ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่”ยัน ก.ย.นี้ รู้อนาคตการเมือง ย้ำ “ไม่เคยลืม พูดอะไร”- มติ ครม. ตั้งศูนย์ one-stop service รับคำขอใบอนุญาต

“บิ๊กตู่”ยัน ก.ย.นี้ รู้อนาคตการเมือง ย้ำ “ไม่เคยลืม พูดอะไร”- มติ ครม. ตั้งศูนย์ one-stop service รับคำขอใบอนุญาต

14 สิงหาคม 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดยก่อนตอบคำถามสื่อมวลชน พล.อ. ประยุทธ์ เปิดดูคำถามพร้อมระบุว่า คำถามวันนี้เป็นคำถามการเมืองเสียส่วนใหญ่ ก็อย่างว่านักข่าวการเมือง แต่การถามก็ขอให้ไม่มีปัญหาก็แล้วกัน เรื่องดีๆ เกิดขึ้นมากมายในบ้านเมือง เอาเรื่องดีๆ ออกมาเยอะๆ บ้านเมืองจะมีความสุขขึ้น คนจะไม่มากังวล การลงทุนต่างๆ จะดีขึ้น หากทุกคนยังใส่ร้ายป้ายสีไปเรื่อยๆ มันก็คือปัญหา แล้วปัญหาเหล่านี้สร้างสรรค์ไหม

“ทุกเรื่องนายกฯ รับไว้หมด แล้วนายกฯ ก็สั่งติดตามทุกเรื่อง ทุกกระทรวง ฉะนั้น การจะเขียนอะไรออกมาขอให้ระมัดระวัง กฎหมายก็มีอยู่ นี่ไม่ได้ขู่ แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาดำเนินคดีตามกฎหมายขึ้นมาแล้วอย่ามาร้องเรียนว่ามาปิดปาก มันไม่ใช่ หากเขียนอะไรกันมาขอว่าอย่าเขียนให้ส่อไปถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เขาก็ต้องมีสิทธิในการคุ้มครองตนเองเหมือนกัน การหมิ่นประมาท ละเมิดสิทธิคนอื่น ก็มีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ทุกคนมีกฎหมายคุ้มครองตนเอง นี่คือ กฎหมายใช้กับคนทุกคน” นายรัฐมนตรีกล่าว

ย้ำไม่ “สืบทอดอำนาจ” – วอนสื่ออย่าขุดคุ้ย “คดีเสือดำ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้งว่า วันนี้ก็มีการทำหลายอย่างด้วยกัน จะเห็นได้ว่ามีกฎหมายต่างๆ ออกมามากมาย ในรัฐธรรมนูญ ในบทเฉพาะกาล และคำสั่งตามมาตรา 44 ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

“ฉะนั้นพวกเราทุกคนต้องช่วยกัน ว่าความมุ่งหมายนั้นมีเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อสืบทอดอำนาจ แต่ไม่ให้เรื่องเดิมๆ เกิดขึ้นอีก”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับวันนี้นักการเมืองหน้าใหม่จะต้องคอยดูต่อไปว่า แต่ละพรรคจะส่งใครมาลงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องไปพิจารณากันเอง ตนคิดว่าหลายพรรคการเมืองจะต้องมีคนใหม่มาด้วย ผสมกับคนเก่า เพราะยังมีประชาชนที่ยังนิยมชมชอบนักการเมืองเดิมๆ ของตนเองอยู่

“เป็นปัญหาที่จะต้องสร้างความเข้าใจว่า การที่จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลจะต้องเป็นอย่างไร ฉะนั้นใครก็ตามที่เข้าสู่การเมืองในระยะหน้าก็ต้องปรับปรุงตัวเอง ซึ่งใครที่ไม่ติดข้อห้ามทางกฎหมายใดๆ รัฐบาลก็ไม่สามารถห้ามได้หากเขาจะไปลงสมัครรับเลือกตั้งในท้องที่ใด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนจะเป็นผู้เลือก ส่วนรัฐบาลขอไปดูแลในเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใสของการเลือกตั้งดีกว่า” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวต่อไปว่า การนำเสนอข่าวของสื่อทุกเรื่องขออย่าไปทำให้สังคมสับสน เรื่องคดีเสือดำก็อยู่ในกระบวนการไม่ใช่หรือ หากคนธรรมดาไปโดนคดีเสือดำขึ้นมาก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน หรือไม่เป็นไร รวยน้อยกว่าเลยไม่ต้องไปจี้เขา ก็วันนี้เข้าไป 6-7 คดี ซึ่งก็เป็นสิทธิได้รับความคุ้มครองทางศาลของเขา เมื่อคดีฟ้องไปแล้วก็ไปรอดูว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไร ซึ่งการดำเนินการของคนทั่วไปก็เช่นนี้ หากเป็นคนจนก็มีกองทุนยุติธรรมให้สู้คดีได้ ไม่ว่าจะรวยหรือจนก็กฎหมายเดียวกัน อย่าไปขุดคุ้ยให้วุ่นวายกันไปหมด แล้วความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมก็เสียหาย

