ThaiPublica > เกาะกระแส > ภัทรส่งเยาวชนไทยร่วมงาน APEC Voices of the Future 2018 เสนอใช้ดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำของภาคเกษตร

ภัทรส่งเยาวชนไทยร่วมงาน APEC Voices of the Future 2018 เสนอใช้ดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำของภาคเกษตร

31 ธันวาคม 2018


ผู้แทนเยาวชนไทย 5 คน และตัวแทน บล.ภัทร ผู้ให้การสนับสนุน

ในช่วงวันที่ 12-18 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา มีการจัดร่วมงาน APEC Voices of the Future 2018 การประชุมผู้นำเยาวชนเอเปก คู่ขนานไปกับการประชุม APEC 2018 ที่เมืองพอร์ตมอร์สบี ประเทศปาปัวนิวกินี ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน จาก 14 เขตเศรษฐกิจ จากจำนวนผู้แทนเยาวชนและนักการศึกษาที่ได้รับคำเชิญ 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปก

สำหรับผู้แทนเยาวชนไทย 5 คน ได้แก่ น.ส.พิชญา หลิวจันทร์พัฒนา นายทรงลาภ เรียงเครือ น.ส.พิชชากร ชวรางกูร น.ส.ฐิตา แสงหลี และนายณภพ จงสุทธานามณี โดยนายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และนายชัชวาลย์ ธันวารชร ผู้ให้การสนับสนุน ได้ร่วมเดินทางไปด้วยในฐานะ Educator

หัวข้อหลักสำหรับงานในปีนี้คือ “การสร้างโอกาสในการลดความเหลื่อมล้ำในยุคดิจิทัล” (Harnessing Inclusive Opportunities, Embracing the Digital Future)

ภัทรหนุนวิเคราะห์ปัญหาเสนอทางแก้ไข

นายทวีศักดิ์เปิดเผยว่า โครงการนี้ประเทศไทยได้ส่งตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมมาแล้ว 6 ปี บล.ภัทร ได้ให้การสนับสนุนเป็นปีแรกเพราะเห็นถึงประโยชน์ที่เยาวชนได้จากการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในเวทีระดับโลก เพื่อนำกลับมาต่อยอดในการทำงานและเป็นกำลังสำคัญร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต และยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2020

นายทวีศักดิ์กล่าวต่อว่า หลังจากพิธีเปิดงานแล้ว ตัวแทนเยาวชนจากแต่ละเขตเศรษฐกิจได้ออกมานำเสนอในประเด็นบทบาทของเยาวชนในเขตเศรษฐกิจของตัวเองตามหัวข้อหลักของงาน

การนำเสนอของเยาวชนใน ร่วมงาน APEC Voices of the Future 2018 นั้น แต่ละ 14 เขตเศรษฐกิจมุมมองของตัวเองมีหลายประเทศที่น่าสนใจ เช่น จีนที่เล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่ามาจากครอบครัวยากจน ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการพัฒนาอย่างทั่วถึงและการเติบโตของเศรษฐกิจของจีน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึง

นายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

ส่วนเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่นนำเสนอบทบาทของเยาวชนที่เข้าเป็นอาสาสมัครเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ การลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ และการแก้ปัญหาภาวะทางจิตใจที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย

สำหรับการนำเสนอของผู้แทนเยาวชนไทยได้ชูประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย ซึ่งภัทรในฐานะผู้สนับสนุนได้จัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อให้เด็กระดมแนวคิดกันก่อนการเดินทาง โดยได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้รวมทั้งส่งเสริมให้วิเคราะห์ปัญหา แนวทางแก้ไข

“ภัทรให้ความสำคัญค่อนข้างมาก เราประยุกต์แนวทางปรัชญาในการทำงานของเรา ประกอบกับภัทรมีโปรแกรมฝึกงานหรือ internship ซึ่งเน้นให้น้องเยาวชนศึกษาแต่ละเรื่องอย่างลึกซึ้งและพยายามช่วยในบางเรื่อง ที่เยาวชนยังไม่มีความรู้ ประสบการณ์มากนัก ก็พยายามหาผู้เชี่ยวชาญมาเล่าให้ฟังและอยากจะทำในลักษณะ solution based วิเคราะห์ปัญหา หาข้อมูลและจัดทำ solution เพื่อที่จะนำไปใช้ประโยชน์กับสังคมในวงกว้างได้”

ภัทรมองว่า เยาวชนควรต้องทุ่มเทเวลา ศึกษาและทำความเข้าใจกับประเด็นเนื้อหาที่นำไปเสนอบนเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การได้เป็นตัวแทนประเทศก็ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่เยาวชนจะได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ เป็นพื้นฐานที่ดีเพื่อการต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคต อีกทั้งเยาวชนก็ได้มีเวทีในการแสดงความคิดเห็นและร่วมฟังทัศนะที่หลากหลายจาก CEO ชั้นนำที่ประสบความสำเร็จและผู้นำประเทศ

