เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2561 สถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ PIER ได้จัดงาน PIER Research Brief ครั้งที่ 8/2561 โดยมี ผศ. ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ. ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เปิดเผยผลงานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบทางเศรษฐกิจของความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย”
ทั้งนี้ ผศ. ดร.พงศ์ศักดิ์ กล่าวถึงความสำคัญว่า ที่ผ่านมาความไม่แน่นอนทางการเมืองมักจะเป็นประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจจากมิติใดและอย่างไร โดยเฉพาะในระยะหลังที่ประเทศไทยต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง โดยเดิมงานวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวมักจะใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน แต่มักจะประสบปัญหาว่าไม่สามารถทำได้บ่อยครั้งและมีความถี่ไม่มาก ขณะที่ต่อมามีงานวิจัยที่เริ่มหาทางวัดความไม่แน่นอนด้วยวิธีการต่างๆ รวมไปถึงหัวข้อต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากการเมือง เช่น ความไม่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ
ข้อมูลหนึ่งที่ถูกนำขึ้นมาใช้คือ “ข่าว” ที่สื่อมวลชนรายงาน ซึ่งสามารถสะท้อนความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ดี เนื่องจากหากประเด็นทางการเมืองหรือเศรษฐกิจยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนหรือมีความไม่แน่นอนอยู่ ย่อมมีโอกาสที่สื่อมวลชนจะติดตามรายงานข่าวมากขึ้นและต่อเนื่อง แต่หากประเด็นดังกล่าวได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เช่น กำหนดวันเลือกตั้งแล้ว การรายงานข่าวย่อมจะลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งงานวิจัยนี้จะใช้ข้อมูลในลักษณะนี้เป็นหลัก
ทั้งนี้ แหล่งที่มาของข้อมูลนำมาจากระบบจัดการข้อมูลข่าวของบริษัท Infoquest ซึ่งมีบริการแยกออกเป็นสองระบบ คือ ไอคิวนิวส์คลิป (iQNewsClip) เป็นบริการข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ในประเทศ และ นิวส์เซ็นเตอร์ (NewsCenter) ที่มีข้อมูลไม่เพียงเฉพาะจากหนังสือพิมพ์แต่รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ รวมทั้งสื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบข่าวในไอคิวนิวส์คลิป แม้มีข้อมูลข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์ที่มีความสมบูรณ์ แต่สามารถสืบค้นย้อนหลังกลับไปถึงแค่เดือนมิถุนายน 2006 งานวิจัยนี้จึงเน้นเฉพาะในส่วนของข่าวหน้าหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นประเด็นข่าวสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จากหนังสือพิมพ์จำนวน 5 ฉบับ คือ ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน คมชัดลึก และข่าวสด โดยข้อมูลรายเดือนจะใช้ฐานข้อมูลของไอคิวนิวส์คลิปที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2549 จนถึง 31 ธันวาคม 2559 หรือประมาณ 10 ปี
ขณะที่การพัฒนาดัชนีให้ครอบคลุมมากถึง 15 งานวิจัยใช้ระบบสืบค้นของนิวส์เซ็นเตอร์ ที่มีข้อมูลย้อนหลังกลับไปได้กว่า 20 ปี แต่ข้อมูลจำนวนบทความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงก่อนปี 2543 ดังนั้น งานวิจัยจึงใช้ข้อมูลเว็บไซต์ข่าวของหนังสือพิมพ์รวมทั้งจากหนังสือพิมพ์ในระบบนิวส์เซ็นเตอร์ ที่มีข้อมูลเนื้อหาข่าวเพียงพอกลับไปถึงปี 2540 และเนื่องจากข้อมูลเนื้อหาข่าวมีปริมาณที่แตกต่างกันในช่วง 15 ปีค่อนข้างมาก งานวิจัยจึงจัดทำข้อมูลออกมาเป็นรายไตรมาสแทนรายเดือน ระหว่างไตรมาสที่ 1 ปี 2540 ถึง ไตรมาสที่ 4 ปี 2559 รวมทั้งสิ้นเกือบ 20 ปี ครอบคลุมนายกรัฐมนตรีถึง 9 คน
สำหรับการสร้าง “ดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย” หรือ Political Uncertainty Index: PUI โดยงานวิจัยได้การกำหนดกลุ่มคำสำคัญ (keywords) ที่แสดงถึงความไม่แน่นอนหรือความขัดแย้งทางการเมืองจากการอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งสรุปได้ 5 หมวดหมู่
