ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯเผยกำหนดการ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” – มติ ครม.ขยายคุณสมบัติผู้มีสิทธิ เช่าซื้อ “บ้านธนารักษ์ฯ” 30 ปี

นายกฯเผยกำหนดการ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” – มติ ครม.ขยายคุณสมบัติผู้มีสิทธิ เช่าซื้อ “บ้านธนารักษ์ฯ” 30 ปี

29 มกราคม 2019


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

เผยกำหนดการ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

พล.อ. ประยุทธ์ ได้เปิดเผยถึงกำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและการเลือกตั้ง โดยระบุว่า พระราชพิธีสำคัญของเราจะเริ่มขึ้นตั้งแต่

  • 6 เมษายน 2562 ที่จะมีพลีกรรม ตักน้ำทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
  • 8-9 เมษายน 2562 พิธีปลุกเสกน้ำทุกจังหวัดพร้อมกัน
  • 18-19 เมษายน 2562 ปลุกเสกน้ำรวมที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งว่าต้องเป็นน้ำสะอาด ต้องมีการพิสูจน์ คัดกรองอย่างดี บริสุทธิ์ และเป็นมงคล เพื่อใช้ในพระราชพิธี
  • 22-23 เมษายน 2562 พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ
  • 2 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จบวงสรวงด้วยพระองค์เอง
  • 3 พฤษภาคม 2562 พิธีเชิญพระสุพรรณบัฏเข้าวัง ประกาศการบรมราชาภิเษก โดยจะมีคณะรัฐมนตรีร่วมด้วย
  • 4 พฤษภาคม 2562 จะมีกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงค่ำ ตั้งแต่การบรมราชาภิเษก การถวายพระพร ประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภก สักการะพระบรมอัฐิ เฉลิมพระแท่นบรรจถรณ์
  • 5 พฤษภาคม 2562 ช่วงเช้าจะเฉลิมพระปรมาภิไธย ขณะที่ช่วงเย็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบพระนคร
  • 6 พฤษภาคม 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกให้ประชาชนและคณะทูตเข้าเฝ้า ซึ่งคณะกรรมการจัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีมติให้วันที่ 6 พฤษภาคม นี้เป็นวันหยุด เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ เป็นไปด้วยดี

ทั้งนี้วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 จะเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลา 150 วันที่จะต้องจัดการเลือกตั้ง ซึ่งตรงกับวันพืชมงคล แต่ไม่มีผลกระทบอะไรกับวันเลือกตั้ง และยังมีกิจกรรมอีกมากมายหลังพระราชพิธีสำคัญที่จะต้องทำเพื่อถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอให้เข้าใจด้วย ว่าเหตุใดเราจึงต้องทำให้เดือนพฤษภาคมสงบเรียบร้อย เป็นเดือนแห่งความเรียบร้อย ในช่วงนั้นการเมืองก็เดินหน้าไปสู่การเตรียมจัดตั้งรัฐบาล ก็คงไม่วุ่นวายเท่าใด แต่ก็ขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันทำบ้านเมืองให้สงบด้วย

อนึ่งตั้งแต่วันที่ 23-24 มกราคม 2562 เป็นขั้นตอนของการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. จากนั้น 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 เปิดรับสมัคร ส.ส.เขต และแจ้งชื่อนายกฯ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ประกาศรายชื่อผู้สมัคร วันที่ 9 มีนาคม 2562 วันสุดท้ายของกรรมการสรรหาส่งชื่อสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 400 คน ให้ คสช.เลือก 194 คน วันที่ 17 มีนาคม 2562 เลือกตั้งล่วงหน้า 24 มีนาคม 2562 เลือกตั้งทั่วประเทศ

“ผมเป็นห่วงกังวลอย่างเดียวคือหลังการเลือกตั้ง ระหว่างนี้คงไม่มีอะไร เพราะทุกคนทั้งนักการเมืองและประชาชนมีบทเรียนแล้ว ขึ้นอยู่กับประชาชนจะตัดสินใจ ผมไม่เกี่ยวข้อง แต่หน้าที่ผมคือดูแลความสงบเรียบร้อย ก็ขอความร่วมมือจากประชาชนด้วยแล้วกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แจง 4 รมต.ลาออกไม่กระทบงาน – “อุตตม” เผยยังไม่ทาบใครนั่งนายกฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการยืนหนังสือลาออกของ 4 รัฐมนตรี ว่า คงไม่มีปัญหา รัฐบาลนี้ก็ยังทำงานต่อไปได้ ทั้ง 3 กระทรวงต่างมีรัฐมนตรีช่วยอยู่แล้ว หากไม่มีก็ต้องไปดูที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดไว้แล้ว ว่า ใครจะเป็นผู้รักษาการแทน หากไม่มีก็จะต้องเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่จะต้องลงไปกำกับดูแลเอง

ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งของนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั้นมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อีกคนหนึ่ง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่จะลงไปช่วยดูแลให้ เพราะงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), อีอีซี

สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มีนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่แล้ว หากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ นายสมคิดก็จะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะอยู่ในฝ่ายเศรษฐกิจด้วยกัน ด้านกระทรวงวิทยาศาตร์ฯ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเป็นผู้กำกับดูแล หากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รองนายกรัฐมนตรีก็จะเข้าไปดูแล ส่วนกระทรวงพาณิชย์นั้น มีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนได้อยู่แล้ว

