ThaiPublica > เกาะกระแส > งานวิจัย PIER ชี้ “สิทธิทางภาษี” ยังสำคัญ แต่ไม่ดึงดูดบริษัทไฮเทคต่างชาติ – แนะปรับระบบกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ

งานวิจัย PIER ชี้ “สิทธิทางภาษี” ยังสำคัญ แต่ไม่ดึงดูดบริษัทไฮเทคต่างชาติ – แนะปรับระบบกันการเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ

21 พฤศจิกายน 2018


ผศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ (ซ้าย) อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ผศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) ได้เปิดผลวิจัยในงาน “PIER Research Brief ภาษีสำคัญแค่ไหนต่อการลงทุนในอาเซียนของบริษัทข้ามชาติ” โดยบทความนี้สรุปงานวิจัยที่ใช้ข้อมูลบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนใน ASEAN5 เพื่อตอบคำถามสำคัญดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถออกแบบนโยบายการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีข้อค้นพบสำคัญดังนี้

    1) ในภาพรวม ภาษีเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะในอาเซียนที่มีการแข่งขันด้านภาษีค่อนข้างรุนแรง การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมีความจำเป็นต่อการรักษาส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติของไทย

    2) อย่างไรก็ตาม บริษัทข้ามชาติประเภทต่าง ๆ ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านภาษีในระดับที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะไม่มีประสิทธิผลมากนักต่อการดึงดูดบริษัท High-tech และบริษัทที่เป็นนักลงทุนหน้าเก่า

    3) การหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศได้ลดทอนบทบาทของสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างมีนัยสำคัญ

มาตรการสิทธิประโยชน์ต่างๆเป็นเครื่องมือหลักที่รัฐบาลใช้ในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นองค์ประกอบสำคัญของมาตรการดังกล่าว ซึ่งการส่งเสริมการลงทุนนี้จัดเป็นกลยุทธ์สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากกับดักประเทศกำลังพัฒนา อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์เหล่านี้สร้างต้นทุนทางการคลังที่สำคัญเช่นกันในรูปของเม็ดเงินภาษีที่หายไป

ดังนั้น การวางนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และความยั่งยืนทางการคลังหนึ่งในคำถามสำคัญของการวางนโยบายนี้ คือ ภาษีมีบทบาทต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติมากน้อยแค่ไหน และความสำคัญนี้แตกต่างกันอย่างไรสำหรับนักลงทุนประเภทต่าง ๆ การตอบคำถามนี้จะเป็นองค์ความรู้สำคัญสำหรับการวางแผนการให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงการประเมินความคุ้มค่าของสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ในบทความนี้ ผู้เขียนได้สรุปข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยของตนเอง (Muthitacharoen, 2018) ที่ได้ตอบคำถามวิจัยข้างต้นโดยทำการศึกษาบทบาทของภาษีต่อการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนของบริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ผ่านการใช้ข้อมูล MNEs ที่เข้ามาลงทุนใน 5 ประเทศอาเซียน (ASEAN5: อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ตั้งแต่ปี 2000-2016

ทั้งนี้ การทำความเข้าใจความสำคัญของภาษีต่อการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนของ MNEs นั้น มี 2 ประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณา

1) การใช้ข้อมูลรายบริษัทในอดีตที่ผ่านมา เรามีองค์ความรู้ในเรื่องนี้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาไม่มากนักงานวิจัยส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลระดับมหภาค เช่น Muthitacharoen (2017) ที่ได้ศึกษา FDI ในบริบทของอาเซียน และได้ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยทางด้านความยากง่ายต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของกฎระเบียบต่างๆของรัฐบาล มีผลต่อการดึงดูด FDI มากกว่าปัจจัยด้านภาษีสำหรับงานศึกษาที่ใช้ข้อมูลรายบริษัทนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นของกลุ่มประเทศ OECD หรือยุโรปการใช้ข้อมูลละเอียดรายบริษัทนี้ จะทำให้เราสามารถเข้าใจองค์ประกอบเชิงลึกต่างๆ (Granularity) ว่าการเลือกแหล่งลงทุนของ MNEs ได้รับอิทธิพลจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากน้อยขนาดไหนงานวิจัยนี้จึงได้ต่อยอดองค์ความรู้ผ่านการใช้ข้อมูลระดับบริษัทจากอาเซียนโดยทำการศึกษาข้อมูลงบการเงิน และโครงสร้างความเป็นเจ้าของ (Ownership structure) ของบริษัทข้ามชาติที่ตัดสินใจเข้ามาตั้งบริษัท (Foreign subsidiary) ใน ASEAN5 และให้ความสำคัญไปที่บริษัทข้ามชาติจาก 25 ประเทศของบริษัทแม่ที่มีจำนวนบริษัทลูกมากที่สุดในภูมิภาคโดยหลังจากการทำความสะอาดข้อมูลแล้ว ในชุดข้อมูลจะมีทั้งหมด 6,616 บริษัท ประเทศแม่ที่มีสัดส่วนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเยอรมนี (รูปที่ 1)

2) การวัดผลกระทบของภาษีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในทางปฏิบัติภาษีที่นักลงทุนต้องจ่ายไม่ได้มีเพียงแค่ต้นน้ำที่ภาษีในประเทศแหล่งลงทุนเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงภาษีที่จะเกิดขึ้นปลายน้ำ นั่นคือเมื่อนักลงทุนตัดสินใจส่งเงินกำไรกลับบริษัทแม่ ซึ่งภาระภาษีก็จะขึ้นกับโครงสร้างภาษีระหว่างประเทศ เช่น อัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายต่าง ๆ และการบรรเทาภาระภาษีซ้อนทั้งที่อยู่ในอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Taxation Avoidance Agreement: DTA) และในกฎหมายภาษีของประเทศแม่ เป็นต้นดังนั้น งานศึกษานี้จึงพิจารณาภาษีที่จะเกิดขึ้นกับคู่ประเทศลงทุนต่าง ๆ และได้สร้างอัตราภาษี Bilateral Effective Average Tax Rate (EATR)โดย EATR นี้สะท้อนอัตราภาษีเฉลี่ยที่บริษัทจะต้องจ่ายเมื่อตัดสินใจลงทุนในโครงการนั้น ๆ และเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ลงทุน (Location choice decisions)

นอกจากนี้สิทธิประโยชน์ทางภาษียังมีหลากหลายรูปแบบ ผู้วิจัยเลือกพิจารณาแรงจูงใจภาษีสูงสุด (Maximum incentives) ที่แต่ละประเทศมอบให้แก่นักลงทุนข้อกฎหมายต่างๆทั้งในประเทศแหล่งลงทุนและประเทศแม่สามารถส่งผลต่อภาระภาษีของ MNEs ได้อย่างมีนัยสำคัญรูปที่ 2 แสดงตัวอย่างของผลกระทบของข้อกฎหมายต่าง ๆ ต่ออัตราภาษี EATR สำหรับการลงทุนในไทยของบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ ในปี 2016 โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆของประเทศไทยได้ส่งผลให้ EATR ลดลงจากอัตราภาษีตามกฎหมาย (Statutory tax rate) ที่ 20% เป็น 6.7% แต่เมื่อพิจารณาภาระภาษีที่เกิดขึ้นจากการส่งกำไรในรูปเงินปันผลกลับไปให้บริษัทแม่ที่สหรัฐฯ รวมไปถึงการบรรเทาภาษีซ้อนตาม DTA ระหว่างไทยและสหรัฐฯ แล้ว อัตราภาษี EATR จะเพิ่มขึ้นเป็น 28.3% ทั้งนี้การแข่งขันทางด้านภาษีที่รุนแรงในภูมิภาคได้ส่งผลให้อัตราภาษี EATR ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา (รูปที่ 3)

ข้อค้นพบหลักที่ 1: โดยรวมภาษีมีความสำคัญค่อนข้างมากต่อการตัดสินใจลงทุนในอาเซียนของบริษัทข้ามชาติ ผลการศีกษาชี้ว่าบริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญต่อปัจจัยภาษี ผู้วิจัยได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราภาษี EATR และการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุน ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ โดยใช้แบบจำลอง Conditional Logit Model และได้พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการลงทุนด้วย เช่น ขนาดเศรษฐกิจ คุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน และระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งผู้วิจัยพบว่า อัตราภาษี EATR มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของ MNE ทั้งในเชิงสถิติและเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยการเพิ่มขึ้นของ EATR 1% จะส่งผลให้ความน่าจะเป็นของการเลือกประเทศนั้นๆลดลง 0.85% โดยเฉลี่ย

