ThaiPublica > เกาะกระแส > เมียนมาเปิดต่างชาติทำธุรกิจประกันภัย 1 ตุลาคมนี้ โอกาสขยายตัวสูง – การทำประกันต่ำสุดในภูมิภาค

เมียนมาเปิดต่างชาติทำธุรกิจประกันภัย 1 ตุลาคมนี้ โอกาสขยายตัวสูง – การทำประกันต่ำสุดในภูมิภาค

4 ตุลาคม 2018


วันเปิดตัวสมาคมธุรกิจประกันภัยเมียนมา ที่มาภาพ: https://www.mm biztoday.com/articles/myanmar-insurance-association-signed-mous-foreign-insurance-schools

คณะกรรมการกำกับธุรกิจประกันภัย (Insurance Business Regulatory Board: IBRB) จะอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติดำเนินธุรกิจประกันภัยได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2018/2019 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จากการเปิดเผยของ อู ซอว์ เนียง เลขาธิการ IBRB ตามรายงานข่าวของเมียนมาไทมส์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2018

อู ซอว์ เนียง กล่าวว่า คณะกรรมการ IBRB ซึ่งแต่งตั้งขึ้นในปี 2016 โดยกระทรวงวางแผนและการเงิน ได้อนุญาตให้บริษัทประกันภัยของต่างชาติเริ่มดำเนินธุรกิจให้นำเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันภัยได้ในปีงบประมาณ 2018/2019

“เรากำลังวางแผนอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดประกันภัยในประเทศได้ เราจะจ้างที่ปรึกษาต่างชาติ ให้ช่วยกลั่นกรองและตรวจสอบคุณสมบัติบริษัทประกันต่างชาติก่อนที่จะอนุญาตให้เข้ามาแข่งขันในตลาด นี่คือโรดแมปที่จะพัฒนาภาคธุริกจประกันภัยในประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความเห็นชอบแล้ว จะอนุญาตให้บริษัทประกันภัยต่างชาติ ขายประกันชีวิตและประกันเบ็ดเตล็ดในประเทศได้ โดยจะเริ่มในปีงบประมาณ 2028/2019″ อู ซอว์ เนียงกล่าว

ขณะนี้คณะกรรมการ IBRB กำลังดำเนินการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเมื่อได้แล้วก็จะเริ่มกระบวนการดำเนินการเพื่ออนุญาตให้ต่างชาติเข้าตลาดได้

นอกเหนือจากการกำหนดกระบวนการพิจารณาคุณสมบัติแล้ว คณะกรรมการ IBRB ยังไม่ได้วางกฎเกณฑ์การเปิดรับบริษัทประกันภัยต่างชาติ และยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการอนุญาตนั้นจะอยู่ในรูปให้ดำเนินการร่วมกันกับประกันภัยในประเทศ หรือให้ดำเนินการเป็นรายบริษัทเลย

อย่างไรก็ตาม คาดว่าคณะกรรมการ IBRB จะประกาศออกมาในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ด้านการกำกับธุรกิจประกันภัยได้มีการปรับปรุงครั้งหลังสุดในปี 1996 โดยมีการร่างกฎหมายธุรกิจประกันภัยขึ้น (1996 Insurance Business Law) ด้วยความช่วยเหลือของ USAID และนำเข้าสู่การพิจารณาของ Financial Regulatory Department (FRD) และกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการทบทวนโดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น

การเปิดให้ประกันภัยต่างชาติเข้ามาแข่งขันกับประกันภัยในประเทศ ก็จะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง เพราะเมื่อมีการเปิดเสรีภาคธุรกิจ ประชาชนก็จะได้รับประโยชน์มีทางเลือกในการทำประกันภัยมากขึ้นทั้งแบบประกันและเบี้ยประกัน

สำหรับแบบประกันที่ประชาชนเมียนมานิยมทำคือ ประกันอัคคีภัย ประกันรถยนต์ ประกันชีวิตกลุ่ม ประกันการเดินทาง ประกันสุขภาพ และประกันภัยการส่งสินค้าทางทะเล

การเปิดเสรีธุรกิจประกันภัยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเมียนมา เพราะปัจจุบันอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยของเมียนมาอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาค ขณะเดียวกัน ประกันภัยต่างชาติยังเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งการที่มีผู้เล่นต่างชาติมีบทบาทในตลาดตราสารหนี้จะช่วยให้เมียนมามีการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ได้ดีขึ้นในระยะยาว

จำกัดขอบเขตธุรกิจ 3 ด้านหลัก
บริษัท ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ปรึกษากฎหมายระดับโลกประเมินว่า การปฏิรูปภาคธุรกิจประกันภัยของ IBRB น่าจะเปิดให้ประกันภัยต่างชาติดำเนินธุรกิจได้อย่างมีเงื่อนไขในขอบเขตดังต่อไปนี้

•เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยและกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชาชนทั่วไปได้
•เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลาย
•ทำธุรกิจโบรกเกอร์ประกันภัยและตัวแทนประกันภัยได้

