ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ชี้ อนาคตการเมืองตัวเองชัด หลังคลายล็อกฯ – มติ ครม. เพิ่มทุน iBank 16,000 ล้านบาท

“บิ๊กตู่” ชี้ อนาคตการเมืองตัวเองชัด หลังคลายล็อกฯ – มติ ครม. เพิ่มทุน iBank 16,000 ล้านบาท

4 กันยายน 2018


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรํฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ขอ อย่าถามบ่อย – ชี้ อนาคตการเมืองชัด หลังคลายล็อกฯ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความชัดเจนในอนาคตทางการเมืองของตนว่า ตนขอตอบอย่างนี้ได้ไหมว่า เมื่อกฎหมายโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงมาแล้ว และเมื่อมีคำสั่งจากรัฐบาลในเรื่องของการปลดล็อกการเมือง โดยใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเดินหน้าตามขั้นตอนของกระบวนการเลือกตั้งนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ที่จะต้องได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล

“เรียกว่าสถานการณ์ในช่วงนั้นจะเป็นผลต่อการตัดสินใจของผม ว่าผมนั้นจำเป็นที่จะต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามรัฐธรรมนูญ ด้วยกลไกทางรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากจำเป็นจะเป็นได้อย่างไร จะตัดสินใจอีกครั้งในสถานการช่วงนั้น ก็ตอบได้เท่านี้แหละ ทั้งนี้เพื่อจะปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชน นำประเทศชาติไปสู่การปฏิรูป และดำเนินการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว นั่นคือคำตอบของผม เพราะฉะนั้นอย่าถามบ่อยนัก มันยังไปไม่ถึงไหนเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องไพรมารีโหวต จะเป็นส่วนหนึ่งของการปลดล็อก เพราะว่าในขณะนี้บางพรรคก็มีปัญหา บางพรรคไม่มีปัญหา ฉะนั้นอย่าได้มาขัดแย้งกันเลย ระยะแรกนั้นรัฐบาลต้องการให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดเวลา ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาเกิดขึ้นอีก ฉะนั้นจึงต้องมีมาตรการสำหรับเรื่องเหล่านี้ เพราะหากไม่ทำเลย ก็ไม่ได้ จึงต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ที่จะไปสู่กำหนดการเลือกตั้ง อยู่ในระหว่างการหารือกัน รวมไปถึงความพร้อมของทุกพรรคด้วย และการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคในระยะแรกควรจะเป็นได้แค่ไหน เพื่อให้เวลาในการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ ในการปฏิรูปการเมืองต่อไป

“ตอนนี้การเมืองขอให้เป็นเรื่องของการเมืองไปนะ เรื่องของการบริหารราชการแผ่นดินผมก็ต้องให้ความสำคัญตรงนี้มากกว่า เรื่องการเมืองก็ให้เดินหน้าไปตามกฏหมาย เราก็พยายามเดินไปสู่วันเวลาที่เขากำหนดให้ได้ ทั้งนี้มีหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง จึงต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายส่วนด้วยกัน ทุกคนมีหน้าที่ของตน ขอให้ทุกคนพยายามทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดแล้วกัน และอย่าสร้างความขัดแย้งอะไรให้มากยิ่งขึ้นเลย อะไรแก้ได้ก็ต้องช่วยกันแก้ อย่างที่มีผู้ชุมนุมกลุ่มหาบเร่แผงลอยในวันนี้ ก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแล ซึ่งการจัดระเบียบต่างๆ ต้องดูว่าจะทำอย่างไร เพื่อลดผลกระทบของผู้มีรายได้น้อย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

คสช. ตรวจสอบอยู่ ปมนักการเมืองเรียกเก็บบัตร ปชช.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน ร้องเรียนกรณีที่พรรคภูมิใจไทยเก็บบัตรประชาชนจากสมาชิก อสม. อ้างนำไปสมัครเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งเหมือนการหาเสียง ว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องพิจารณา ส่วน คสช. ฝ่ายกฎหมายกำลังตรวจสอบอยู่ว่ามีข้อเท็จจริงหรือไม่อย่างไร อันเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย