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า แนวคิดการทำงานที่ทางภัทรได้ให้กับน้องเยาวชน สอดคล้องกับแนวคิด Philosophy of Wealth ซึ่งเป็นหลักการทำงานที่ภัทรใช้ในธุรกิจของการบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth Management การบริหารความมั่งคั่งไม่ได้เป็นเพียงแค่การเพิ่มพูนมูลค่าของเงินลงทุน แต่ต้องเสริมสร้างด้วยมิติของปรัชญาที่ผูกโยงอยู่กับวิธีการทำงานที่ต้องใช้ทั้งเวลา ความรู้ และความเข้าใจ เพื่อสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่า ปัจจุบันภัทรเองก็มีโปรแกรม Internship ซึ่งเป็นโปรแกรมการฝึกงานที่เน้นให้ผู้ฝึกงาน ได้เอาความรู้ในห้องเรียนมาทดลองทำงานในสนามจริง ไปพร้อมๆ กับเรียนรู้แนวทางการทำงานบนปรัชญาแห่งการเรียนรู้และเพาะบ่มประสบการณ์

เสนอใช้ดิจิทัลลดความเหลื่อมล้ำของภาคเกษตร

นางสาวพิชญาซึ่งได้รับมอบหมายจากกลุ่มเยาวชนไทยที่เข้าร่วมงานทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมเปิดเผยว่า เยาวชนไทยที่ได้ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมงาน APEC Voices of the Future 2018 ทั้ง 5 คนได้ร่วมกันทำงานเพื่อการนำเสนอ โดยหลังจากที่ได้ประมวลข้อมูล วิเคราะห์บนพื้นฐานจากหัวข้อของการประชุมและในแง่ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยแล้วได้ข้อสรุปว่า เกษตรกรไทยค่อนข้างมีความเหลื่อมล้ำจากกลุ่มอื่นในประเทศด้านรายได้ และก็ไปศึกษาว่าปัญหาของเกษตรไทยคืออะไรและดูว่าปัญหาไหนที่เยาวชนพอจะมีบทบาทที่จะเข้าไปช่วยเหลือ หรือคิดวิธีแก้ปัญหา โดยหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับแนวคิดของงานคือ ดิจิทัล

นางสาวพิชญากล่าวว่า เหตุผลที่ตัวแทนเยาวชนไทยมีความเห็นว่ากลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย คือ มีแรงงานในภาคเกษตรคิดเป็นประมาณ 30% ของทั้งประเทศ แต่กลับมีสัดส่วนเพียงประมาณ 10% ของ GDP และเกษตรการมีรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำกว่าภาพรวมทั้งประเทศ โดยมีรายเฉลี่ยเพียง 56,450 บาทหรือประมาณ 10% ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของประเทศซึ่งมีจำนวน 110,000 บาท

น.ส.พิชญา หลิวจันทร์พัฒนา เยาวชนไทย ที่เป็นตัวแทนนำเสนอในเวทีประชุม

กลุ่มตัวแทนเยาวชนไทยเชื่อว่าต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคการเกษตรโดยหลักมาจาก หนึ่ง ที่ดินทำการเกษตรที่ไม่ได้ขนาด โดย 43% ของเกษตรมีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ สอง ระบบชลประทานที่ไม่เอื้ออำนวย สาม ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และ สี่ ปัญหาการกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง โดยได้เจาะลึกไปที่ปัญหาพ่อค้าคนกลางซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถมีส่วนร่วมในการหาทางออกของปัญหาด้วยได้

โดยมีตัวอย่างจริงให้เห็นแล้วในรูปแบบของ online market place ทั้งในและต่างประเทศ เช่น อินเดีย ที่อาจช่วยลดอำนาจต่อรองของตัวกลางในระบบเก่า และเพิ่มความสามารถในการกำหนดราคาให้กับเกษตรกร เพราะเป็นการนำเสนอสินค้าตรงถึงผู้บริโภคและธุรกิจ (Farm2C) นอกจากนั้น วิธีการแก้ปัญหาเดียวกันนี้ยังอาจเป็นประโยชน์กับภาคการเกษตรของประเทศเจ้าภาพ

“จากการทำงานของพวกเราพบว่า คนกลางคือปัญหาสำคัญของเกษตร เนื่องจากมีส่วนในทุกขั้นตอนของการนำสินค้าจากเกษตรมาถึงผู้บริโภค จึงได้นำเสนอการใช้ดิจิทัลมาช่วยแก้ไข เพราะนอกจากเทคโนโลยีมีการพัฒนา คนรุ่นใหม่ก็ใช้เทคโนโลยี จึงเสนอแนวทางการตั้งตลาดออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีให้เห็นบ้างแล้ว เช่น farmkaidee ในไทย fresh kart ในอินเดีย และ Shouguang Vegetable Trading Market Online ในจีน”