ทั้งนี้คาดว่าด้านประกันชีวิตจะเปิดให้กับบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้น 100% ส่วนบริษัทต่างชาติที่สนใจทำธุรกิจด้านประกันวินาศภัยมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องมีพันธมิตรเป็นบริษัทในประเทศ ซึ่งภายใหต้กฎหมายธุรกิจของเมียนมาปี 2017 เงื่อนไขนี้ได้กำหนดไว้แล้ว โดยอาจจะต้องจัดตั้งกิจการร่วมทุนกับบริษัทประกันภัยในประเทศที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 1 ราย และถือหุ้นไม่เกิน 35%

บริษัทในประเทศครองตลาด

ออกซฟอร์ดบิสซิเนสกรุ๊ป รายงานอีกว่า แม้รายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นแต่อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยในเมียนมายังต่ำมาก

ข้อมูลของสวิส รี ซิกมา ระบุว่า อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยของเมียนมาปี 2015 อยู่ที่ 0.07% ของจีดีพี อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ที่ 0.01% อัตราการถือครองกรมธรรม์รวมแล้วจึงอยู่ที่ 0.08% ต่ำมากเมื่อเทียบกับกัมพูชาซึ่งมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัย 0.35% แม้อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ที่ 0% ส่วนลาวมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัย 0.44% อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ที่ 0.01% และเวียดนามมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัย 0.74%% แม้อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่ที่ 0.82%

เมียนมา อินชัวรันส์ คาดว่าธุรกิจประกันภัยมีสัดส่วนราว 0.07% ของรายได้รวมของรัฐ

ข้อมูลจากธนาคารกลางเมียนมาพบว่า เบี้ยประกันภัยรับรวมในไตรมาสแรกปี 2017 มีจำนวน 33.9 พันล้านจ๊าด หรือ 25.9 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมียนมา อินชัวรันส์ มีส่วนแบ่ง 45.5% ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับรวมของบริษัทประกันเอกชนในปีบัญชี 2015/2016 มีจำนวน 41.8 พันล้านจ๊าด หรือ 31.9 ล้านดอลลาร์ และมีจำนวน 61.4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 46.9 ล้านดอลลาร์ ในรอบบัญชี 2016/2017 หรือมีอัตราเติบโต 46.8% แต่จากฐานที่ต่ำ

ส่วนเบี้ยประกันของบริษัทประกันภัยรัฐก็เติบโตในอัตราสูง โดยเบี้ยประกันภัยรับของเมียนมา อินชัวรันส์เพิ่มขึ้น 40.3% จาก 27.8 พันล้านจ๊าด หรือ 21.2 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 เป็น 39 พันล้านจ๊าด หรือ 29.8 ล้านดอลลาร์ปี 2016

การสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดปี 2014 เมียนมามีประชากรรวม 51.5 ล้านคน แต่ปัจจุบันคาดว่ามีจำนวน 54 ล้านคน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) มีข้อมูลว่าเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (compound annual growth rate) ช่วงปี 2006-2016 ในอัตรา 14.5%

แต่ในปี 2015 และ 2016 มีการเติบโตระดับปานกลางในอัตรา 7% และ 6.1% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม IMF คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปี 2017 ไว้ที่ระดับ 7.2% และเติบโต 7.6% ในปี 2018

ส่วนรายได้ประชากรต่อหัวในมูลค่า 1,232 ดอลลาร์ในปี 2016 ซึ่งเป็นระดับต่ำในวงจรธุรกิจประกันภัย เพราะจากตัวชี้วัดโดยทั่วไปรายได้ประชากรต่อหัวต้องอยู่ในระดับราว 5,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับรายได้ปานกลางที่จะทำให้ตลาดประกันภัยขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว

ในขณะนี้ภาคธุรกิจประกันภัยจะมีแนวโน้มที่จะเติบโตเท่ากับจีดีพี ซึ่งมีสัญญาณว่าแรงส่งยังมีต่อเนื่อง และสำหรับเมียนมาคงใช้เวลาไม่นาน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขรายได้ประชากรต่อหัวที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทางรายได้แสดงให้เห็นว่ามีประชากรในหลายกลุ่มที่ยังอยู่ในจุดที่แตกต่างกันของวงจรธุรกิจประกันภัย โดยในพื้นที่เมือง เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองหลวงใหม่ เนปิดอว์ ที่มีการกระจุกตัวของประชากรที่มีความมั่งคั่ง เป็นตลาดที่มีความพร้อมมากกว่า และมีเมียนมา อินชัวรันส์ เป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ที่มีบริษัทประกันภัยในประเทศทำธุรกิจอยู่รวม 12 ราย ซึ่งมี 3 รายเป็นธุรกิจประกันชีวิต ส่วนอีก 9 รายให้บริการทั้งประกันภัยและประกันชีวิต

สำหรับบริษัทประกันภัยรายอื่น นอกเหนือจากเมียนมา อินชัวรันส์ โดยในกลุ่มประกันชีวิต ได้แก่ แคปปิตอล ไลฟ์ อินชัวรันส์ จาก แคปปิตอล ไดมอนด์ สตาร์ กรุ๊ป, ซิติเซ่น บิสซิเนส อินชัวรันส์ จากโคออฟเปอเรทีฟแบงก์ และออง มินต์ โม มิน อินชัวรันส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหนึ่งในบริษัทของกองทัพ ขณะที่บริษัทประกันภัยและบริษัทประกันชีวิตในเครือธนาคาร โดยธนาคารเคบีแซด มีบริษัทไอเคบีแซด อินชัวรันส์ ส่วนธนาคารอิรวดี มีบริษัทเอยาเมียนมา อินชัวรันส์