ถามกลับบริหาร ปท. ต้องนักการเมืองอย่างเดียวหรือ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีข้อสังเกตการใช้งบประมานในการประชาสัมพันธ์โครงการของรัฐบาลและการโปรโมทตัวนายกรัฐมนตรีในโซเชียลมีเดีย และดึงศิลปินดาราจำนวนมากมาร่วมในโครงการ “ร่วมใจสร้างไทยไปด้วยกัน” กันว่าคุ้มค่าหรือไม่ และถือเป็นการหาเสียงทางอ้อมหรือไม่ ว่า เมื่อเช้านี้ที่ดารามาก็ไม่ได้เสียเงินสักบาท เห็นไหม เขามาช่วย มาช่วยฟรีๆ สำหรับกรณีที่บอกว่าเป็นการโปรโมทตัวนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ตนเคยปฏิเสธไปแล้วว่าไม่ใช่การโปรโมทตัวนายกรัฐมนตรี แต่เป็นการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจต่อนโยบายของรัฐบาลในการทำงานวันนี้

“ต้องย้อนกลับไปสู่คำถามแรกว่า ผมอยู่ตรงไหน ฉะนั้นมันจำเป็นหรือไม่ที่ผมต้องโปรโมทตัวผมเอง ในเมื่อทุกวันที่ผ่านมาผมก็พูดของผมเองอยู่แล้ว และก็เป็นอย่างนี้ทุกรัฐบาลนายกรัฐนตรีเขาก็พูดในขณะที่เขาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองด้วยซ้ำไป ซึ่งทุกพรรคเขาก็ทำ แต่ผมไม่ได้ทำแบบนั้น ผมทำเพราะต้องการให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐบาลทำอะไรไปกี่เรื่องแล้ว แล้วประชาชนจะเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างความร่วมมือให้ได้โดยการสร้างความเข้าใจ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวยืนยันอีกครั้งว่า สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเป็นการประชาสัมพันธ์การทำงานของรัฐบาลเพื่อให้ข่าวสาร และข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ไม่ได้ทำเพื่อการหาเสียงแต่อย่างใด วันนี้ตนยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดเลยจะไปหาเสียงให้ใคร และที่สำคัญที่สุดการดำเนินการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาล-เอกชน-ศิลปิน ที่จะมาช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย

“ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้นะว่า การบริหารราชการแผ่นดินของไทยนั้นเป็นเรื่องของนักการเมืองอย่างเดียวเพียงกลุ่มเดียวหรือ ข้าราชการอื่นๆ ทั้งตำรวจและทหารที่เขาเกษียณอายุ ก็มีขีดความสามารถที่จะเข้าสู่วงการเมืองได้ใช่หรือไม่ตามกฎหมาย หากเขาต้องการ สำหรับผมเองถ้าจะต้องทำผมก็จะไม่ทำเพื่อประโยชน์ของผมเอง แต่จะทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ก็คอยดูกันต่อไปแล้วกันนะครับ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ด้าน พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีเพจเฟซบุ๊ก “ลุงตู่ตูน” โดยยืนยันสั้นๆ   ว่า เพจดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกรมประชาสัมพันธ์อย่างแน่นอน

นายกรัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกับศิลปิน – นักแสดง เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม “ร่วมใจสร้างไทยไปด้วยกัน” พร้อมเปิดตัว Campaign “สร้างไทยไปด้วยกัน” ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ชี้เมียนมาจำคุกนักข่าวไม่เกี่ยวไทย – ยัน รบ. ไม่ปิดกั้น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถาม กรณีประเทศเมียนมาตัดสินจำคุกนักข่าว โดยระบุว่า ตนเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เพราะทุกประเทศนั้นมีกฎหมายของตนเอง ฉะนั้นต่างประเทศว่าอย่างไร ทำผิดกฎหมายหรือไม่ก็เป็นเรื่องของการดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งวันนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้กฎหมายกับทุกเรื่อง หลายอย่างก็ผ่อนผันให้บ้าง

“อย่าบอกว่าเราปิดกั้นทุกอย่าง หลายคนก็พูด แต่คุณต้องเข้าใจว่าประชาชนนั้นมีส่วนหนึ่งที่เขาพร้อมสนับสนุนรัฐบาล ส่วนหนึ่งที่เขาไม่สนับสนุนรัฐบาลเขาก็โจมตีว่ากล่าวในโซเชียลมีเดีย ฉะนั้นคนที่เขาอาจจะพอใจในการทำงานของรัฐบาล เขาก็มาช่วยสร้างเครีอข่าย รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องไปทำ และหากทำก็ไม่ได้ใช้งบประมาณในการทำเรื่องเหล่านี้มากนักหรอก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