ร่วมร่างปฏิญญาเยาวชน Youth Declaration

ในการจัดงาน APEC Voices of The Future ทุกปี นางสาวพิชญากล่าวว่า ผู้จัดได้มอบหมายให้ตัวแทนเยาวชนจากทุกประเทศร่วมกันร่างปฏิญญาเยาวชน โดยปฏิญญาในปีนี้มีเนื้อหาโดยสรุปดังต่อไปนี้

การมีส่วนร่วมของเยาวชนต่อวิสัยทัศน์ APEC 2018 เยาวชนมองว่าการเข้าถึงตลาดได้อย่างเสรีและความเท่าเทียมทางโอกาสเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะส่งเสริมความร่วมมือในระดับโลกและการลดความเหลื่อมล้ำในยุคดิจิทัล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม และสวัสดิการสังคม ดังนั้น ผู้แทนเยาวชนจะช่วยกันส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และการสร้างโอกาสที่เท่าเทียม โดยใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเทคโนโลยี ผู้แทนเยาวชนเรียกร้องผู้นำในปัจจุบันให้ตระหนักถึงความเห็นของเยาวชนซึ่งจะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคต

เพิ่มความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเยาวชนเสนอให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งจัดหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับเยาวชนอย่างทั่วถึงในทุกเขตเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานที่เท่าเทียมกันให้เยาวชนได้เรียนรู้และเติบโต นอกจากนั้นยังควรมีการสร้างโอกาสให้กับผู้สร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในแง่ของแหล่งเงินทุน รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและเท่าเทียม เยาวชนมองว่าในแต่ละเขตเศรษฐกิจยังมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่ได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เยาวชนเชื่อว่าการส่งเสริมทักษะและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นประโยชน์ต่อคนทุกกลุ่ม เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นสิ่งแวดล้อม ทุกสมาชิกเขตเศรษฐกิจควรช่วยกันต่อสู้กับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการพึ่งพาพลังงานสิ้นเปลือง เยาวชนหวังว่าสมาชิกเอเปกจะจัดหาบริการพื้นฐานทางด้านสุขภาพแก่พลเมือง รวมทั้งสุขภาพจิต และพยายามลดมุมมองด้านลบต่อการเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิต

การส่งเสริมการเติบโตอย่างเท่าเทียมด้วยการปฏิรูปทางโครงสร้าง ตัวแทนเยาวชนเน้นถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบการศึกษาในเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา และส่งเสริมทักษะและความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างทั่วถึง รวมทั้งความเข้าใจในประเด็นจรรยาบรรณทางด้านอินเทอร์เน็ต

“สิ่งทีไ่ด้จากการร่วมร่างปฏิญญาเยาวชน คือได้เรียนรู้ถึงความยืดหยุ่น การเปิดกว้างให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไม่จำกัดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้มีทางออก เพราะจากข้อความที่ดิฉันได้เสนอไป ได้รับคำท้วงติงว่าเป็นข้อความที่จำกัดโอกาสของบางกลุ่ม แต่ควรใช้ข้อความที่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อให้การทำงานนั้นมีการต่อยอดได้ในระยะยาว” นางสาวพิชญากล่าว

ได้แรงบันดาลใจจากผู้นำของโลก

ในปีนี้มีการกล่าวสุนทรพจน์ของผู้นำระดับประเทศทั้ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สาธารณรัฐประชาชนจีน, รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการอภิปรายจากผู้นำองค์กรธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลกที่มาแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อต่างๆ เช่น การบริหารทรัพยากรบุคคลในอนาคต นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และความมั่นคงทางอาหารเป็นต้น

“ที่ประทับใจมากคือการได้เข้าฟังการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง ที่ต้องมีแท่นยืนหรือโพเดียมที่ทางจีนจัดมาโดยเฉพาะ และที่สำคัญเป็นการกล่าวสุนทรพจน์ที่สะท้อนภาวะผู้นำ ความนิ่ง เป็นผู้นำที่มีพลังมากที่สุดในโลกคนหนึ่ง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจของตัวเองที่จะกำหนดเป้าหมายในอนาคต” นางสาวพิชญากล่าว