บริษัทประกันภัยและชีวิตรายอื่นที่ถือหุ้นโดยบริษัทโฮลดิ้งหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ แกรนด์อาร์เดียน อินชัวรันส์ ที่ถือหุ้นโดย ชเวตอง ดิเวลลอปเม้นท์, เฟิร์ส เนชั่นแนล อินชัวรันส์ ซึ่งเป็นเครือของ ทู้ กรุ๊ป, ยังอินชัวรันส์ โกลบอล จากเครือ ยังอินเวสเม้นท์, โกลบอล เวิลด์ อินชัวรันส์ ของเอเชีย เวิลด์, เอ็กเซลเล้นท์ ฟอร์จูน อินชัวรันส์ จากเอ็กเซลเล้นท์ฟอร์จูน ดิเวลลอปเม้นท์ กรุ๊ป, ออง ทิตสา อู อินชัวรันส์ ซึ่งอยู่ในเครือ ยูเนี่ยน เมียนมา อิโคโนมิค โฮลดิ้งส์ ที่อยู่ภายใต้ธุรกิจของกองทัพ และ พิลลาร์ ออฟ ทรูธ อินชัวรันส์ ที่ถือหุ้นโดย ปารามี เอ็นเนอยี่ กรุ๊ป ออฟคอมพานี

ดอว์ ซันดาร์ อู กรรมการผู้จัดการของเมียนมา อินชัวรันส์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยของรัฐกล่าวว่า พร้อมรับประกันภัยต่างชาติ ตลาดประกันภัยในประเทศต้องการการลงทุนและเทคโนโลยีเพื่อการเติบโต หากอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจ บริษัทประกันภัยในประเทศก็จะสามารถร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคธุรกิจนี้ในเมียนมา

อู เมียว มินต์ ธุ กรรมการผู้จัดการของ เอยา เมียนมาอินชัวรันส์ มองว่า กฎหมายธุรกิจประกันภัยควรที่จะสรุปให้เรียบร้อยและผ่านการอนุมัติหรือเห็นชอบก่อนที่จะเปิดเสรี เพราะจะช่วยให้มีกรอบการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับผู้เล่นทุกรายในตลาด

ขณะนี้กฎหมายใหม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ FRD ซึ่งกำลังเปิดรับความเห็นของบริษัทประกันภัยในประเทศ

อาคารที่ทำการเมียนมา อินชัวรันส์ ที่มาภาพ: http: //www.globalnewlightofmyanmar.com/foreign-companies-enter-myanmar-insurance-sector/
พิธีเปิดสำนักงานในย่างกุ้งของ เอยา เมียนมา อินชัวรันส์ ปี 2014 ที่มาภาพ: https://www.ami-insurance.com/en_US/2016/11/07/opening-ceremony-of-ami-aya-myanmar-insurance-head-office-in-yangon-sunday-march-9-2014/#!gallery-5-102
ไอเคบีแซด อืนชัวรันส์ เปิดสาขา ที่เมืองแปร ปี 2015 ที่มาภาพ:http://www .globalnewlightofmyanmar.com/ikbz-insurance-opens-its-branch-in-pyay/
นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ที่ 3 จากซ้าย)เปิดสำนักงานผู้แทน (Representative Office) อย่างเป็นทางการ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ต่างชาติปักธงรอบุกตลาด

ทางด้านออกซฟอร์ดบิสซิเนสกรุ๊ป มีมุมมองว่า การเปิดเสรีประกันภัยให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ จะช่วยให้เกิดการแข่งขันและเพิ่มอัตราการถือครองประกันภัย

เมียนมามีอัตราการถือครองกรมธรรม์ต่ำที่สุดในอาเซียน เบี้ยประกันชีวิตมีสัดส่วนเพียง 0.01% ของจีดีพี ส่วนเบี้ยประกันวินาศภัยมีสัดส่วน 0.07% ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องจากการเปิดเสรีในภาคธุรกิจอื่น ดังนั้นตลาดประกันภัยในเมียนมาจึงมีโอกาสสูงสำหรับประกันภัยต่างชาติ และในตลาดยังสามารถรองรับผู้เล่นใหม่ๆ ได้อีก เพราะปัจจุบันมีผู้เล่นอยู่ 12 ราย ซึ่งรวมเมียนมา อินชัวรันส์ ที่มีส่วนแบ่งตลาด 45%

การแข่งขันของบริษัทประกันภัยในประเทศสูงขึ้น และมีหลายบริษัทที่ไม่มีแหล่งเงินทุนเมื่อเทียบกับธุรกิจประกันภัยต่างชาติ ดังนั้น การเข้ามาของธุรกิจประกันภัยต่างชาติจะทำให้บุคคลากรด้านประกันภัยในเมียนมาเป็นที่ต้องการมากขึ้น รวมทั้งมีผลต่อการสร้างเสริมความรู้และการถ่ายทอดความรู้

