ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 6 เดือน หลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ โรงงานยาสูบรายได้หาย-กำไรหด เกษตรกร 5 หมื่นราย ถูกตัดโควตา – ขายใบยา

6 เดือน หลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ โรงงานยาสูบรายได้หาย-กำไรหด เกษตรกร 5 หมื่นราย ถูกตัดโควตา – ขายใบยา

27 สิงหาคม 2018


เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 ภาคียาสูบแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายระเฑียร ศรีมงคล ประธานกรรมการอำนวยการ การยาสูบแห่งประเทศไทย

6 เดือน หลังกรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ โดยนำ “ราคาขายปลีกแนะนำ” มาใช้เป็นฐานคำนวณภาษี แทนราคาหน้าโรงงาน และ ราคานำเข้า (CIF) พร้อมกับเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีบุหรี่ใหม่เป็นรูปแบบผสม โดยเก็บภาษีทั้งตามปริมาณและตามมูลค่ารวมกัน ส่งผลทำให้บุหรี่ทุกยี่ห้อไม่ว่าจะเป็นบุหรี่นอกหรือบุหรี่โรงงานยาสูบต้องจ่ายภาษีให้กรมสรรถพสามิตตามปริมาณ มวนละ 1.20 บาท หรือซองละ 24 บาท เป็นพื้นฐาน สำหรับบุหรี่ตลาดบนที่กำหนดราคาขายปลีกซองละ 60 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีตามมูลค่าอีก 40% ของราคาขายปลีกแนะนำ ส่วนบุหรี่ตลาดล่างที่กำหนดราคาขายปลีกซองละไม่เกิน 60 บาท เสียภาษีตามมูลค่าในอัตรา 20% ของราคาขายปลีกแนะนำ เป็นเวลา 2 ปี นับจากวันที่ 16 กันยายน 2560 ครบกำหนด 2 ปี ให้เสียภาษีในอัตรา 40%

หลังจากพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) และกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เริ่มมีผลบังคับในวันที่ 16 กันยายน 2560 ปรากฏว่าโรงงานยาสูบ หรือการยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกิจของของรัฐที่ผูกขาดตลาดบุหรี่มานานเกือบ 80 ปีจนได้รับสมญานามว่า “เสือนอนกิน” ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง บุหรี่ของโรงงานยาสูบที่มีราคาถูกที่สุด คือ ยี่ห้อ Line 7.1 เดิมตั้งราคาขายซองละ 40 บาท หลังปรับโครงสร้างภาษี เพิ่มขึ้นเป็นซองละ 60 บาท ส่วนกรองทิพย์ สายฝน กรุงทอง สามิต เดิมราคาซองละ 86 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 95 บาท ขณะที่บุหรี่นำเข้าปรับลดราคาลงมาสู้ เช่น บุหรี่ยี่ห้อ วินสตันคอมแพค เดิมจากซองละ 70 บาท ลดเหลือ 60 บาท ยี่ห้อ L&M 7.1 ลดราคาซองละจาก 72 บาท ลดเหลือ 60 บาท ยี่ห้อคาเมล ซองละ 80 บาท ลดเหลือ 60 บาท หลังปรับโครงสร้างภาษีแค่ 2 เดือน ยอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลง 41% ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของโรงงานยาสูบอย่างหนัก

  • เปิดราคาบุหรี่-เหล้า-เบียร์ หลังสรรพสามิตขยับโครงสร้างภาษี
  • สรรพสามิตแจงปรับโครงสร้างภาษีสุรา-บุหรี่ ราคาขายปลีกขยับอีก 3-6 บาท เตรียมลุยจับบุหรี่ไฟฟ้ารับ กม.ใหม่
  • สงครามราคาบุหรี่ หลัง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่ ยกแรกโรงงานยาสูบยอดหาย-กำไรหด
  • หากไปดูตัวเลข “งบการเงิน” ของการยาสูบแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งผ่านการตรวจรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะพบว่าไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (1 ต.ค.60 – 31 ธ.ค.60) โรงงานยาสูบมีรายได้รวมทั้งสิ้น 10,187 ล้านบาท เทียบกับปีก่อน (ช่วงระยะเวลาเดียวกัน) ลดลงไป 6,405 ล้านบาท หรือลดลง 38.60% โดยเฉพาะรายได้จากยอดขายบุหรี่มียอดรวมทั้งสิ้น 10,187 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 6,406 ล้านบาท หรือลดลง 38.85% ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โรงงานยาสูบจึงจำเป็นต้องปรับลดต้นทุน ในไตรมาสนี้โรงงานยาสูบมีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 9,945 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 4,253 ล้านบาท หรือลดลง 29.95% ผลประกอบการไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 โรงงานยาสูบเหลือกำไรสุทธิแค่ 242 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนตัวเลขกำไรลดลง 2,152 ล้านบาท หรือลดลง 89.89%

    ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2561 เริ่มปรับตัวดีขึ้น โรงงานยาสูบมีรายได้รวม 14,239 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 3,048 ล้านบาท หรือลดลง 17.63% ในจำนวนนี้เป็นยอดขายบุหรี่ 14,129 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 3,045 ล้านบาท หรือลดลง 17.73% รายจ่ายรวมอยู่ที่ 13,893 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 1,065 ล้านบาท หรือลดลง 7.12% มีกำไรสุทธิ 346 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 1,983 ล้านบาท หรือลดลง 85.13%

    รวม 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 โรงงานยาสูบมีรายได้รวมทั้งสิ้น 24,426 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 9,453 ล้านบาท หรือลดลง 27.93% เฉพาะยอดขายบุหรี่มีรายได้รวมทั้งสิ้น 24,213 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 9,460 ล้านบาท หรือลดลง 28.07% รายจ่ายรวมอยู่ที่ 23,838 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 5,318 ล้านบาท หรือลดลง 18.24 % คงเหลือกำไรสุทธิ 588 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 4,135 ล้านบาท หรือลดลง 87.54%

    การปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดเก็บภาษีบุหรี่ครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของโรงงานยาสูบโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงรายได้ของโรงงานยาสูบที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง, ภาพรวมการจัดเก็บภาษีบุหรี่ของกรมสรรพสามิต และเกษตรกรชาวไร่ยาสูบทางภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนกว่า 50,000 ครัวเรือน

    6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 โรงงานยาสูบเหลือรายได้ที่ต้องนำส่งคลังแค่ 518 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่เคยนำส่งรายได้เข้าคลัง 4,154 ล้านบาท ยอดนำส่งรายได้เข้าคลังลดลงไป 3,636 ล้านบาท หรือลดลง 87.53%

    ขณะที่กรมสรรพสามิตมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีบุหรี่ลดลงเล็กน้อย 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 กรมสรรพสามิตเก็บภาษีบุหรี่ได้ทั้งสิ้น 34,698 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนลดลง 305 ล้านบาท หรือลดลง 0.87% แต่ถ้าไปดูยอดรวมการจัดเก็บภาษีบุหรี่ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีบุหรี่ได้ทั้งสิ้น 57,836 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนเพิ่มขึ้น 2,189 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.9%

    และผลจากการที่โรงงานยาสูบประสบปัญหายอดขายลดลงอย่างรุนแรง ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โรงงานยาสูบพยายามลดต้นทุนค่าใช้จ่ายมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะถึงฤดูกาลเพาะปลูกใบยาปี 2561/62 โรงงานยาสูบออกประกาศงดรับซื้อใบยา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 กลุ่มภาคียาสูบแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย สมาคมผู้บ่มผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบลำปาง, สมาคมชาวไร่ยาสูบเบอร์เล่ย์ สุโขทัย, เครือข่ายยาสูบ ภาคอีสาน, ชมรมชาวไร่ยาสูบสามัคคี นครพนม บึงกาฬ, ชมรมชาวไร่บ่มเอง เชียงราย, สมาคมพัฒนาชาวไร่บ่มเอง เชียงใหม่ และชมรมชาวไร่บ่มเอง แพร่ จึงรวมตัวกับมายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายระเฑียร ศรีมงคล ประธานกรรมการอำนวยการ การยาสูบแห่งประเทศไทย และบอร์ดการยาสูบแห่งประเทศไทย โดยขอให้ปลดนางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้ว่าการ การยาสูบแห่งประเทศไทย เนื่องจากไม่มีความสามารถที่จะแก้ปัญหาของโรงงานยาสูบครั้งนี้ได้ ออกประกาศงดรับซื้อใบยาสูบในฤดูกาลผลิต 2561/62 ทำให้เกษตรกรต้องสูญเสียอาชีพ ในทางตรงกันข้าม กลับไปลงนามกับบริษัทยาสูบต่างประเทศ เพื่อนำเข้าบุหรี่มาขายในประเทศ โดยไม่ใช้ใบยาสูบไทย ทั้งๆ ที่โรงงานยาสูบมีปัญหายอดขายลดลง แต่ผู้ว่าการ การยาสูบแห่งประเทศไทยกลับไม่มีแผนอย่างเป็นรูปธรรมในการพลิกฟื้นวิกฤติครั้งนี้

    สรุป 6 เดือน หลังปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ โรงงานยาสูบรายได้ลดลงจากปีก่อน 9,453 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 4,135 ล้านบาท รายได้ที่ต้องนำส่งคลังครึ่งปีแรกลดลง 3,636 ล้านบาท กรมสรรพสามิต เก็บภาษีลดลง 305 ล้านบาท ส่วนเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ 50,000 ครัวเรือน ถูกยกเลิกโควตารับซื้อใบยาสูบ มาถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครทราบ เม็ดเงินรายได้ที่หายไปจากระบบอุตสาหกรรมยาสูบไทย สาเหตุที่แท้จริงเกิดจาก คนเลิกสูบบุหรี่ หรือ เปลี่ยนไปสูบบุหรี่นอก บุหรี่เถื่อนทดแทน เป็นประเด็นที่จะต้องติดตามกันต่อไป…