ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 24 ปีสวัสดิการรัฐ 6.7 แสนล้านบาท จาก “เบี้ยคนชรา-เบี้ยพิการ-เบี้ยเอดส์-รถเมล์ฟรี-รถไฟฟรี-ไฟฟ้าฟรี” ถึง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-อุดหนุนเด็กแรกเกิด”

24 ปีสวัสดิการรัฐ 6.7 แสนล้านบาท จาก “เบี้ยคนชรา-เบี้ยพิการ-เบี้ยเอดส์-รถเมล์ฟรี-รถไฟฟรี-ไฟฟ้าฟรี” ถึง “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-อุดหนุนเด็กแรกเกิด”

8 ธันวาคม 2017


“สวัสดิการสังคมแห่งรัฐ” นับว่าเป็น 1 ในเสาหลักสำหรับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่พยายามจะยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ อย่างเท่าเทียม ไม่ว่านโยบายเหล่านั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นสวัสดิการสังคมที่แท้จริงหรือเป็นเพียงนโยบายประชานิยมที่สร้างภาระทางการคลังต่อประเทศก็ตาม

โดยในระยะ 5 ปีหลังที่กระแสการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หรือ Inclusive Growth กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เนื่องจากการพัฒนาที่เน้นการเติบโตเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงคนและสิ่งรอบข้างอาจจะนำพาไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยากจะแก้ไขได้ โดยในระดับนานาชาติที่สหประชาติได้ประกาศตั้งเป้าหมายการพัฒนาใหม่เป็น “การเติบโตอย่างยั่งยืน” หรือ SDGs ซึ่งมีประเด็นการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมเป็นเป้าหมายหนึ่ง

ที่ผ่านมารัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีสโลแกนในการกำหนดยุทธศาสตร์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยเน้นมิติการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งในทางปฏิบัติได้จัดให้มีโครงการ “ประชารัฐ” ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว นอกจากนี้ ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ รัฐบาลยังมีแนวนโยบายอย่าง “เงินโอน แก้จน คนขยัน” หรือ Negative Income Tax ที่จะอุดหนุนเงินแก่กลุ่มคนยากจนหรือด้อยโอกาสในสังคม ยิ่งไปกว่านั้นอาจจะไปถึงนโยบายอุดหนุนรายได้ขั้นพื้นฐานของประชาชน หรือ Universal Basic Income ซึ่งบางประเทศเริ่มทดลองใช้แล้ว แม้ว่าทั้ง 2 นโยบายจะยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคือนโยบาย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นนโยบายสวัสดิการแบบเจาะจงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยให้ผู้มีรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปีและไม่ถือครองสินทรัพย์ตามเกณฑ์ต่างๆ มาลงทะเบียนเพื่อรับบัตรดังกล่าวไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และล่าสุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติวงเงิน 41,940 ล้านบาท ช่วยเหลือประชาชน 11.67 ล้านคน แบ่งเป็นการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในสินค้าประจำวันตั้งแต่ 200-300 ต่อคนต่อเดือน, อุดหนุนค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน, อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ และรถ บขส. ประเภทละ 500 บาทต่อเดือน

หากย้อนกลับไปดูพัฒนาการของสวัสดิการสังคมของไทยตลอด 24 ปีที่ผ่านมา จากการรวบรวมพบว่ามีนโยบายที่สามารถเข้าข่ายสวัสดิการของรัฐและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันอยู่ 6 มาตรการ  ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ, คนพิการ, ผู้ป่วยโรคเอดส์, รถเมล์ฟรี, รถไฟฟรี, ไฟฟ้าฟรี ซึ่งใช้วงเงินรวม 616,377 ล้านบาท หรือตกปีละ 24,000 ล้านบาท และหากนับเฉพาะปีที่ได้ดำเนินมาตรการทั้งหมด หรือตั้งแต่ปี 2551 พบว่ารัฐใช้เงินไปแล้ว 586,871 ล้านบาท หรือปีละ 60,000 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

โดยมาตรการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเริ่มต้นในปี 2536 ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เพื่อให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน โดยใช้งบประมาณ 32 ล้านบาท จำนวนคน 20,000 คน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี  2546 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,449 ล้านบาท จำนวนคน 401,438 คน และในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 58,347.04 ล้านบาท และจำนวนคน 7,296,573 คน และล่าสุดในปี 2559 เพิ่มขึ้นจนถึง 64,770.36 ล้านบาท ด้วยจำนวนคน 8,157,175 คน

