ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางข้อมูลรายได้ภาษีเหล้า-บุหรี่ ก้อนใหญ่อยู่ในมือใคร?

กางข้อมูลรายได้ภาษีเหล้า-บุหรี่ ก้อนใหญ่อยู่ในมือใคร?

29 กันยายน 2017



จากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557 พบว่าคนไทย 65 ล้านคน อายุเกิน 15 ปีขึ้นไปมีจำนวน 54.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนสูบบุหรี่ประมาณ 11.4 ล้านคน แบ่งเป็นสูบบุหรี่เป็นประจำ 10 ล้านคน สูบบุหรี่นานๆ ครั้งมี 1.4 ล้านคน ส่วนคนดื่มสุรามี 17.7 ล้านคน ปี 2558 ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่มียอดลดลงเหลือ 11 ล้านคน ขณะที่คนกินเหล้ามีจำนวนเพิ่มเป็น 18.7 ล้านคน

และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กรมสรรพสามิตต้องปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยการปรับเพิ่มอัตราภาษีที่เก็บตามปริมาณ จากเดิมมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% เพิ่มเป็น 55% และปรับลดอัตราภาษีที่เก็บตามมูลค่าจากเดิมมีน้ำหนักอยู่ที่ 80% ลดลงมาเหลือ 45% รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเสียภาษี ทั้งตามปริมาณและมูลค่าบนฐานราคาขายปลีกแนะนำรวมกัน จากเดิมเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่เลือกว่าจะใช้วิธีคำนวณภาษีตามมูลค่าหรือ คำนวณตามปริมาณ วิธีไหนรัฐได้เงินมากที่สุดให้ใช้วิธีนั้น

หลักการของการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้จึงเน้นเรื่องสุขภาพประชาชนเป็นหลักการสำคัญ ใครบริโภคสินค้าที่ให้โทษต่อร่างกายมาก ก็ต้องจ่ายภาษีมาก ใครบริโภคน้อย ก็เสียภาษีน้อย แตกต่างจากโครงสร้างภาษีเดิมซึ่งไปเน้นที่ราคา สินค้าราคาแพงต้องเสียภาษีมากกว่าสินค้าราคาถูก ผู้ประกอบการจึงแข่งขันกันผลิตหรือนำเข้าเหล้า-บุหรี่ราคาถูกเข้ามาขายในตลาด โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและส่วนรวม การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจะเป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล, แอลกอฮอล์ และยาสูบ เฉพาะในกลุ่มสุราและเบียร์ คาดว่ากรมสรรพสามิตจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นปีละ 5,168 ล้านบาท ภาษียาสูบเพิ่มขึ้นปีละ 2,186 ล้านบาท

แต่ถ้าย้อนหลังกลับไปดูที่สถิติการจัดเก็บภาษีสุรา เบียร์ และยาสูบ หรือที่เรียกว่า “ภาษีบาป” (Sin Tax) ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตเก็บภาษีจากคนที่กินเหล้า-สูบบุหรี่ไปทั้งสิ้น 2.21 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยภาษียาสูบ 730,310 ล้านบาท ภาษีสุรา 626,263 ล้านบาท และภาษีเบียร์ 852,779 ล้านบาท นอกจากภารกิจในการจัดเก็บภาษีให้รัฐบาลนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศแล้ว กรมสรรพสามิตยังทำหน้าที่จัดเก็บภาษีเพิ่มเติม (On Top) หรือที่เรียกว่า “Earmarked Tax” และจัดสรรให้หน่วยงานหลายแห่งนำไปใช้บรรเทาผลกระทบทางด้านสังคม ดังนี้

1. จัดเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยจากผู้ประกอบการเพิ่มในอัตรา 10% ของภาษีสุราและเบียร์ (ยาสูบยังไม่ได้เก็บ) นำส่งกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า 9 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีส่งให้กระทรวงมหาดไทยไปทั้งสิ้น 60,612 ล้านบาท ล่าสุด หลังจาก พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เป็นต้นไป ทำให้โรงงานยาสูบและผู้นำเข้าบุหรี่ต้องจ่ายภาษีเพื่อมหาดไทยในอัตรา 10% ของภาษียาสูบให้กรมสรรพสามิตนำส่งกระทรวงมหาดไทย ตามมาตรา 150-151 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่

2. จัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการเพิ่มในอัตรา 2% ของภาษีสุราและยาสูบ ส่งให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นรายได้บำรุงองค์กร เพื่อนำไปใช้สร้างเสริมสุขภาพ ทั้งทางกายและจิตใจ รณรงค์ลด ละ เลิก การบริโภคเหล้า บุหรี่ จากการรวบรวมข้อมูลจากรายงานประจำปีของ สสส. พบว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา สสส. มีรายได้จากเงินบำรุงองค์กรทั้งสิ้น 44,259 ล้านบาท

3. จัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการเพิ่ม 1.5% ของภาษีสุราและยาสูบ แต่ไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี ส่งให้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) เป็นเงินบำรุงองค์กร เพื่อใช้ในการทำสื่อสาธารณะ จากการรวบรวมข้อมูลรายงานประจำปีของ Thai PBS พบว่าในช่วง 9 ปี ที่ผ่านมา Thai PBS มีรายได้จากเงินบำรุงองค์กร 18,039 ล้านบาท

4. จัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการเพิ่ม 2% ของภาษีสุราและยาสูบ ส่งให้กองทุนพัฒนาการกีฬา เป็นเงินบำรุงองค์กร เพื่อนำไปใช้สนับสนุนกีฬา แต่เนื่องจากการกีฬาแห่งประเทศไทยยังไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลรายงานประจำปีบนเว็บไซต์ คาดว่ากองทุนพัฒนาการกีฬาน่าจะมีรายได้เงินบำรุงกองทุนใกล้เคียงกับ สสส. เพราะจัดเก็บในอัตราตราเดียวกัน หลังจาก พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2558 จนถึงสิ้นปี 2559 คาดว่ากองทุนพัฒนาการกีฬาน่าจะมีรายได้จากเงินบำรุงกองทุนตามมาตรา 37-42 แห่ง พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ประมาณ 7,380 ล้านบาท

รวมภาระภาษี “Earmarked Tax” ที่ผู้ประกอบการสุรา-ยาสูบ หรือผู้บริโภค ต้องจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมทั้งสิ้น 15.5% ของภาษีสุราและยาสูบ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนผู้สูงอายุอีก 2% ของภาษีสุราและยาสูบ แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ตามร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. แล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 คาดว่าจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนนี้ปีละ 4,600 ล้านบาท ส่วนที่เกิน 600 ล้านบาท กรมสรรพสามิตนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเช่นเดียวกับ Thai PBS ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หากกฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ ผู้ที่ยังกินเหล้าสูบบุหรี่จะมีภาระภาษี “Earmarked Tax” เพิ่มเป็น 17.5% ของภาษีสุราและยาสูบ

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราภาษีมากเกินไป อาจเป็นการไปเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ที่ยังเลิกเหล้า-บุหรี่ไม่ได้ หันไปซื้อเหล้า-บุหรี่หนีภาษี หรือสินค้าปลอดอากรทดแทน ตัวเลขประมาณการรายได้ที่คาดว่าจะเก็บภาษีได้เพิ่ม ก็อาจจะไม่เป็นไปตามเป้า เพราะรายได้ส่วนหนึ่งอาจถูกย้ายไปอยู่ในมือผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบภาษี ก็เป็นไปได้