ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจ “สลากฯ แบงก์รัฐ” ระดมเงินออมแบบไม่กินทุน แถมลุ้นรางวัลใหญ่ ใครครองตลาด! – ตัวอย่างแพลตฟอร์มแก้ขายหวยเกินราคา

สำรวจ “สลากฯ แบงก์รัฐ” ระดมเงินออมแบบไม่กินทุน แถมลุ้นรางวัลใหญ่ ใครครองตลาด! – ตัวอย่างแพลตฟอร์มแก้ขายหวยเกินราคา

25 มกราคม 2019


หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอบทความ “แก้ พ.ร.บ.สลากกินแบ่ง: เกาผิดที่คัน” ของดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ เรื่องการปฏิรูประบบการจัดจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องแก้ไข พ.ร.บ. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 2517 โดย ดร.เจิมศักดิ์มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานสลากฯ เปิด “แอปพลิเคชัน” บนมือถือ เพื่อใช้เป็นช่องทางการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับประชาชนโดยตรง แต่ไม่ใช่เป็นการยกสัมปทานให้กับภาคเอกชนรายใดเพื่อผูกขาดการขายหวยออนไลน์

ในบทความแนะว่าการสร้างแอปพลิเคชัน โดยเขียนโปรแกรมผูกกับบัญชีเงินฝาก และบัตรประชาชน หลังจากลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อย ผู้ซื้อสามารถกดปุ่มเลือกซื้อสลากฯ ได้ตามที่ต้องการ พร้อมกับกดปุ่มโอนเงิน ภาพถ่ายสลากฯ ก็จะมาปรากฏอยู่ในมือถือ โดยที่ผู้ซื้อไม่ต้องเก็บสลากฯ ไว้เป็นหลักฐานอีกต่อไป

กรณีถูกรางวัล ยอดเงินรางวัลก็จะถูกโอนมาเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ซื้อ ตรงนี้ก็จะช่วยป้องกันปัญหาการแอบอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของ เหมือนอย่างกรณีของครูกับตำรวจ และที่สำคัญยังช่วยแก้ปัญหาขายสลากฯ เกินราคาเอาเปรียบผู้บริโภคได้อีกด้วย เนื่องจากเป็นการขายโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ดังนั้น เงินรายได้จากการขายสลากฯ 17% ที่ถูกกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายหรือส่วนลดแก่ตัวแทนจำหน่ายสลากฯ ก็ต้องนำส่งคลังทั้งหมด ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนนโยบาย “สังคมไร้เงินสด” หรือ e-payment ของรัฐบาล และช่วยสร้างฐานข้อมูลภาครัฐเพื่อใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ซื้อสลากฯ เช่น คนเล่นหวยเป็นคนกลุ่มไหน อายุ เพศ อาชีพ เป็นคนกลุ่มเดียวกันกับผู้ที่มาลงทะเบียนเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือไม่ กลุ่มคนที่ถูกหวยและถูกกินคือใคร เป็นต้น

จากการสำรวจของสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า พบว่า ข้อเสนอของ ดร.เจิมศักดิ์ตามที่กล่าวมานั้นมีรูปแบบและหลักการใกล้เคียงกับช่องทางการจัดจำหน่ายของสลากออมสิน จากเดิมขายสลากฯ ผ่านสาขาของธนาคารออมสินทั่วประเทศ ปัจจุบันถูกพัฒนาขึ้นเป็นสลากอิเล็กทรอนิกส์ ขายผ่านแอปพลิเคชัน MyMo บนมือถือ หรือที่เรียกว่า “สลากดิจิทัล” (Digital Salak) โดยมีการรณรงค์แจกรางวัลพิเศษ กระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสลากผ่านแอปพลิเคชัน MyMo

แม้สลากออมสินจะแตกต่างจากสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรงที่เป็นการออมเงิน ไม่กินทุน ผู้ซื้อสลากฯ ได้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ส่วนสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้นเป็นการพนันประเภทหนึ่ง ซื้อแล้ว ไม่ถูกรางวัล ไม่ได้เงินคืน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือผู้ซื้อมีโอกาสลุ้นรางวัลใหญ่