เผยเศรษฐกิจดี แต่ยังห่วงคนรายได้น้อย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศว่า อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นมาโดยตลอด ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้วิเคราะห์ออกมา ซึ่งปัญหาของไทยมีอย่างเดียวก็คือ เราต้องไม่ลืมคนมีรายได้น้อยที่อยู่ข้างล่าง วันนี้ก็ได้มีการสั่งการหลายอย่างด้วยการที่จะไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งต้องไปดูว่ากฎหมายเปิดช่องให้ดำเนินการได้แค่ไหนอย่างไร ไม่ใช่จะใช้อำนาจจัดการหมดทุกอย่าง เพราะเป็นไปไม่ได้ในระบบการค้าเสรี ขอให้เข้าใจด้วย

สำหรับเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ขณะนี้ต้องติดตามมาตรการตอบโต้ทางการค้าของประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย แคนาดา เนื่องจากมีหลายอย่างที่ยังตกลงกันไม่ได้ และยังไม่ได้ข้อสรุปในอีกหลายประเด็น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามและเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้

สั่งทบทวนการระบายน้ำ รับมือแล้งหน้า

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำ ว่า วันนี้ได้ติดตามจากกรมอุตุนิยมวิทยา ประกอบกับข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และรายงานสถานการณ์มรสุมในภูมิภาคอาเซียน จากสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสรุปได้ว่าในเดือนกันยายน 2561 จะมีปริมาณฝนจะลดลงบ้าง หรืออาจลดลงมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมรสุม

“ช่วงนี้ได้สั่งการให้สำนักงานบริหารจัดการน้ำฯ ไปทบทวนเรื่องการระบายน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในฤดูแล้ง เพราะจากข้อมูลที่ได้รับรายงานนั้น พบว่าจะมีช่วงของฝนทิ้งช่วง และอาจเกิดภาวะภัยแล้งในหลายพื้นที่ด้วยกันในภูมิภาคเอเชีย ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังทั้ง 2 ทาง ทั้งน้ำท่วม และฝนแล้ง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามบริหารจัดการให้ได้เต็มที่” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

เพิ่มทุน iBank 16,000 ล้านบาท

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติการใช้เงินของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้แก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ เพื่อการเพิ่มทุนของธนาคาร วงเงิน 16,100 ล้านบาท และหากรวมการการเพิ่มทุนก่อนหน้านี้ 2,000 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันไอแบงก์ได้เพิ่มทุนไปแล้ว 18,100 ล้านบาท ทั้งนี้ การเพิ่มทุนถือเป็นส่วนหนึ่งในการปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาของไอแบงก์ที่เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างทางการเงิน ปรับโครงสร้างทางธุรกิจ และการหาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุน

ทั้งนี้ ภายหลังการเพิ่มทุนจะทำให้กระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วน 99.71% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยปัจจุบันได้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าวชั่วคราวและกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงภายหลังเมื่อธนาคารสามารถกระจายหุ้นหรือสรรหาพันธมิตรร่วมลงทุนได้แล้ว สำหรับสถานะทางการเงินคาดการณ์ว่าหากสามารถดำเนินการเพิ่มทุนได้ภายในปีนี้และมีการปรับโครงสร้างธุรกิจได้ตามขั้นตอน ภายในสิ้นปี 2561 จะกลับมามีกำไรสุทธิที่ 828 ล้านบาท และสามารถเพิ่มส่วนของทุนเป็นบวกในปี 2562 และจะสะสมเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงได้ตามหลักเกณฑ์ BIS Ratio ที่ 8.5% ได้ในปี 2565

“คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมโดยขอให้ธนาคารดำเนินการสรรหาพันธมิตรควบคู่กับการปรับโครงสร้างทางการเงินโดยการเพิ่มทุน และเร่งเจรจาหาพันธมิตรให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้พันธมิตรเข้าร่วมลงทุนและเข้าร่วมปรับปรุงการบริหารจัดการภายในของธนาคารด้วย และหลังจากการเพิ่มทุนแล้ว กำหนดให้หน่วยงานผู้ถือหุ้นและ คนร. วัดผลการดำเนินงานให้ครอบคลุม 4 ปัจจัย คือความสามารถในการหารายได้หรือความสามารถในการทำกำไร ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ความเสี่ยงและคุณภาพสินเชื่อ และสัดส่วนหนี้เมื่อเทียบกับทุน และรายงานผลตามตัวชี้วัดดังกล่าวให้กองทุนฯ ทราบเป็นประจำทุกไตรมาส”