“ลองไปดูว่าวันนี้สถานการณ์สงบขึ้นมาด้วยอะไร เมื่อมีการทุจริตประพฤติมิชอบก็ถูกลงโทษ นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลทำมาแล้ว หากมีหลักฐานใหม่ก็ไปดำเนินคดีต่อ ไปเสนอข่าวแบบนี้สิ แล้วท่านมาบอกว่าผมไม่ปฏิรูป นี่แหละคือการปฏิรูปการเมืองส่วนหนึ่ง ทำให้บ้านเมืองสงบสุข ประชาชนอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย เข้าใจวิธีการ กระบวนการทำงานของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นก็พูดกันไปเรื่อยเปื่อยแล้วสังคมก็ตื่นตระหนก แล้วเลือกตั้งจะไปได้อย่างไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โยน กกต.จับตา “คนไกล” เคลื่อนไหวการเมือง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความเคลื่อนไหวปลุกระดมนักการเมืองในต่างประเทศของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า ท่านก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ในขณะนี้กำลังมีการตรวจสอบอยู่ว่าผิดกฎหมายข้อใดหรือไม่ ซึ่งตนเคยเตือนไปแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะต้องพิจารณาต่อไป

“ต้องไปดูกฎหมายกันอีกครั้ง ไม่ใช่ว่าถึงเวลาบังคับใช้กฎหมายขึ้นมากลายเป็นว่าไม่เป็นธรรมอีก ก็มีปัญหาเช่นนี้มาตลอด ข้อสำคัญคือเขาอยู่ต่างประเทศ แต่ละประเทศก็มีกฎหมายของเขาไม่ใช่การง่ายที่จะดำเนินการ แต่รัฐบาลก็พยายามทำทุกอย่างให้ครบถ้วน อย่างคราวที่แล้วก็มีการทำไปแล้ว ดำเนินการไปแล้ว ก็กลายเป็นว่ารัฐบาลไปไล่ล่า ซึ่งถ้าทุกคนสงบเงียบเรียบร้อยก็ไม่มีปัญหาว่าจะต้องไปทำอะไรกันต่อ เพราะก็มีคดีความกันอยู่แล้วทั้งสิ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ผ่อนปรน นักการเมืองเดินสายหาเสียง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงกรณีกรณีการเดินสายของกลุ่มสามมิตร พบปะประชาชน รับข้อเสนอและปัญหาตามพื้นที่ต่างๆ และรับปาก โดยอ้างว่าจะประสานผู้ใหญ่ฝ่ายบริหารให้หาทางแก้ไข ว่าการเดินสายของกลุ่มสามมิตร สี่มิตร หรือห้ามิตร ตนนั้นนั้นไม่รู้ เขาอยู่กลุ่มใด พรรคใดตนก็ยังไม่ทราบ ซึ่งพรรคอื่นก็มีการเดินสายอยู่ หากตนพูดอะไรไปจะกลายเป็นว่าตนให้กลุ่มนี้พูดแต่ไปปิดโอกาสกลุ่มอื่น พรรคอนาคตใหม่ก็มีการพูดอยู่ มีการลงไปเดินสายเยี่ยมประชาชน

“เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐบาลไปปิดกั้น ซึ่งรัฐบาลก็พยายามผ่อนปรน อะไรที่สามารถให้เขามีทางออกบ้างก็ปล่อยให้เขาพูดไป เพราะวันนี้ผมก็ไม่รู้ว่าที่ออกมาพูดนั้นอยู่พรรคไหน บางพรรคที่มีชื่อพรรคอยู่แล้วยังออกไปพูดได้เลย ฉะนั้นเรื่องนี้อย่ากังวล คสช. ดูอยู่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เกินเลยเขาก็ต้องดำเนินการอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร หลายพรรคจะถูกมัดมือชก ตนเห็นว่าทุกพรรคก็พูดกันหมด ในสื่อโซเชียลมีเดียก็พูดกันทุกวัน ด่ากันไปมา ก็ไม่พ้นเรื่องเดิมๆ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันไม่เคยห้ามใครเรียน วปอ. แค่ขอลดจำนวน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีรายชื่อผู้เข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 61 ที่มีชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อยู่ด้วย ทั้งที่ก่อนหน้านี้นายกฯ เคยบอกว่าไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาเรียน วปอ. เพราะไม่ต้องการให้มาสร้างคอนเนคชั่น ว่า เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยผ่านทางกระทรวงกลาโหมขึ้นมา

“ผมไม่ได้บอกว่าจะให้เรียนหรือไม่ให้เรียนอย่างไร แต่หมายความว่าให้ลดจำนวนลง เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภาต่างๆ ที่พิจารณาขึ้นมา ผมไม่มีส่วนลงไปเกี่ยวข้องตรงนี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้ปลดล็อกการเมือง รอ 90 วัน ยันไม่เลื่อนเลือกตั้ง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความเป็นไปได้หรือไม่ในการออกมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกให้ กกต. ชุดปัจจุบันสามารถแบ่งเขตเลือกตั้งในช่วงนี้ได้ ว่า  ต้องรอ เพราะเป็นระยะเวลา 90 วันที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลได้ทูลเกล้าฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ร.ป. ส.ส.-ส.ว.) ไปหมดแล้ว เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาเมื่อไรก็ตามก็จะเป็นการพิจารณาคลายล็อกบางเรื่อง และเรื่องอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ตามที่เคยกล่าวไว้แล้ว ขออย่ากังวล

