ThaiPublica > เกาะกระแส > ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ผู้นำรับรองวิสัยทัศน์หุ้นส่วนความยั่งยืน ต่อต้านขยะทางทะเลตั้งศูนย์ภัยพิบัติฉุกเฉิน

ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ผู้นำรับรองวิสัยทัศน์หุ้นส่วนความยั่งยืน ต่อต้านขยะทางทะเลตั้งศูนย์ภัยพิบัติฉุกเฉิน

23 มิถุนายน 2019


วันนี้ (23 มิถุนายน 2562) เวลา 09.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ณ ห้อง Crystal Hall โรงแรมดิ แอทธินี กรุงเทพฯ

นายกรฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงโดยเริ่มว่า We dare to dream, we care to share. เรากล้าฝัน เรายินดีจะแบ่งปัน เนื้อร้องของเพลงดิอาเซียนเวย์ (The ASEAN Way) สะท้อนเส้นทางตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมาของอาเซียนได้ดีที่สุด

มองย้อนกลับไปเมื่อ 52 ปีที่แล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศ 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ลงนาม ในปฏิญญากรุงเทพฯ ที่พระราชวังสราญรมย์ ถือว่าเป็นจุดกำาเนิดของอาเซียน ก็คงมีน้อยคนที่จะคาดคิดว่า ในความกล้าที่จะฝันในวันนั้น อาเซียนได้พัฒนาจากสมาคมเล็ก ๆ ของ 5 ชาติสู่ประชาคมที่เหนียวแน่นของ 10 ประเทศ และด้วยความกล้าที่จะฝันจากรุ่นสู่รุ่น ได้เติบโตเป็นประชาคมที่เป็นปึกแผ่น มีสันติภาพและมั่นคง มีกฎกติกา เป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก และมีความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกสาขา ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนอาเซียนทุกคน

เราได้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน ในวันที่ เราประสบกับวิกฤตทางการเงินและเศรษฐกิจในเอเชีย อาเซียนคือพลังสำคัญที่จับมือกับมิตรประเทศ ในการฟันฝ่าอุปสรรคและสามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และในวันที่เราพบเจอกับภัยพิบัติ ทางธรรมชาติครั้งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ หรือพายุไซโคลน พวกเราชาวอาเซียนก็ไม่เคยทอดทิ้งกัน มีแต่จะยื่นมือช่วยเหลือกัน ด้วยจิตสำนึกของการเป็นประชาคมอาเซียน ประชาคมเดียวกัน วันนี้ ภูมิภาคของเรายังคงสงบสุข ปราศจากสงครามและการสู้รบ เพราะอาเซียนย้ำเตือนให้พวกเราเคารพใน ความแตกต่างหลากหลายและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ในวันนี้ ผู้นำอาเซียนร่วมกันประกาศการเปิดตัวคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียนภายใต้โครงการจัดตั้งระบบโลจิสติกส์ฉุกเฉินสาหรับใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติของอาเซียน (Disaster Emergency Logistics System for ASEAN-DELSA) และการยกระดับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนให้เป็นองค์กรของอาเซียนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการบริหารจัดการผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในยุคนี้ ที่การแข่งขันทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศเข้มข้นขึ้น ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้น เทคโน โลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้เปลี่ยนแปลงชีวิตมากขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทำลายระบบนิเวศให้เสื่อมโทรม หากไม่มีอาเซียน เราจะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร แต่ละประเทศโดยลำพังจะสามารถเผชิญหน้ากับความท้าทายทุกอย่างได้มากน้อยเพียงใด ตนเชื่อมั่นว่าพลังของอาเซียนที่เข้มแข็งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกเราคือคำตอบที่จะช่วยให้พวกเราก้าวผ่านทุกความท้าทายในครั้งนี้ และสามารถวางรากฐานที่มั่นคงให้กับอนุชนรุ่นหลังได้

“นี่คือเหตุผลที่ไทยได้ประกาศแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน (Advancing Partnership for Sustainability)” ด้วยความฝันที่จะให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยต่อยอดจากสิ่งดี ๆ ที่อาเซียนได้สร้างกันมาในอดีต และมองไปสู่อนาคตเพื่อความสุขของชนรุ่นหลังที่จะเห็นภูมิภาคที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองต่อไปอย่างยั่งยืน

พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ไทยจะสานต่อข้อริเริ่มของประธานอาเซียนในปีที่ผ่าน ๆ มา และขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุความฝันที่วางไว้ร่วมกันและให้ประชาชนของอาเซียนทั้งรุ่นนี้และรุ่นหน้าสามารถที่จะรับมือกับความท้าทายและได้ประโยชน์จากอาเซียนใน 3 มิติสำคัญ ดังนี้