ปัจจุบันนี้บริษัทประกันภัยต่างชาติยังไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจในเมียนมา แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานตัวแทนได้ ซึ่งธุรกิจประกันภัยต่างชาติได้ประเมินไว้แล้วว่า เมียนมาจะเปิดเสรีประกันภัย จึงได้เข้ามาตั้งสำนักงานตัวแทนล่วงหน้าจำนวนหนึ่ง แต่โดยที่สำนักตัวแทนของบริษัทประกันภัยต่างชาติเหล่านี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจ ผู้จัดจำหน่ายประกันในเมียนมาส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่การทำวิจัยและเพิ่มขีดความสามารถเพื่อเตรียมการให้พร้อมก่อนที่จะมีการเปิดเสรีธุรกิจให้เข้าร่วมได้

โดยข้อมูลตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้มีธุรกิจประกันภัยต่างชาติเข้าตั้งสำนักงานตัวแทนจำนวน 24 รายอย่างไรก็ตามมีบริษัท 3 ซึ่งเป็นบริษัทจากญี่ปุ่นทั้งหมดรายได้รับอนุญาตให้ขายกรมธรรม์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิวาลา

แม้ตลาดประกันภัยของเมียนมามีโอกาสสูง แต่บริษัทต่างชาติเองก็จะประสบความท้าทายในประเด็นเดียวกัน เพราะต้องแข่งขันกับบริษัทในประเทศที่รู้จักตลาดในประเทศมากกว่า รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่จากจำนวนประชากรทั้งหมด 51.1 ล้านคนยังไม่ได้รับบริการการเงิน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มจำนวนการประกันภัยส่วนบุคคล และประชากรจำนวนมากยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการทำประกันภัย

นอกเหนือจากการเพิ่มการถือครองกรมธรรม์ของประชาชนและการถ่ายทอดความรู้แล้ว การเข้ามาของบริษัทประกันภัยต่างชาติจะส่งผลให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทประกันภัยเอกชนเน้นให้ความคุ้มครองใน 13 แบบ ประกอบด้วยประกันอัคคีภัย ประกันภัยรถยนต์ และประกันทั่วไป ขณะที่ผู้นำตลาดอย่างเมียนมา อินชัวรันส์ ให้ความคุ้มครองถึง 26 แบบ ซึ่งรวมถึงการให้ความคุ้มครองแบบพิเศษ เช่น ในกลุ่มข้าราชการ ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล

ในตลาดขณะนี้มีแบบประกันภัยที่นำเสนอมีทั้งหมด 48 แบบ

บริษัทประกันภัยต่างชาติที่เปิดสำนักงานตัวแทนในเมียนมา ได้แก่ ซมโปะ เจแปน อินชัวรันส์, มิตซุย ซูมิโมโต อินชัวรันส์, โตเกียว มารีน แอนด์ นิชิโดะ ไฟร์ อินชัวรันส์, ไทโย-ไลฟ์ อินชัวรันส์, โพมา ไลฟ์ อินชัวรันส์, อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์, เกรท อีสเทิร์นฯ ไลฟ์ อินชัวรันส์, พรูเดนเชียล โฮลดิ้งส์, เอซ ไอเอ็นเอ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้งส์, พานา แฮริสสัน, เมนูไลฟ์ ไฟแนนเชี่ยล ไลฟ์ อินชัวรันส์, เมืองไทยประกันชีวิต, เจแอลที แอนด์ วิลลิส ทาวเวอร์ วัตสัน

บริษัทประกันภัยต่างชาติที่รอใบอนุญาตได้จัดตั้งสมาคมธุรกิจประกันภัยขึ้น และกดดันรัฐบาลให้มีการปฏิรูป เพื่อลดข้อจำกัดของการทำธุรกิจ แม้ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน แต่คณะกรรมการด้านการลงทุนและกำกับธุรกิจอนุญาตให้ตั้งสมาคมผู้ประกอบการประกันชีวิตในเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งส่งผลให้บริษัทประกันภัยต่างชาติมีอำนาจในการล็อบบี้มากขึ้น โดยสมาคมธุรกิจประกันภัยนี้ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2018 ที่ผ่านมา

อู เมียว นอง กรรมการผู้จัดการ แกรนด์ อาร์เดียน อินชัวรันส์ กล่าวกับออกซฟอร์ดบิสซิเนสกรุ๊ปว่า ทุกคนต่างรอให้หน่วยงานที่กำกับดูแลประกาศความเป็นได้ของการทำธุรกิจแบบธุรกิจร่วมทุน (Joint venture) ในทั้งธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ระหว่างบริษัทในประเทศกับผู้เล่นต่างชาติ และหากธุรกิจร่วมทุนได้รับอนุญาต ต่างชาติก็จะนำเงินทุนและความเชี่ยวชาญเข้ามา ขณะที่บริษัทในประเทศก็รู้จักตลาดในประเทศดี

อนาคตมีโอกาสพัฒนาอีกมาก

การเปิดเสรีรับประกันภัยต่างชาติเข้ามายังทำให้องค์ประกอบเปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาในบางด้าน โดยคาดว่าในบรรดาแบบประกันที่มีในตลาดขณะนี้ การประกันภัยรถยนต์จะเป็นแบบแรกที่จะขยายตัวมากสุดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า รองลงมาคือ ประกันทรัพย์สิน

นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีการขยายการให้ความคุ้มครองไปสู่การประกันภัยปศุสัตว์ ประกันภัยการ เกษตร โดยบริษัทเมียนมา อินชัวรันส์ ประกาศในปลายเดือนสิงหาคมว่า กำลังทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตร ปศุสัตว์ และชลประทาน บริษัท อินโฟคอร์ป เทคโนโลยีจากสิงคโปร์ และบริษัทในประเทศอีก 2 ราย เพื่อพัฒนาโปรแกรมประกันปศุสัตว์ในสิ้นปีนี้

ตลาดประกันภัยปศุสัตว์เป็นตลาดใหญ่โดยมีจำนวนสัตว์เลี้ยงราว 11.5 ล้านตัว ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้แผ่นชิปและสัตว์ที่ลงทะเบียนไว้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเกษตรได้ ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการนำร่องประกันภัยพืชผลที่เริ่มขึ้นใน 2 ปีก่อนและได้รับการอนุมัติจากกระทรวงวางแผนและการคลัง

แม้ภาคเกษตรจะมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของรายได้ประชาชาติหรือจีดีพีและมีประชากรอยู่ในภาคเกษตรอยู่ครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด แต่เมียนมาไม่เคยมีการประกันภัยพืชผลหรือปศุสัตว์มาก่อน โครงการนี้เริ่มจากการประกันข้าวเปลือกในย่างกุ้ง อิรวดี มาเกว และมัณฑะเลย์ โดยบริษัทประกันภัยในประเทศ คือ โกลบอล เวิลด์ อินชัวรันส์ คาดว่าโครงการนี้จะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการประกันภัยในประชาชนในพื้นที่ชนบทมากขึ้น และสร้างกลุ่มลูกค้าที่จูงใจจะทำประกันภัยแบบอื่นเพิ่มเติมในอนาคต

รัฐวางกฎกติกาเข้ม

ภาคธุรกิจประกันภัยของเมียนมาเคยรุ่งเรืองมากในช่วงปี 1897-1940 ที่ยังใช้ชื่อประเทศว่าพม่ามีบริษัทประกันภัยถึง 110 แห่งที่จดทะเบียนไว้ และในช่วงที่ประกาศอิสรภาพบริษัทประกันภัยเอกชนยังสามารถทำธุรกิจได้ แต่มีการปิดประเทศปี 1952 หลังจากนั้นปี 1959 บริษัทประกันชีวิตทุกแห่งถูกควบรวมภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสหภาพประกันภัยแห่งรัฐ (Union Insurance Board) และปี 1964 บริษัทประกันภัยเอกชนทั้งหมดถูกยกเลิก

ระหว่างปี 1969-1976 การดำเนินธุรกิจด้านการเงินของรัฐทุกประเภทได้นำเข้าสู่การดูแลของธนาคารกลางพม่าขณะนั้น People’s Bank of the Union of Burma โครงการการกระจายอำนาจทำให้ธุรกิจประกันภัยมีสถานะเป็นธุรกิจของรัฐ คือ เมียนมา อินชัวรันส์ คอร์ปอเรชั่น และเปลี่ยนชื่อเป็น เมียนมา อินชัวรันส์ ปี 1989 และมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ทั้งประกันภัยและประกันชีวิต

ภายใต้กฎหมายประกันภัย กระทรวงการคลังยังสามารถค้ำประกันหนี้สินให้เมียนมา อินชัวรันส์ ได้ รวมทั้งบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจในเมียนมาถูกกำหนดให้ต้องซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันภัยของรัฐ ขณะที่บริษัทประกันภัยอื่นต้องยกเบี้ยประกันที่เกินระดับที่กำหนดเข้ากองทุนประกันที่บริหารโดยเมียนมา อินชัวรันส์ นอกจากนี้ เมียนมา อินชัวรันส์ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดยังสามารถจำหน่ายประกันภัยภาคบังคับ ซึ่งครอบคลุมถึงการประกันชีวิตให้กับข้าราชการพลเรือนที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี และข้าราชการทหารอายุ 18-55 ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาจำนวนข้าราชการพลเรือนและข้าราชการทหารแล้ว ก็นับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ทีเดียว

สำหรับบริษัทประกันภัยเอกชน เมื่อกฎหมายธุรกิจประกันภัยมีผลบังคับใช้ มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (IBSB) ที่สังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจในการพิจารณาออกใบอนุญาต รวมทั้งกำหนดเงินกองทุนและเงื่อนไขอื่นๆ เพื่อบังคับใช้กับผู้รับประกันภัย ผู้จัดจำหน่ายประกันภัย และโบรกเกอร์

ในปลายปี 2012 คณะกรรมการ IBSB เริ่มเปิดให้บริษัทประกันภัยเอกชนยื่นขอใบอนุญาตได้ โดยมี 20 บริษัทที่ยื่นขอ ซึ่ง 12 บริษัทได้รับใบอนุญาตและกลายเป็นผู้ประกอบการเอกชนรายหลักๆ ในปัจจุบัน หลังจากที่ 5 บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2013 และที่เหลือเริ่มดำเนินธุรกิจในปีต่อมา

