ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่งรับมือสถานการณ์น้ำเพชรบุรีให้เสียหายน้อยที่สุด – มติ ครม. โยก”กุลิศ สมบัติศิริ” อธิบดีศุลกากร นั่งปลัดพลังงาน

นายกฯ สั่งรับมือสถานการณ์น้ำเพชรบุรีให้เสียหายน้อยที่สุด – มติ ครม. โยก”กุลิศ สมบัติศิริ” อธิบดีศุลกากร นั่งปลัดพลังงาน

7 สิงหาคม 2018


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดยหลังการประชุม นายกฯ แถลงและตอบคำถามสื่อมวลชน ดังนี้

สั่งรับมือน้ำแก่งกระจาน-เตือน ปชช. ติดตามข่าวใกล้ชิด

พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. มีการหารือเรื่องการบริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งมีการรายงานให้ทราบว่ายังมีปริมาณน้ำสูง แต่บางพื้นที่ก็เริ่มลดลง เพราะมีการระบายน้ำออกมากขึ้น แต่ในวันพรุ่งนี้ (8 สิงหาคม) ตนจะลงไปดูแผนงานที่เตรียมการรับมือไว้ว่าครบถ้วนหรือยัง โดยจะไปตรวจงานของกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่ต้องร่วมทำงานบูรณากับฝ่ายทหารในพื้นที่ เพื่อเตรียมมาตรการรองรับกรณีที่มีน้ำมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ กรณีที่มีความเป็นห่วงน้ำล้นสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจาน ได้มีการระบายออกมากขึ้น เพราะน้ำตรงนี้ไปไหนไม่ได้ นอกจากระบายออก แต่ก็ต้องดูความเข้มแข็งของเขื่อนว่ารองรับได้หรือไม่ รวมทั้งต้องไปดูท้ายน้ำที่ระบายออกมาว่ามีปัญหาหรือไม่  เพื่อจะได้มีมาตรการรองรับหรือเตรียมการของภาคประชาชน ซึ่งหลายพื้นที่อาจจะต้องมีแผนการอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือขอให้ทุกคนติดตามสถานการณ์ฝน สถานการณ์อากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยาไว้ด้วย ดูสถานการณ์น้ำในเดือนสิงหาคมในแต่ละจังหวัดเป็นอย่างไร ต้องเตรียมการตัวเองให้พร้อมไว้ด้วย วันนี้ผมคิดว่าบรรดาบ้านต่างๆ ที่อยู่ท้ายน้ำ ที่มีการระบายน้ำออกมา ต้องมีการเตรียมการแล้ว เก็บข้าวของขึ้นที่สูง และเตรียมการอพยพไปสู่พื้นที่ปลอดภัย ถ้าหากว่าปริมาณน้ำมากขึ้น” นายกฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ซึ่งจะพยายามอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการตัดตอนน้ำ ทั้งก่อนเข้าเขื่อนและท้ายเขื่อน มีการระบายน้ำ ทำทางระบายน้ำเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ได้สั่งการให้มีการขุดขยายเส้นทางน้ำตามธรรมชาติเพื่อเก็บกักน้ำไว้ และระบายน้ำลงไปเก็บในพื้นที่แก้มลิง รวมถึงต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าเรื่องการชดเชยให้ประชาชนเมื่อมีความจำเป็น และเตรียมสนับสนุนอาชีพเสริมเรื่องการทำประมงพื้นบ้านในช่วงที่ทำนาไม่ได้ ทั้งนี้เป็นเรื่องธรรมชาติหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด

นอกจากนี้ ต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่าจะต้องเตรียมการอย่างไร มีการตัดสินใจของผู้นำท้องถิ่นที่อยู่ใกล้กับชาวบ้าน ไม่ใช่ต่างคนต่างประกาศ จนเกิดปัญหาตามมา วันนี้ต้องเตรียมความพร้อมของประชาชนด้วย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ให้แนวทางว่าจะทำอย่างไรในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้ได้ โดยวันนี้มีหลายพื้นที่ทำโครงการใหม่ๆ ที่สามารถระบายน้ำได้ เช่น คลองดีเก้า แม้จะยังไม่ 100% แต่ก็ได้สั่งการให้เปิดระบายน้ำออกไปทางข้างด้วย ซึ่งจะทำให้ลดไปได้ประมาณ 50 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร และจะเหลือประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างนี้จึงเรียกว่าการบริหารจัดการน้ำ ต้องทยอยปล่อยน้ำออกไป ฉะนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญตั้งแต่แรก ก่อนจะมีสถานการณ์เกิดขึ้น

