ThaiPublica > เกาะกระแส > “วรวุฒิ อุ่นใจ” ประธานสมาคมค้าปลีกคนใหม่ ชู 3 แนวทาง สลายผูกขาด “ธุรกิจดิวตี้ฟรี”

“วรวุฒิ อุ่นใจ” ประธานสมาคมค้าปลีกคนใหม่ ชู 3 แนวทาง สลายผูกขาด “ธุรกิจดิวตี้ฟรี”

4 กันยายน 2018


เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 เวลา 10.00 น. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่(ซ้าย)

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 เวลา 10.00 น. สมาคมผู้ค้าปลีกไทย แถลงข่าวเปิดตัว นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่ เกี่ยวกับบทบาทของธุรกิจค้าปลีกต่อการพัฒนาประเทศ พร้อมเดินหน้าผลักดันข้อเสนอสัมปทานดิวตี้ฟรี และจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Pic-up Counter)

นายวรวุฒิกล่าวถึงภาพรวมธุรกิจค้าปลีกของโลกว่า จากการศึกษา Global Power of Retailing 2018 Deloitte Touche Tohmatsu พบว่า ธุรกิจค้าปลีกของโลกในปี 2016 มีรายได้รวม 19.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าในปี 2018 น่าจะมีรายได้ถึง 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัวเฉลี่ย 3.8% คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 31% ของ GDP โลก และก่อให้เกิดการจ้างงานทั่วโลกเป็นพันล้านคน โดยธุรกิจค้าปลีกรูปแบบ Hypermart และ Supermarket ยังครองสัดส่วนถึง 35% ของค้าปลีกโดยรวม โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในฝั่งทวีปอเมริกาและยุโรป และประเทศจีนเป็นผู้นำในฝั่งเอเชียแปซิฟิก ส่วนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์โดยรวมขยายตัวเฉลี่ย 23% ในช่วงปี 2012-2019 คาดว่า ในปี 2019 ค้าปลีกออนไลน์ น่าจะมีสัดส่วนถึง 12% ค้าปลีกโดยรวม

จากตารางข้างล่าง จะเห็นว่า Walmart ยังคงแข็งแกร่งครองอันดับหนึ่งมาตลอดกว่า 20 ปี แต่เมื่อพิจารณาอันดับเปรียบเทียบปี 2001 กับปี 2016 จะพบว่า มีห้างค้าปลีกเพียง 4 ห้างที่ติดอันดับ Top 10 ในปี 2001 ยังคงรักษาสถานะ Top 10 ในปี 2016 ไว้ได้ Amazon ซึ่งเป็นค้าปลีกออนไลน์เจ้าเดียวที่ทะยานจากอันดับที่ 157 ในปี 2001 มาติดอยู่อันดับ 6 ในปี 2016 ขณะเดียวกัน ค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรงอย่าง Hard Discount และ Drug Store (Health+Beauty+Grocery) ก็ติดอันดับเข้ามาถึง 4 ห้างด้วยกัน และที่น่าสังเกต มีห้างจากประเทศญี่ปุ่นติดอันดับ Top 20 ด้วยถึง 2 ห้าง คือ ห้าง Aoen อันดับที่ 12 และห้าง Seven & I อันดับที่ 20

จากข้อมูลของ Global Power of Retailing 2018 โดย Deloitte Touche Tohmatsu คาดว่าในปี 2018 ธุรกิจค้าปลีกของอาเซียน 10 ประเทศ น่าจะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมีรายได้ประมาณ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (Economist Intelligence Unit, Figures for 2014 onwards are forecasts. Prior years are actuals or estimates.) โดยมูลค่าการบริโภคค้าปลีกของไทย น่าจะอยู่ที่ 1000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากพิจารณาตัวเลขอัตราการขยายตัวในช่วงปี 2011 ถึง 2018 พบว่า อุตสาหกรรมค้าปลีก ประเทศเวียดนามมีอัตราการขยายตัวสูงสุดถึง 12.7% อินโดนีเซีย 9.4% มาเลเซีย 9.2% และฟิลิปปินส์ 8.2% ส่วนประเทศที่อุตสาหกรรมค้าปลีกมีอัตราการขยายตัวต่ำที่สุด คือไทยขยายตัวเฉลี่ย 3.9%

ทำไมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยโตแค่ 3.9%

นายวรวุฒิกล่าวว่า ทศวรรษนี้ เมื่อพูดถึงการเดินทางและการท่องเที่ยว ปัจจัยการตัดสินใจพิจารณาเลือกสถานที่เดินทางได้เปลี่ยนไปจากเดิมไปมาก ช็อปปิ้ง (Shopping) กำลังเป็นกระแสหลักของการท่องเที่ยวและเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยมากขึ้นเรื่อยๆ จากการศึกษาของสมาคมค้าปลีก พบว่า การท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ (Shopping Tourism) มีผลทำให้การใช้เวลาของนักท่องเที่ยวยาวนานขึ้น และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ (Leisure Tourists) ประมาณ 3-4 เท่า ทุกประเทศในอาเซียนต่างก็พยายามกระตุ้นการค้าปลีกภายในประเทศ ด้วยนโยบายการท่องเที่ยวเชิงการบริโภค เช่น มาเลเซีย ประกาศนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้คอนเซปต์ “Truly Asia”, อินโดนีเซีย “Wonderful Indonesia”, ฟิลิปปินส์ “It’s more fun the Philippines” และ เวียดนาม “Vietnam Timeless Charm” ส่งผลให้การเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศเหล่านี้ขยายตัว 8-12% ขณะที่ประเทศไทยใช้คอนเซปต์ “Amazing Thailand” เติบโตเพียง 3.8%

หากภาครัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้มีอัตราการเติบโตแบบยั่งยืน ควรมีมาตรการสนับสนุนการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยการดึงดูดนักช็อปจากทั่วโลกมาเที่ยวประเทศไทย โดยกำหนดยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอย เพราะหากมองในด้านศักยภาพของความพร้อมของประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน

ประเทศไทยมีแต่ฤดูการท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีฤดูกาลช็อปปิ้ง จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยใช้จ่ายเงินวันละ 4,000 กว่าบาทต่อคน และใน 4,000 บาท ประกอบด้วยค่าโรงแรม ค่าอาหาร เป็นส่วนใหญ่ ในจำนวนนี้มีค่าช็อปปิ้ง 1,200-1,500 บาทเท่านั้น หากเราสามารถโอกาสเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกจับจ่ายใช้สอยมากกว่าที่ควรจะเป็น อย่าคิดว่านักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยเพื่อมาดูวัฒนธรรม หรือปูชนียสถาน หรือดูอะไรก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้มาดูครั้งเดียวก็เลิก แล้วไปดูที่ประเทศอื่นๆ ต่อ แต่สิ่งที่จะจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาประเทศไทยมาซ้ำคือการช็อปปิ้ง หากนักท่องเที่ยวมีเวลาน้อยก็ช็อปปิ้ง

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม ความฝันของรัฐบาลที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น “สวรรค์แห่งการช็อปปิ้ง” (Thailand Shopping Paradise) ขณะนี้ยังห่างไกลจากความเป็นจริง แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นมหาศาล และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับประเทศ แต่สิ่งที่เห็นคือการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกเฉลี่ยต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน ดังนั้น สมาคมค้าปลีกไทยขอนำเสนอมาตรการผลักดันไทย มุ่งสู่ความเป็น Shopping Paradise 3 แนวทาง ดังนี้

1. คืน VAT นักท่องเที่ยว ณ จุดขาย (Downtown Vat Refund For Tourist)