“ฉะนั้น ทั้งหมดนี้ก็ทำงานโดยรัฐมนตรีที่รักษาการแทนตามระเบียบสำนักนายกฯ อยู่แล้ว ไม่น่ามีปัญหา เมื่อเช้าท่านก็มาพบผม มาแจ้งความจำนงว่าอยากจะขอลาออกเพื่อไปทำงานในส่วนการเมืองของท่าน ผมก็ขัดข้องไม่ได้อยู่แล้ว แม้ผมจะเสียดายท่านมากน้อยเพียงใดก็ตาม เพราะท่านช่วยผมทำงานมานานพอสมควร และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ออกมาในหลายๆ เรื่อง อย่างไรก็ตาม เราก็มีกลไกในแต่ละกระทรวงอยู่แล้วที่จะช่วยกันทำงาน อย่าไปกังวลในเรื่องเหล่านี้เลย ยังทำงานต่อไปได้ และไม่มีนโยบายในการปรับ ครม.ในช่วงนี้แน่นอน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

4 รัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายอุตตม​ สาวนายน​ รมว. อุตสาหกรรม​ หัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รองหัวหน้าพรรค​ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์​ เลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ภูตระกูล รมต.ประจําสํานัก นายกรัฐมนตรี โฆษกพรรค เข้าพบนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุม ครม. เพื่อกล่าวอำลา
ที่มาภาพ : วสวัตติ์ โอดทวี

โดยในช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. 4 รัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นำโดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหัวหน้าพรรค พปชร. เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อกราบลา และชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า 4 รัฐมนตรีได้ยื่นหนังสือลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีอย่างเป็นทางการแล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 30 มกราคม 2562 เป็นต้นไป

  • 4 รัฐมนตรี ยื่นใบลาออก – มีผลพรุ่งนี้ พร้อมลุยศึกเลือกตั้งเต็มตัว
  • นายอุตตมกล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีรับทราบถึงการตัดสินใจมาตั้งแต่ต้น ส่วนตำแหน่งที่ว่างลงใครมาแทนแล้วแต่นายกฯ จะพิจารณา

    ทั้งนี้ยังไม่มีการทาบทาม พล.อ. ประยุทธ์ ให้เข้ามาอยู่ในรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค และยังไม่มีการทาบทาบใครทั้งสิ้น เรื่องดังกล่าวต้องเป็นไปตามกระบวนการและการลงมติภายในของพรรค และไม่ว่าอย่างไรก็ต้องได้ข้อยุติก่อนวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรค

    พร้อมกันนี้นายอุตตมชี้แจ้งว่า ตนและรัฐมนตรีทั้ง 3 ทำงานในตำแหน่งและสิ่งที่รับผิดชอบตามที่ตั้งใจจะทำเสร็จครบถ้วนแล้ว ส่วนภารกิจไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่นกับคณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีนั้น ก็ได้ทำการยกเลิกการเดินทางไปแล้ว

    “ตั้งแต่ 29 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกของผู้ร่วมก่อตั้งพรรค พปชร. ก็ถือเป็นการเริ่มนับหนึ่ง เราทั้ง 4 คน ปรากฏตัวเป็นครั้งแรก ผมเคยพูดว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเราจะออกไปทำงานการเมืองเต็มตัว ในวันนั้นที่พูดไว้เราเป็นรัฐมนตรี มีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ ได้ปฏิบัติตัวตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ และทำตามกฎเกณฑ์กติกาจนมาถึงวันนี้ ซึ่งเราได้คุยกันแล้วว่าน่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสมจึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เพื่อไปทำงานกับพรรค พปชร.เต็มตัว มุ่งสู่การเลือกตั้ง”

    “การที่เราปฏิบัติตัวตามนี้ อยากจะให้ถือว่าเป็นแนวความคิดของเรา สะท้อนเจตนารมณ์และความเชื่อของเราตั้งแต่ต้นว่าเราทำอย่างโปร่งใส ทำงานการเมืองอย่างมีเป้าหมาย ก้าวสู่การเมืองด้วยความมั่นใจ เป็นไปตามนั้น ไม่ได้เอาการเมืองนำ แต่ทำงานการเมืองโดยเอาประโยชน์ของประเทศชาติ ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีวันนี้ถึงเวลาแล้วที่ภารกิจเสร็จสิ้นไปได้พอสมควร เราถึงมาทำงานการเมือง” นายอุตตมกล่าว

    เตรียมหารือกฤษฎีกา – กกต. กรณีถูกเสนอชื่อนายกฯ

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการตัดสินใจทางการเมืองว่า ตนเคยบอกแล้วว่าต้องรอให้มีพรรคการเมืองมาเชิญตนก่อน เมื่อเชิญมาแล้วก็ต้องมีระยะเวลาที่ตนจะศึกษานโยบายของพรรคนั้นๆ ว่า นโยบายเขามีความเป็นไปได้อย่างไร ตนรับได้หรือไม่ หากจะตัดสินใจเข้าร่วมทางการเมืองด้วย

    “ผมทำมา 4-5 ปี ผมก็พอจะรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ อะไรทำได้ หรือไม่ได้ เพราะผมต้องศึกษากฎหมายทุกตัว ทั้งระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ การหารายได้ รายจ่ายของรัฐบาลในช่วง 4 ปีทีผ่านมา ที่ทำงบประมาณมาเรารู้ว่าะจะใช้เงินได้อย่างไร มีสัดส่วนออกมาอย่างไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    โดยย้ำเตือนว่า ต้องระวัง จะทำอะไรที่นอกเหนือไปจากที่กฎหมายกำหนด พร้อมย้อนถามกลับว่า หลายอย่างที่ผ่านมาใน 4-5 ปีนี้เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หลายท่านที่ไม่ได้อยู่ในจุดนี้อาจจะไม่ทราบไม่สนใจ ไม่เข้าใจ เมื่อไปสร้างการรับรู้ข้างนอก บางทีทำไม่ได้จริงจะทำอย่างไร ก็ขอให้สนใจ และเชิญชวนทุกคนที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินให้ศึกษากฎหมายเหล่านี้ด้วย จะได้ทำนโยบายที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชนและประเทศ

    “เมื่อเขามาเชิญผม ผมก็ต้องพิจารณาอีกที ขอเวลาผมสักนิดให้พิจารณาว่าควรจะอยู่หรือไม่อยู่ ควรจะทำต่อหรือไม่ หากจะทำต่อแล้วจะทำอะไร มากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพราะเขาบอกแล้วว่าจะมีเวลาในช่วงการเสนอรายชื่อนายกฯ วันที่ 4-8 กุมภพันธ์ 2562 ผมก็มีเวลาในช่วงนั้น ก็จะรู้กันตอนนั้นว่าอยู่หรือไม่อยู่ อย่าเพิ่งเร่งรัดอะไรผมมากนักเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    “ในเรื่องบทบาทของผม ผมได้มอบหมายในที่ประชุม ครม.วันนี้แล้ว ขอให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องไปหารือกับฝ่ายกฎหมาย ทั้งกฤษฎีกา และ กกต.ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการออกตรวจราชการ การจัดประชุม ครม.สัญจร การใช้งานสื่อออนไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม รวมไปถึงการพูดในวันศุกร์ ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเมืองต่อไป ผมก็ต้องรอบครอบ การตัดสินใจของผม ผมระวังที่สุด หากยังอยู่ในตำแหน่งนายกฯ และหากมีการตอบรับร่วมในรายชื่อฯ จะต้องระวังอีกขั้นหนึ่งหรือไม่ก็ต้องไปหารือ ช่วยกันมองแล้วกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    เมื่อถามว่า ช่วงวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์นี้ หากนายกฯ ตัดสินตอบรับพรรคการเมือง วันนั้นจะลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าลาออกแล้วใครจะทำ ไม่ออก เป็นนายกฯ อยู่อย่างนี้แหละ กฎหมายไม่ได้ให้ออกก็ไม่ออก สำหรับตำแหน่งหัวหน้า คสช.เขาต้องอยู่ถึงเมื่อไหร่ อยู่จนถึงมีรัฐบาลใหม่ใช่หรือไม่ เมื่อรู้แล้วก็ตามนั้น อย่ามาถามซ้ำ ส่วนการหารือกับฝ่ายกฎหมายและ กกต. เดี๋ยวเขาก็จะหารือในวันนี้ พรุ่งนี้ จะรีบร้อนไปไหน

    ต่อคำถามว่าต้องถามใครอีกหรือไม่ก่อนที่จะตัดสินใจ นอกจากถามตัวเอง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว จะอยู่หรือไม่อยู่ อยู่ในขั้นตอนขั้นแรกแล้ว แต่บอกแล้วขอดูก่อน ดูนโยบายอะไรต่างๆ และจะมีปัญหากับการเป็นนายกฯ ของตนหรือเปล่า คงลาออกตอนนั้นไม่ได้อยู่แล้ว การเป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช. ถ้าจะระมัดระวังตัวเอง ก็ไม่ต้องพูดอะไรเลย ส่วนครอบครัวจะสนับสนุนหรือไม่นั้นไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของตน การตัดสินใจบางอย่างตนไม่ได้ถาม เพราะทุกคนเข้าใจสถานการณ์ของตนอยู่แล้ว ให้เกียรติซึ่งกันและกัน สำหรับกรณีบางพรรคการเมืองวิจารณ์กรณีมีทหารติดตามความเคลื่อนไหวขณะหาเสียงนั้น ฝ่ายมั่นคงตามทุกพรรค พรรคไหนทำอะไรเขารายงานหมด

    เมื่อถามว่า หากตัดสินใจจะเลือกอยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองหรือไม่นายกฯ กล่าวว่า “มันต้องอยู่มั้ง ไม่มีอย่างอื่น ถ้าอยู่คือต้องอยู่ในบัญชีนายกฯ เอาอย่างนี้แล้วกัน เดี๋ยวจะไปบอกว่าจะเป็นนายกฯ คนใน คนนอก วุ่นวายไปหมด ถ้าอยู่ก็อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ”

    สั่งศึกษา กม. แก้ปม “ฝุ่นพิษ”

    พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครและพื้นที่อื่นๆ ว่า ปัญหาดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาสำคัญของไทย รัฐบาลอาจยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปในระยะเวลาอันใกล้ แต่ก็ต้องหามาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการ ทั้งมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว แก้ปัญหาจากเบาไปหาหนัก โดยต้องแก้ให้ได้โดยเร็ว