ยันแต่งตั้งโยกย้ายทหารดูที่ความเหมาะสมเป็นธรรม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการทำบัญชีโยกย้ายนายทหารว่า เป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหม มี พ.ร.บ ของกระทรวงกลาโหม เพราะฉะนั้น จะมีการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการซึ่งมาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ต้องมีความเห็นชอบร่วมกันในการแต่งตั้งใครเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพคนใหม่รวมถึงเรื่องการแต่งตั้งนายทหารยศชั้นนายพลด้วย

ทั้งนี้ จะต้องดูเรื่องความอาวุโส ความเหมาะสม ไม่ใช่เป็นคนของใคร เด็กของใคร สนิทกับใคร โดยตนก็ติดตามเรื่องนี้อยู่ ทั้งประวัติการทำงาน ขีดความสามารถ ความรู้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนไม่เก่ง เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม

“เพราะว่าทหารเป็นหลักที่ต้องทำให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงอยู่ได้ตามหลักการ หน้าที่ และภารกิจของกระทรวงกลาโหม หลายท่านบอกว่าไม่ต้องเกณฑ์ทหาร แต่ขอย้ำอีกครั้งว่าวันนี้ทหารทำงานอะไรบ้าง ถ้าเราไม่มีทหาร ไม่มีพลทหาร เราก็ไม่มีคนมาช่วยเราในยามวิกฤติ เพราะทุกกระทรวงหน่วยงานไม่มีกำลังพล แต่เป็นเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง หรือการจ้างคนเพิ่มต่างๆ ซึ่งทหารจ้างครั้งเดียว เขาทำงานนอนกินอยู่ในค่าย เรียกเมื่อไหร่ก็ขึ้นรถ ยานพาหนะก็พร้อม ไปในพื้นที่ได้เร็วกว่าส่วนราชการอื่นๆ ด้วยซ้ำไป เมื่อเราช่วยเหลือประชาชนในระยะแรกแล้ว ก็มอบให้ท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบต่อ ทหารก็ไปที่อื่นต่อ การทำงานต้องเป็นแบบนี้  หลายประเทศในโลกยังมีการเกณฑ์ทหารอยู่ วันนี้เกณฑ์ทหารเงินเดือนก็ไม่ได้น้อย แต่ก่อนเงินเดือนไม่กี่บาท วันนี้ขึ้นไป 8-9 พันแล้ว ไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน เพราะปรับไปแล้ว”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “อาหารการกินก็ต้องดีขึ้น เพราะว่าหักค่าประกอบเลี้ยงมากขึ้นจากเบี้ยเลี้ยงที่มีอยู่ ที่เหลือก็ให้เขาไปใช้จ่าย เงินเดือนก็ยังมีต่างหาก ก็จะเห็นว่าในหลายพื้นที่มีคนสมัครมากกว่าที่ต้องการด้วยซ้ำไป ไม่ต้องจับฉลาก ฉะนั้นอย่าไปบิดเบือนกันมากนักเลย แล้วตอบคำถามมาด้วยว่าถ้าไม่มีทหารแล้วจะทำยังไง หลายประเทศในโลกเขาก็มีอยู่ วันนี้ก็เปิดโอกาสให้สมัครก็ได้ ถ้าสมัครใจไม่พอก็ต้องเกณฑ์ เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนกลับไปก็มีระเบียบวินัย อย่าไปเอาจุดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ มาติติงจนกระทั่งระบบมันเสียหายแล้วกัน อย่าไปทำเพื่อคะแนนเสียง ประเทศชาติมันอันตราย”

แจงไม่เคยแทรกแซงองค์กรอิสระ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอแก้กฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าไม่ได้เป็นการแก้กฎหมายเพื่อล้มล้างใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องการทำให้ กกต. ใหม่และ กกต. เก่า ร่วมมือในการคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งให้เกิดความเหมาะสม ไม่ได้ไปล้มอะไรตรงไหน และไม่เคยไปแทรกแซงการทำงานองค์กรอิสระทั้งสิ้น เป็นเรื่องของการพิจารณาร่วมกัน ต้องให้เกียรติกับ กกต. ใหม่ด้วย เพราะเป็นคนที่ต้องทำงานต่อไป