การกล่าวสุนทรพจน์โดยผู้นำจีนและสหรัฐฯ ต่างก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก เนื่องจากความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างสองประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยผู้นำจีนได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นถึงข้อตกลงทางการค้าผ่านองค์กรกลางระหว่างประเทศในลักษณะพหุภาคีที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าองค์การกลางที่มีอยู่อาจจะไม่สมบูรณ์แบบแต่การหันหลังให้กับองค์กรดังกล่าวและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ในขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ เน้นถึงความสำคัญของการทำการค้าอย่างยุติธรรม โดยมีการระบุว่าประเทศจีนได้เอาเปรียบสหรัฐฯ โดยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าในระดับสูง การกำหนดโควตา และการบังคับให้บริษัทสหรัฐฯ ถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งการกล่าวหาประเทศจีนในประเด็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากเข้าร่วมอภิปรายในระดับผู้นำเยาวชนแล้ว ผู้แทนเยาวชนไทยยังได้เข้าร่วมการประชุม APEC CEO Summit 2018 โดยมีเจ้าภาพหลักคือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่เป็นส่วนหนึ่งของ APEC มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้นำและเจ้าหน้าที่รัฐเขตเศรษฐกิจสมาชิกในประเด็นที่ภาคธุรกิจมองว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วนหรือเป็นปัญหาต่อการพัฒนาด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก APEC CEO Summit

งาน APEC CEO Summit 2018 ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พบปะกับผู้บริหารของบริษัทเอกชนและองค์การภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รับฟังมุมมองและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารชั้นสูงจากบริษัทชั้นนำในภูมิภาค

สำหรับเยาวชนไทยยังได้พบกับประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและเลขาธิการสมาคมธนาคารไทยซึ่งได้ ให้เกียรติในการอธิบายแนวคิด เป้าหมาย และกระบวนการทำงานขององค์การภาคธุรกิจที่เป็นสมาชิกของ ABAC ในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน

เยาวชนไทยร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

กิจกรรมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

นอกจากประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เยาวชนจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ ยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนในเชิงวัฒนธรรม ในส่วนของประเทศเจ้าภาพปาปัวนิวกีนี ซึ่งมีชนเผ่าต่างๆ ถึงกว่า 1,000 เผ่า และมีภาษาที่ใช้กว่า 800 ภาษา ได้มีการจัดการแสดงทางวัฒนธรรมจากบางชนเผ่า และการออกร้านสินค้าพื้นเมืองและสินค้าอื่นๆจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และเยาวชนยังได้เข้าเยี่ยมชม Nature Park และการบรรยายถึงความหลากหลายทางชีวภาพบนเกาะนิวกีนี ในคืนสุดท้ายตัวแทนเยาวชนจากประเทศต่างๆ ได้เตรียมการแสดงทางวัฒนธรรมเพื่อแลกเปลี่ยนกับเยาวชนในประเทศอื่น สำหรับเยาวชนไทยได้เข้าร่วมด้วยการแต่งกายด้วยชุดไทยโบราณ นำเสนอเพลงไทยร่วมสมัย และแลกเปลี่ยนของที่ระลึกที่สะท้อนศิลปะและวัฒนธรรมไทย

เยาวชนที่ได้เข้าร่วมงาน APEC Voices of the Future ยังได้มีโอกาสเข้าชมกิจการก๊าซธรรมชาติของบริษัทเอ็กซอนโมบิลในปาปัวนิวกินีด้วย

นางสาวพิชญากล่าวว่า หลังจากการเข้าร่วม APEC Voices of the Future ได้ตั้งเป้าหมายของชีวิตไว้ 2 ระยะ โดยระยะสั้นจากการที่ยังศึกษาระดับมหาวิทยาลัยกับสถานศึกษาในฮ่องกง ก็ต้องการที่จะเผยแพร่ประเทศไทยให้ต่างชาติรู้จักมากขึ้น โดยได้นำภาพและวิดิโอจากการ่วมกิจกรรมเยาวขนในงาน APEC Voices of the Future มาใส่ไว้ในช่องยูทูบส่วนตัวเพื่อเผยแพร่ ซึ่งได้มีการแแชร์ต่อกันภายในมหาวิทยาลัยแล้ว

“สำหรับระยะยาว ตั้งเป้าว่าหลังจากเรียนจบแล้วอยากทำงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะมีตัวอย่างที่ดีจาก ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เพื่อให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นในโลก” นางสาวพิชญากล่าว

เยี่ยมชมกิจการด้านก๊าซของเอ็กซอนโมบิล

APEC Voices of the Future เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 1998 โดยเชิญผู้แทนเยาชนและนักการศึกษาจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก APEC เข้าร่วม และจัดคู่ขนานไปกับการประชุม APEC กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนมุมมองที่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุมของ APEC กับผู้นำ, ผู้กำหนดนโยบาย, เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศต่างๆ และผู้นำองค์กรธุรกิจ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมเช่นการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศเจ้าภาพ การแสดงของตัวแทนเยาวชนแต่ละประเทศ และก่อนสิ้นสุดกิจกรรมเยาวชนจากทุกประเทศจะร่วมกันร่างปฏิญญาของเยาวชน APEC เพื่อส่งให้ผู้นำ APEC ต่อไป