    “วันนี้มีการหารือกัน และจะให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการขับเคลื่อน ในลักษณะบูรณาการทั้งระบบ ซึ่งจะมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร และตำรวจ โดยจะเอาเรื่องทั้งหมดมาหารือกัน อะไรที่ทำไปแล้ว ทำเร่งด่วน ระยะสั้น เช่น พ่นละอองน้ำ วันนี้ก็มีความคิดใหม่คือ การพ่นละอองน้ำจากที่สูง ตามตึกต่างๆ ก็ได้รับความร่วมมือ เป็นส่วนที่กระทรวงกลาโหมทำไปแล้ว ใช้ปริมาณน้ำประมาณ 130 ลิตรต่อนาที ซึ่งสามารถช่วยลดฝุ่นละอองได้ระดับหนึ่ง วันนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากใบหยก ซึ่งต้องมีงบประมาณจำนวนหนึ่งที่เขาต้องช่วยกันเสียสละ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    ในการแก้ปัญหาเราต้องแก้ที่ต้นทาง ใครบ้างที่มีส่วนในการสร้างฝุ่นทั้ง PM2.5 และ PM10 ซึ่งตนไม่ได้ตำหนิใคร สิ่งสำคัญที่สุดคือ วันนี้พยายามบูรณาการแสวงหาความร่วมมือจากภาคเอกชน โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จะช่วยกันลดมลภาวะนี้ได้อย่างไร ซึ่งเขาก็มีกฎหมายเฉพาะที่บังคับควบคุมอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมาดูเพิ่มว่าทำแค่นั้นพอหรือไม่ จะต้องมีมาตรการพิเศษออกมาไหม ให้ร่วมมือกัน เช่น หยุดเครื่องจักรในบางช่วงเวลาได้หรือไม่ ก็ถือว่าเขาต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้กับเราไปด้วย

    วันนี้ก็มีการพูดคุย ว่า หลายประเทศมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องนี้ออกมา สำหรับแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ว่าภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคส่วนอื่นๆ จะต้องทำอะไร เพราะแต่ละภาคส่วนก็ต่างมีกฎหมายของควบคุมอยู่แล้วแต่อาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ก็ต้องศึกษาก่อน ดูกฎหมาย และปรับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย

    แจงใช้ ม. 44 ปลดล็อคกัญชา ต้องแก้ทีละขั้น ย้ำไม่เข้าข้างใคร

    พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2562 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรและมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 ที่ผ่านมาว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ที่ออกไปนั้นแก้ปัญหาได้ข้อเดียวคือ เรื่องสิทธิบัตรที่มีการขอมาล่วงหน้า ขณะเดียวกันยังต้องรอกฎหมายอีก 2 ฉบับ ทั้ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในเรื่องยาเสพติด จะปลดล็อกตรงนี้ให้ก่อน

    “เป็นเรื่องของกรมสิทธิบัตรที่ไปแก้ปัญหาให้ได้ก่อน ที่กฎหมายจะออก เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันในอนาคตต่อไป”

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลที่ตนทราบนั้น การนำส่วนของกัญชามาทำยาใช้จากดอก ไม่ใช่ใบ โดยนำมาสกัด แล้วทำตามสูตรยาต่อไป ซึ่งส่วนผสมนี้สามารถนำไปใช้ปรุงยารักษาโรคได้หลายโรคด้วยกัน

    “ยาสมุนไพรไทยมีส่วนผสมจากกัญชาหลายสำรับด้วยกัน เดิมถูกถอดออกไป เพราะกัญชาผิดกฎหมาย เมื่อใดที่ทำให้กัญชาถูกกฎหมายอาจต้องปรับตรงนี้ในหลายตำหรับยา สิ่งสำคัญคือ ต้องเอาสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของไทยมาใช้ประโยชน์ให้ได้ก่อน ส่วนเรื่องการตั้งโรงงานสกัดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ง่าย ต่อไปคือการคิดสูตรยาของไทยเอง วันนี้จึงต้องหยุดการขอขึ้นทะเบียนจากต่างชาติไว้ก่อน ส่วนเราก็ต้องคิดของเราไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องหาทางออก รัฐบาลจะไปเข้าข้างใครไม่ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    เดินหน้าสร้าง “เขื่อนวังหีบ” ยัน รบ. พยายามหาทางออกที่เหมาะสม

    พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำวังหีบ พร้อมเครือข่ายเพื่อนวังหีบเพื่อสิ่งแวดล้อม 24 เครือข่าย ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนวังหีบ ในพื้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ว่า อันนี้ก็เป็นการทำมาจากความคิดเห็นจากภาคประชาชน ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยที่อาจจะมากกว่าคนที่ไม่เห็นด้วย แต่คนที่ไม่เห็นด้วยอาจมีความคิดเห็นที่รุนแรง จากการขยายความกันไปมา ไปเข้าเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องเอ็นจีโอบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ยืนยันว่า รัฐบาลจะหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด โดยวันนี้กระทรวงเกษตรฯ กรมชลประทาน และกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ช่วยกันชี้แจงออกไปเพื่อสร้างความรับรู้

    “เราต้องมองว่าประโยชน์ที่ได้มานั้นเป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่แค่ไหน ส่วนน้อยอาจเสียประโยชน์ เป็นผู้ที่มาคัดค้าน จะดูแลเขาได้อย่างไร การจัดทำโครงการทั้งหมดถึงจะเป็นไปได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ไม่ได้ข้อยุติ ส่งผลให้ผลประโยชน์ที่จะรับกลับมาโดยรวมช้า เพราะเขื่อนเป็นส่วนสำคัญในการรวมน้ำ เก็บน้ำ และกระจายน้ำ หากไม่มีเขื่อนก็บริหารจัดการน้ำไม่ได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้บริการจัดการน้ำได้ดีพอสมควร สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม จะเห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมาไม่มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ และปัญหาอุทกภัยต่างๆ ก็สามารถช่วยเหลือและแก้ปัญหาได้ทันเวลา ซึ่งการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากพายุปาบึก รัฐบาลก็พยายามเร่งรัดในการเยียวยา วันนี้มีการอนุมัติงบประมาณในการช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อครัวเรือนไปจำนวนหนึ่ง