“เรื่องที่ใครบอกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.ป. ส.ส.-ส.ว. เมื่อร่างดังกล่าวยังไม่ออกมาแล้วแล้วจะไปอะไรกัน ก็เสนอขึ้นไป เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็ต้องหาวิธีการว่าจะทำอย่างไรให้สามารถทำงานได้ ทั้ง กกต. เก่า และ กกต. ใหม่ อะไรที่จะร่วมมือกันได้ เช่น การเลือกตั้งคณะกรรมการ กกต. จังหวัดก็ให้ กกต. ใหม่มีส่วนร่วมในการพิจารณาไปอีกชั้นหนึ่งด้วย แค่นั้นเองว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ก็ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกทั้งหมด หรือแก้ไข พ.ร.ป. ส.ส.-ส.ว. เพื่อจะดึงการเลือกตั้งให้เลื่อนออกไป ผมไม่เคยอยากจะเลื่อนสักอย่างเลย แต่ที่ผ่านมาเป็นเรื่องของกฎหมาย ท่านเข้าใจคำว่ากฎหมายไหม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในการประชุม คสช. ไม่มีการพูดคุยเรื่องการเลือกตั้ง เพราะต้องรอกฎหายลูกออกมาก่อน ขอให้รอดู เดี๋ยวเขาก็ประกาศ พร้อมปฏิเสธว่าไม่มีการพิจารณาเรื่อง กกต. แต่อย่างใด เรื่องนี้ต้องรอโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน ขออย่าถามอีกว่าจะแก้ไข กกต. หรือยกเลิกอะไร เหล่านี้เป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง เมื่อโปรดเกล้าฯ มาแล้ว กกต. ใหม่จะได้ทำงานอย่างเต็มที่ ให้เขาทำงานตามหน้าที่ของเขาให้ได้เท่านั้นเอง

ซึ่งการประชุม คสช. วันนี้เป็นการหารือในหลายๆ เรื่องด้วยกัน ทั้งเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัย และดูในเรื่องการทำงาน เพราะในช่วงนี้จะต้องกำกับดูแลให้ทุกส่วนราชการทำงานภายใต้กรอบของ คสช. ด้วย ก็คือ ทุกคนต้องโปร่งใส ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น การใช้มาตรา 44 ก็ใช้ในเรื่องเหล่านี้เป็นการพิจารณาว่าจะทำงานกันอย่างไรในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดี การแต่งตั้งควรจะเป็นอย่างไร ใครตั้งมาแล้วทำงานได้ผลหรือไม่ได้ผล ไม่ได้หมายความว่าถึงเรื่องทุจริตอย่างเดียว แต่เป็นทุกเรื่อง เพราะรัฐบาลต้องการให้ทุกอย่างมีการปฏิรูป

“ตั้งคนขึ้นมาก็ต้องทำตามนโยบายให้ได้ คำว่านโยบายก็คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่มีอย่างอื่น ไม่มีสืบทอดอำนาจ หรือเพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้ต่อไป มันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก อย่าไปคิดแบบนั้น เพราะคนเลือกตั้งคือประชาชน ไม่ใช่ คสช. ลงไปเลือกตั้งด้วยจะได้บังคับคนได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยัน ก.ย.นี้ รู้อนาคตการเมือง ย้ำ “ไม่เคยลืมพูดอะไร”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่ตนเคยพูดไว้ว่าเดือนกันยายนนี้จะประกาศท่าทีทางการเมืองที่ชัดเจน ว่า “นี่ถึงกันยาฯ หรือยัง ถ้ายังไม่ถึงก็ยังไม่ต้องถามตอนนี้ เดี๋ยวถึงก็รู้เอง ผมไม่เคยลืมพูดอะไร วันนี้ก็มีหลายคนหลายกลุ่มออกไปพูดว่า แล้วจะมาบอกรัฐบาลให้ทำนู่นทำนี่ รัฐบาลไหนยังไม่รู้เลย อยู่พรรคไหนยังไม่รู้เลย พรรคก็ยังไม่ได้ตั้งขึ้นมาชัดเจน เขาจะอยู่พรรคไหนก็ยังไม่ทราบ”

เมื่อถามว่า วางกรอบและทิศทางไว้หรือยัง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนบอกแล้ว ว่ายังไม่รู้ว่าจะอยู่ หรือไม่อยู่ จะอยู่อย่างไรก็ไปดูกฎหมาย ไปดูรัฐธรรมนูญ การที่จะอยู่หรือไม่อยู่ต้องดูว่าจะอยู่เพื่ออะไร จำเป็นหรือไม่ แล้วจะไปอยู่พรรคไหนก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งเมื่อไปอยู่พรรคไหนประชาชนไม่เลือก แล้วจะมาได้อย่างไร ตอนนี้ยังไม่รู้พรรคไหน จะเอาคำตอบให้ได้หรือ

เมื่อถามว่า ตอนนี้ประชาชนอยากรู้ท่าทีของ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า  “ประชาชนเขาชอบผมหรือไง” 

เมื่อแจ้งว่า เวลานายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ได้รับเสียงเชียร์จากประชาชน พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า เดี๋ยวก็นำไปพาดหัวข่าว “ฟุ้ง” “โอ่” “ปลื้ม” ไปทุกครั้งนั้นเวลาชาวบ้านดีใจนั่นเป็นเสียงสะท้อน ว่าทำไมเขาต้องคาดหวังที่ตน ไม่คาดหวังคนอื่น ทำไม ไปถามประชาชน