- ความขัดแย้งที่เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้แก่คำว่า “ชุมนุม” และ “ขัดแย้ง”
- การใช้มาตรการเพื่อดูแลหรือยับยั้งปัญหาความขัดแย้งที่อาจทวีความรุนแรงขึ้น ได้แก่คำว่า “กฎอัยการศึก” และ “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน”
- ความไม่แน่นอนทางการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ได้แก่คำว่า “ไทย” และ “ยุบสภา” หรือ “เลือกตั้ง”
- ความไม่แน่นอนทางการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรง ได้แก่คำว่า “รัฐประหาร” และ “ปฏิวัติ”
- ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับระบบ กติกา และโครงสร้างทางการเมือง ได้แก่คำว่า “การเมือง” และ “ปฎิรูป” หรือ “รัฐธรรมนูญ (รธน.)” “ยกร่าง” และ “แก้ไข”
หลังจากนั้น จะนับจำนวนบทความข่าวที่นำเสนอในหนังสือพิมพ์รายวันในแต่ละเดือนที่มีคำสำคัญดังกล่าวทียบกับจำนวนข่าวด้าน “การเมือง” ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆ ก่อนจะปรับปรุงข้อมูลตามวิธีการทางสถิติและสร้างเป็นดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยในท้ายที่สุด อนึ่ง ภายหลังการจัดทำงานวิจัยได้นำดัชนีไปเปรียบเทียบกับเครื่องชี้ระดับธรรมาภิบาลโลก (Worldwide Governance Indicators) ในหัวข้อที่ 2 เสถียรภาพทางเมืองและการปลอดความรุนแรง (Political stability and absence of violence) ที่จัดทำโดยธนาคารโลกและพบว่ามีความสัมพันธ์กัน (correlation) ค่อนข้างสูง และสามารถสะท้อนความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ค่อนข้างดี
ชี้หลังรัฐประหาร ความไม่แน่นอนอยู่ที่ “กติกา”
ผลการศึกษาพบว่า ดัชนีสามารถสะท้อนความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วง 20 ปีที่แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติทางการเมือง 3 ครั้งสำคัญในช่วงดังกล่าว ได้แก่ ช่วงของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ได้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมขึ้นของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การประกาศยุบสภา แม้ว่าจะเกิดการเลือกตั้งขึ้นในเวลาต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีวินิจฉัยให้เพิกถอนการเลือกตั้งและประกาศเลือกตั้งใหม่ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับการชุมนุมภายนอกสภาที่ต้องการขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ซึ่งต่อมาเป็นชนวนให้เกิดการรัฐประหารขึ้นโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภาโดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่ม นปช. จนนำไปสู่มาตรการสลายการชุมนุม การปะทะกันระหว่างทางการและผู้ชุมนุมทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งแกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม 2010
ครั้งที่สาม ซึ่งจะเห็นได้ระดับความไม่แน่นอนเพิ่มสูงกว่าในสองครั้งที่ผ่านมา เกิดขึ้นในยุคสมัยของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เกิดการชุมนุมกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก และได้ทำปฏิบัติการณ์ปิดสถานที่ใจกลางกรุงเทพฯ ในช่วงต้นปี 2014 การชุมนุมดังกล่าวได้เป็นชนวนให้เกิดการรัฐประหารโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นอกจากนี้ หากแยกดัชนีย่อยออกเป็นสองด้าน คือ 1) ด้านที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ข่าวภายนอกระบบรัฐสภา เช่น การชุมนุมประท้วง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน/กฎอัยการศึก หรือการปฏิวัติรัฐประหาร และ 2) ด้านที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในระบบรัฐสภา เช่น การเลือกตั้งและการปฏิรูปการเมือง พบว่าความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นภายนอกและภายในระบบรัฐสภามีความสัมพันธ์กันอย่างมากในช่วงปี 2006-2014 ซึ่งในช่วงก่อนปี 2006 ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีไม่ชัดเจน ขณะที่ภายหลังการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2014 พบว่าความสัมพันธ์ของความไม่แน่นอนภายนอกสภาและภายในสภาวิ่งในทิศทางที่สวนทางกัน ซึ่งจะเห็นว่าความไม่แน่นอนด้านเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงได้ลดลงมากที่สุด ขณะที่ความไม่แน่นอนทางด้านการเลือกตั้งและการปฏิรูปการเมืองยังคงอยู่ในระดับที่สูง