ทุกวันนี้ เราก็มีร้านค้าในลักษณะ VAT Free แต่ไม่เต็มรูปแบบ ร้านค้าในไทยถูกกำหนดให้เป็นร้านค้า VAT Refund for Tourist ซึ่งผู้บริโภคจะต้องนำเอกสารไปขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จุดให้บริการที่สนามบิน เมื่อได้รับคืนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้ใช้จ่ายในสนามบินมากนัก เพราะมีเวลาช็อปปิ้งเหลือน้อย แต่ถ้าเราต้องการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเพิ่มการใช้จ่ายเงิน ก็สามารถทำได้ โดยกำหนดให้ร้านค้าที่เข้าร่วมรายการ VAT Free Shop ขายสินค้าในราคาไม่รวม VAT หรือถ้าขายในราคารวม VAT นักท่องเที่ยวก็สามารถขอคืน VAT ได้ในวันที่ซื้อ ณ จุดขายทันที ทั้งนี้จะได้ไม่ต้องเป็นภาระเจ้าหน้าที่สรรพากรไปเปิดเคาน์เตอร์รอนักท่องเที่ยวไปขอคืนที่สนามบิน โดยภาครัฐก็ต้องส่งเสริมให้มีดำเนินการทำธุรกิจร้านค้าปลอดอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม (Duty &Tax Free Shop) ในเมืองได้อย่างเสรี โดยเฉพาะจังหวัดที่มีศักยภาพการท่องเที่ยว

หากภาครัฐสามารถเพิ่มมาตรการส่งเสริมให้มีเปิดร้านค้าปลอดอากร และภาษีมูลค่าเพิ่มในเมือง (Duty & Tax Free Down Town Shop) เพิ่มขึ้น และมีร้านค้าปลอดภาษี (VAT Free Shop) ระบบที่ร้านค้าสามารถคืนเงินภาษีให้กับนักท่องเที่ยวได้ทันที ณ จุดขาย โดยเปิดให้บริการอย่างทั่วถึง ก็จะเป็นแรงจูงใจนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวและช็อปปิ้งในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ไม่แพ้ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ ซึ่งจะส่งผลทำให้หลายภาคธุรกิจ ทั้งกลุ่มค้าปลีก กลุ่มธุรกิจบริการ โรงแรม สปา ขนส่งมวลชน ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

2. เพิ่ม “ดิวตี้ฟรีในเมือง” ปราศจากข้อจำกัดเรื่อง Pick-up counter

นายวรวุฒิกล่าวว่า Shopping Tourism เป็นนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงช็อปปิ้ง กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ทั้งในยุโรปและเอเชีย (ฮ่องกง สิงคโปร์) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันต่างก็ใช้นโยบายดังกล่าว เช่น มาเลเซีย ประเทศอุตสาหกรรมที่มีวินัยทางการเงินและการคลังที่เข้มแข็ง ได้นำ Shopping Tourism มาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ (จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศ) และได้สร้างความมั่งคั่งให้กับธุรกิจน้อยใหญ่ของประเทศ ด้วยการออกมาตรการต่างๆ เช่น กำหนดเขตปลอดภาษี และลดภาษีสินค้า Luxury ลงมาเหลือ 5-10% เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ผลักดันให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโตเฉลี่ยถึง 9.2%

ส่วนจีนได้ใช้นโยบาย Shopping Tourism มาหลายปี ดังจะเห็นได้จากการเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่เกาะไหหลำ บนเนื้อที่กว่า 100,000 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าเป็นร้านค้าปลอดอากรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักช็อปจากในประเทศและทั่วโลกให้บินมาที่เกาะแห่งนี้

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 สำนักงานการท่องเที่ยวของจีนได้ประกาศภารกิจหลักที่ต้องทำให้สำเร็จในปีนี้ คือ การเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในจีน นอกจากนี้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก็มีแผนที่จะเปิดร้านค้าปลอดอากรในเมืองบนเนื้อที่ 37,000 ตารางเมตร และตั้งเป้าหมายเป็น “ศูนย์กลางการค้าใหม่ในอาเซียน” จะเห็นได้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียต่างเห็นศักยภาพ และโอกาสของการนำ Shopping Tourism มาใช้เป็นแกนหลักในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และไม่เฉพาะอุตสาหกรรมค้าปลีกเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์โดยตรง อุตสาหกรรมข้างเคียง และอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยคนใหม่

