นโครงการที่แต่ละชุมชนเสนอขึ้นมาเองจริงๆ โดย สทบ. จะต้องพิจารณาด้วยว่าชุมชนนั้นๆ มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินโครงการนั้นได้จริงหรือไม่” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

อัดสินเชื่อผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง 1.5 หมื่นล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับปรุงมติ คสช. เดิมในปี 2557 ที่ให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการฯ แต่ผลปรากฏว่า มีผู้ประกอบการฯ หลายรายไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารออมสินได้เนื่องจากติดเงื่อนไขหลายประการ ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงรายละเอียดของโครงการ มีระยะเวลาดำเนินโครงการระหว่างปี 2559-2569 และเพิ่มเติมให้ธนาคารพาณิชย์อีก 5 แห่ง อาทิ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ฯลฯ มาร่วมปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารออมสิน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการฯ ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ฯลฯ โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการฯ ที่เข้าร่วมโครงการนี้

ควักเงิน 1 หมื่นล้านร่วมก่อตั้ง AIIB

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบวงเงินลงทุนในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง เมื่อปี 2557 ซึ่งจะมีการเปิดประชุมเป็นครั้งแรก ในเดือนมิถุนายน 2559 รวมเป็นวงเงิน 52,818 ล้านบาท ตามสัดส่วนการลงทุนของไทยใน AIIB คือ 1.42% โดยจะมีการจ่ายจริงในระยะแรก 10,563 ล้านบาท ซึ่งแบ่งชำระเป็นงวด งวดละ 2,112 ล้านบาท ระหว่างปี 2559-2563 โดยเงินรชำระงวดแรกจะมาจากงบกลางของปีงบประมาณ 2559 สำหรับกฎหมายที่จะใช้ในการจัดตั้ง AIIB ซึ่ง ครม. เคยเห็นชอบไปเมื่อปลายปี 2559 จะมีการประสานกับคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปรัฐบาล) เพื่อเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาต่อไป

อนุมัติ กฟผ. สร้างเขื่อนบ้านจันเดย์

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบ้านจันเดย์ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี วงเงิน 3,542 ล้านบาท ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอ โดยแหล่งเงินจะมาจากรายได้ของ กฟผ. เอง 25% และจากการออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากสถาบันการเงินของ กฟผ. เอง อีก 75% โดยโครงการนี้จะเริ่มก่อสร้างระหว่างเดือนมกราคม 2559 – เดือนพฤศจิกายน 2562 สำหรับประโยชน์ที่ได้รับคือ ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์จากการใช้น้ำในแม่น้ำแควน้อยได้มากขึ้น, ลดการพังทลายของตลิ่งโดยเฉพาะด้านเหนือน้ำและผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าระบบได้ปีละประมาณ 90 ล้านหน่วย เป็นต้น

สั่งเจรจาอีกรอบให้ BMCL เดินรถไฟฟ้าช่วงเตาปูน-บางซื่อ

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบผลการเจรจาต่อรองระหว่างกระทรวงคมนาคม กับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ในการเข้ามาเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) ซึ่งไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจาก BMCL ไม่ยอมรับเงื่อนไขของกระทรวงคมนาคม โดยยินยอมจะเดินรถไฟฟ้าให้เพียง 1 ปีเท่านั้น ทั้งๆ ที่กระทรวงคมนาคมต้องการให้เดินรถจนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางซื่อ) ในปี 2572 โดย ครม. ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม ไปเจรจากับ BMCL อีกครั้ง ให้ได้ตามเงื่อนไขของกระทรวงคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

ใช้ 271 ล้าน ปรับคุณภาพผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบิน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบอนุมัติงบประมาณให้กับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) วงเงิน 271 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้ตรวจสอบความปลอดภัยในการบิน โดยจะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 งาน งานที่ 1 คือ การจัดอบรมเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบิน มีการวางตัวผู้จะเข้าอบรมไว้แล้ว 69 คน และงานที่ 2 คือ การว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้คำปรึกษาเรื่องการตรวจสอบการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ซึ่งไม่ได้เป็นการจ้างบุคคลตามที่ไทยเห็นว่าควรจ้าง แต่เป็นการจ้างคนที่ทาง ICAO ไว้วางใจ จึงถือว่าการแก้ปัญหานี้ตอบโจทย์ของทาง ICAO

สั่ง กต. เร่งสร้างความร่วมมือกับอิหร่าน

ด้าน พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รายงานการเดินทางไปเยือนประเทศอิหร่านอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 2559 หลังจากที่นานาชาติได้ยกเว้นการคว่ำบาตรประเทศอิหร่าน นายกฯ ได้สั่งการให้ใช้ประโยชน์จากการเดินทางไปเยือนครั้งนี้อย่างเต็มที่ ทั้งด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวชาวอิหร่านเดินทางมาประเทศไทย 1.4 แสนคน/ปี ด้านอุตสาหกรรม ทั้งเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์ เหมืองแร่ เสื้อผ้า ฯลฯ ทั้งนี้ นายดอนได้รายงานว่ารัฐบาลอิหร่านสนใจกิจการการบินของรัฐบาลไทย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ก่อนจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน ครม. ยังเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทยเป็นผู้มีอำนาจในการลงนามความตกลงการค้าระหว่างไทย-อิหร่าน ด้วย