ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบศ.เห็นชอบ 4 มาตรการดึงต่างชาติ ลงทุนอุตฯสมัยใหม่-ขอความร่วมมือจัด “เคาท์ดาวน์” ปีใหม่ กลางแจ้ง

ศบศ.เห็นชอบ 4 มาตรการดึงต่างชาติ ลงทุนอุตฯสมัยใหม่-ขอความร่วมมือจัด “เคาท์ดาวน์” ปีใหม่ กลางแจ้ง

3 ธันวาคม 2021


วันที่ 3 ธันวาคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ศบค. ครั้งที่ 5/2564 ณ บริเวณตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

นายกฯสั่ง ศบศ.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งหารือผู้ประกอบการ ขอความร่วมมือจัด “เคาท์ดาวน์” ปีใหม่กลางแจ้ง มติ ศบศ.เห็นชอบ 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน เดินหน้า “พลิกโฉมประเทศ” ตั้งเป้าดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงลงทุน “คลาวด์เซอร์วิส-เทคโนโลยี-สตาร์ทอัพ-ถ่ายภาพยนตร์” ในไทย ด้าน ศบค.รายงานสถานประกอบการที่ได้รับ SHA+

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เวลา 12.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2564 โดยภายหลังการประชุม พลเอก ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน บริเวณทางเชื่อมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลถึงกรณีการเตรียมจัดงานเคาท์ดาวน์เทศกาลปีใหม่ว่า วันนี้ตนได้เร่งรัดให้ ศบศ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับผู้ประกอบการ และสถานประกอบการ ภายในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมเคาท์ดาวน์ที่เหมาะสมและผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมการได้ทัน โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้เน้นเป็นกิจกรรมกลางแจ้ง สถานที่เปิดโล่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส ปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค.

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ติดตามตัวผู้ที่เคยเดินทางเข้ามาจากประเทศต้นทางที่มีการแพร่ระบาดของโอไมครอน กลุ่มเสี่ยงสูง เข้ามาตรวจคัดกรองหาเชื้ออีกครั้ง เพื่อความมั่นใจ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรี ยืนยันจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครเดินหน้าตามแผนการภายในปี 2565 โดยต้องพิจารณาถึงความพร้อม สังคมมีความพร้อม มีความมั่นคง บ้านเมืองมีเสถียรภาพ ไม่มีประเด็นทะเลาะขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกผู้แทนของตนเองที่จะเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยนายกรัฐมนตรียังตอบคำถามสื่อมวลชนว่า นายกรัฐมนตรีก็เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และมุ่งมั่นทำงานเพื่อประเทศชาติ บ้านเมือง ให้มีความสงบเรียบร้อย ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง มุ่งแก้ไขปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และสร้างสิ่งที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ตามนโนบาย “พลิกโฉมประเทศไทย” อนาคตจะเป็นอย่างไร ขอให้เป็นเรื่องของอนาคต

นอกจากนี้นายกฯ ยังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2564 พิจารณาเห็นชอบ 4 ประเด็น ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย , มาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส , มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ และมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ศบศ.ในวันนี้ว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเป้าหมายในการพลิกโฉมประเทศไทย คือ การทำให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยที่ประชุมได้รายงานว่า การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2564 นี้ GDP สามารถกลับมาเติบโตเป็นบวกที่ร้อยละ 1.2 เนื่องจากไตรมาส 3 มีการติดลบน้อยกว่าที่ประมาณการณ์ เป็นผลมาจากความสามารถในการส่งออก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการต่างๆ ทั้งมาตรการคนละครึ่ง มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล

นายกรัฐมนตรียังให้แนวคิดและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนว่า การส่งเสริมการลงทุนปัจจุบันนี้ ต้องมีมาตรการดึงดูดเพิ่มเติมมากกว่าสิทธิประโยชน์การลงทุนหรือมาตรการภาษี ยังต้องช่วยกันคิดพิจารณาให้เหมาะสม ขณะเดียวกันรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนกิจการคลาวด์เซอร์วิส และ Data Center เพื่อขับเคลื่อนดิจิทัลประเทศไทย โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย เตรียมความพร้อมสาธารณูปโภคพื้นฐานโดยเฉพาะด้านพลังงาน เนื่องจากอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจำเป็นต้องมีระบบไฟฟ้าเสถียรภาพ รวมทั้งการใช้พลังงานหมุนเวียน ขณะเดียวกันก็เร่งจัดระบบนิเวศที่เหมาะสม ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย แนวทางภาษีที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมธุรกิจด้านเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ของไทย โดยนายกรัฐมนตรียังย้ำในที่ประชุมว่า รัฐบาลชุดนี้ ให้ความสำคัญกับเยาวชนซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ โดยมองว่า การลงทุนในเยาวชน คือ การลงทุนเพื่ออนาคตประเทศ

นายกรัฐมนตรียังย้ำในที่ประชุม กำชับให้ทำโดยเร็ว หลังจากที่มีการหารือวันนี้ ให้ทุกหน่วยงานกำหนดไทม์ไลน์ในการดำเนินการภายในระยะเวลา 1 – 3 เดือน ให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการหารือในวันนี้ เป็นการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ประเทศ แก้ปัญหาอุปสรรค ปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย ส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ BCG ดิจิทัล พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคง ภายใต้การจัดสรรงบประมาณและรายได้ให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวศบค.ประจำวัน มีการรายงานมาตรการเพิ่มเติมเพียงประเด็นเดียวโดย ด้านพญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค กล่าวภายเผยหลังเสร็จสิ้นการประชุมศบค.ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานถึงกิจการที่ขอ SHA Plus (SHA+) เพิ่มเติม โดยสถานประกอบการในกรุงเทพฯ ได้มาตรฐาน SHA+ เพิ่มขึ้น 1,804 แห่ง ทำให้ยอดรวมอยู่ที่ 1,871 แห่ง ส่วนจังหวัดเลยมีสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน SHA+ 82 แห่ง และอยู่ระหว่างของเพิ่มอีก 68 แห่ง เชียงใหม่มีสถานประกอบการได้ SHA+ 571 แห่ง อุดรธานีมีสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน SHA+ 79 แห่ง และบุรีรัมย์มีสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน SHA+ 48 แห่ง

ทั้งนี้ SHA หรือ SHA+ คือ Safety and Health Administration เป็นมาตรการกระตุ้นให้สถานที่ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปฏิบัติตามมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้มาใช้บริการ