ย้ำพรรคการเมืองจะทำอะไรต้องขออนุญาต คสช. ก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เตรียมจัดขบวนเดินสายปราศรัยว่า ไม่อยากตอบให้เกิดให้ผลกระทบกับใคร แต่ในช่วงนี้ทุกคนต้องขออนุญาตขึ้นมาว่าจะทำอะไร ส่วนจะได้รับอนุมัติหรือไม่ คสช. จะเป็นผู้พิจารณา โดยจะมองถึงประเด็นความสงบสุข เพราะไม่ต้องการให้สร้างผลกระทบกับการจราจร หรือเกิดความวุ่นวาย ส่วนการผ่อนผันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การหาเสียง ต้องรอกฎหมายเลือกตั้งโปรดเกล้าฯ ลงมาก่อน คสช. จึงจะคลายล็อกต่างๆ ให้สามารถดำเนินการได้ทุกอย่าง

ทางออกไทยขาดแคลนแรงงานประมงจำนวนมาก

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ขณะนี้เกิดปัญหาแรงงานประมงขาดแคลนจำนวนมาก แม้กระทั่งการจัดหาจาก 4 ประเทศ ที่มีความตกลงเรื่องแรงงานก็ยังมีปัญหาอยู่ คนไม่อยากทำงานนี้ เพราะเป็นงานหนัก จึงต้องหาทางออกให้ดีว่าจะทำอย่างไร ส่วนเรื่องการซื้อเรือ ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะซื้ออย่างไร ซื้อกับใคร ซื้อตรงไหน รวมถึงการพิจารณากฎหมายไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

“ไม่ใช่นึกจะไปซื้อเรือจากคนรวย หรือจากกลุ่มนักธุรกิจ คำพูดเหล่านี้ใครก็พูดได้ แต่มันไม่ง่ายที่จะไปซื้อ ต้องผ่านการคัดกรองจากหลายหน่วยงาน ต้องไปดูว่าเรือขนาดเท่าไหร่ จะดูแลประมงพื้นบ้านยังไง รัฐบาลต้องดูแลให้ครบทุกเซกเตอร์ ซึ่งกำลังหารือกันอยู่ ฉะนั้นอย่าพึ่งร้องเรียนอะไรนักหนา เพราะไม่ได้ทำเพื่อเรื่องไอยูยูอย่างเดียว แต่ต้องทำเพื่อการประมงในประเทศด้วย เรื่องเศรษฐกิจด้วย รัฐบาลต้องดำเนินทุกมาตรการอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

เห็นชอบ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา – เร่งตั้งกระทรวงใหม่ ต.ค. 61

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …. ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ พร้อมทั้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเร่งตรวจพิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม ที่ได้เห็นชอบไปมาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติจะเป็นการกำหนดหลักการสำคัญของการจัดการการอุดมศึกษาให้มีความเป็นอิสระ มีเสรีภาพทางวิชาการ และมีหลักธรรมาภิบาล กำหนดหน้าที่ของสถาบันอุดมศึกษาในการจัดการศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งกำหนดให้มีคณะกรรมการ การอุดมศึกษาเพื่อทำหน้าที่พิจารณาเสนอนโยบายและแผนการอุดมศึกษา ตลอดจนกำหนดให้มีกองทุน เพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

“ในการจัดตั้งกระทรวงใหม่นี้จะมีกฎหมายหลักอยู่ 3 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อจัดโครงสร้างบริหารใหม่ ฉบับที่สอง คือ ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาที่อนุมัติวันนี้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่ปัจจุบันระบบการศึกษาไทยเผชิญอยู่ ตัวอย่างเช่นเรื่องคุณภาพหลักสูตรที่มีกรณีว่าให้เด็กเรียนไปจนจบแล้วกลับไม่ได้รับการรับรอง พวกนี้จะเป็นเรื่องของอำนาจที่ค่อนข้างจำกัดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กฎหมายนี้ก็จะแก้ไขปัญหาพวกนี้ไว้ และฉบับสุดท้าย คือ พ.ร.บ.การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ที่จะมาดูแลเรื่องการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ แต่คาดว่าจะเร่งตามมา” ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดมกล่าว

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม กล่าวต่อถึงกรอบเวลาของการจัดตั้งกระทรวงใหม่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้เร่งให้สำนักงานกฤษฎีกาเร่งจัดทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2561 โดยทางนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีก็ได้ให้สำนักงานกฤษฎีกาจัดคณะทำงานขึ้นมาดูกฎหมาย 3 ฉบับนี้โดยเฉพาะแล้ว หลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้า ครม. อีกครั้งก่อนจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาช่วงต้นเดือนกันยายน 2561 และคาดว่าตุลาคม 2561 ก็จะพิจารณาแล้วเสร็จก่อนทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธยต่อไป