    โดยยืนยันว่า เงินบริจาค 130 ล้านบาทนั้น ไม่มีการนำมาสมทบเพิ่มเป็นพิเศษจากที่รัฐบาลจ่ายช่วยเหลือ เนื่องจากรัฐบาลมีการใช้จ่ายหลายส่วน บางส่วนที่ไม่สามารถเบิกจากงบประมาณได้ ต้องอาศัยเงินบริจาคจำนวนนี้ พร้อมย้ำว่า ขอให้ไว้ใจว่าเงินทั้งหมดอยู่ในบัญชี ไม่มีใครทุจริตเอาไปใช้ได้ ทั้งหมดที่รับมาอยูในบัญชีเงินฝากของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นบัญชีควบคุม ไม่ได้อยู่ที่บัญชีของผู้ใดทั้งสิน

    กรณี “ฟีฟ่า” ร้องปล่อยตัวนักเตะ “บาห์เรน” ชี้ต้องเคารพ กม. ไทย

    พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือฟีฟ่า ส่งจดหมายถึงนายกฯ ให้ปล่อยตัว นายฮาคีม อัล-อาไรบี นักฟุตบอลผู้ลี้ภัยชาวบาห์เรน ที่ถูกกักกันในไทย ให้เดินทางกลับไปที่ออสเตรเลีย ว่า เราต้องเคารพกฎหมายของเราเองด้วย เมื่อมีการเข้ากระบวนการมาแล้วก็อยู่ในขั้นตอนของศาลยุติธรรมของเรา เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อไป แต่ไม่สามารถแทรกแซงการทำงานของศาลได้ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ

    แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับบาห์เรน ออสเตรเลีย และฟีฟ่า ประเทศไทยเป็นมิตรที่ดีกับทุกประเทศอยู่แล้ว เพียงแต่ครั้งนี้จะทำอย่างไรในการหาทางออกให้ได้ ซึ่งตนเข้าใจว่าทุกคนเป็นกังวล

    ยันแก้ “ไอยูยู” ต่อเนื่อง แม้พ้นใบเหลือง

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องปัญหาประมงไอยูยู ว่า วันนี้ตนได้สั่งการเพิ่มเติม แม้ว่าไทยจะถูกปลดใบเหลืองแล้ว แต่หลายกิจกรรมยังคงต้องทำต่อไปให้ต่อเนื่องต้องอาศัยความร่วมมือ และบูรณาการจากหลายหน่วยงานด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคดีความต่างๆ การทำลายเรือ การสืบสวนสอบสวน รวมถึงการจัดกิจกรรมไอยูยูเวิร์กชอปของอาเซียน ซึ่งไทยจะเป็นผู้นำในการปรับเปลี่ยนการทำประมงให้ถูกกฎหมายทั้งอาเซียน เนื่องจากไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้

    “วันนี้ได้รับข้อมูลว่าไทยมีรายได้จากการส่งสินค้าประมงออกไปยังสหภาพยุโรปมากขึ้น มากกว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาหลายคนบอกว่าไม่จำเป็นต้องไปให้ความสำคัญกับสหภาพยุโรป เพราะคู่ค้าของไทยก็มีประเทศอื่น แต่ต้องไม่ลืมว่าที่อื่นเขาก็ใช้หลักการในการตรวจสอบเดียวกับสหภาพยุโรป คือต้องสามารถพิสูจน์ที่มาของสินค้าประมงได้ทั้งหมด” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องแรงงานประมงไทยยังประสบปัญหา เนื่องจากความต้องการของภาคเอกชน พบว่า ยังขาดแรงงานประมงอีกกว่า 20,000 คน มีแรงงานต่างชาติที่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมงเพียงหลักพันเท่านั้น ซึ่งยังขาดอีกจำนวนมาก รัฐบาลก็พยายามเต็มที่ทั้งการเปิดโอกาสและขยายเวลาให้จดทะเบียน ตนคาดว่าเป็นเพราะงานประมงเป็นงานหนัก ต้องหามาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการทุกอย่างไม่เพียงแต่ต้องถูกกฎหมายไทย แต่ต้องดูไปถึงกฎหมายต่างประเทศด้วย

    มติ ครม.มีดังนี้

    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
    ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

    ขยายคุณสมบัติผู้มีสิทธิเช่าซื้อ “บ้านธนารักษ์ฯ” 30 ปี

    นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติให้ปรับเงื่อนไขคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โครงการเช่าระยะยาว (leasehold) จากเดิม เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนที่ปัจจุบันไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย เป็นตามลำดับความสำคัญจากมากไปน้อยและจะไม่บังคับใช้กับผู้ที่ขอเข้าร่วมโครงการก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบตามที่เสนอนี้ ดังนี้ 1) ประชาชนผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2) ประชาชนที่มีรายได้รวมไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน และ 3) ประชาชนทั่วไป

    “การปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากมีประชาชนหลายกลุ่มที่ย้ายเข้ามาทำงานจากต่างจังหวัด โดยอาจจะยังมีกรรมสิทธิ์ในบ้านที่ต่างจังหวัดก็ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในเมืองได้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าโครงการมีจำนวนทั้งสิ้น 1,072 หน่วย มีผู้มาจองสิทธิ 2,322 ราย แต่มีผู้มายื่นขอใช้สิทธิเพียง 406 ราย และผ่านคุณสมบัติเพียง 388 ราย เนื่องจากส่วนใหญ่เข้าข่ายเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อนตามหลักเกณฑ์เดิม วันนี้กระทรวงการคลังจึงมาขอปรับหลักเกณฑ์ให้ผ่อนคลายลง” นายณัฐพร กล่าว