ในแง่ค่าเฉลี่ยต่อคนพบว่า ในปี 2536 ผู้สูงอายุจะได้เบี้ยยังชีพคนชรา 1,600 บาทต่อคนต่อปี หรือคนละ 133.3 บาทต่อเดือน ต่อมาในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 3,608.6 บาทต่อปี หรือ 300 บาทต่อเดือน และในปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 7,996.5 บาทต่อปี หรือ 666.38 บาทต่อเดือน และล่าสุดในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 7,940 บาทต่อปี หรือ 661 บาทต่อเดือน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สำหรับเบี้ยยังชีพคนพิการ เริ่มต้นในปี 2547 วงเงินงบประมาณ 144 ล้านบาท จำนวนผู้พิการ 24,000 คน และค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นในปี 2557 เป็น 9,508.14 ล้านบาท จำนวนผู้พิการ 1,329,734 คน และล่าสุดในปี 2560 เป็น 14,322.69 ล้านบาท จำนวนผู้พิการ 1,491,947 คน ในแง่ของค่าเฉลี่ยพบว่า ในปี 2547 ผู้พิการได้เงินเฉลี่ย 6,000 บาทต่อคนต่อปี หรือ 500 บาทต่อเดือน ต่อมาในปี 2557 เพิ่มเป็น 7,150.4 บาทต่อปี หรือ 595.8 บาทต่อเดือน และล่าสุดในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 9,599 บาทต่อปี หรือ 800 บาทต่อเดือน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สำหรับเบี้ยยังชีพผู้ป่วยโรคเอดส์ เริ่มต้นในปี 2547 เช่นเดียวกัน ด้วยวงเงินงบประมาณ 36 ล้านบาท จำนวนผู้ป่วย 6,000 คน และค่อยๆ ทยอยเพิ่มขึ้นในปี 2557 เป็น 436.38 ล้านบาท จำนวนผู้ป่วย 84,047 คน และล่าสุดในปี 2560 เป็น 508.94 ล้านบาท จำนวนผู้ป่วย 84,824 คน ในแง่ของค่าเฉลี่ยพบว่าในปี 2547 ผู้ป่วยได้เงินเฉลี่ย 6,000 บาทต่อคนต่อปี หรือ 500 บาทต่อเดือน ต่อมาในปี 2557 ลดลงเป็น 5,192.09 บาทต่อปี หรือ 432.7 บาทต่อเดือน และล่าสุดในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 5,999.9 บาทต่อปี หรือประมาณ 500 บาทต่อเดือนเช่นเดิม

ต่อมาในปี 2551 ด้วยผลจากวิกฤติการเงินโลก ทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการทางการคลังทั้งระยะสั้นและยาวหลายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยหนึ่งในนโยบายที่สามารถจัดว่าเป็นสวัสดิการรัฐและดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดคือมาตรการรถเมล์-รถไฟฟรี ซึ่งเริ่มต้นแต่ช่วงสิ้นปี 2551 ถึงปัจจุบัน ระยะเวลา 8 ปี 11 เดือน โดยดำเนินการทั้งสิ้น 22 ระยะ วงเงินรวม 34,920 ล้านบาท แบ่งเป็นรถเมล์ 26,569 ล้านบาท (สัดส่วน 76% ของวงเงินทั้งหมด) และรถไฟ 8,760 ล้านบาท โดยเฉลี่ยรัฐใช้งบประมาณปีละ 3,916.23 ล้านบาทต่อปี หรือ 326.35 ล้านบาทต่อเดือน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

เช่นเดียวกันกับมาตรการไฟฟ้าฟรี งานศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ระบุว่าในปี 2551 รัฐบาลออกมาตรการชั่วคราวเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนช่วงเศรษฐกิจตกต่ำจากงบประมาณของกระทรวงการคลัง ซึ่งให้เฉพาะกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยหรือบ้านเช่าเท่านั้น และหากใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 0-79 หน่วยต่อเดือนจะไม่ต้องเสียค่าไฟ แต่ถ้าใช้ตั้งแต่ 80-150 หน่วยจะต้องเสียค่าไฟครึ่งหนึ่ง ก่อนที่ในปี 2552-2554 จะมีการปรับเกณฑ์เป็นเฉพาะกลุ่มบ้านที่อยู่อาศัยเท่านั้นและปรับจำนวนการใช้ไฟฟ้าเหลือเพียงไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนจะได้รับยกเว้นค่าไฟทั้งหมด

ต่อมาช่วงกลางปี 2554 มาตรการไฟฟ้าฟรีถูกปรับให้กลายเป็นมาตรการถาวรและกำหนดเกณฑ์ให้เฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งมิเตอร์ขนาด 5 (15) แอมแปร์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนเท่านั้น และเปลี่ยนแหล่งเงินจากภาระงบประมาณเป็นการอุดหนุนของผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น (Cross-Subsidy) ก่อนที่ล่าสุดในปี 2555 และปี 2559 จะปรับลดจำนวนการใช้ไฟฟ้าเหลือเพียง 50 หน่วยและเพิ่มเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นนิติบุคคล รวมทั้งต้องใช้ต่ำกว่า 50 หน่วยติดต่อกัน 3 เดือน ทั้งนี้ ข้อมูลของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคระบุว่าในปี 2556-2558 มีครัวเรือนได้รับสิทธิระหว่าง 3-5 ล้านครัวเรือน หรือ 20-30% ของครัวเรือนทั้งหมดในเขตของการไฟฟ้าฯ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

และสุดท้ายในปี 2558 รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ ได้เพิ่มมาตรการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยในปีงบประมาณ​ 2559 มีจำนวนเด็กแรกเกิดได้รับการอุดหนุน 115,534 คน คนละ 400 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 1 ปี หรือใช้เงินงบประมาณ 554.56 ล้านบาท ต่อมาในปีงบประมาณ 2560-2561 รัฐบาลได้เพิ่มวงเงินเป็น 600 บาทต่อเดือน รวมทั้งเพิ่มระยะเวลาเป็น 3 ปี โดยในปีงบประมาณ 2560 มีจำนวนเด็กแรกเกิด 142,154 คน เป็นวงเงิน 3 ปี 3,070.53 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 ปัจจุบันมีเด็กแรกเกิดแล้วประมาณ 3,006 ราย เป็นวงเงิน 3 ปีเบื้องต้น 64.93 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)