ส่วนด้านการดำเนินการจัดตั้งกระทรวงหลังจากกฎหมายผ่านเรียบน้อยคิดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะเป็นเพียงการจัดโครงสร้างองค์กรใหม่เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจะใช้งบประมาณส่วนที่ได้จัดสรรของเดิมเอาไว้แล้ว ส่วนเรื่องกำลังคนก็จะเป็นการบูรณาการกระทรวงเดิมที่เกี่ยวข้องเข้ามา โดยไม่มีการเพิ่มกำลังคนหรืออาจจะลดลงด้วยซ้ำ เพราะต้องการการทำงานแบบบูรณาการและมีความคล่องตัวมากที่สุด

ยกเลิกไม้มีค่าหวงห้าม เอกชนดำเนินการได้สะดวก

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ ดังนี้

  1. กำหนดให้ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นหรือปลูกขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม สำหรับไม้ที่ขึ้นในป่าชนิดใดจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาภายหลังแทน
  2. กำหนดให้ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ใดประสงค์จะให้ออกหนังสือรับรองไม้ที่ขึ้นหรือปลูกขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งการออกหนังสือรับรองไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ฯ เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่

“การแก้กฎหมายนี้ต่อไปก็ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน รวมไปถึงความสะดวกในการจัดการกับไม้เหล่านี้ในที่ดินของตน จากเดิมที่จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทุกอย่าง สร้างความเดือดร้อนและทำให้ประชาชนเสียโอกาสหลายอย่าง พอประกอบกับการให้นำไม้มีค่ามาให้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ ก็จะมีส่วนช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจขึ้นอีกอย่างมากแต่ประชาชนทั่วไป” นายณัฐพรกล่าว

รับทราบบัตรคนจนใช้สิทธิบัตรทองฟรี

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. รับทราบเรื่องการให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมาตรการนี้เป็นไปเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้มีรายได้น้อยภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยกำหนดให้ผู้มีรายได้น้อยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง บุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ พ.ศ. 2545 ข้อ 2(1) หมายความรวมถึงผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ทั้งนี้ เนื่องจากจากกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดว่าบุคคลที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการนั้นประกอบด้วย 1) ผู้มีรายได้น้อยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสวัสดิการประชาชน ด้านการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2537 ได้แก่ คนโสดหรือผู้เยาว์ที่ไม่มีผู้อุปการะ มีรายได้ไม่เกิน 2,000 บาท หรือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งมีรายได้รวมไม่เกินเดือนละ 2,800 บาท 2) คนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และ 3) บุคคลที่แสดงความประสงค์ไม่จ่ายค่าบริการ

“มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมการดูแลประชาชนให้มาอยู่ภายใต้โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งการดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวม 11.4 ล้านคน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ไม่ต้องจ่ายค่าบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพมาตรการนี้จะทำให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้รับการบรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งจากการประเมินของกระทรวงการคลังพบว่ามีคนต้องจ่ายเงินอยู่ 500,000 คน หรือประมาณ 61 ล้านบาทต่อปี” นายณัฐพรกล่าว

กู้ 15,374 ล้านบาท ปรับโครงสร้างหนี้ ขสมก.

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำนวน 15,374.978 ล้านบาท (ปรับโครงสร้างหนี้โดยการไถ่ถอนพันธบัตรและชำระคืนต้นเงินกู้) และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงิน

เตรียม ครม.สัญจรครั้งที่ 6 ของปี เจาะภาคใต้

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน โดยจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ นอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 ซึ่งมีกำหนดการระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2561 นี้

สำหรับการตรวจราชการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ พื้นที่ภาคใต้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งจังหวัดที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล รวมทั้งกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ จังหวัดชุมพร จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดสงขลา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดชุมพร

โดยมีกำหนดการในวันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2561 ที่จังหวัดชุมพร โดย พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับมอบหมายในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในกลุ่มพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และกลุ่มพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จะเป็นประธานจัดการประชุมเตรียมการและบูรณาการประเด็นด้านสารัตถะของการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่