สำหรับฐานะทางการเงินในปี 2560 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 71,703 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 91,714 ล้านบาท และส่วนของทุนติดลบ 20,012 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อ 44,166 ล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 1,589 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 2,316 ล้านบาท มีหนี้สูญหรือสงสัยจะสูญ 2,199 ล้านบาท ขาดทุนสิทธิ 2,926 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 25% มีอัตราส่วน BIS ติดลบ 52.83% และมีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ 122.07%

โดยคาดว่าในปี 2561 จะมีสถานะทางการเงินดีขึ้น โดยมีสินทรัพย์รวม 75,694 ล้านบาท มีหนี้สินรวม 76,705 ล้านบาท และมีส่วนของทุนติดลบเหลือเพียง 1,011 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 52,182 ล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 2,113 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 1,611 ล้านบาท มีหนี้สูญหรือสงสัยจะสูญติดลบ 325 ล้านบาท มีกำไรสิทธิ 828 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 18% มีอัตราส่วน BIS ติดลบ 2.3% และมีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ 86%

และในปี 2565 คาดว่าจะมีสินทรัพย์เป็น 133,218 ล้านบาท มีหนี้สิน 123,854 ล้านบาท มีส่วนของทุน 9,365 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อ 107,182 ล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 6,354 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน 1,826 ล้านบาท มีหนี้สูญหรือสงสัยจะสูญ 624 ล้านบาท กำไรสิทธิ 3,904 ล้านบาท มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 11% มีอัตราส่วน BIS 8.5% และมีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ 47%

จัดตั้ง FinTech 650 ล้านบาท – ตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ มือสอง 31.1 ล้านบาท

นายณัฐพรกล่าวต่อว่า ครม. มีมติอนุมัติการใช้เงินของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อให้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (ศขอ.) ดำเนินโครงการพัฒนาฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง วงเงิน 31.1 ล้านบาท โดยโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสองและอสังหาริมทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่งของ ศขอ. จะให้ ศขอ. สร้างระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง และอสังหาริมทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทุกแห่ง เพื่อเป็นตลาดกลางในการซื้อและขายในรูปแบบตลาดดิจิทัลที่สามารถแสดงปริมาณอุปสงค์และอุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสองได้ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับคือ ช่วยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีสภาพคล่องมากขึ้น เนื่องจากจะสามารถจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ได้เร็วขึ้น รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์เพื่อจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของแต่ละสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติการใช้เงินของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้แก่มูลนิธิเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สำหรับดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน (InFinIT) จำนวน 650 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech Ecosystem) ในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการ FinTech ในระยะเริ่มแรก (FinTech Startups) สามารถค้นคว้า พัฒนา ทดสอบผลิตภัฑณ์และบริการทางการเงิน รวมทั้งแนะนำวิธีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้สามารถหาแหล่งเงินทุนเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ โดยการดำเนินงานในช่วงแรกจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) เป็นหลัก

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับ คือ เป็นช่องทางให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถนำ FinTech มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงินและการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และสามารถดำเนินการตามพันธกิจและนโยบายของรัฐบาลได้ครบถ้วนมากขึ้น รวมทั้งได้รับสิทธิในการกำหนดปัญหา เพื่อให้สถาบัน InFinIT ใช้เป็นแนวทางในการคัดเลือก FinTech Startups ที่จะเข้ารับการส่งเสริมและพัฒนา และให้สิทธิพิเศษในการร่วมลงทุนกับ FinTech Startups ก่อนนักลงทุนทั่วไป

เตรียมตั้งเขตนวัตกรรมการศึกษา – เป็น “Sandbox” ทดลองหลักสูตรใหม่ๆ

นายณัฐพรกล่าวว่า อนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษานำเสนอ เนื่องจากปัจจุบันการเรียนการสอนของประเทศไทยยังมีปัญหาในหลายๆ เรื่อง เช่น ไม่มีการบูรณาการระหว่างองค์กรที่มีหน้าที่ต่างๆ ในระบบการศึกษา ขาดกลไกและนโยบายในการนำไปปฏิบัติ และยังไม่มีการนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปขยายผลทั้งระบบการศึกษา จึงเห็นสมควรให้มีเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