ในบรรดา 12 บริษัทนั้น 3 แห่งเป็นบริษัทประกันชีวิตอย่างเดียว ที่ต้องมีทุนชำระแล้ว 6 พันล้านจ๊าดหรือราว 4.6 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่เหลือให้บริการทั้งประกันภัยและประกันชีวิต ที่ต้องมีทุนชำระแล้ว 46 พันล้านจ๊าด หรือ 35.1 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทที่ทำธุรกิจประกันภัยอย่างเดียวต้องมีทุนชำระแล้ว 40 พันล้านจ๊าด หรือ 30.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินทุนในสัดส่วน 10% จะต้องนำมาฝากไว้ที่ ธนาคารรัฐคือ เมียนมา อิโคโนมิค แบงก์ โดยไม่มีดอกเบี้ย ขณะที่อีก 30% ต้องนำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล

อย่างไรก็ตามยังไม่มีการกำหนดให้ดํารงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (Risk Based Capital)

ผู้รับประกันภัยต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแรกเข้าจำนวน 3 ล้านจ๊าดหรือ 2,290 ดอลลาร์ และชำระรายปีอีกปีละ 1 ล้านจ๊าด หรือ 764 ดอลลาร์ ในปี 2014 กรมกำกับการเงินของกระทรวงการคลังได้โอนบริษัทประกันภัยเอกชนมาดูแลแทนคณะกรรมการ IBSB และในปีเดียวกันนี้ บริษัทประกันภัยญี่ปุ่น 3 รายได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิวาลา

ปี 2018 บริษัทประกันภัยต่างชาติที่ได้เปิดสำนักงานตัวแทนในเมียนมามีจำนวน 24 แห่ง มีบริษัทในประเทศ 12 แห่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยเอกชนยังมีข้อจำกัดในการทำธุรกิจ และสำนักงานตัวแทนของบริษัทประกันภัยต่างชาติยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำธุรกิจ และเป็นเพียงตัวบ่งชี้ว่าเมียนมาจะเปิดรับประกันภัยต่างชาติที่ต้องการจะจับตลาดขนาดใหญ่และมีโอกาสสูง

ขณะที่บริษัทประกันภัยต่างชาติยังไม่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายประกัน บริษัทในประเทศถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ยกตัวอย่าง การกำหนดให้นำเบี้ยประกันที่เกินระดับที่กำหนดเข้ากองทุนประกัน รวมทั้งยังจำกัดขอบเขตแบบประกันที่จำหน่ายและจำกัดการกำหนดเบี้ยประกัน โดยบริษัทประกันภัยเอกชนได้รับอนุญาตให้ขายประกันได้ 9 แบบ ประกอบด้วย ประกันอัคคีภัย ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ประกันแบบมีเงินจ่ายคืนระหว่างทาง ประกันสะสมทรัพย์ ประกันชีวิต ประกันภัยความซื่อสัตย์ ประกันภัยทางทะเล ประกันเดินทางและประกันสุขภาพ

การคุ้มครองสำหรับทุกแบบเป็นมาตรฐานและเบี้ยประกันกำหนดโดยหน่วยงานที่กำกับดูแล แม้กฎกติการแรกเพื่อไม่ได้บริษัทประกันภัยรับประกันภัยความเสี่ยงที่ไม่สามารถรับได้ และสองผู้จัดจำหน่ายไม่สามารถกำหนดเบี้ยประกันจากการประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักของการป้องกันไว้ก่อน เพราะประชาชนยังไม่วางใจภาคการเงินและสถาบันการเงินมากนัก

การกำหนดราคาจากภายนอกส่วนหนึ่งสะท้อนว่าภาคธุรกิจยังมีความสามารถจำกัด เพราะบางบริษัทขาดความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย รวมไปถึงบริษัทประกันภัยมีข้อจำกัดด้านแหล่งลงทุนและด้านการบริหารความเสี่ยง พันธบัตรที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรระยะสั้น ขณะที่บริษัทประกันภัยต้องการพันธบัตรระยะยาว โดยเฉพาะในเมียนมาที่ตลาดเพิ่งจัดตั้ง

ธิรี ทันต์ มอน ผู้บริหารด้านวานิชธนกิจของซันดานิลา ให้ความเห็นว่า เบี้ยประกันชีวิตต้องนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีระยะเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้บริษัทประกันภัยมีเงินจ่ายผู้เอาประกันภัยได้ ในเมียนมาสินทรัพย์การเงินขณะนี้มีเพียงเงินฝากระยะสั้นในระบบธนาคารพาณิชย์ สถานการณ์แบบนี้ทำให้ผู้รับประกันภัยแบกรับความเสี่ยงในการจำหน่ายประกันภัย แต่ก็คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อตลาดทุนของประเทศมีการพัฒนามากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อมีผู้เล่นต่างชาติเข้ามาซึ่งมีความได้เปรียบด้านความหลากหลายของพอร์ตโฟลิโอ รวมทั้งปริมาณธุรกิจที่มีมากกว่า มาช่วยกระจายความเสี่ยงได้และยังเป็นโอกาสที่บริษัทประกันภัยต่างชาติจะได้มีข้อได้เปรียบ นอกเหนือไปจากความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในตลาดที่พัฒนาแล้ว การร่วมมือในรูปแบบพันธมิตรและธุรกิจร่วมทุนอาจจะมีผลดีต่อบริษัทประกันภัยบางราย แต่การเปิดให้กับบริษัทต่างชาติต้องติดตามกันต่อไป