“แต่การตัดสินใจผมก็มีหลักเกณฑ์ สื่อไม่ต้องมาถามวันนี้ กันยายนเดี๋ยวผมพูดเอง ทุกอย่างจะต้องปลดล็อกอะไรต่างๆ อยู่แล้วไม่ใช่หรือ จะวันไหนก็ไม่รู้แต่ในกันยายนนี่แหละ เอาเรื่องอื่นก่อน เรื่องแก้ปัญหาบ้านเมืองก่อน เรื่องการเมืองตอบแค่นี้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มอบ รมช.ศึกษาฯ แก้ปมเครื่องแต่งกาย นร.มุสลิม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนักเรียนมุสลิมบางส่วนของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีขอแต่งกายตามหลักศาสนา ซึ่งไม่ตรงกับระเบียบการแต่งกายของโรงเรียน จนกลายเป็นปมขัดแย้ง ทำให้ผู้ปกครองนักเรียนที่เป็นชาวพุทธบางส่วนให้บุตรหลานแต่งชุดอยู่บ้านมาโรงเรียนว่า ตนนั้นได้ให้ทางรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ไปประชุมชี้แจงอีกครั้งหนึ่ง ว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรต้องมาถึงรัฐบาล

ต่อคำถามที่ว่ารัฐบาลจะทำความเข้าใจอย่างไรนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า รัฐบาลก็บอกแล้วว่า อะไรก็ตามที่เป็นระเบียบต่างคนต่างปฏิบัติไปก็จบแล้ว หากจะนำไปสู่ความขัดแย้งก็ขัดแย้งกันไม่จบไม่สิ้น

“สำหรับเรื่องการดูแลความปลอดภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งสำคัญที่หลายคนบอกว่าอยากให้ผ่อนคลายกฎหมาย แต่กฎหมายนั้นมีหลายระดับ หากสถานการณ์รุนแรง มีการใช้อาวุธ ก็ต้องมีการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หากแรงกว่านั้นก็ต้องไปใช้กฎหมายในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มันเป็นลำดับขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ใช่เอากฎหมายมาใช้กับทุกคน มันขึ้นอยู่กับผู้ก่อเหตุ หากไม่มีก็ยกเลิกได้ หากยังมีอยู่ก็ต้องมีมาตรการให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ ซึ่งเป็นการปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่เขาด้วย”

“ไม่นึกถึงหรือว่าเขาเหนื่อยแค่ไหน เขาเสี่ยงแค่ไหนทุกวัน นั่งรถล่อเป้า ดูแลครู พระ นักเรียน โรงเรียนต่างๆ ก็เห็นว่ายังมีระเบิด สงสารเขาบ้างให้กำลังใจเขาบ้าง รัฐบาลเองในฐานะที่ดูแลความมั่นคงเป็นพื้นฐานในทุกพื้นที่ ผมก็ให้กำลังใจพลเรือนและหมู่ทหารในทุกพื้นที่ ภาคใต้มีความเสี่ยงมากก็ต้องให้กำลังใจมากหน่อย ไม่ใช่เมื่อมีเรื่องราวเกิดขึ้น มีคดีเกิดขึ้นแล้วเหมาทั้งหมดแย่ไปหมดนั้นไม่ใช่ เพราะฉะนั้นกรุณาแยกแยะด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวไปถึงการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ในช่วงวันออกอีดิ้ลอัฎฮาว่า เป็นความสำคัญแต่ละศาสนาก็ให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เรื่องนี้เป็นกลไกการทำงานของรัฐโดยปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่จะดูแลเฉพาะวันนั้น วันอื่นก็ดูแลอยู่แล้วทุกวัน ทุกพื้นที่ ทุกสถานการณ์ มีการปรับมาตรการเข้มหรือเบาลงก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในพื้นที่ ไม่ใช่รัฐบาลอยู่ดีๆ จะไปประกาศให้วุ่นวาย ทุกคนรู้หน้าที่อยู่แล้ว อย่ากังวลเลย

มติ ครม. มีดังนี้

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

ตั้งศูนย์ one-stop service รับคำขอใบอนุญาต

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต พ.ศ. …. ซึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามพระราชบัญญัติ การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อสร้างความสะดวกในการติดต่อของประชาชน ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวจะขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี มีบุคลากร 25 คน โดยประกอบด้วยข้าราชการ จำนวน 5 อัตรา ได้แก่ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ รองผู้อำนวยการศูนย์ฯ ผู้อำนวยการภารกิจ และข้าราชการ จำนวน 2 อัตรา และใช้งบประมาณในเบื้องต้น 35 ล้านบาทต่อปี

สำหรับอำนาจหน้าที่ ศูนย์ฯ จะครอบคลุมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาต 76 ฉบับของ 44 หน่วยงานรัฐ รวมทั้งสิ้นเป็น 375 งานบริการภาครัฐและทำหน้าที่รับคำขออนุญาตแทนหน่วยงานของรัฐ จากเดิมที่ประชาชนต้องเดินทางไปที่ละแห่งจนกว่าจะครบและประกอบธุรกิจได้ กฎหมายนี้จึงช่วยให้เกิดการบูรณาการการทำงานของภาครัฐ ประสานส่งต่ออย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ในระยะต่อไปจะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการบริหารจัดการการอำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการผ่านออนไลน์ด้วย ซึ่งจะยิ่งลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน

ทั้งนี้ ศูนย์รับคำขออนุญาตเบื้องต้นในขณะนี้ ได้เปิดให้บริการแล้สจำนวน 2 ธุรกิจ ได้แก่ การประกอบธุรกิจร้านอาหารและการประกอบธุรกิจค้าปลีก รวมทั้งสิ้น 17 ใบอนุญาตให้บริการผ่านทั้งระบบออนไลน์และที่ศูนย์ที่สำนักงาน ก.พ. แล้ว ขณะที่ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2561 สำนักงาน ก.พ.ร. ตั้งเป้าขยายพื้นที่ให้บริการไปในภูมิภาคและคาดว่าในระยะแรกจะขอใช้พื้นที่ของศูนย์ดำรงธรรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนั้น ส่วนระยะยาวอาจตั้งสาขาประจำจังหวัด พร้อมทั้งขยายใบอนุญาตให้ครอบคลุมมากขึ้นเป็น 7 ธุรกิจ ได้แก่ รีสอร์ทขนาดเล็ก สปา ฟิตเนส ก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง ซ่อมและขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สถานพยาบาลสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก ร้านกาแฟ และ co-working space และในระยะต่อไปจะขยายให้ครอบคลุมทั้ง 25 กลุ่มธุรกิจบริการอื่นๆ อีก

ขยายนิยามโรงแรม รับมาตรภาษี หนุนท่องเที่ยวเมืองรอง

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ ดังต่อไปนี้

    1) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับท้องที่ในเขตจังหวัดอื่นซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

    2) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำหรับค่าที่พักดังต่อไปนี้

    2.1 ค่าที่พักโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

    2.2 ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย จากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

    2.3 ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551

    3) การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาข้างต้น ให้ได้รับยกเว้นตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะค่าบริการหรือค่าที่พักที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

“เดิมมาตรการดังกล่าวจะระบุว่าต้องเป็นเฉพาะโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม แต่ในครั้งนี้ก็ได้แก้ไขให้มีความครอบคลุมไปถึงโฮมสเตย์หรือสถานที่พักอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้เข้าข่ายการเป็นโรงแรมตามกฎหมาย แต่ได้ขึ้นทะเบียนอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ส่วนหลักการอื่นๆ ยังคงเหมือนเดิม และไม่มีการขยายเวลา มาตรการดังกล่าวก็จะสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2561 เหมือนเดิม ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการขยายมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้อีก 50 ล้านบาท แต่ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของจังหวัดรองต่างๆ ได้” นายณัฐพรสรุป

รฟม.แจงความคืบหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าทั่วกทม.

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. รับทราบผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปี 2560 ว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค บางซื่อ-ท่าพระ ดำเนินการไปแล้ว 87% เร็วกว่าแผน และเปิดให้บริการช่วงบางซื่อ-เตาปูนในปี 2560 แล้ว คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2563, รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จแล้ว และเปิดให้บริการช่วงแบริ่ง-สำโรงในปี 2560 แล้ว คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2563, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ดำเนินการไปแล้ว 30.5% และ 31.7% ตามลำดับ ซึ่งเร็วกว่าแผน โดยทั้ง 2 โครงการได้ลงนามสัญญาสัมปทานแล้วในปี 2560 คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2564, รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ดำเนินการแล้ว 49.5% เร็วกว่าแผน คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2566 และรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจณาภิเษก ดำเนินการไปแล้ว 14.76% กำลังอยู่ในช่วงจัดทำเอกสารประกวดราคา ซึ่งล่าช้ากว่าแผน

“ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคนใช้สายสีน้ำเงินและสีม่วงเพิ่มขึ้นจากปี 2559 8.1% และ 25.6% ตามลำดับ มีกำไรในปีที่ผ่านมา 4,596 ล้านบาท ขณะที่บัตรแมงมุมได้เปิดให้บริการวันที่ 23 มิถุนายน 2561 แล้ว 100,000 ใบ ซึ่งใช้ได้กับรถไฟฟ้าของ รฟม. ทุกสาย และในเดือนตุลาคมจะเปิดขายอีก 100,000 ใบ ซึ่งตอนนั้นจะสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟไฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์และรถเมล์ของ ขสมก. 2,600 คัน นอกจากนี้ มีการนำบัตรสวัสดิการมาขึ้นทะเบียนให้รถไฟฟ้าฟรีตั้งแต่ 6 กรกฎาคม 2561 และใช้งานได้แล้วในวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 และ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2561 มีคนลงทะเบียน 13,591 ราย และสุดท้ายความคืบหน้าของการเข้าร่วมของบัตรรถไฟฟ้าบีทีเอส ยังอยู่ในการเจรจา” นายณัฐพร กล่าว