กฎหมายฉบับนี้จึงกำหนดวัตถุประสงค์การจัดการศึกษาภายในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำ และให้ทุกภาคส่วนร่วมในการจัดการศึกษา คิดค้นและพัฒนาด้านนวัตกรรมการศึกษาและดำเนินการให้นำนวัตกรรมนั้นไปใช้ในสถานศึกษาในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจะกำหนดให้ ครม. ประกาศกำหนดเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีการกำหนดโครงสร้างการบริหารเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็น 2 ระดับ โดยระดับชาติจะมีคณะกรรมการนโยบายเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หน่วยงานเลขานุการคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ส่วนอำนาจหน้าที่ในการกำหนดเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กำหนดนโยบาย และกำกับดูแลประเมินผลสำหรับระดับเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้มีคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ที่ประกาศ โดยจะมีอำนาจหน้าที่ในการวางหลักเกณฑ์การกำหนดหลักสูตรในการเรียนการสอนของสถานศึกษานำร่อง สำหรับการดำเนินการประกอบด้วยสถานศึกษานำร่อง ซึ่งมีอิสระในการจัดทำหลักสูตร พัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสถานศึกษานำร่องสามารถนำเงินหรือทรัพย์ที่มีผู้บริจาคให้ไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน นอกจากนี้ ครม. อาจมีมติให้จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่สถานศึกษานำร่องที่ประสงค์จะขอรับเงินอุดหนุนดังกล่าว

“อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือเหมือนเป็น Sandbox ที่จะทดลอง ต่างจากเดิมที่ระบบการศึกษาไทยจะใช้นโยบายจากส่วนกลางเหมือนกันทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละพื้นที่หรือเด็กแต่ละกลุ่มก็อาจจะต้องการไม่เหมือนกันและต้องการออกแบบการศึกษาใหม่เหมาะสม ปัจจุบันก็จะเห็นเป็นโรงเรียนทางเลือกต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา ขั้นตอนต่อไปจะส่งรายละเอียดไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกา และจะส่งกลับมาที่ ครม. อีกรอบหนึ่ง และคาดว่า 3 จังหวัดแรกที่จะเริ่ม คือ ระยอง ศรีสะเกษ และสตูล เนื่องจากระยองมีรายได้ต่อหัวสูงสุดของประเทศและอยู่ในพื้นที่อีอีซี ขณะที่ศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดอันดับ 8 ของประเทศ ส่วนสตูลเป็นจังหวัดที่ความหลากหลายของชาติพันธุ์ ดังนั้น หากทำโมเดลใน 3 จังหวัดนี้ได้ พอกระจายออกไปยังจังหวัดอื่นก็น่าจะทำได้ไม่ยากนัก” นายณัฐพรกล่าว

อนุมัติแบ่งผลประโยชน์จากงานวิจัยใหม่

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญคือเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยที่รัฐให้ทุนสนับสนุน โดยกำหนดให้ผู้รับทุนเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นของผู้รับทุนเองและส่งเสริมกิจกรรมความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคธุรกิจกับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดระบบบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์

“เดิมสิทธิของงานวิจัยจะตกอยู่กับผู้ให้ทุนของภาครัฐ หรือถ้าจะมาตกลงเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ก็ต้องตกลงกันนาน 6 เดือนถึง 1 ปี และสุดท้ายสิทธิขาดก็ไม่สามารถยกให้ได้ด้วย ก็สร้างปัญหางานวิจัยขึ้นหิ้ง เพราะในความเป็นจริงคืออาจารย์หรือนักวิจัยเอกชนที่เป็นคนรู้จริงในงานและใกล้ชิดกับเอกชนที่จะนำผลงานไปใช้ประโยชน์ต่อได้มากกว่า กฎหมายฉบับนี้ถึงแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้วิจัยด้วย เป็นแรงจูงใจให้วิจัยให้ตรงตามความต้องการและทำให้นวัตกรรมที่วิจัยออกมาแพร่กระจายออกไป” นายณัฐพรกล่าว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