โยก “กุลิศ สมบัติศิริ” จากศุลกากร นั่งปลัดพลังงาน

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ครม. ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง เนื่องจากในปีนี้ จะมีระดับปลัดกระทรวง (ซี 11) เกษียณอายุราชการ 5 ราย และข้าราชการระดับสูงเทียบเท่าระดับซี 11 จะเกษียณอีก 3 ตำแหน่ง ดังนั้น ปีนี้จะต้องแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงระดับซี 11 ทั้งสิ้น 8 รายดังนั้น การเสนอชื่อให้ ครม. พิจารณาในห้วงเวลานี้ จึงถือว่าเหมาะสมแล้ว เนื่องจากจะต้องมีเวลาจัดทำเอกสารเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมต่อไป โดยในครั้งได้มีการแต่งตั้งดังนี้

กระทรวงสาธารณสุข แต่งตั้งนายสุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงพลังงาน รับโอน นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง มาเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน

กระทรวงการคลัง 5 ราย ได้แก่ 1. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็น อธิบดีกรมศุลกากร 2. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็น อธิบดีกรมสรรพสามิต 3. นายอำนวย ปรีมนวงศ์ รองปลัดกระทรวง เป็น อธิบดีกรมธนารักษ์ 4. นายยุทธนา หยิมการุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็น รองปลัดกระทรวง 5. นางแพตริเซีย มงคลวนิช ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร เป็น ผู้ตรวจราชการกระทรวง

เห็นชอบร่างปฏิญญาครั้งที่ 7 ของกระบวนการบาหลี

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างปฏิญญาของการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 7 ของกระบวนการบาหลี ว่าด้วยการลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้อนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนจากประเทศไทยร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้ เพื่อเป็นการยืนยันเจตนาร่วมอย่างต่อเนื่องของประเทศสมาชิก ในการร่วมมือกันระดับภูมิภาค เพื่อแก้ไขปัญหาของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอย่างครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน โดยมี 6 ประเด็นด้วยกัน คือ

1. ส่งเสริมให้รัฐสมาชิกเรียนรู้จากประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีของกันและกัน

2. ย้ำถึงความจำเป็นการ จัดการต้นเหตุของการย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการยกระดับการคุ้มครอง การช่วยเหลือ การพัฒนาความร่วมมือการส่งกลับ และการส่งคืนสู่สังคม รวมถึงส่งเสริมช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย

3. เป็นการส่งเสริมระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในบริบทของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งแรงงานจะได้รับประโยชน์จากการจ้างงานที่มีคุณธรรม 4. เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก และภาคประชาสังคม ในการคุ้มครอง และสนับสนุนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และป้องกันการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบที่เลวร้าย

5. เป็นความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการบาหลี กับกระบวนการหารือระดับภูมิภาค และระหว่างประเทศอื่นๆ ที่จัดการกับการโยกย้ายถิ่นฐาน

6. การมีส่วนร่วมของกระบวนการบาหลี ในการแก้ไขปัญหาการโยกย้าถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ทางทะเลในภูมิภาค

“กระบวนการบาหลี ได้รับการจัดตั้งเมื่อปี 2545 เพื่อจัดการการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้อง โดยปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 45 ประเทศ 3 องค์การระหว่างประเทศ โดยจะจัดประชุมในทุก 2 ปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7”

เห็นชอบความร่วมมือทวิภาคี ไทย-เมียนมา – โครงการเพาะเลี้ยงกุ้ง ยะไข่

พ.อ. อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติร่างเอกสารสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ไทย-เมียนมา ครั้งที่ 9 จำนวน 2 ฉบับ ที่จะมีการจัดขึ้นที่ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในวันที่ 14 สิงหาคม 2561 โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และนายอู่ จอ ทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมา เป็นประธานร่วมด้วย

ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้จะมีการหารือทวิภาคี ครอบคลุม มิติความสัมพันธ์ด้านต่างๆ เช่น การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ความร่วมมือระดับภูมิภาค และพหุภาคี โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ 1. เอกสารร่างบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี ไทย-เมียนมา ครั้งที่ 9 ในประเด็น

    1. ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการฑูต ไทย-เมียนมา
    2. ด้านการเมืองและความมั่นคง เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการแนวชายแดน การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
    3. ด้านเศรษฐกิจ เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายมูลค่าการค้าให้เพิ่มเป็น 2 เท่ามูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์ (399,439,588,156 บาท) ภายในปี 2569
    4. ด้านสังคมและวัฒนธรรมเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการร่วมด้านการป้องกันและควบคุมโรค 2562-2564
    5. ความร่วมมือระดับภูมิภาค เกี่ยวกับการสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปี 2562