รายงานผลหารือมาตรการป้องกันยาเสพติด ไทย-เมียนมา

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบตามที่ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รายงานกรอบการประชุมหารือเชิงนโยบายเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือ แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือในด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา ร่วมกับ พล.ท. จ่อส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเมียนมา โดยไทยได้หารือกับเมียนมาเพื่อหาข้อสรุปการดำเนินการต่อพื้นที่แหล่งผลิตยาเสพติดและสกัดกั้นสารตั้งต้นรวมถึงเคมีภัณฑ์ไม่ให้เข้าสู่แหล่งผลิตใหญ่ คือบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ประเทศได้เห็นชอบร่วมกันที่จะยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะตามแนวชายแดนไทยและเมียนมา จึงกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างไทยและเมียนมาอย่างเป็นรูปธรรม 8 ประการ ดังนี้

    1) เสริมสร้างแนวทางการวางจุดตรวจ และสกัดกั้นยาเสพติด ตามเส้นทางที่เป็นจุดเสี่ยงตามแนวชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา

    2) มีการลาดตระเวนแนวลำน้ำโขงทั้งฝั่งไทย และเมียนมา เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดจากยาเสพติด

    3) สกัดกั้นสารเคมีที่สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปผลิตเป็นยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ

    4) ดำเนินการสืบสวน และปราบปรามกลุ่มผลิต และค้ายาเสพติดในประเทศของตน และยกระดับการสืบสวนร่วมกัน

    5) ดำเนินการต่อพื้นที่หรือหมู่บ้านสำคัญที่มีความเคลื่อนไหวสูงด้านยาเสพติด รวมถึงคาดว่าจะเป็นพื้นที่แหล่งผลิต หรือแหล่งเก็บพักยาเสพติดในฝั่งประเทศของตน

    6) พัฒนาความร่วมมือด้านการข่าวและการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านยาเสพติด

    7) บำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้เสพยาเสพติด

    8) สนับสนุนมาตรการหมู่บ้านชายแดนไทยกับเมียนมา เพื่อจะแก้ปัญหาความยากจน

“พล.อ. ประยุทธ์ ได้ขอให้นำหลัก 8 ข้อนี้ไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะให้แจ้งกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติงานอยู่ตามชายแดน นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังได้สั่งการไปถึงการประชุมของรัฐมนตรีหรือหัวหน้าส่วนราชการในต่างประเทศว่าคณะทำงานที่ไปประชุมหากไปทำข้อตกลงหรือลงนามอะไร จะต้องพยายามบรรลุข้อตกลงต่างๆ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เพียงรับปากอย่างเดียว โดยจะต้องมีการรายงานความคืบหน้าว่าจากวันที่ไปประชุมจนถึงการประชุมครั้งต่อไปว่าได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง มีผลงานเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของไทยต่อประชาคมโลก โดยความสัมพันธ์กับประชาคมโลกในวันนี้ก็คือถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เห็นชอบขยายเวลาสร้างโฮมสเตย์เพิ่ม 2 ปี หนุนท่องเที่ยว

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื่องจากกฎกระทรวงกำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2559 โดยเป็นมาตรการชั่วคราวที่กำหนดให้อาคารที่มีอยู่แล้ว ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีลักษณะหรือมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารตามที่กฎหมายกำหนด สามารถขออนุญาตเปลี่ยนการใช้อาคารเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมได้ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าในกรณีที่จะต้องมีการดัดแปลงอาคารจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 18 สิงหาคม 2561

อย่างไรก็ตาม กำหนดระยะเวลาในการยื่นขออนุญาตดัดแปลงอาคารอื่น เพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมภายในระยะเวลา 2 ปี อันเป็นผลทำให้อาคารที่จะดัดแปลงเพื่อประกอบธุรกิจโรงแรมซึ่งมีจำนวนมากไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงเห็นควรให้ขยายเวลาออกไปอีก 2 ปี รวมเป็น 5 ปี และสิ้นสุดในปี 2564 พร้อมกับการขออนุญาตแทน นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบให้ผ่อนปรนข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุที่ต้องทนไฟสำหรับอาคารที่สูงน้อยกว่า 3 เป็นแทนสูงน้อยกว่า 4 ชั้น โดยจะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ให้ครบถ้วน เพื่อแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโรงแรมในภาพรวมของประเทศและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว

สั่งหน่วยงานรัฐจ้างงานคนพิการทำงาน 100% ใน ก.ย.นี้

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานผลการปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานของรัฐ ปี 2561 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวระบุว่าอัตราเจ้าหน้าที่ของราชการ 100 คนจะต้องจ้างคนพิการเข้าทำงาน 1 คน หรือ อัตรา 100:1 แต่หากไม่สามารถปฏิบัติได้ตามนี้ก็สามารถใช้วิธีอื่นได้ เช่น เปิดพื้นที่สัมปทานในหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้ผู้พิการขายของ หรือจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือคนพิการ

โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมรายงานตัวเลขว่า ในปี 2559 มีการจ้างคนพิการทำงานในหน่วยงานทั้งหมดของรัฐ ทั้งหน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชน จำนวน 2,801 คน คิดเป็น 18.11 เปอร์เซ็นต์ของคนที่อยู่ในระบบราชการทั้งหมด ปี 2560 อัตราการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้นเป็น 5,828 คน คิดเป็น 45.05 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2561 จนถึงเวลานี้พบว่ามีการจ้างงานคนพิการจำนวน 10,031 คน คิดเป็น 80.25% แสดงให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานคนพิการเข้าทำงานรวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายการจ้างงานคนพิการได้ดีขึ้น