  • กำหนดคำนิยามคำว่า “ทุนสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม” หมายความว่า เงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐที่จัดสรรให้แก่ผู้รับทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมตาม พ.ร.บ. นี้ และให้หมายรวมถึงเงินกองทุนที่หน่วยงานของรัฐจัดสรรให้แก่ผู้รับทุน เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่ไม่รวมถึงเงินสนับสนุนที่ใช้เพื่อว่าจ้าง หรือร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนา หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ เทคโนโลยี ต้นแบบ หรือผลลัพธ์อื่นใดจากการนี้ อันเป็นการดำเนินการตามภารกิจปกติของหน่วยงาน
  • กำหนดให้หน่วยงานให้ทุนของรัฐ สามารถให้ทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมแก่หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน หรือสถาบันวิจัยได้ และหน่วยงานผู้ให้ทุนสนับสนุนแก่หน่วยงานภาคเอกชนนั้น จะต้องพิจารณาว่าโครงการนั้นมีความเป็นไปได้สูงในการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตร สังคม ชุมชน และประชาชน
  • กำหนดให้หน่วยงานภาคเอกชนที่จะขอรับทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน และมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทย
  • กำหนดให้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากสัญญารับทุนสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมตาม พ.ร.บ. นี้ เป็นขอผู้รับทุน โดยผู้รับทุนจะต้องรายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ผู้ให้ทุนทราบก่อนดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
  • กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน
  • กำหนดให้ผู้รับทุนซึ่งถือคอรงสิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือผู้รับโอนสิทธิจากผู้รับทุนไม่ว่าจะเป็นการโอนสิทธิมาแล้วกี่ทอดก็ตาม มิได้ดำเนินการใดๆ หรือไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการดำเนินการใดๆ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่รายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ค้นพบต่อผู้ให้ทุน

“กฎหมายในลักษณะนี้ มีใช้บังคับแล้วในประเทศสหรัฐฯ เกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งส่งผลให้เกิดการพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาแบบก้าวกระโดดในประเทศเหล่านี้” นายณัฐพรกล่าวสรุป

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ไฟเขียวร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น – คาดจัดเลือกตั้งได้กลางปี 2562

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (ร่าง พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เป็นกฎหมายกลางเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 1 ฉบับ ส่วนอีก 5 ฉบับเป็นร่างกฎหมายที่ลงรายละเอียดการเลือกตั้งในแต่ละระดับ เช่น สภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 1 ฉบับ เทศบาล 1 ฉบับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 ฉบับ กรุงเทพมหานคร 1 ฉบับ และเมืองพัทยา 1 ฉบับ

ทั้งนี้สาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 252 กำหนดว่า ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น ในกรณี ที่เป็น อปท. รูปแบบพิเศษ จะมาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึกงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน และสอดคล้องกับกฎหมายที่ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย โดย กฎหมายฉบับดังกล่าวมีประเด็นสำคัญ ได้แก่

  • ตามกฎหมายเดิม การจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น อปท. จะเป็นผู้ดำเนินการ แต่กฎหมายฉบับใหม่ระบุให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้รับผิดชอบ แต่สามารถมอบให้ อปท. หรือกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้
  • ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในส่วนของ สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หมายความว่า ยังคงมี ส.ข. อยู่เช่นเดิม เพียงแต่ว่า ในเวลานี้ ส.ข. ทุกเขตหมดวาระทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่มีการอนุญาตให้มีการเลือกตั้ง โดยต้องรอการตัดสินใจจาก มท. อีกครั้งว่าจะยังให้มี ส.ข. อยู่หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการร่างกฎหมายต่อกรณีดังกล่าว ในวันข้างหน้าต่อไป
  • กฎหมายฉบับนี้กล่าวระบุว่า การได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ต้องได้รับคะแนนเสียง มากกว่า คะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด
  • กกต. สามารถตรวจสอบการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมในเชิงรุก โดยมีสิทธิในการตรวจสอบเมื่อได้รับข้อมูล ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยไม่ต้องรอให้มีคนมาร้องเรียน จากเดิมที่ต้องรอให้มีผู้มาร้องเรียนก่อน
  • มีการแก้คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กรณีที่มีผลประโยชน์ ยึดโยง หรือมีชนักติดหลัง โดยมีการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทุจริตในส่วนนี้ได้ โดยยังคงมีวาระ 4 ปีเช่นเดิม
  • มีการกำหนดหน้าที่ของ อปท. แต่ละแห่งเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม้ให้ขัดกับกฎหมายของหน่วยงานอื่น จากเดิมที่มีบางข้อกฎหมายที่ยังไม่ลงตัวระหว่าง อปท. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พร้อมให้อำนาจ อปท. ในการดูแลจัดการจราจร โดยต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่โรงพักและสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม งบประมาณสำหรับดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่ อปท. สามารถจ่ายได้นั้นต้องเป็นรายการที่ มท. ได้ออกระเบียบไว้แล้ว เท่านั้น
  • มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตการเลือกตั้งในบางพื้นที่ เช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีการแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดยการเพิ่มจำนวนคนจาก 100,000 คน เป็น 150,000 คน หากเป็นระดับหมู่บ้านในต่างจังหวัดนั้นมีการกำหนดจำนวนคนไว้ 25 คน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เนื่องจากมีบางหมู่บ้านที่มีคนไม่ถึง 25 คน จึงกำหนดให้สามารถรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันได้
  • มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่เดิมที่กำหนดให้ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และต้องเสียภาษีบำรุงท้องถิ่นติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ตัดเรื่องการเสียภาษีระดับท้องถิ่นออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ในภาพรวม
  • ในส่วนของการตรวจสอบทุจริต เดิมกฎหมายกำหนดให้ กกต. มีสิทธิเพิกถอนผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งก่อนและหลังการประกาศผล แต่กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ช่วงก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริต กกต. สามารถเพิกถอนสิทธิได้ 1 ปี แต่ถ้าหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว กกต. พบข้อมูลยืนยันได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์ หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริง กกต. มีสิทธิเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี พร้อมกำหนดให้ผู้ทุจริตรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบกฎหมายทั้ง 6 ฉบับแล้ว กกต. ทั้งชุดเก่าและชุดใหม่ให้ความเห็นชอบ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทย ลำดับต่อไปคือการส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายในเดือนกันยายน 2561 นี้ คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 2-3 เดือน และจะแล้วเสร็จภายในเดือน พฤศจิกายน 2561  ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