หนึ่ง มั่นคงขึ้น จะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ดีขึ้น เช่น มิติความมั่นคงทางไซเบอร์ จะได้รับประโยชน์จากการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน ญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ไทย ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของภูมิภาคให้รับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในมิติอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอัตราสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน อาเซียนจะส่งเสริมการบริหารจัดการชายแดนเพื่อป้องกัน ภัยคุกคามจากอาชญากรรมข้ามชาติและอำนวยความสะดวกให้การค้า การลงทุน และการเดินทางสัญจรข้ามพรมแดนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และท้ายที่สุดคือการมีภูมิคุ้มกันที่จะรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น จะได้รับความมั่นใจได้ว่า ในกรณีที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ คลังเก็บสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในอาเซียนที่จังหวัดชัยนาท จะพร้อมสนับสนุนสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในทุกที่และทุกเมื่อได้อย่างทันท่วงที

สอง มั่งคั่งขึ้น จากกระแสต่อต้านระบบการค้าพหุภาคีเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า อาเซียนจะต้องจับมือกันให้แน่นขึ้นและผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ RCEP กลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และช่วยรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างคู่ค้าที่สาคัญของอาเซียนในอนาคต

อีกความมั่งคั่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้น คือการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งคาดว่า จะช่วยเพิ่มจีดีพีของอาเซียนอีก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2025 ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค 4IR และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ MSMEs แรงงานมีทักษะ ผู้ประกอบการวิชาชีพ และภาคการเกษตร โดยเฉพาะ การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าเกษตร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างของการพัฒนา รวมทั้งการใช้ประโยชน์จาก EEC และการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ทั้งใน ACMECS ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและอินโด-แปซิฟิก

สาม ยั่งยืนขึ้น อาเซียนจะขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะจัดตั้งขึ้นในไทยเป็นกลไกสำคัญ ในมิติความมั่นคงของมนุษย์ อาเซียนจะพัฒนาศักยภาพของประชาชนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยการฝึกฝนและพัฒนาทักษะให้ผู้สูงวัยอาเซียน ผ่านการดำเนินงานของศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและ มีนวัตกรรมที่จะจัดตั้งขึ้นในไทย ในมิติความยั่งยืนของความสัมพันธ์ระดับประชาชน จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน จากการประกาศรับรองปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562 รวมทั้ง การใช้ประโยชน์จากศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน

“ในมิติสิ่งแวดล้อม อาเซียนจัดทำกรอบปฏิบัติงานด้านขยะทะเล ฉบับแรก และจะส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนเพื่อให้พื้นที่ทางทะเลของเรามีความยั่งยืน ท้ายที่สุด มิติของการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนด้วยเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ที่พัฒนาทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ควบคู่กับการขจัดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เพื่อประโยชน์ของพวกเรา ประชาชนชาวอาเซียนในระยะยาว

หุ้นส่วนความยั่งยืนร่วมต่อต้านขยะทางทะเลตั้งศูนย์ภัยพิบัติฉุกเฉิน

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ในนายกรัฐมนตรีได้การแถลงข่าวผลการประชุม โดยกล่าวว่า การพบหารือกับผู้นำอาเซียน การหารือกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้แทนเยาวชนอาเซียน และสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เป็นโอกาสดียิ่งที่ครอบครัวอาเซียนจะร่วมมือเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และก้าวไปสู่อนาคต ภายใต้กรอบแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย ร่วมแรง ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ซึ่งผู้นำทุกท่านให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

การประชุมสุดยอดอาเซียนได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2562 โดยมีการประชุมแบบเต็มคณะ และต่อเนื่องมาถึงวันที่ 23 มิถุนายน ที่มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งที่ประชุมสุดยอดสนับสนุนการดำเนินการของไทย การสร้างความยั่งยืนให้อาเซียนในทุกมิติ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ อาทิ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันระหว่างประเทศนอกภูมิภาค เป็นต้น

ตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา อาเซียนได้ดำเนินการตามแนวคิดหลักและก่อให้เกิดความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยการเสริมสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน การสร้างอาเซียนที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มคุณค่าทางยุทธศาสตร์ให้กับอาเซียน และให้เกิดเสถียรภาพและความเจิญรุ่งเรืองในภูมิภาค

“เจตนารมณ์ร่วมของผู้นำในอาเซียนในเรื่องนี้ได้รับการยืนยันผ่านการรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน”

เพื่อสร้างภูมิภาคที่ยั่งยืนและปลอดภัยสำหรับประชาชนในทุกสถานการณ์ อาเซียนเห็นพ้องว่า ปัญหาขยะทางทะลเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อชีวิตความเป็นและสุขอนามัยของประชาชน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและทรัพยากรทางทะเล ที่ประชุมจึงได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ที่แสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนที่มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยสนับสนุนวัตกรรม แนวคิด รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิจัย การประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

นอกจากนี้เพื่อเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและภัยพิบัติ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันเปิดตัวคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียน ภายใต้โครงการจัดตั้งระบบโลจิสติกส์ฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติของอาเซียนที่เรียกกันว่าศูนย์ Delsa และดำเนินการยกระดับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนเป็นองค์กรของอาเซียนอย่างเป็นทางการซึ่งทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ในไทย

ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด แห่งอินโดนีเซีย

หนุนอาเซียนเล่นบทนำสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น

ที่ประชุมเห็นพ้องกับไทยในการส่งเสริมบทบาทนำของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆในภูมิภาค โดยอาเซียนได้ใช้เวลาหารือและจัดทำเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการมีท่าทีร่วมกันของอาเซียนในเรื่องนี้ ตั้งแต่ที่ไทยเสนอให้อาเซียนมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกในการประชุม EAS ที่ฟิลิปปินส์เมื่อปลายปี 2560

“ผมขอขอบคุณประธานาธิบดีโจโก วีโดโด แห่งอินโดนีเซียที่ได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก ซึ่งอาเซียนได้ตกลงกันว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการที่เป็นที่ยอมรับ อาทิ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกันตลอดจนสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานที่ตั้งอยู่บนกฎเกณ์ รวมทั้งหลักการที่บรรจุในสินธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ TAC” พลเอกประยุทธ์กล่าว

อาเซียนเห็นว่า ความร่ว,มือในกรอบอินโด-แปซิฟิกจะต้องตั้งอยู่[นพื้นฐานของความเป็นแกนกลางของอาเซียน ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เกื้อกูลกรอบความร่วมมือต่างๆที่มีอยู่แล้วในภูมิภาคและอนุภูมิภาค และสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนเป็นสำคัญ

ดัน RECEP เสร็จในปีนี้รับมือการค้าโลกตึงเครียด

พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและเห็นพ้องกับไทยที่จะผลักดันให้การเจรจา RECEP แล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน RECEP เป็นเครื่องมือในการทำการค้าอาเซียนให้ดีขึ้น

“การขัดแย้งทางการค้าซึ่งจะมีการเจรจาในการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ประเทศนั้น สมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามจะเข้าร่วมประชุม G-20 ด้วย และจะร่วมแสดงความคิดเห็นในการประชุม อาเซียนหวังว่าจะมีการหารือ มีการผ่อนคลายและแก้ไขได้ เพราะมีผลกระทบหลายประเทศ”พลเอกประยุทธ์กล่าว

ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความตระหนักรู้และอัตลักษณ์ของอาเซียนในระดับประชาชนเป็นหนึ่งในวาระการดำเนินงานที่สำคัญ ผู้นำอาเซียนได้รับรองแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562 และจะมีการดำเนินการกิจกรรมตลอดทั้งปี รวมทั้งจัดตั้งเครือข่ายสมาคมอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย จะเห็นได้ว่า อาเซียนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งสมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชนและภาคธุรกิ0 เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและย้ำความสำคัญของประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอีกทั้งผู้นำทั้งหลายยังได้สนับสนุนให้อาเซียนร่วมมือกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตอลโลกในปี 2034

นอกจากนี้อาเซียนยินดีกับการมีอาคารสำนักเลขาธิการอาเซียนหลังใหม่ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งพร้อมจะเปิดทำการอย่างเป็นทางการในวันครบรอบการก่อตั้งอาเซียนในวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า ผู้นำอาเซียนจะร่วมกันผลักดันความร่วมมือในกรอบอาเซียนให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับอาเซียนจากภายในและเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคตที่มั่นคงของประชาคมอาเซียนและของประชาชนชาวอาเซียนกว่า 650 ล้านคน ทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและประชาชนจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัรและร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืนต่อไป

“ผู้นำอาเซียนสัญญากันไว้ว่าจะร่วมมือกันผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และผมย้ำว่าเราต้องมี Master Plan ในการเตรียมการ มี Roadmap หลายอย่างต้องทำไปพร้อมกัน ทั้งนี้ต้องทำให้เร็วที่สุด เร่งทำเพื่อให้อาเซียนแข็งแกร่ง เพราะอาเซียนเป็นประเทศเล็กๆรวมกัน ผู้นำทุกคนเข้าใจในหลายประเด็น ทั้งภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ภัยไซเบอร์ รวมทั้ง hate speech ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งต้องหารือกัน แต่ต้องระมัดระวังการละเมิดสิทธิมนุษชน ทุกอย่างต้องมีกฎหมายกฎกติกาเพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข หลายประเทศค่อนข้างเป็นปัญหา ต้องแก้ไขกัน ในปัจจุบันโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าทำอย่างไรให้เข้าใจว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำได้ไม่ง่ายนัก ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ เราก็จะมีอำนาจในการต่อรอง จะมีหลักการในการพูดคุยเจรจา เพราะเรามีประชากรรวมกัน 650 ล้านคนมากที่สุดในโลก มีมูลค่าการค้าขายจำนวนมาก ถ้าเรามี RECEP ของเราก็จะทำให้เราสามารถเจรจาพูดคุยในนามอาเซียนได้มากมาย”พลเอกประยุทธ์กล่าว

การประชุมครั้งนี้สรุปว่าเป็นประโยชน์ต่อไทยและประเทศสมาชิก ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนอีกครั้ง โดยจะมีผู้นำจากนอกภูมิภาคเข้าร่วมด้วย