“แต่ความฝันในการผลักดันไทยให้เป็น Shopping Paradise ดูเหมือนยังห่างไกลจากความจริง เพราะยังขาดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบิน ซึ่งถือเป็นช่องทางหนึ่งในกระบวนการส่งมอบสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง ตามประกาศกรมศุลกากรฉบับที่ 20/2549 กำหนดให้มีจุดส่งมอบสินค้าอยู่ในสนามบินนานาชาติ ดังนั้น เพื่อเปิดเสรีให้กับร้านค้าปลอดอากรในเมืองอย่างแท้จริง ทอท. ต้องมี “จุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ” ที่ดำเนินการเอง หรือให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้รับสัมปทานร้านค้าปลอดอากรเป็นผู้ดำเนินการ หากให้ผู้รับสัมปทานฯ เป็นผู้ดำเนินการจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะก็จะไม่เป็นธรรม เพราะผู้ดำเนินการจะทราบข้อมูลทางการค้าของผู้ประกอบการรายอื่น” นายวรวุฒิกล่าว

 

  • กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนที่ 1): รายได้ค่าธรรมเนียมสัมปทานดิวตี้ฟรีโลกเฉลี่ย 30% แต่ AOT ไทยได้เฉลี่ย 17%

 

 

  • กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนที่ 2): ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิคะแนนต่ำกว่าสนามบินชั้นนำในภูมิภาคเกือบทุกเกณฑ์

 

 

  • กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนจบ): เปรียบเทียบ “โครงสร้าง-ผลตอบแทน” สัมปทานดิวตี้ฟรีโลกกับของไทย

 

 

  • เสวนาสัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (ตอนที่1) : ต้องเปิดกว้าง-โปร่งใส ยิ่งสะท้อนราคาตลาด จี้ AOT ปลดล็อก “วิธีการประมูล Pick-up Counter”

 

 

  • เสวนาสัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (ตอน 2): ธุรกิจดิวตี้ฟรีไทยตกขอบมาตรฐานโลก – โกลด์แมนแซคชี้รายได้สัมปทานไทยต่ำสุดในภูมิภาค

 

 

  • เสวนาสัมปทานดิวตี้ฟรี ก้าวสู่สากล (ตอนจบ): Best Practice กรณี “Vinci” มืออาชีพบริหารสนามบินทั่วโลก

 

3. ประมูลสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบินโปร่งใส-เป็นธรรม

ประธานสมาคมค้าปลีกไทย กล่าวว่า ผลจากการจัดสัมมนาร่วมกับคณะนิติศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อศึกษาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการให้สัมปทานธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561 ได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยมีโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ให้ “อุตสาหกรรมค้าปลีกท่องเที่ยว” คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 270,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี จะช่วยส่งเสริมยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกท่องเที่ยวของไทยสู่มาตรฐานใหม่ และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมระดับโลก จำเป็นต้องมีการแก้ไขการให้สัมปทานสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอื่นๆ ในอนาคต หลักๆ 4 ข้อ ดังนี้

1. ความโปร่งใสและความเป็นธรรมของกระบวนการให้สัมปทานดิวตี้ฟรี

    • ซึ่งปัจจุบันไม่มีกระบวนการที่แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส ทางสมาคมค้าปลีกไทยจึงมี

ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล ให้มีคณะกรรมการจากภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่มีส่วนได้เสียเป็นผู้ให้คำแนะนำ หรือ เป็นผู้สังเกตการณ์กระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข TOR และการคัดเลือกผู้ได้รับสัมปทานฯ

    • โดยมีการอ้างอิงกับแนวทางปฏิบัติสากลที่ดีที่สุดของโลก (Best Practice) ทั้งนี้ คณะกรรมการควรมาจากภาคส่วนต่างๆ เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และตัวแทนจากภาคเอกชน เป็นต้น