สุดท้ายในภาพรวม เมื่อพิจารณาจากความสัมพันธ์กันระหว่างดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองรวม และความไม่แน่นแต่ละประเภท พบว่า ความไม่แน่นอนด้านการเลือกตั้งและด้านการปฏิรูปการเมืองมีความสัมพันธ์กับดัชนีรวมมากที่สุดตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเมืองไทย 2006-2016 ความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งที่มาจากการชุมนุมประท้วงกลับสัมพันธ์กับดัชนีความไม่แน่นอนโดยรวมมากที่สุด
โดยหากพิจารณา “สัดส่วน” ของความไม่แน่นอนแต่ละประเภทใน “ดัชนีรวม” จะพบว่าด้านที่เกี่ยวข้องกับการยุบสภาหรือการเลือกตั้งมีสัดส่วนที่สูงมากในช่วงตั้งแต่ปี 1997 จนถึงปี 2006 และถือได้ว่าเป็นแหล่งที่มาหลักของความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา องค์ประกอบของความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยสัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ด้านการประท้วง การออกมาตรการจัดการการประท้วง และข่าวด้านการปฏิวัติมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ก็ได้ทยอยลดลงภายหลังการรัฐประหารในปี 2014 ขณะที่บทความข่าวด้านการปฎิรูปการเมืองในปลายปี 2016 มีสัดส่วนถึงประมาณครึ่งหนึ่งของบทความข่าวความไม่แน่นอนการเมืองทั้งหมด
ความไม่แน่นอนฉุดเศรษฐกิจทุกระยะ
ด้าน รศ. ดร.ยุทธนา กล่าวว่า จากแบบจำลองทางเศรษฐมิติพบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองมีผลเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในหลายกรณี ยกเว้นความไม่แน่นอนด้านชุมนุมขัดแย้ง และความไม่แน่นอนด้านปฏิรูปการเมือง ที่ผลไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ขณะที่ในแง่ความผันผวนพบว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้เศรษฐกิจผันผวนอย่างมีนัยสำคัญในทุกกรณี อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางด้านการปฏิรูปการเมืองกลับทำให้ความผันผวนทางเศรษฐกิจลดลง ต่างจากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
สุดท้าย หากพิจารณาแนวโน้มการเติบโตตามศักยภาพของระดับผลผลิต พบว่า ทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองในภาพรวม และในดัชนีย่อย มีผลเชิงลบต่ออัตราการเติบโตของระดับผลผลิตตามศักยภาพของไทยในเกือบทุกกรณี ยกเว้นเพียงผลของความไม่แน่นอนด้านการชุมนุมขัดแย้งที่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมแยกตามรายสาขาการผลิต พบว่า การโรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และการบริการขนส่ง เป็น 3 สาขาที่มีการตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของความไม่แน่นอนทางการเมืองโดยรวมที่ชัดเจน
หากเจาะลึกลงไปถึงประเภทของตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคนอกเหนือไปจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม ได้แก่ การลงทุนและการบริโภค พบข้อมูลดังนี้
- ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มาจากการชุมนุมขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นทำให้การลงทุนปรับตัวหดลง 1.8% (-1.8%) ในขณะที่การตอบสนองต่อความขัดแย้งด้านการปฏิรูปการเมืองส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนลดลง 1.5% (-1.5%) และกินระยะเวลาค่อนข้างยาวนานกว่า อย่างไรก็ตาม ผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในด้านอื่นๆ (กฎอัยการศึก, ปฎิวัติ และเลือกตั้ง) มีผลในขนาดที่น้อยกว่า ขณะที่ “ความผันผวนของการลงทุน” จะขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนทางการเมืองด้านการชุมนุมขัดแย้งและการปฏิรูปการเมืองถึง 17-18%