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจโครงการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งในรัฐยะไข่ โดยเป็นการกำหนดกิจกรรมและกรอบความร่วมมือ และความรับผิดชอบ โครงการดังกล่าวระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา เพื่อปรับปรุงฟื้นฟู ก่อสร้างศูนย์ และพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถผลิตลุกกุ้งได้ปีละ หนึ่งร้อยล้านพีแอลเอสต่อปี โดยกระทรวงต่างประเทศจะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ 30 ล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี โดยไม่มีการผูกพันงบประมาณเพิ่มเติม

อนุมัติย้ายงบทางเข้าอู่ตะเภา อีอีซี เป็นค่าย้ายสาธารณูปโภค – เพิ่มงบ 180 ล้านบาท

รายงานข่าวจากสํานักโฆษก สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. ได้อนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณและเปลี่ยนรายการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โครงการพัฒนาทางหลวงรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก งบลงทุน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จากรายการสายทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา-ท่าเรือจุกเสม็ด จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 7.763 กิโลเมตร วงเงิน 632 ล้านบาท มาดำเนินรายการค่าก่อสร้างและค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภค รวมวงเงิน 811.95 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว จำนวน 179.95 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ข้อ 1.6  ที่กำหนดให้รายจ่ายลงทุนที่จะขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณทุกรายการต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นของรายจ่ายลงทุนนั้นๆ โดยไม่รวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด

เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อก่อสร้างโครงการกรมชล

รายงานข่าวจากสํานักโฆษก สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. เห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อก่อสร้างโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รวม 4 โครงการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ  ดังนี้

  1. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว  บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 85 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรี
  2. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 49 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
  3. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา  บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 229 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่
  4. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 1,380 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา

ทั้งนี้  โครงการอ่างเก็บน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ทั้ง 4 โครงการ เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการโครงการแล้ว และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี พ.ศ. 2558-2569) ในยุทธศาสตร์ที่ 2  การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย โดยจะสามารถเพิ่มการกักเก็บน้ำได้ จำนวน 105.17 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ ประมาณปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดำเนินโครงการบางส่วนเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อก่อสร้างโครงการทั้ง 4 โครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2532

ผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่ 3 บริษัท

รายงานข่าวจากสํานักโฆษก สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. เห็นชอบผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่ 3 บริษัท รายละเอียดดังนี้

  1. อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน) ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 เอเอ็ม เพื่อทำเหมืองแร่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 23-27/2553 เพื่อจัดตั้งสถานที่  เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ตามคำขอที่ 1/2553 และเพื่อปลูกสร้างอาคารเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่หรือจัดตั้งสถานที่เพื่อการแต่งแร่นอกเขตเหมืองแร่ ตามคำขอที่ 2/2554 จำนวน 5 แปลง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544
  2. อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ภูมิใจไทยซีเมนต์ จำกัด ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอเอ็ม เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์) ตามคำขอประทานบัตรที่ 20-24/2554 จำนวน 5 แปลง  ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544
  3. อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท น่ำเฮงศิลา  จำกัด ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน  (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2550 4/2550 และที่ 5/2550 จำนวน 3 แปลง  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538

อนุมัติ “ป่าคลองแม่รำพึง-ป่ากลางอ่าว-เกาะทะลุ-เกาะสิงข์-เกาะสังข์” เป็นอุทยานแห่งชาติ

รายงานข่าวจากสํานักโฆษก สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ครม. เห็นชอบหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองแม่รำพึง ป่ากลางอ่าว และเกาะทะลุ เกาะสิงข์ เกาะสังข์ และพื้นที่รอบเกาะ ในท้องที่ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน และตำบลทรายทอง อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. (อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

ทั้งนี้ ครม. ให้เหตุผลว่า เนื่องจากบริเวณที่ดินดังกล่าวประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและมีค่า มีระบบนิเวศที่หลากหลาย ทั้งป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าพรุ ป่าชายเลน  ป่าชายหาด แนวปะการังน้ำตื้นและน้ำลึก รวมทั้งมีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยางนาที่มีลำต้นขนาดใหญ่ มากกว่า 6,000 ต้น เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ สมควรสงวนไว้ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม ด้วยการกำหนดให้บริเวณที่ดินดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ประมาณ 19,960 ไร่ ซึ่งได้ปรับแก้แนวเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม โดยกันพื้นที่สำหรับการเดินเรือในการทำประมงพื้นบ้านและกันพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง ในท้องที่ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศด้วยแล้ว