ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > มหาดไทย เปิดกลไก “One Plan” นโยบายสร้างความยั่งยืนระดับอำเภอ งบ 6.8 พันล้าน

มหาดไทย เปิดกลไก “One Plan” นโยบายสร้างความยั่งยืนระดับอำเภอ งบ 6.8 พันล้าน

18 มีนาคม 2022


เนื้อหาการบรรยายเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ (SDGs Localization) ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีข้าราชการและผู้นำความเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟัง จัดงานโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ

“ทรงกลด สว่างวงศ์” รองผู้ว่าฯ จ.เพชรบูรณ์ ในฐานะตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย เผยผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนระดับพื้นที่ ดำเนินการโดยกระทรวงมหาดไทย ผ่านการบรรยายหัวข้อ “One Plan กับการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่”

นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นวาระสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะหน่วยงานราชการซึ่งต้องดำเนินงานในระดับพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนแม่บท ยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยในประเทศไทยได้กำหนดกรอบการพัฒนาไว้ 3 ด้าน ได้แก่

  • Inclusive Development การพัฒนาที่ครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม
  • Integrated Development เน้นการพัฒนาแบบบูรณาการ ควบคู่ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
  • Universal Development ไม่ใช่เป้าหมายที่มุ่งช่วยประเทศยากจน แต่เป็นเป้าหมายสำหรับทุกประเทศเพื่อให้ช่วยกันบรรลุเป้าหมายโลกที่ยั่งยืน

นายทรงกลดกล่าวถึงความหมายในมุมของภาครัฐโดยอ้างอิงจากนิยามของ คณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ (Brundtland Report) หรือคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนคือ การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นต่อไปในอนาคตต้องประนีประนอมยอมลดทอนความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเอง”

นอกจากนี้ ภาครัฐยังใช้นิยามของ ป.อ. ปยุตฺโต (ศาสตราจารย์พิเศษ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) โดยให้ความหมายว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืน มีลักษณะที่เป็นบูรณาการ คือการทำให้เกิดเป็นองค์รวม หมายความว่าองค์ประกอบทั้งหลายที่เกี่ยวข้องจะต้องมาประสานกันครบองค์ และมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง มีดุลยภาพ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือการทำให้กิจกรรมมนุษย์สอดคล้องกับเกณฑ์ของธรรมชาติ”

นายทรงกลดกล่าวต่อว่า นโยบายด้านความยั่งยืนของประเทศไทยคือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจัดเป็นแผนระดับ 1 ถัดมาคือแผนระดับ 2 ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ ส่วนแผนระดับ 3 ได้แก่ แผนปฏิบัติการด้านต่างๆ แผนปฏิบัติราชการรายปีและรายห้าปี ตลอดจนแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

จากแผนข้างต้นนำไปสู่การจัดตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (กพย.) ซึ่งประกอบด้วยคณะอนุกรรมการ 6 คณะ ได้แก่ ด้านการขับเคลื่อนเป้าหมาย ด้านการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้านการติดตามและประเมินผล ด้านประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ด้านภาคเอกชน สุดท้ายด้านพลังเยาวชน

นายทรงกลดให้ข้อมูลว่า จากการทำงานด้านความยั่งยืนในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเด็นที่มีความท้าทายมากที่สุดในประเทศไทยมีด้วยกัน 5 ด้าน ดังนี้

ประเด็นที่มีความท้าทายสูงสุดคือ ความยั่งยืนข้อ 14 ด้านทรัพยากรทางทะเล เนื่องจากประเทศไทยยังถูกตั้งคำถามอย่างน้อย 3 เรื่องในตัวชี้วัดนี้ ได้แก่ ขนาดพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการปกป้องในระบบนิเวศทางทะเล ดัชนีสุขภาพด้านมหาสมุทร คะแนนน้ำสะอาด และสัดส่วนของปลาที่ถูกจับเกินพอดีหรือประชากรปลาล่มสลายไปแล้วต่อปริมาณปลาที่จับได้ทั้งหมด

ที่สำคัญคือ ประเด็นทรัพยากรทางทะเลยังมีการดำเนินการที่อยู่ในระดับสีแดง หรือต่ำกว่าเป้าหมายขั้นวิกฤติ คือเรื่องขยะทะเลในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์-เอที่ผิดปกติจากการสำรวจระยะไกล และสัดส่วนของพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่งที่มีการประกาศไปแล้วยังห่างจากค่าเป้าหมายถึงร้อยละ 10 เนื่องจากข้อจำกัดในการระบุพิกัดและขนาดพื้นที่โบราณคดีใต้น้ำ 46 แห่ง

ความท้าทายอันดับ 2 มีร่วมกัน 4 ข้อ คือ ความยั่งยืนข้อ 2 ด้านขจัดความหิวโหย ในประเด็นปัญหาการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน และอัตราการส่งออกสารเคมีกำจัดศัตรูพืช, ความยั่งยืนข้อ 3 ด้านการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี จากปัญหาอุบัติการณ์วัณโรคและอัตราการตายบนท้องถนน, ความยั่งยืนข้อ 10 ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ และความยั่งยืนข้อ 15 ระบบนิเวศบนบก จากปัญหาขนาดพื้นที่เฉลี่ยที่ได้รับการปกป้องในระบบนิเวศน้ำจืดที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และดัชนีบัญชีแดงสำหรับความอยู่รอดของพันธุ์พืชและสัตว์