ทั้งนี้การใช้งาน ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เริ่มต้นจากการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน MyMoจาก “App Store” หลังจากดาวน์โหลดและติดตั้งเสร็จเรียบร้อย ก่อนการใช้งานต้องนำบัตรประชาชนไปลงทะเบียนที่สาขาของธนาคารออมสินเพื่อแสดงตัวตน พร้อมกับแจ้งหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้สามารถตรวจเช็คยอดเงินเข้า-ออกจากบัญชีได้ ส่วนการใช้งานครั้งแรกก็ต้องคีย์เลขบัตรประชาชนเพื่อตั้งรหัสผ่าน 6 หลักที่ต้องใช้ก่อนทำรายการทุกครั้ง จึงจะเข้าไปสั่งซื้อ-ขายสลากได้ทุกที่ทุกเวลา โดยที่ไม่เก็บสลากไว้เป็นหลักฐานอีกต่อไป ตัวสลากจะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของธนาคารออมสิน กรณีถูกรางวัลหรือครบกำหนดไถ่ถอน เงินก็จะถูกโอนเข้าบัญชีผู้ซื้อโดยอัตโนมัติ

จากการสำรวจตลาดเงินฝาก ประเภทสลากลุ้นโชค พบว่า ปัจจุบันมีนักเสี่ยงโชคหันมาซื้อสลากออมทรัพย์แบบไม่กินทุนกันเป็นจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,280,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารออมสินเป็นเจ้าตลาด ณ สิ้นปี 2561 มียอดเงินฝากประเภทสลากออมสิน คงค้างประมาณ 1,000,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 78% ของมูลค่าสลากออมทรัพย์ที่หมุนเวียนในตลาดทั้งระบบ หากนำมาเปรียบเทียบกับสลากกินแบ่งรัฐบาลในปี 2561 ซึ่งมียอดขายอยู่ที่ 155,000 ล้านบาทแล้ว สลากออมสินมีปริมาณสูงกว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลถึง 8.25 เท่า โดยในปี 2562 ธนาคารออมสินคาดว่าจะมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในสลากออมสินเพิ่มขึ้นอีก 45,000 ล้านบาท

อันดับที่ 2 คือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มียอดคงค้างประมาณ 283,000 ล้านบาท ตามแผนงานของ ธ.ก.ส.ในปีนี้ คาดว่าจะเปิดขายสลากออมทรัพย์ทวีสินอีก 30,000 ล้านบาทในเดือนพฤษภาคม 2562 แต่ยังซื้อ-ขายผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ไม่ได้ อยู่ระหว่างการพัฒนาโปรแกรม

ล่าสุดธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) หลังจาก พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2562 ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 3 วาระ เตรียมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แถลงข่าวเปิดขายสลากออมทรัพย์ ธอส.รุ่นแรกวงเงิน 50,000 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีให้เลือกตั้งแต่อายุ 3 ปี 5 ปี และ 10 ปี แต่ที่น่าสนใจ คือ สลากออมทรัพย์ ธอส.ชนิดพิเศษ อายุ 10 ปี ขายใบละ 1 ล้านบาท นอกจากจะได้รับดอกเบี้ยพร้อมลุ้นรางวัลใหญ่ไป 120 งวดแล้ว ยังใช้เป็นหลักประกันในการนำไปหักลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านได้อีกด้วย ความคืบหน้าในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการออกรางวัลร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมทั้งพัฒนาโปรแกรม เพื่อให้สามารถซื้อ-ขายสลากฯ ผ่าน แอปพลิเคชัน GHB ALL ได้เช่นเดียวกัน MyMo ของออมสิน

จะเห็นได้ว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีรูปแบบการเสี่ยงโชคที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งหวยบนดิน ใต้ดิน และสลากออมทรัพย์ กำลังถูกพัฒนาขึ้นไปขายผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า ดังนั้น คำพูดที่ว่าคนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น จึงไม่เป็นความจริงอีกต่อไป ดังนั้นการแก้ปัญหาการขายหวยเกินราคา โดยการดูอย่างของแบงก์รัฐในการขายสลาก น่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่แก้ปัญหาได้ตรงประเด็นที่สุด ถึงเวลาที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งเลิกเล่นปาหี่ซื้อเวลาแก้ปัญหาไปวันๆเสียที

  • แก้ พ.ร.บ.สลากกินแบ่งฯ: เกาผิดที่คัน
  • 4 ปี คสช. พิมพ์หวยเพิ่ม 53 ล้านใบ อ้างแก้ปมขายสลากฯ เกินราคา – ปั๊มรายได้เข้าคลัง กระฉูด! กว่า 4 หมื่นล้าน
  • งานวิจัยทีเอ็มบี เจาะลึกพฤติกรรมคนเสพหวย – “หวย” คือ ความฝันที่แลกด้วยเงินล้านของคนไทย
  • ธอส.เปิดขายสลากฯลอตแรก 50,000 ล้าน ส.ค.นี้ – เผยอายุ 10 ปี ใบละ 1 ล้าน รับสิทธิลดหย่อนดบ.กู้ – ลุ้นรางวัล 120 งวด