ช่องทางจำหน่ายและแบบประกันรอการพัฒนา

สำหรับช่องทางจำหน่ายและผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่คือสาขาของธนาคาร เนื่องจากบริษัทประกันเอกชนจำนวนถือหุ้นโดยธนาคารหรือบริษัทโฮลดิ้งที่มีธุรกิจธนาคารในเครือ และตามกฎหมายแล้วกำหนดให้ต้องมีทำประกันอัคคีภัย เมื่อซื้อทรัพย์สินด้วยสินเชื่อ จึงเป็นข้อได้เปรียบของบริษัทประกันภัยในเครือธนาคาร

ในรอบปีบัญชี 2016/2017 เบี้ยประกันอัคคีภัยมีจำนวน 26.5 พันล้านจ๊าด หรือ 20.2 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 43% ของเบี้ยประกันภัยในกลุ่มประกันภัยเอกชน ส่วนประกันวินาศภัยที่เป็นผลิตภัณฑ์คือประกันรถยนต์ชั้น 1 ซึ่งมีเบี้ยประกันภัยรวม 14.2 พันล้านจ๊าด หรือ 10.8 ล้านดอลลาร์ มีสัดส่วน 23% ของตลาดประกันภัยเอกชน และแม้ว่าจะไม่ใช่ประกันภัยภาคบังคับ ก็มีผู้สมัครใจทำประกันภัยเพิ่มขึ้น เป็น 60,000 คน ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2016 จาก 27,000 คนในเดือนเดียวกันปี 2015 มีรถยนต์ที่ทำประกันภัยรวม 600,000 คันและยังมีโอกาสที่จะขยายตัวอีกมาก

เมียนมา อินชัวรันส์ มีสัดส่วนเบี้ยประกันอัคคีภัยสูงถึง 28.6% ของเบี้ยประกันอัคคีภัยรวมในไตรมาส 4 ของปี 2016 อย่างไรก็ตาม ประกันความรับผิดบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกันของรัฐ มีสัดส่วนถึง 57.7% ในระยะเดียวกัน เนื่องจากเป็นประกันภัยภาคบังคับในเมียนมา และมีเมียนมา อินชัวรันส์ เป็นผู้ให้บริการรายเดียว

ส่วนประกันการเดินทาง มีชื่อว่า แบบประกันเดินทางพิเศษสำหรับทางด่วน ไม่คุ้มครองการเดินทางไปต่างประเทศ แต่สามารถซื้อความคุ้มครองการเดินทางในระยะ 100 กิโลเมตรบนถนน

แม้แต่ละปีเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า โดยในปีบัญชี 2016/2017 เบี้ยประกันชีวิตมีจำนวน 15.6 พันล้านจ๊าด หรือ 11.9 ล้านดอลลาร์ มีสัดส่วน 25.4% เพิ่มขึ้นจาก 7.8 พันล้านจ๊าด หรือ 6 ล้านดอลลาร์ ในปีบัญชี 2015/2016 แต่นับว่ายังไม่พัฒนา เพราะแบบประกันมีเพียง 5 แบบ คือ แบบประกันสะสมทรัพย์บุคคล ประกันชีวิตกลุ่ม ประกันชีวิตนักกีฬา ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อและประกันชีวิตกรณีงูกัด ซึ่งแบบหลังนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้เบี้ยประกันที่กำหนดจะต่ำเกินไปสำหรับบริษัทประกันภัยเอกชน จึงยากที่จะกำไรจากแบบประกันนี้

ทางด้านช่องทางการจำหน่าย มีการพัฒนาดีขึ้น มีหลายรูปแบบ ขณะนี้ช่องทางตัวแทนยังเป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับลูกค้าและ เป็นช่องทางที่บริษัทประกันภัยในเมียนมาเลือกใช้ในการขยายธุรกิจ

ข้อมูลในเดือนเมษายนพบว่าคณะกรรมการ IBRB ได้ออกใบอนุญาตตัวแทนประกันภัยไปแล้ว 1,200 ราย

ตอง ฮัน กรรมการผู้จัดการของ ซิติเซ่น บิสซิเนส อินชัวรันส์ เมียนมา ให้ความเห็นว่า แบงก์แอสชัวรันส์ จะเป็นช่องทางที่บริษัทประกันภัยให้ความสำคัญในระยะต่อไป เพื่อขยายการดำเนินงาน ซึ่งตลาดที่กำลังขยายตัวจะขับเคลื่อนการพัฒนาของแบงก์แอสชัวรันส์ และก็เชื่อว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลจะออกกฎหมายให้สอดคล้องกัน

โมเดลธุรกิจที่เน้นแบงก์แอสชัวรันส์ในเมียนมา มีแนวโน้มที่จะเจอการแข่งขันจากช่องทางออนไลน์มากขึ้น ข้อมูลของภาครัฐพบว่า อัตราการถือครองโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นเป็น 89% ปี 2016 ขณะที่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 71% เพราะสมาร์ทโฟนมีราคาถูกลง ดังนั้น เมียนมาอาจจะกระโดดข้ามขั้นตอนการพัฒนา ข้ามช่องทางสาขาและโบรกเกอร์มาสู่ช่องทางออนไลน์