“ด้วยเหตุนี้นายกรัฐมนตรี จึงขอให้มีการผลักดันตัวเลขการจ้างงานคนพิการให้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2561 ซึ่งขณะนี้พบว่ามีหลายกระทรวงที่สามารถทำได้สำเร็จแล้ว อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น”พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

นายกฯ ย้ำจัดขบวนรถนำ “บุคคลสำคัญ” อย่าทำ ปชช. เดือดร้อน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุม ครม. ถึงการจัดขบวนรถของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และบุคคลสำคัญใน คสช. ที่ต้องมีการจัดขบวนรถนำและรถตามเป็นคณะเวลามีภารกิจต้องไปประชุมนอกสถานที่ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานความมั่นคง

“นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในเรื่องนี้ว่าไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน จึงมีนโยบายว่าขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการด้วยความรัดกุม รอบคอบ อย่าให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องขอทาง เช่น ทางแยก หรือต้องใช้ทางร่วมกัน แล้วต้องปิดเส้นทางประมาณ 1 นาที เพื่อให้ขบวนรถผ่านไป ก็ขอให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะตัวผู้นำเองที่นั่งอยู่ในรถจะต้องคอยกำกับดูแลคนของตนเอง ในการขอทางให้ปฏิบัติด้วยคำพูด หรือภาษากายด้วยความสุภาพเรียบร้อย อย่าให้มีข้อรายงานมาโดยเด็ดขาดว่ามีการกระทำการใดๆ ที่ไม่เหมาะสม โดย ครม. รับทราบ และพร้อมจะนำไปปฏิบัติ” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ลั่น ส.ค. นี้ ปชช. เลิกใช้สำเนาทะเบียนบ้าน-บัตร ปชช. ติดต่อราชการ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อสังการในที่ประชุม ครม. เรื่องการให้บริการกับประชาชนของหน่วยงานของรัฐ โดยประชาชนไม่ต้องนำสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนมาใช้ในการยื่นเอกสารเมื่อใช้บริการจากหน่วยงานราชการ

“จากเดิมนายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการให้เห็นผลสิ้นเดือน กันยายน 2561 นี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ส่งคำสั่งไปยังทุกกระทรวงแล้ว ให้เห็นผลในสิ้นเดือนสิงหาคม 2561 แทน เนื่องจากแต่ละกระทรวงจะต้องไปสำรวจกระบวนการต่างๆ ที่จะให้บริการกับประชาชน แบบไม่ใช้สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เตือนคลิปวีดีโอใช้เด็กเป็นเครื่องมือหาเสียง-แจงภาวะเศรษฐกิจไทยยังดี

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในที่ประชุม ครม. เนื่องจากช่วงนี้ใกล้เข้าสู่โรดแมปการเลือกตั้ง จึงได้มีการจัดทำคลิปวีดีโอที่หวังผลทางการเมือง โดยใช้เด็กเป็นตัวละครของคลิป ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะเด็กคือเยาวชนของชาติที่จะต้องเติบโตอย่างมีคุณภาพ ขออย่าพยายามดึงเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องโรดแมป

“สำหรับกรณีคลิปวีดีโอสอบถามประชาชนเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ นายกรัฐมนตรีขอให้กลับไปดูตัวเลขดัชนีชี้วัดของหน่วยงานและองค์กรทั้งภายในและต่างประเทศที่บ่งบอกว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศดีขึ้นทั้งด้านการศึกษา ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการประมงผิดกฎหมาย ด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในร้อยละ 80 ดีกว่าในรอบ 62 เดือน ส่วนคุณภาพของประชาชนจะดีขึ้นต้องประกอบ 2 เรื่อง คือ นโยบายของรัฐบาลและการขับเคลื่อนของหน่วยงานของรัฐที่จะนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผล อีกทั้งประชาชนต้องพัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศจึงจะได้รับประโยชน์ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ม.44 เด่งฟ้าผ่า “พล.ต.ต. รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร” พ้นเลขาฯ ปปง.

มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 12/2561 เรื่อง ให้ข้าราชการพ้นจากตำแหน่ง มีรายละเอียดระบุว่า

โดยที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในหน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหา การบริหารราชการที่เกิดขึ้นและป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความ ในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ พลตำรวจตรี รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามกรอบอัตรากำลังที่กำหนดในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พุทธศักราช 2558

ข้อ 2 ให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่ง ตามกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 3 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

เห็นชอบหลักเกณฑ์ตั้งคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รองรับยุทธศาสตร์ชาติ

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. มีมติคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา การเลือกประธานกรรมการและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการในคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยมีสาระสำคัญคือปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดังนี้

    1) กรรมการโดยตำแหน่ง จากเดิมให้มี 8 คน เหลือเพียง 7 คนโดยตัดผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาออก

    2) ตัดกรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1 คน ออก

    3) กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพ จากเดิมที่ให้มี 2 คน เหลือเพียง 1 คน

    4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากเดิมให้มีไม่เกิน 16 คน แก้ไขเป็นไม่น้อยกว่า 17 คน แต่ไม่เกิน 19 คน พร้อมทั้งแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