2. รูปแบบสัมปทาน ปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ใช้รูปแบบสัมปทานฯ รายเดียว (Master Concession) ซึ่งเป็นการผูกขาด และไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งผลให้ความหลากหลายของสินค้าและคุณภาพของบริการมีจำกัด สมาคมค้าปลีกไทยจึงมีข้อเสนอแนะให้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานรายเดียว (Master Concession) มาใช้ระบบสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category)

3. ระยะเวลาสัมปทาน ปัจจุบันระยะเวลาการให้สัมปทานฯ นานถึง 10 ปี และยังขยายระยะเวลาได้อีกโดยไม่มีการเปิดประมูล จึงมีข้อเสนอแนะว่า ให้มีการกำหนดระยะเวลาสัมปทานฯ ให้ใกล้เคียงกับแนวทางปฏิบัติสากลที่ประเทศชั้นนำต่างๆ ใช้อยู่คือระยะเวลาสัมปทานฯ ระหว่าง 5-7 ปี และไม่มีการต่ออายุสัมปทาน ซึ่งการปรับลดระยะเวลาสัมปทานลงจะช่วยป้องกันการผูกขาดในระยะยาวจากผู้ดำเนินกิจการเพียงรายเดียว รวมถึงกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ๆ ควบคู่ไปกับความแปลกใหม่ในการมอบสินค้าและประสบการณ์ให้ลูกค้า

4. ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมสัมปทานดิวตี้ฟรี ปัจจุบัน ทอท. เก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากสัมปทานดิวตี้ฟรีประมาณ 17-19% ขณะที่ท่าอากาศยานทั่วโลก จัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอนแทนจากสัมปทานฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 25-47% ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานทั่วโลก ทอท. ควรปรับขึ้นค่าผลประโยชน์ตอนแทนจากสัมปทาน ซึ่งจะทำให้ ทอท. มีรายได้เพิ่มขึ้น

ย้ำผลประโยชน์ชาติต้องมาก่อน ไม่ควรประนีประนอม

ส่วนกรณีที่นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหานช) ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องสัมปทานที่สนามบินสุวรรณภูมิ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR โดยจะผนวกรวมพื้นที่เทอร์มินอล 1 ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในปี 2563 , พื้นที่เทอร์มินอล 2 ที่คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ช่วงปลายปี 2563 และสถานีแซทเทอร์ไลท์ โดยจะนำพื้นที่ดังกล่าวมาเปิดประมูลให้ผู้รับสัมปทานรายเดียวแบบเดิม หรือ Master Concession เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการบริหารจัดการของ ทอท. นั้น นายวรวุฒิกล่าวว่า “ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ทอท. ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ชาติเป็นอันดับแรก การบริหารจัดการไม่ควรมาเป็นข้ออ้างหรือเงื่อนไขการประนีประนอมผลประโยชน์ของชาติ การบริหารจัดการเป็นเรื่องฝีมือ หรือหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศชาติสูงสุด”

ด้านนางสาวชนาลัย ฉายากุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เปิดเผยถึงรูปแบบการให้สัมปทานดิวตีฟรี้ที่กำลังจะสิ้นสุดปี 2563 ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบ บอร์ด ทอท.จะเลือกรูปแบบสัมปทานรายเดียว หรือ สัมปทานแยกตามหมวดหมู่สินค้า ซึ่งตนรับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ไม่ได้ดูแลสายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด ตามขั้นตอนนั้น บริษัทที่ปรึกษาของทอท.ต้องสรุปผลการศึกษาส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ก่อนที่เสนอให้ที่ประชุมบอร์ด ทอท.พิจารณา แต่ตอนนี้ยังไม่มีบรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุมบอร์ดทอท.เลย หากเรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของบอร์ดเมื่อไหร่ ทอท. จะแถลงให้สื่อมวลชนทราบ ส่วนการจัดทำร่าง TOR ประมูลดิวตี้ฟรี คงต้องรอผลการประมูลงานเทอร์มินอล 2 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการกำหนด TOR ด้วย ซึ่งเป็นไปตามที่นายนิตินัยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้