“คาดว่าจะแล้วเสร็จกระบวนการทั้งหมดในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งจะพอดีกับโรดแมป ที่ระบุวันเลือกตั้ง วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 อย่างไรก็ตาม มีข้อตกลงที่เคยคุยกันไว้ระหว่าง กกต. ชุดเก่าและชุดใหม่ ซึ่งพวกเขาอยากให้ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น มีระยะห่างกับการเลือกตั้งระดับชาติ 3 เดือน เพื่อให้มีเวลาในการเตรียมการ แต่คงไม่สามารถ จัดทีเดียวพร้อมกันทั้งประเทศได้ แต่ต้องมีการแบ่งเป็น 2 รอบ โดยรอบแรก มีประมาณ 40 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งไปจากเดิม ในส่วนของจังหวัดที่เหลือที่มีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งนั้น จะจัดขึ้นตามมา” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ครม.สัญจรครั้งที่ 7/2561 บุกพื้นที่อีสานตอนบน-เหนือตอนล่าง เลย-เพชรบูรณ์

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเตรียมเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่7/2561 ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน 2561 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) และพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์)

โดยภารกิจการตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 กันยายน 2561 จะเริ่มต้นที่จังหวัดเลยก่อนเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่อที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน และในอังคารที่ 18 กันยายน 2561 นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 7/2561 ณ จังหวัดเพชรบูรณ์

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเตรียมการบูรณาการประเด็นด้านสารัตถะในการเดินทางไปตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งนี้ด้วย

แต่งตั้งโยกย้าย “จารุวรรณ” นั่ง เลขาฯ กฤษฏีกา

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงใน 5 หน่วยงาน ดังนี้

  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แทน นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เกษียณอายุราชการ
  • สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) น.ส.สุลักขณา ธรรมานุสติ ที่ปรึกษาระบบราชการ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการก.พ.
  • กระทรวงอุตสาหกรรม จำนวน 3 ราย คือ 1. นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ รองปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2. นายอภิจิณ โชติกเสถียร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 3. นายสุรพล ชามาตย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง
  • กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 5 ราย คือ 1. นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 2. นายอำนาจ วิชายานุวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงฯ 3. น.ส.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา 4. นายศรีชัย พรประชาธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 5. นายณรงค์ แผ้วพลสง ศึกษาธิการภาคสำนักงานศึกษาธิการภาค 15 (เชียงใหม่) ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง
  • กระทรวงพาณิชย์ จำนวน 3 ราย คือ 1. น.ส.อรุณี พูลแก้ว พูดตรวจราชการกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง 2. นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง และ 3. นายสุพพัต อ่องแสงคุณ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง

ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป เพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณอายุราชการ และสับเปลี่ยนหมุนเวียน

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 4 กันยายน 2561 เพิ่มเติม