    เคาะราคาอ้อยขั้นต้นปี 61/62 ตันละ 700 บาท

    นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2561/2562 ในอัตราอ้อยตันละ 700 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. หรือเท่ากับร้อยละ 97.29 ของประมาณการราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 719.47 บาทต่อตันอ้อย และกำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 42 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต ปี 2561/2562 เท่ากับ 300 บาทต่อตันอ้อย

    “ในปีนี้ไม่มีการแยกเขตการผลิตอย่างปีก่อนๆ เพราะว่าทุกเขตผลิตออกมามีประสิทธิภาพพอๆกัน ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตที่ 126.36 ล้านตันอ้อยในปีนี้ โดย พล.อ. ประยุทธ์ได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับราคาอ้อยภายใน 2 เดือน เนื่องจากยังต่ำกว่าต้นทุนที่ประมาณ 1,110 บาทต่อตันอ้อยค่อนข้างมากและราคาอ้อยในตลาดโลกดูไม่มีท่าทีจะฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้หากรวมกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรการอ้อยก่อนหน้านี้ที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิจ 50 ต่อตันอ้อยและการสบทบเข้ากองทุนช่วยเหลือจากโรงงานน้ำตาลที่ 70 ต่อตันอ้อย ซึ่งทำให้โดยรวมเกษตรกรจะได้ราคาอ้อยที่ประมาณ 800 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าต้นทุนอยู่ดี” นายณัฐพรกล่าว

    แก้กฎหมายสิทธิบัตรใหม่ – ขยายนิยามครอบคลุมมากขึ้น

    นายณัฐพรกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

    1) เพิ่มเติมบทนิยาม คำว่า “ทรัพยากรพันธุกรรม” “สารพันธุกรรม” “อนุพันธ์” “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” ระหว่างบทนิยามคำว่า “แบบผลิตภัณฑ์” และคำว่า “ผู้ทรงสิทธิบัตร” เพื่อรองรับหลักการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources: GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge: TK) และการเป็นจุดตรวจสอบภายใต้พิธีสารนาโงยาฯ รวมทั้งอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) ซึ่งไทยเป็นสมาชิกแล้ว

    2) ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณางานที่ปรากฏอยู่แล้ว โดยกำหนดเพิ่มเติมกรณีที่มีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรครั้งแรกไม่ว่าจะในหรือนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าวันยื่นคำขอครั้งแรกนั้นเป็นวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งสอดคล้องกับหลักการ Claim Priority ซึ่งถือเป็นหลักการสากล

    3) เพิ่มเติมสิ่งที่ขอรับสิทธิบัตรไม่ได้ โดยกำหนดเพิ่มเติมให้ ศัลยกรรม และ วิธีการดำเนินธุรกิจ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ เพื่อให้ถ้อยคำครบถ้วนตาม TRIPS Art 27 ข้อ 3 (a) ซึ่งมีคำว่า “surgical methods” และกำหนดให้ชัดเจนว่าวิธีการดำเนินธุรกิจ (Business Method) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ เพราะไม่ใช่การประดิษฐ์ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธี

    4) เพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อรองรับการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยกำหนดให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรระบุแหล่งที่มา และยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตก่อนการเข้าใช้ และข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์มาพร้อมคำขอด้วย เพื่อรองรับหลักการเปิดเผยแหล่งที่มาของทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources: GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge: TK)

    5) ปรับปรุงแก้ไขขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้มีความชัดเจนและรวดเร็วขึ้น โดยกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการขอรับการจดสิทธิบัตรใหม่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับหลักสากล เช่น ลดระยะเวลาแยกคำขอรับสิทธิบัตร กรณีคำขอรับสิทธิบัตรมีการประดิษฐ์หลายอย่าง จากเดิม 120 วัน เป็น 90 วัน ลดระยะเวลาการขอให้ตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์จาก 5 ปีเป็น 3 ปี เป็นต้น, กำหนดองค์ประกอบรายงานการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรเบื้องต้นใหม่เพื่อให้ชัดเจน และเข้าใจง่าย, ปรับปรุงกระบวนการคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยย้ายการคัดค้านก่อนการตรวจสอบการประดิษฐ์มาไว้ภายหลังจากตรวจสอบการประดิษฐ์ แต่ก่อนการรับจดทะเบียน, กำหนดหลักเกณฑ์และผลของการถอนคำขอรับสิทธิบัตรให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ขอมีสิทธิเลือกที่จะไม่ขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตรต่อไป

    6) ยกเลิกการให้ผู้ทรงสิทธิบัตรอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบัตรแทนตน และกำหนดวิธีการจดแจ้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร โดยกำหนดให้ยกเลิกการจดทะเบียนอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิบัตรแทนผู้ทรงสิทธิบัตร เพื่อรองรับระบบการแจ้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร และกำหนดวิธีการจดแจ้งการอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสิทธิบัตร โดยเปลี่ยนจากการจดทะเบียนสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเป็นการจดแจ้ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้มีระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น

    7) ปรับปรุงอำนาจหน้าที่อธิบดีกรณีผู้ทรงสิทธิบัตรไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปี โดยกำหนดให้อธิบดีสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรที่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีแทนคณะกรรมการสิทธิบัตร เพื่อลดขั้นตอนการดำเนินงาน