- การตอบสนองของการบริโภคต่อความไม่แน่นอนทางเมือง พบว่ารุนแรงน้อยกว่าผลต่อการลงทุนภาคเอกชน โดยผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการเพิ่มขึ้นของระดับความขัดแย้งจากการชุมนุมและด้านการเลือกตั้งที่จะส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนลดลง 0.3% (-0.3%) โดยผลกระทบจะมีผลต่อเนื่องประมาณ 2-4 ไตรมาสก่อนที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ลดลงหลัง 1 ปี
ทั้งนี้ หากแยกการบริโภคภาคเอกชนเป็นสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทน พบว่าจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองโดยรวม -1.3% และ -0.4% ตามลำดับ และหากแยกเป็นความไม่แน่นอนแต่ละด้านพบว่า การบริโภคสินค้าคงทนมีการตอบสนองในระดับที่สูงต่อการเพิ่มขึ้นในความไม่แน่นอนทางการเมืองในทุกๆ ด้าน โดยด้านที่มีผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวลดลงมากที่สุด ได้แก่ ด้านปฎิรูปการเมือง ลดลง -1.3%, ด้านการเลือกตั้ง ลดลง -1.2% และด้านชุมนุมขัดแย้ง ลดลง -1.0% ตามลำดับ ในขณะที่ผลที่มีต่อการบริโภคสินค้าไม่คงทนมีขนาดการตอบสนองที่ต่ำกว่าในกรณีสินค้าคงทน แต่ก็ยังมีความชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการบริโภคภาคเอกชนรวม โดยผลจากความไม่แน่นอนทางเมืองในด้านการชุมนุมขัดแย้งเป็นด้านที่มีขนาดการปรับตัวของการบริโภคสินค้าไม่คงทนลดลงมากที่สุดที่ 0.4%
“ประท้วง-ปฏิวัติ” กระทบส่งออก
สำหรับการตอบสนองของการส่งออกสินค้าและบริการ การนำสินค้าและบริการ ต่อการเพิ่มขึ้นของระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองโดยรวม แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนของการส่งออกสินค้าและบริการโดยมีการปรับตัวลดลง -1.3% ในช่วงเวลา 3 ไตรมาส ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการ มีการปรับตัวลดลงในช่วงเวลา 3 ไตรมาสคล้ายคลึงกับการส่งออก แต่ขนาดการตอบสนองจะสูงกว่าคือมีการปรับตัวลดลง -2.0%
นอกจากนี้ หากแยกประเภทความไม่นอนทางการเมือง พบว่าการส่งออกสินค้าและบริการมีการตอบสนองต่อความขัดแย้งนอกสภาที่สูงกว่าปัญหาความขัดแย้งในกลไกรัฐสภาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนในด้านการชุมนุมขัดแย้ง และการปฎิวัติรัฐประหาร ที่มีการปรับตัวลดลง -1.2% ในขณะที่ความขัดแย้งด้านการปฎิรูปการเมืองและด้านการเลือกตั้งมีการปรับตัวลดลง -0.4 ถึง -0.6% และเช่นเดียวกันในการนำเข้า ที่ได้รับผลกระทบใกล้เคียงกับในกรณีการส่งออก คือ ผลกระทบที่รุนแรงจะเกิดในกรณีของการเพิ่มขึ้นของระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองในด้านการชุมนุมขัดแย้งและการปฎิวัติรัฐประหารซึ่งปรับตัวลดลง -2.0% และ -2.1% ตามลำดับ
“ประท้วง” กระทบตลาดหุ้นหด 0.5%
สุดท้าย ในแง่ของตลาดหลักทรัพย์ พบว่าความไม่แน่นอนทางเมืองในระยะสั้นจะมีนัยสำคัญเฉพาะความแน่นอนด้านความขัดแย้งจากการชุมนุมเท่านั้น โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลให้ผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง -0.5% ส่วนผลของความไม่แน่นอนทางการเมืองประเภทอื่นๆ แม้ว่าจะส่งผลเชิงลบต่อตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกับในด้านการชุมนุมขัดแย้ง แต่มีขนาดการตอบสนองที่ต่ำกว่าและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ขณะที่ผลกระทบของความไม่แน่นอนทางการเมืองต่อความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ พบว่ามีนัยสำคัญในเกือบทุกด้านของความไม่แน่นอนทางการเมือง และมีขนาดผลกระทบที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้นดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองในภาพรวม และความไม่แน่นอนด้านการเลือกตั้งไม่ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