ดังนั้น ในการสร้างความยั่งยืนจึงต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม เอกชนและรัฐบาล โดยในประเทศไทยได้วางกลไกการมีส่วนร่วมคือกฎหมายประชาพิจารณ์ (ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539) และกฎหมายการรับฟังความคิดเห็น (ระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548) นอกจากนี้ยังมีกลไกการมีส่วนร่วมตามลำดับจากน้อยไปมาก ได้แก่ การให้ข้อมูล การรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ การวางแผนร่วม การร่วมตัดสินใจ และการร่วมปฏิบัติ

นายทรงกลดกล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาครัฐนำระบบ SEA (Strategic Environmental Assesment) ซึ่งเป็นเครื่องมือบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้ามาใช้ในระดับยุทธศาสตร์ โดยข้อแตกต่างของ SEA กับ EIA (Environmental Impact Assesment) คือ SEA จะมุ่งเน้นในระดับนโยบาย ขณะที่ EIA จะเน้นเฉพาะผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมรายโครงการ

เครื่องมือถัดมาที่ภาครัฐนำมาปรับใช้คือ แผนพัฒนาในระดับพื้นที่ หรือที่เรียกว่า One Plan โดยเป็นแผนงานที่มีคุณสมบัติ 5 ข้อ ดังนี้

  1. โครงการเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และไม่มีการต่อต้าน
  2. โครงการมีความสอดคล้องกับแผนระดับบน เช่น แผนชาติ แผนพัฒนาจังหวัด หรือแผนพัฒนาอำเภอ
  3. โครงการมีความคุ้มค่าเหมาะสมและเป็นไปได้และสามารถดำเนินโครงการได้ทันที รวมทั้งมีรายละเอียดข้อมูลครบถ้วน
  4. กำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการบำรุงรักษาดูแลทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการอย่างชัดเจน
  5. มีความพร้อมของพื้นที่ ได้รับการอนุมัติ และอนุญาตการใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายทรงกลดกล่าวต่อว่า One Plan เป็นแผนงานตั้งแต่ระดับนโยบายส่งตรงไปถึงหน่วยการทำงานที่เล็กที่สุด โดยโครงสร้างของ One Plan เริ่มตั้งแต่ระดับชาติ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี ระดับกลุ่มจังหวัดคือหัวหน้ากลุ่มจังหวัด ระดับจังหวัด ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายก อบจ. สุดท้ายคือระดับอำเภอ ประกอบด้วย นายอำเภอ นายกเทศมนตรี อบต. การปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการพัฒนาชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนกรรมการชุมชน

ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2562 เพื่อรองรับแผน One Plan และปูทางไปสู่การสร้างความยั่งยืนระดับพื้นที่หน่วยย่อยต่างๆ ได้แก่ หมู่บ้าน ชุมชน ตำบล และอำเภอ

นายทรงกลดกล่าวถึงหลักการ 5 ข้อของ One Plan ว่าประกอบด้วย

  1. One Plan ต้องไม่กระทบอำนาจหน้าที่ในการจัดทำและประสานแผนของส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดไว้ในระเบียบ กฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติ
  2. ต้องมีแนวทางเชื่อมโยงการทำงานระหว่างการบริหารราชการส่วนภูมิภาคกับ อปท.
  3. เป้าหมายเพื่อให้การจัดทำแผนทุกระดับมาจากปัญหาความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
  4. กลไกให้มีหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำแผนทุกระดับ และกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเชื่อมโยงประสานแผนให้การดำเนินงานไม่ซ้ำซ้อนและมีความคุ้มค่ากับประชาชนมากที่สุด
  5. ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people centric) และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

นายทรงกลดกล่าวถึงผลการดำเนินงาน One Plan ที่เชื่อมโยงกับแผนงาน SDG ว่า ในช่วงปี 2562-2563 กระทรวงมหาดไทยตั้งเป้างบประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท (21,842,731,498 บาท) ดำเนินโครงการ 1,464 โครงการ ครอบคลุม 44 จังหวัด ส่วนแผนในปี 2566 กระทรวงมหาดไทยตั้งเป้าที่ 2,088 โครงการ งบประมาณมากกว่า 6.8 พันล้านบาท (6,898,277,621 บาท)

นายทรงกลดย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมจาก 7 ภาคีทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคสื่อสารมวลชน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม ตลอดจนวางกลไก 5 ด้านคือ การประสานงานกับภาคีเครือข่าย การติดตามแผนงานและยุทธศาสตร์ การประเมินผล การจัดการความรู้ และการสื่อสารสังคม

ทั้งหมดนี้คือแผนงานและการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกระทรวงมหาดไทย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยตั้งแต่รายพื้นที่ ไปสู่ระดับประเทศตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