    8) เพิ่มเติมบทบัญญัติเรื่องการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อส่งออกเภสัชภัณฑ์ตามมาตรา 31 bis ของ TRIPS Agreement โดยกำหนดว่ากรณีหากเกิดความขาดแคลนเภสัชภัณฑ์ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หรือประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกมีศักยภาพในการผลิตเภสัชภัณฑ์ไม่เพียงพอ และประเทศนั้นได้แจ้งความต้องการที่จะนำเข้าเภสัชภัณฑ์ต่อองค์การการค้าโลกแล้ว กระทรวงอาจใช้สิทธิตามสิทธิบัตรอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผู้ทรงสิทธิบัตรอยู่แล้ว เพื่อผลิตและส่งออกเภสัชภัณฑ์ไปยังประเทศดังกล่าวได้ โดยดำเนินการเองหรือให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน รวมทั้งวางกรอบการกำหนดค่าตอบแทน เงื่อนไข และข้อจำกัด สิทธิของกระทรวง เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลง TRIPS Art 31 bis

    9) เพิ่มเติมหมวด 2/1 การยื่นคำขอระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty : PCT) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มีสิทธิยื่นคำขอสิทธิบัตรสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาในไทย สามารถยื่นขอจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ ซึ่งเป็นหลักการตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร เดิมกำหนดไว้ในกฎกระทรวงว่าด้วยการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร พ.ศ. 2522

    10) ปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับอนุสิทธิบัตร โดยแก้ไขกรอบเวลาการเปลี่ยนแปลงประเภทของสิทธิจากสิทธิบัตรเป็นอนุสิทธิบัตร หรือจากอนุสิทธิบัตรเป็นสิทธิบัตรจากเดิม 5 ปีเป็น 3 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์

    11) เพิ่มเติมการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้การยื่นคำขอและการดำเนินการต่างๆ ให้ทำได้ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นที่อธิบดีกำหนดได้

    12) ปรับปรุงบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปรับปรุงค่าธรรมเนียมคำขอต่างๆ เช่น คำขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร เดิม ฉบับละ 1,000 บาท เป็น 2,500 บาท ใบแทนสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร เดิม ฉบับละ 100 บาท เป็น 1,000 บาท เป็นต้น และเพิ่มเติมค่าธรรมเนียมคำขอต่างๆ ซึ่งเดิมไม่มี เช่น คำขอแยกการประดิษฐ์ ฉบับละ 2,500 บาท คำขอถอนคำขอรับสิทธิบัตรหรือนุสิทธิบัตร ฉบับละ 500 บาท

    ผ่านร่าง กม. คุ้มครองพยาน ขยายนิยาม – เพิ่มความคุ้มครอง

    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญคือปรับปรุงบทนิยาม คำว่า “พยาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งจะมาให้หรือได้ให้ข้อเท็จจริงต่อพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญา พนักงานผู้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือศาล ในการดำเนินคดีอาญารวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ แต่มิให้หมายความรวมถึงจำเลยที่อ้างตนเองเป็นพยาน และเพิ่มบทนิยาม คำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” เพื่อให้เกิดความชัดเจนเหมาะสมยิ่งขึ้น

    นอกจากนี้ กำหนดให้คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นคดีมาตรการพิเศษในการคุ้มครองพยาน รวมทั้งกำหนดให้ในกรณีที่พยานอาจไม่ได้รับความปลอดภัย อาจจัดให้พยานอยู่ในความคุ้มครองตามที่เห็นเป็นการสมควร หรือตามที่พยานหรือบุคคลใดซึ่งมีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ร้องขอ การคุ้มครองให้พยานได้รับความปลอดภัยให้รวมถึงการจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย เว้นแต่พยานจะไม่ให้ความยินยอม และการปกปิดมิให้มีการเปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพหรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยานได้

    ในกรณียังอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาและมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันมิให้พยานได้รับอันตราย สำนักงานคุ้มครองพยานอาจใช้มาตรการทั่วไปในการคุ้มครองพยานไปพลางก่อนหรือประสานหน่วยงานอื่นที่มีภารกิจเกี่ยวข้องให้การคุ้มครองความปลอดภัยไปก่อนได้ และให้ดำเนินการเพื่อคุ้มครองพยานตามมาตรการพิเศษ เช่น ย้ายที่อยู่หรือจัดหาที่พักอันเหมาะสม จ่ายค่าเลี้ยงชีพ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หลักฐานทางทะเบียนที่สามารถระบุตัวพยาน และพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การจ่ายเงินดำรงชีพที่เหมาะสม ให้กับพยานและผู้ใกล้ชิดกับพยานที่ได้รับผลกระทบจากการมาเป็นพยานในคดีอาญา

    สุดท้ายปรับปรุงอำนาจของสำนักงานคุ้มครองพยานให้ยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์ เช่นเดียวกับข้าราชการทหารและตำรวจตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ การมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืน และยุทธภัณฑ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด และกำหนดโทษสำหรับผู้ที่เปิดเผยความลับเกี่ยวกับสถานที่อยู่ ชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพหรือข้อมูลอย่างอื่นที่สามารถระบุตัวพยาน สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือบุคคลอื่น ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพยาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษเป็น 2 เท่าของโทษที่กำหนด

    ไม่ต่ออายุสัมปทานดาวเทียม – เลือกรายใหม่ ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 56

    นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบหลักการแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ตามมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 17 พฤาภาคม 2561) ซึ่งมีมติใน 2 ประเด็น

    1) ไม่เห็นควรให้ต่ออายุ หรือ ขยายเวลาสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศในระบบสัมปทาน และอนุมติแนวทางการดำเนินการหลังสิ้นสุดสัญญาฯ ด้วยการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการดาวเทียมตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยต้องคัดเลือกผู้ประกอบการมาบริหารจัดการดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกดวงที่มีอายุทางวิศกรรมของดาวเทียมเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินต่างๆ ตามแนวทางของพระราชบัญญัติฯ โดยจะไม่ใช่ระบบสัมปทานดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