นอกจากนี้คาดว่า ไมโครอินชัวรันส์จะขยายตัวมากขึ้น จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและครัวเรือนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย รวมทั้งจะมีส่วนช่วยพัฒนาเมียนมาที่ส่วนใหญ่เป็นสังคมชนบท โดยมีพื้นที่เมืองน้อยกว่า 1 ใน 3 ของเวียดนาม และคิดเป็น 1 ใน 5 ของพื้นที่เมืองของมาเลเซีย พื้นที่เมืองของเมียนมาอยู่ในย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนปิดอว์ และมีประชากรในชนบทโยกย้ายมาพำนักในย่างกุ้งคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของประชากรในย่างกุ้งทั้งหมดทำให้ลักษณะของประชากรคล้ายคลึงกับบังกลาเทศที่ไมโครอินชัวรันส์ขยายตัวดี

ไมโครอินชัวรันส์ในเมียนมาเปิดตัวครั้งแรกเพื่อคุ้มครองสมาร์ทโฟนกรณีหาย ถูกขโมยหรือเสียหาย นับจากนั้นทำให้ลูกค้าเริ่มคุ้นเคยและมองหาประกันภัยแบบอื่น ซึ่งแบบประกันเหล่านี้รวมถึงการให้ความคุ้ม ครองไมโครเครดิต ที่ให้บริการโดยสถาบันไมโครไฟแนนซ์และธนาคารพัฒนาเกษตรกรรม ในพื้นที่ชนบทและหมู่บ้าน รวมทั้งแบบประกันที่คุ้มครองกรณีน้ำท่วมและภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของภาคเกษตรกรรม

บริษัทประกันภัยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเพื่อให้ดึงมาใช้ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งต้องแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือ บริการรวดเร็วและจ่ายเงินคืนทันที เพราะนอกจากจะมีคู่แข่งที่เป็นบริษัทประกันด้วยกันแล้ว ยังมีฟินเทคเกิดขึ้นด้วย คือ สโตนสเตป การขาดกฎระเบียบสำหรับไมโครอินชัวรันส์ทำให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร หลายฝ่ายต้องการให้กฎหมายปฏิรูปประกันผ่านการให้ความเห็นชอบและครอบคลุมไมโครอินชัวรันส์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรบริหารความเสี่ยงในต้นทุนที่รับได้

ขณะที่เมียนมา อินชัวรันส์ ยังไม่มีแบบประกันสำหรับภาคเกษตร และบริษัทประกันภัยเอกชนก็ไม่ได้รับอนุญาตให้บริการประกันแบบนี้ แต่สถาบันไมโครไฟแนนซ์และสหกรณ์ในชนบททำหน้าที่เป็นผู้รับประกัน ผ่านแบบประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ แก่ลูกค้ากู้เงินจากสถาบันไมโครไฟแนนซ์และสหกรณ์

ประกันภัยต่างชาติและบริษัทประกันเอกชนในประเทศต่างรอเวลาเปิดตลาดประกันภัยของเมียนมา เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังเติบโตและให้ผลตอบแทนได้อีกมาก เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตในระยะยาวจากจำนวนประชากร ที่ตั้งของประเทศ รวมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรและบุคลากร ขณะนี้ตลาดประกันภัยเมียนมาเป็นตลาดที่ยังไม่เปิด รอความชัดเจนของกฎกติกาเพื่อให้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นและลดอำนาจการกำหนดเบี้ยประกันของบริษัทประกันภัยรัฐ

การเข้ามาของตลาดประกันภัยต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นในรูปธุรกิจรวมทุนหรือเข้ามาโดยเอกเทศ ก็จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญและเงินที่จะทำให้ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสองปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้ในระยะยาว

เมียนมาเป็นประเทศที่กำลังเติบโตในภูมิภาคนี้ ทั้งในเชิงผลิตภัณฑ์และบริการ การสร้างและรักษาความไว้วางใจจึงเป็นสิ่งสำคัญในช่วงแรกของการพัฒนา โดยความเป็นมืออาชีพและระบบที่ดีก็จำเป็นในการสร้างความไว้วางใจ ที่เป็นขั้นแรกของการสร้างฐานลูกค้าใหม่ และขณะนี้ระหว่างที่รอความชัดเจนด้านกรอบกติกาจากทางการ หลายบริษัทได้เตรียมความพร้อมด้านพนักงาน ระบบไอที ระบบบริหารเพื่อรองรับตลาดที่จะให้ผลตอบแทนในอนาคต

ข้อมูลส่วนหนึ่งในรายงานข่าวนี้มาจากรายงานของ Oxford Business Group(OBG) บริษัทสิ่งพิมพ์ วิจัยและที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ต่อได้ สำหรับข่าวเศรษฐกิจของเมียนมาและประเทศอื่น สามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.oxfordbusinessgroup.com/economic-news-updates

(This information was originally published by Oxford Business Group (OBG), the global publishing, research and consultancy firm. Copyright Oxford Business Group 2018. Published under permission by OBG. For economic news about Myanmar and other countries covered by OBG, please visit: http://www.oxfordbusinessgroup.com/economic-news-updates)

เรียบเรียงจาก MyanmarBusinessToday,insurancebusinessmag,globalnewlightofmyanmar,lexology,elevenmyanmar,nortonrosefulbright