ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กางปฏิทินฉบับกกต. จัด 2 เลือกตั้ง 1 สรรหา “บิ๊กอีเวนท์” ต้อนรับกรรมการชุดใหม่

กางปฏิทินฉบับกกต. จัด 2 เลือกตั้ง 1 สรรหา “บิ๊กอีเวนท์” ต้อนรับกรรมการชุดใหม่

3 กันยายน 2018


วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 คือ “ดีเดย์” เข้าคูหากากบัตรเลือกตั้ง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเป็น “ตุ๊กตา” ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในรอบ 5 ปี

สำนักงานกกต.จัดทำ “ปฏิทิน” แผนงานการปฏิบัติงานในการเลือกตั้งส.ส.เอาไว้ เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงาน โดยได้คำนวนจากวงรอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่คาดการณ์ว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 17 กันยายน 2561

หากเป็นไปตามสมมุติฐานนี้ นั่นหมายถึงในวันที่ 18 กันยายน จะเป็นวันที่เริ่มนับ 1 ในห้วงเวลา 90 วัน ที่กฎหมายให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไป

ในระหว่างนี้กกต.สามารถเดินหน้าเพื่อปูทางสู่การจัดการเลือกตั้งได้ เริ่มจากการออกระเบียบกกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส. ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 กันยายนนี้

จากนั้นกกต.จะต้องประกาศจำนวนส.ส. และจำนวนเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ส่วนรูปแบบการแบ่งเขตนั้น ผอ.กกต.จังหวัดจะเป็นผู้เสนอรูปแบบอย่างน้อย 3 รูปแบบ และนำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและพรรคการเมือง ก่อนที่จะสรุปส่งให้กกต.ลงมติให้ความเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศเขตเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่กระบวนคัดเลือกผู้สมัคร ที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการออกแบบ วิธีการแทนการทำไพรมารีโหวต เพื่อให้พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากไพรมารีโหวตที่ถูกบัญญัติในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ถูกมองว่าเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับพรรคการเมือง

ตามปฏิทินของกกต. คาดการณ์ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. จะครบกำหนดขยายเวลาการบังคับใช้ 90วัน และมีผลใช้บังคับในวันที่ 17 ธันวาคม จากนั้นกกต.จะออกระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 25 ธันวาคม

และในวันที่ 31 ธันวาคม จะเป็นวันแรกที่กกต.เปิดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้ง และ นอกราชอาณาจักร โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนถึงวันที่ 24 มกราคม 2562

ในส่วนของการประกาศพ.ร.ฎ.เลือกตั้งส.ส. กกต.คาดว่า จะมีขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2562 โดย กกต.จะเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต และให้พรรคการเมืองส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเฉพาะพรรคที่ส่งแบบแบ่งเขตแล้วเท่านั้นระหว่างวันที่ 14-18 มกราคม ซึ่งอีก 7 วันหลังจากนั้น กกต.จะประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส.

ทั้งนี้ในกรณีที่กกต.ไม่รับสมัครผู้สมัครส.ส.รายใด ผู้สมัครสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ หรือ ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่าผู้สมัครส.ส.ที่มีรายชื่อในประกาศไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง สามารถยื่นคำร้องต่อกกต.ได้ในวันที่ 31 มกราคม

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ จะครบกำหนดวันสุดท้ายที่กกต.จะทำหนังสือแจ้งผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังเจ้าบ้าน รวมถึงการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)

สำหรับการลงคะแนนนอกราชอาณาจักร เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-17 กุมภาพันธ์ ส่วนการลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ คือ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งคำนวนตามช่วงเวลา 150 วัน หลังพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลใช้บังคับวันหย่อนบัตรจะนับเป็นวันที่ 70 จากนั้นกกต.จะต้องประกาศผลการเลือกตั้ง ภายใน 60 วัน หรือ ภายในวันที่ 25 เมษายน 2562

  • “ไพรมารีโหวต” กลไกเพิ่มส่วนร่วมประชาชน หรือ แค่พิธีกรรม เมื่ออำนาจสุดท้ายอยู่ที่ กก.บห.
  • วิวัฒนาการสกัดการเมืองครอบงำ ย้อน 86 ปีวุฒิสภาไทย…สภาเครือญาติ สู่ สภาพปลาสองน้ำ จากแต่งตั้ง เลือกตรง เลือกไขว้
  • สรรหาส.ว.