    อนึ่ง คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติได้พิจารณาแนวทางการดำเนินการหลังสิ้นสุดสัญญาฯ จำนวน 4 แนวทาง ได้แก่ 1) จำหน่ายดาวเทียมให้เอกชน 2) รัฐบาลดำเนินการเอง 3) ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการดาวเทียมตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และ 4) โอนทรัพย์สินให้บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด เพื่อนำทรัพย์สินออกให้เช่าในฐานะผู้ประกอบการ (Operator) โดยคำนึงถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบ และความสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว ก่อนจะเลือกแนวทางที่ 3 เป็นมติของทีป่ระชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมไม่ได้หารือถึงเหตุผลที่เลือกแนวทางดังกล่าว

    2) เห็นชอบในหลักการให้บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อนเพื่อต่ออายุดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวเทียมภายใต้สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 5 จะหมดอายุการใช้งานในช่วงเครึ่งปีแรกของปี 2563 แต่สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจะสิ้นสุดในปี 2564 โดยการต่ออายุดาวเทียมดังกล่าวไม่มีผลทำให้อายุของสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อสัญญาฯ สิ้นสุดลง ทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งรวมถึงดาวเทียมไทยคมที่มีอายุเหลืออยู่ รัฐจะได้คัดเลือกผู้ประกอบการมาบริหารจัดการดาวเทียมและทรัพย์สินดังกล่าวตามแนวทางพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ต่อไปตามมติในข้อแรก

    ไฟเขียวกฟภ. ลุยสร้างเคเบิลใต้น้ำ จ่ายไฟฟ้าให้เกาะสมุย

    พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าครม.มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการก่อสร้างสายเคเบิลใต้น้ำ 115 เควี เพื่อทดแทนและเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟไปยังเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,130 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จำนวน 1,597 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 533 ล้านบาท

    อนึ่ง โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนการจ่ายไฟของสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 33 เควี ที่มีอายุการใช้งานครบ 30 ปี ในปี 2560 และสายเคเบิลใต้น้ำระบบ 115 เควี ชนิด Oil Filled ที่ชำรุด เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามาถและความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า เพื่อลดความเสียหายเนื่องจากไฟฟ้าดับ ทั้งนี้ โครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (2562-2563)

    จัดงบฯ 297 ล้าน สร้างโรงเรียนเด็กในโรงพยาบาล เฟส 3

    พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่าครม.มีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล ช่วงที่ 3 ระยะ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2566) วงเงิน 297.15 ล้านบาท โดยตั้งงบประมาณปี 2562 ไว้แล้ว 28.031 ล้านบาท และหากไม่พอให้กระทรวงศึกษาธิการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อดำเนินการภายใต้มาตรการด้านงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท

    ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายให้เด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพในวัยเรียนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาทั่วประเทศ ได้รับบริการจากศูนย์การเรียนฯ จำนวนไม่ต่ำกว่า 50,000 คนต่อปี โดยจะจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ ทั่วประเทศให้ครบทุกจังหวัด จำนวน 99 ศูนย์การเรียน (และมีครูผู้สอน (อัตราจ้าง) รวมทั้งสิ้น 297 คน รวมทั้งจัดหาวัสดุ สื่อ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ในการดำเนินงานที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ

    นอกจากนี้ มีมติให้ปลี่ยนชื่อเดิม “โครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล” เป็น

    “โครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กในโรงพยาบาล” เพื่อให้ความหมายครอบคลุมในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความบกพร่องทางสุขภาพ และสอดคล้องกับประเภทความพิการทางการศึกษา ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา พ.ศ. 2552

    อนึ่งเดิมโครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากโครงการศูนย์การเรียนสำหรับเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ช่วงที่ 2 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2561) ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนฯ จำนวน 53 ศูนย์การเรียน ใน 45 จังหวัด เข้าร่วมเป็นศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาลตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวม 48 ศูนย์การเรียน และมีเด็กเจ็บป่วยเรื้อรังได้รับโอกาสทางการศึกษาเฉลี่ยปีละ 37,558 คน เดือนละ 3,130 คน ในจำนวนนี้สามารถเข้ารับการศึกษาในระบบ/เรียนในสถาบันศึกษาเดิมได้ร้อยละ 77.6

    อนุมัติงบกลาง 959 ล้าน ให้ “สพฐ. – สช.” ซื้อตำราเรียน

    รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่าครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายการค่าหนังสือเรียน ประจำปีการศึกษา 2561 ของหน่วยงานในสังกัด 2 หน่วยงานหลัก วงเงินงบประมาณรวม 959.899 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 455.658 ล้านบาท และ 2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 504.241 ล้านบาท

    เพิ่มงบกลาง ช่วยน้ำท่วมภาคใต้อีก 74 ล้าน

    รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่าครม.มีมติอนุมัติขยายกรอบวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ปี 2560 เพิ่มเติมจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นกรอบวงเงิน 3,136.735 ล้านบาท เป็น 3,211.048 ล้านบาท เพิ่มเติมอีก 74.313 ล้านบาท

    โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2562 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ปี 2560 ครัวเรือนละ 3,000 บาท ทั้งนี้ คำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯและให้ถือว่าเป็นคำขออนุมัติจัดสรรงบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 29 มกราคม 2562 เพิ่มเติม