เหตุผลเนื่องจากกฎกระทรวงใช้บังคับมาเป็นเวลานานไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการอาชีวศึกษาโดยให้รวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดประสิทธิภาพได้มาตรฐานและมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นประกอบกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

”ดังนั้น แผนการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษามีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสในการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน นอกจากนี้ วันที่ 29 มกราคม 2560 จะต้องมีการพิจารณาสรรหาและเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการการอาชีวศึกษาชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดทิศทางความต้องการและความจำเป็นในด้านการอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เพื่อใช้เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงเห็นสมควรให้ปรับปรุง” รายงานระบุ

สั่ง ณ วันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ไฟเขียวไทยเข้าร่วมสมาชิกคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล OEDC

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. มีมติเห็นชอบการเข้าร่วมคณะกรรมการด้านนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Committee on Digital Economy Policy: CDEP) ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ และให้เหตุผลว่า OECD เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศสมาชิก โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการส่งเสริมการค้าเสรี และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา

ทั้งนี้ ภารกิจของ OECD ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเน้นการตรวจสอบนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิกเป็นเน้นการวิเคราะห์แนวนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะในประเด็นปัญหาข้ามชาติ หรือความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ ปัจจุบันมีสมาชิก 34 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว ทั้งนี้ OECD มี CDEPทำหน้าที่กำหนดนโยบายดิทิทัลซึ่งถือเป็นประเด็นท้าทายใหม่ในกระแสโลกาภิวัตน์ และเห็นว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CDEP จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยสามารถเข้าถึงกิจกรรมและข้อมูลแหล่งความรู้ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในความครอบครองของ CDEP และ OECD มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ CDEP ยังช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยมีเครือข่ายกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติและอาจส่งผลให้การจัดอันดับของประเทศไทยในสถิติด้านต่างๆ ดีขึ้น เช่น อันดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย

แก้ระเบียบคุมประพฤตินักเรียน-นักศึกษาใหม่

รายงานข่าวจากสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. มีมติคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ เนื่องจากมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 บัญญัติให้นักเรียนและนักศึกษาต้องประพฤติตนตามระเบียบของโรงเรียนหรือสถานศึกษาและตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเพื่อเป็นการส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและ คำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษาจึงได้มีกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 มีผลใช้บังคับ

ต่อมาได้ดำเนินการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามพระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายและเห็นสมควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษาให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและคำนึงถึงความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา ทั้งนี้ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียด้วยแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 9 เมษายน 2561 มีมติเห็นชอบด้วยกับร่างกฎกระทรวงดังกล่าว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 เกี่ยวกับลักษณะความประพฤติต้องห้ามของนักเรียนและนักศึกษา ดังนี้

    1. กำหนดเพิ่มเติมห้ามการรวมกลุ่ม มั่วสุมอันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

    2. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวอันไม่เหมาะสมจากเดิมที่ห้ามเฉพาะการแสดงพฤติกรรมทางชู้สาวซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เป็นการห้ามไม่จำกัดสถานที่โดยตัดคำว่า “ในที่สาธารณะ” ออก และกำหนดเพิ่มเติมห้ามกระทำการลามกอนาจารด้วย

    3. แก้ไขลักษณะความประพฤติที่ห้ามกระทำเกี่ยวกับการออกนอกสถานที่พักเพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่มอันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น จากเดิมห้ามเฉพาะเวลากลางคืน
    เป็นการห้ามไม่จำกัดเวลา โดยตัดคำว่า “เวลากลางคืน” ออก

ครม.สัญจร ระนอง-ชุมพร 20-21 ส.ค. นี้

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี และคณะ มีกำหนดการตรวจราชการ ที่ จ.ระนอง และประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการที่ จ.ชุมพร ระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2561 โดยวันที่ 20 สิงหาคม นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ จะเดินทางไปพบประชาชน ที่หอประชุมพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง) ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง พร้อมมอบสมุดประจำตัวผู้ได้รับเลือกให้ทำกินในชุมชน จากนั้นเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก ที่โรงพยาบาลศูนย์ระนอง พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ธาราบำบัดแพทย์แผนไทยและแพทย์ฝังเข็ม เยี่ยมชมบ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน ต.เขานิเวศน์ อ.เมือง ตลอดจนเยี่ยมชมการบริหารจัดการท่าเรือระนอง บ้านเขานางหงส์ ต.ปากน้ำ เพื่อมอบประการังเทียมให้กับตัวแทนประชาชน

จากนั้น ช่วงบ่ายนายกฯ เดินทางไปยัง จ.ชุมพร เพื่อพบปะประชาชน และเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำ ที่โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ต.บางลึก อ.เมืองชุมพร พร้อมเยี่ยมชมโครงการแก้มลิงหนองใหญ่และสะพานไม้เคี่ยม และเดินทางไปสักการะอนุสรณ์สถานพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

สำหรับในวันที่ 21 สิงหาคม เวลา 08.30 น.นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน(ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต สตูล) ที่อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพร จากนั้นเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อจบการประชุมนายกฯร่วมกิจกรรมปล่อยลูกปูม้าจำนวน 10 ล้านตัว และเยี่ยมชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ที่ ต.ทรัพย์ทะเล อ.ปะทิว ก่อนเดินทางกลับ

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2561เพิ่มเติม