    กระบวนการสรรหาส.ว. จะออก “สตาร์ท” เดินหน้าใกล้เคียงกับการเตรียมการในการเลือกตั้งส.ส. โดย กกต.คาดการณ์ว่าพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวันที่ 10 กันยายน 2561 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไปทันที ซึ่งหากเป็นไปตาม “ตุ๊กตา” ที่กกต.วางไว้ กกต.จะออกระเบียบว่าด้วยการไ่ด้มาซึ่งส.ว.ในวันที่ 22 กันยายน

    จากนั้นวันที่ 22-31 ตุลาคม กกต.จะเปิดลงทะเบียนองค์กร เพื่อให้องค์กรวิชาชีพที่จะส่งผู้เข้ารับการสรรหาส.ว. มาลงทะเบียนต่อกกต.

    วันที่ 15 พฤศจิกายน ครม.จะเสนอร่างพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกส.ว. และคาดว่าพ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกส.ว.จะมีผลใช้บังคับ

    จากนั้นภายใน 5 วันนับตั้งแต่พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกส.ส.มีผลใช้บังคับ กกต.จะประกาศกำหนดวันเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ รวมทั้งวันรับสมัครที่กำหนดเบื้องต้นไว้ระหว่างวันที่ 10-14 ธันวาคม

    19 ธันวาคม กกต.จะประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร หากผู้สมัครรายใดไม่มีชื่อ หรือ ถูกลบชื่อสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 3 วัน โดยศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมาก่อนวันเลือกผู้สมัครไม่น้อยกว่า 1 วัน

    และเริ่มเข้าสู่กระบวนการเลือกผู้สมัครส.ว.ระดับอำเภอ ในวันที่ 30 ธันวาคม ระดับจังหวัดวันที่ 6 มกราคม 2562 ขณะที่การเลือกผู้สมัครในระดับประเทศที่จะต้องเกิดขึ้นภายวันที่ 16 มกราคม ซึ่งหลังจากได้ผลการคัดเลือกในระดับประเทศจำนวน 200 คนมาแล้ว กกต.จะต้องรอเวลาไว้ไม่น้อยกว่า 5 วัน และเมื่อพ้นระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ถ้ากกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม ให้จัดเรียงลำดับรายชื่อผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัคร ก่อนส่งรายชื่อ 200 รายชื่อให้คสช.พิจารณาต่อไปในวันที่ 22 มกราคม

    โดยรายชื่อในส่วนนี้คสช.จะเคาะในขั้นสุดท้ายให้เหลือ 50 คน เมื่อนำไปรวมกับการคัดเลือกจากบัญชีของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาอีก 194 คน และผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะรวมเป็น 250 คน

    เลือกตั้งท้องถิ่น

    การเลือกตั้งท้องถิ่น ก่อนหน้านี้ถูกวาง ให้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นในร่างสุดท้าย ทั้ง6 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ,พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล ,พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด ,พ.ร.บ.เทศบาล ,พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. และ พ.ร.บ.บริหารราชการเมืองพัทยา

    โดยกฤษฎีกาเตรียมจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ในต้นเดือนกันยายนนี้ ดังนั้นการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องขยับออกไป ซึ่งกกต.คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งส.ส.ประมาณ 90 วัน หรือ เดือนพฤษภาคม 2562

    “2 เลือกตั้ง 1 สรรหา” จึงถือเป็น “บิ๊ก อีเวนท์” ของกกต. ที่จะต้องพิสูจน์ฝีมือการทำงานผ่านการจัดเลือกตั้ง-สรรหา ให้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมและเป็นที่ยอมรับของคนทุกฝ่าย