ผู้วิจัยได้ใช้ Conditional Logit estimate นี้ เพื่อ Simulate ผลของการเปลี่ยนนโยบายภาษีต่างๆต่อการตัดสินใจของ MNEs และมีข้อค้นพบสำคัญดังนี้ 1) ในภูมิภาคอาเซียนที่มีการแข่งขันภาษีระหว่างกันค่อนข้างรุนแรง ผลการศึกษาชี้ว่ารัฐบาลไทยต้องพบกับแรงกดดันที่สำคัญ อาจไม่มีทางเลือกมากนัก โดยหากไทยยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษี Tax holiday ต่าง ๆ เพียงประเทศเดียว ผลการศึกษาชี้ว่าส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติใน ASEAN5 ที่เลือกประเทศไทยจะลดลงถึง 8.2% (รูปที่ 4)

2) กรณีที่รัฐบาลไทยต้องการขยายขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยขยายเพิ่มระยะเวลา Tax holiday เพิ่มอีก 1 ปี งานศึกษาพบว่าส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติใน ASEAN5 ที่เลือกประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 1.1% (รูปที่ 5) อย่างไรก็ตาม การขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นต้องคำนึงถึงการตอบโต้จากประเทศอื่นๆในภูมิภาคด้วย โดยหากประเทศ ASEAN5 อื่น ๆตอบโต้ด้วยการขยาย Tax holiday ในลักษณะเดียวกัน ผลการศึกษาชี้ว่าการขยาย Tax holiday ดังกล่าวจะไม่มีประสิทธิผล โดยทุกประเทศจะได้ส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติแทบไม่แตกต่างจากเดิม

รูปที่ 2 Tax Policy Simulation: กรณีที่ประเทศไทยยกเลิกการให้ Tax holiday เพียงประเทศเดียวในภูมิภาค ที่มา: Muthitacharoen (2018)
รูปที่ 3 Tax Policy Simulation: กรณีที่ประเทศไทยขยาย Tax holiday สูงสุดเพิ่มขึ้น 1 ปีเพียงประเทศเดียวในภูมิภาค ที่มา: Muthitacharoen (2018)

ข้อค้นพบหลักที่ 2: บทบาทของภาษีต่างกันอย่างชัดเจนสำหรับนักลงทุนแต่ละประเภท หนึ่งในคำถามสำคัญในแง่ของการออกแบบนโยบายคือบทบาทของภาษีมีความสำคัญแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนในมิติต่าง ๆ ของบริษัทข้ามชาติ (Heterogeneity of the tax responsiveness) โดยผู้วิจัยได้ศึกษามิติของโครงสร้างกลุ่มบริษัท องค์ประกอบของสินทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจ ซึ่งตัวอย่างของผลการศึกษาที่สำคัญมีดังต่อไปนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่สำคัญมากนักต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูง (High-tech firms)โดยผู้วิจัยพบว่าในการเลือกประเทศลงทุนของบริษัท High-tech นั้น ปัจจัยภาษีไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และยังมีขนาดความสำคัญต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท Low-tech โดยการศึกษาพบว่าบริษัท High-tech ได้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านความยากง่ายในการทำธุรกิจ ความต่อเนื่องของนโยบาย และคุณภาพของกฎระเบียบต่างๆ มากกว่าปัจจัยด้านภาษีอย่างชัดเจน (รูปที่ 6) ทั้งนี้บริษัทในกลุ่ม High-tech คิดเป็นสัดส่วน 24% ของบริษัทที่เข้ามาลงทุนทั้งหมดใน ASEAN5 ตัวอย่างได้แก่ คอมพิวเตอร์ อิเลกทรอนิกส์ บริการพัฒนาซอฟแวร์ และเทเลคอมมิวนิเคชั่น เป็นต้น

ความสำคัญของภาษีแตกต่างกันชัดเจนระหว่างนักลงทุนหน้าใหม่และหน้าเก่า โดยนักลงทุนหน้าเก่าหมายถึง บริษัทที่เคยเข้ามาตั้งสถานประกอบการในประเทศแหล่งลงทุน (Host country) แล้วไม่ว่าจะผ่านบริษัทแม่เดียวกันหรือผ่านบริษัทแม่อื่นๆใน Corporate group ซึ่งสัดส่วนของบริษัทหน้าเก่านี้อยู่ที่ประมาณ 30% ของบริษัททั้งหมด งานวิจัยพบว่ากลุ่มบริษัทหน้าเก่าจะให้ความสำคัญต่อปัจจัยภาษีน้อยกว่ากลุ่มบริษัทที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนอย่างมีนัยสำคัญทั้งในทางสถิติและทางเศรษฐศาสตร์ ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับข้อสังเกตที่ว่านักลงทุนหน้าเก่าอาจไม่ได้ให้ความสำคัญต่อแรงจูงใจทางภาษีมากนัก เนื่องจากมีความคุ้นเคยต่อประเทศแหล่งลงทุนในด้านโอกาส ความเสี่ยง และห่วงโซ่การผลิตต่าง ๆ (รูปที่ 7)

การหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศได้ลดทอนความสำคัญของสิทธิประโยชน์ทางภาษีไปอย่างมีนัยสำคัญงานวิจัยพบว่าบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศ Tax haven ใน Corporate group ของตน จะให้ความสำคัญต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนของบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับ Tax haven นี้มีสูงถึง 60% ของบริษัททั้งหมด ข้อค้นพบนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาในกลุ่มประเทศ OECD ที่ว่า บริษัทที่มีโอกาสในการหลบเลี่ยงภาษีสูงกว่าจะให้ความสำคัญกับภาษีของประเทศแหล่งลงทุนน้อยกว่า ผลการวิจัยนี้ชี้ถึงความสำคัญของการใช้มาตรการเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันราคาโอน (Transfer pricing) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 และมาตรการป้องกันทุนต่ำ (Thin capitalization) ที่ประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายจัดการอย่างเป็นทางการ ซึ่งปัจจุบันถือว่าไทยเข้มงวดน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศที่ศึกษาและการเข้มงวดมากขึ้นก็ไม่น่าจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันมากนัก แม้ว่าจะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนมากขึ้น (รูปที่ 8)

ผศ.ดร.อธิภัทร กล่าวสรุปว่าพัฒนาการทางด้านภาษีที่สำคัญอันหนึ่งของภูมิภาคอาเซียนตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาคือการแข่งขันด้านภาษีที่ค่อนข้างรุนแรงโดยอัตราภาษีที่แท้จริงได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในแทบทุกประเทศ อันเป็นผลจากการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ การแข่งขันดังกล่าวได้สร้างแรงกดดันที่สำคัญให้แก่รัฐบาลไทย ซึ่งกุญแจสำคัญในการรับมือกับแรงกดดันดังกล่าวคือการทำความเข้าใจบทบาทความสำคัญของภาษีต่อการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนในอาเซียนของบริษัทข้ามขาติ

งานศึกษานี้พบว่าภาษีมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติทั้งในเชิงสถิติและเชิงเศรษฐศาสตร์โดยหากไทยยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษี Tax holiday ต่าง ๆ เพียงประเทศเดียว ผลการศึกษาชี้ว่าส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติใน ASEAN5 ที่เลือกประเทศไทยจะลดลงถึง 8.2% อย่างไรก็ตามการขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นต้องคำนึงถึงการตอบโต้จากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคด้วย ซึ่งการตอบโต้นี้จะส่งผลให้การขยายสิทธิประโยชน์ดังกล่าวมีประสิทธิผลไม่มากนัก

นอกจากนี้ งานศึกษายังพบว่าบริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านภาษีแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของความเข้มข้นทางเทคโนโลยี การเป็นนักลงทุนหน้าเก่า/หน้าใหม่ และความสามารถในการหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศ ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการวิจัยนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับมาตรการสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุน และช่วยสร้างองค์ความรู้สำหรับการวางนโยบายโดยใช้ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ (Evidence-based policy)

เอกสารอ้างอิง

Muthitacharoen, Athiphat, 2017, “Tax Incentives, International Tax and FDI: Evidence from South-East Asia,”PIER Discussion Paper No. 65.

Muthitacharoen, Athiphat, 2018, “Location choice and tax responsiveness of foreign multinationals: Evidence from ASEAN countries,” PIER Discussion Paper No. 95.

ผู้วิจัยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล Orbis ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่จัดการฐานข้อมูลงบการเงินนิติบุคคลของแต่ละประเทศ และทำการเชื่อมโยง Corporate group structure ระหว่างบริษัทในประเทศต่างๆ

งานศึกษาได้ใช้นิยามการแบ่ง Technological intensity ของ Eurostat (https://ec.europa.eu/eurostat/cache/metadata/Annexes/htec_esms_an3.pdf)

หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์